เมื่อ 82 ปีที่แล้ว หลังคืนวันคริสมาสเพียง 1 คืน ชาวคริสต์อีสานในหมู่บ้านสองคอน จ.นครพนม ถูกกล่าวหาว่า เป็นผีปอบ เพราะนับถือศาสนาของต่างชาติ นำมาสู่โศกนาฏกรรมในอีสานที่ต่อมาเรียกว่า “มรณสักขี” หรือ การตายเพื่อพระเจ้า

การถูกตราหน้า ถูกใส่ป้ายสี ด้วยการยัดข้อหาว่า “เป็นผีปอบ” เมื่อปี 2477 ของชาวอีสาน เพราะต่อต้านผู้มีอำนาจในชุมชน ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านแถบจังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหารหลายคนถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน จึงได้หนีมาพึ่งใบบุญในร่มของศาสนาคริสต์ แต่รัฐก็บีบบังคับให้คนเหล่านี้กลับมาเป็นชาวพุทธดังเดิม ทว่าพวกเขาไม่ยอม การขัดขืนครั้งนั้นจึงนำมาสู่ความตายของชาวคริสต์ 7 คนในเวลาต่อมา  

ในโบสถ์สองคอนจึงมีโลงศพของบุญราศีทั้ง 7 คนที่ต่อต้านการถูกบีบบังคับของรัฐวางเรียงกันเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของความขัดแย้งในอดีต แต่ในขณะหนึ่งการสละชีพเพื่อศาสนากลับได้รับยกย่องว่า เป็นการเสียสละเพื่อพระเจ้าที่เรียกว่า มรณสักขี 

“มรณสักขี คือ บุคคลที่ยอมตายเพื่อศาสนา อาจจะโดนฆ่าบ้าง ลักลอบวางยาบ้าง”มาร์ธา นฤมล แดงมา ซิสเตอร์ประจำวัดสองคอนพูดด้วยความภาคภูมิใจ ขณะที่กล่าวถึงวีรกรรมของบุญราศรีทั้ง 7 คนที่ถูกสรรเสริญในการทำคุณงามความดีและการหยั่งรากลึกในศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า 

ห้องพระธาตุ ที่จัดเก็บหุ่นจำลองที่ภายในบรรจุเถ้ากระดูกของบุญราศีทั้ง 7  สักการะสถานมรณสักขี วัดสองคอน

“การได้เป็นมาตีร์ (Martyr) หรือ มรณสักขี คือ การพลีชีพโดยปราศจากความลังเลและไม่สงสัยที่จะยอมโดนปลิดชีวิต จุดประสงค์เดียว คือ การบูชาพระศาสนาและหลังจากลาโลกนี้ไป ดวงจิตจะได้กลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นตัวซิสเตอร์เองยังคิดเลยว่า จะกล้าเสียสละเท่าพวกท่าน (ทั้ง 7 คน) หรือเปล่า”เธอตั้งคำถาม

มาร์ธา นฤมล แดงมา ซิสเตอร์ประจำวัดสองคอน จ.มุกดาหาร

ผีห่าและซาเวียร์

เธอเล่าย้อนประวัติศาสตร์ที่บอกต่อกันถึงความเชื่อที่เกิดขึ้นจนคร่าชีวิตผู้คนว่า ก่อนจะเกิดเหตุมรณสักขีมีชาวบ้านได้เชิญบาทหลวงชื่อ “ซาเวียร์ เกโก” เป็นผู้นำความเชื่อของคาทอลิก ที่มีชื่อเสียงเรื่องการปราบวิญญาณ สิ่งชั่วร้าย และมียารักษาโรคภัยไข้เจ็บ มาจากบ้านหนองแสง นครพนมมาในฐานะผู้เผยแผ่คำสอนให้ชาวบ้านในละแวกนั้นด้วยการรักษาโรคระบาด และเผยแผ่ศาสนาเพื่อให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความเป็นปอบเพียงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ความเชื่อเรื่องปอบก็จะหายไปในทันที 

“บาทหลวงก็พาทาสที่ไปไถ่มาจากหลายที่มาอยู่รวมกันที่นี่ แล้วยังมียาฝรั่งช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพราะว่า แถบนี้ไม่มียาแบบนั้น ทั้งรักษา ทั้งสอนศาสนา คนก็เลยเปลี่ยนมานับถือคริสต์มากขึ้น เพราะอยากหนีจากการเป็นปอบและอยากเรียนรู้การรักษาโรค”มาธาร์ กล่าวเสริม

โบสถ์หลังแรกของ “วัดแม่พระไถ่ทาส” ที่บ้านสองคอน ภาพจาก Facebook: หอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก

แต่การเผยแพร่ศาสนาและการรักษาโรคก็ส่งผลอีกด้านต่อรัฐไทย เพราะในสายตาของรัฐส่วนกลาง การเติบโตของชุมชนคาทอลิกอย่างรวดเร็วอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก ทำให้หมู่บ้านสองคอนถูกจับตามองเป็นพิเศษ กระทั่งเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันลืม

กรณีพิพาทอินโดจีน

“สองคอนเป็นพื้นที่ที่มีความเกลียดชังคูณสอง คือ ถูกมองว่า เป็นพวกเลี่ยงภาษีโดยการเข้ารีตและเป็นพวกของฝรั่งเศส เหตุผลเหล่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะโจมตี” ผศ.ดร.สถิตย์ ภาคมฤค รอง ผอ.สถาบันภาษาและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสกลนคร อธิบาย 

ผลกระทบโดยตรงจากภาครัฐยุคจากการตื่นตัวของแนวคิดชาตินิยมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์โลก (กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1984) ตรงกับสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม) สมัยนั้นหมู่บ้านสองคอนยังอยู่ในอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม 

“บาทหลวงทั้งหลายมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาสูง ทั้งช่วยอธิบายถึงปรากฏการณ์ปอบหรือความป่วยไข้ เช่น การรักษาโรคก็จะผูกโยงกับความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า เป็นสาเหตุให้คนเข้ารีตเยอะ แต่เผอิญว่า ช่วงนั้นมันประจวบเหมาะกับกระแสชาตินิยมที่จอมพล ป. พยายามจะปลุกขึ้นมา”นักวิชการคนนี้ กล่าว 

กระแสการเกลียดชังฝรั่งเศสทำให้เกิดการเหมารวมว่า คริสตศาสนาเป็นศาสนาของชาวฝรั่งเศส ชาวคาทอลิกจำนวนมากตกอยู่ในความหวาดระแวงจากภาครัฐและผู้มีอำนาจในท้องถิ่นที่พยายามปราบปรามและกำจัดชาวบ้านแถวนั้น ทั้งการชักชวน หว่านล้อมให้กลับมานับถือศาสนาพุทธ รวมไปถึงการสั่งงดการทำพิธีต่างๆ ในวันสำคัญ สิ่งเหล่านี้ คือ การทำให้ชาวคริสต์อยู่ในสถานะไม่ต่างจากชาวบ้านที่มองผีปอบ แม้รัฐไทยจะไม่มีความรู้ว่าปอบ คือ อะไรก็ตาม

“ชนวนที่ทำให้เกิดมรณสักขีที่แท้จริง คือ การลุกฮือแบบเหมารวม เช่น การกล่าวหาว่าพวกเรียนภาษากับฝรั่งเศส หรือนับถือศาสนาของฝรั่งเศส นั้นคือ พวกที่เข้าข้างเขา บ้านสองคอน คือ การลงล็อกของความขัดแย้งทั้งหมด มันเลยเกิดมรณสักขีขึ้นมา”นักวิชาการคนนี้อธิบาย 

ผศ.ดร.สถิตย์ อธิบายสิ่งถูกบันทึกไว้ในตำราวิชาการเกี่ยวกับปรากฎการณ์ครั้งนั้นว่า รัฐไม่เคยมองคนที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นปอบ แต่รัฐมองว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการเก็บงบภาษี ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การตัดความเชื่อเดิม เรื่องผีปอบหรือความเชื่อพื้นถิ่นอื่นๆ ที่กดทับพวกเขาอยู่ เป็นต้น

ในยุคนั้นเทศาภิบาลเมืองหรือหน่วยงานในภาครัฐอื่นๆ สูญเสียอำนาจจากการที่เหล่าทาส ชาวบ้าน เข้ารีตเป็นชาวคาทอลิก เมื่อเปลี่ยนศาสนาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีและเงินเบี้ยหวัดที่ต้องจ่ายให้รัฐ

ผศ.ดร.สถิตย์ ภาคมฤค รอง ผอ. สถาบันภาษาและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสกลนคร

นักวิชาการคนนี้ เล่าว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ระดับพื้นถิ่นที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฏหมายฉบับนี้ก็ยังเรียนหนังสือแบบที่เคยชินกัน วัดทางภาคเหนือก็ยังคงสอนหนังสือโดยอักษรฝักขาม คำเมือง ส่วนอีสานก็ยังใช้อักษรไทน้อยและตัวธรรม ส่วนภาคใต้ก็เรียนขอม เมื่อรัฐหาทางออกในการจัดระเบียบการศึกษาให้คนมาเรียนอักษรไทยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดการแบบคลื่นใต้น้ำ

“วิธีคิดแบบนี้ถูกใช้หลายแง่มุมมาก คือ ใช้หน่วยจารชนปล่อยข่าวลับว่า ถ้าไม่เรียนอักษรไทย ภาษาไทย ท่านหลวง ท่านขุนจะเอาไปฆ่า พระสมัยนั้นกลัวกันแทบตายได้ขนใบลานไปเผาทิ้ง” ผศ.ดร.สถิตย์ กล่าวและว่า “สมัยนั้นรัฐส่วนหนึ่งมันมีการใช้อำนาจแบบเดียวกันเพื่อประโคมข่าวการตีตรา หรือใส่ความว่า เป็นปอบ” 

รูปปั้นและหลุมฝังศพของครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ณ ป่าศักดิ์สิทธิ์

ข้อมูลจากหนังสือที่ระลึก บุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย 22 ตุลาคม 2532 ระบุว่า ในช่วงนั้น ฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสองคอนพยายามที่จะร้องเรียน ด้วยการเขียนจดหมายให้กับทางอำเภอมุกดาหาร เรื่อง การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ได้โน้มน้าวให้ครูฟิลิปและคณะ เลิกนับถือศาสนาคริสต์ 

แต่จดหมายฉบับนั้นถูกแปลงสารโดย จ.ส.ต.ลือ เมืองโคตร หัวหน้าตำรวจที่กำกับดูแลบ้านสองคอน โดยเขาได้สวมรอยเป็นนายอำเภอมุกดาหารแปลงเนื้อความในจดหมาย และส่งจดหมายฉบับนี้กลับไปให้ครูฟิลิป ทำให้ครูฟิลิปที่เข้าใจว่านายอำเภอรับทราบเรื่องแล้ว ปั่นจักรยานไปพบนายอำเภอ จากนั้นก็โดนลวงไปฆ่าตายที่บ้านพาลุกา ซึ่งห่างจากบ้านสองคอนเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2483

ต้นคริสมาสต์ที่ทำด้วยฟางและไม้กางเขนขนาดใหญ่ อยู่ถัดจากโบสถ์วัดสองคอน เพื่อเป็นการสักการะสถานะบุญราศีทั้ง 7 คน

25 ธ.ค.คืนคริสตสมภพ

แสงดาวประดับระยิบระยับร้อยเรียงบนต้นคริสมาสต์ที่สูงตระหง่าน คละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศอบอวลแห่งความรัก กล่องของขวัญน้อยใหญ่เรียงรายใต้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เสียงร้องประสานเสียงถึงพระเจ้า ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ว่า วันคริสมาสต์มาถึงแล้ว แต่ภาพเหล่านี้กลับถูกกลืนกินด้วยความหนาวเย็นรวมถึงความเงียบสงัด ในคืนคริสตสมภพ 25 ธันวาคม 2483  

ความจริงอันแสนหดหู่ปรากฏขึ้น ไม่มีพิธีแลกของขวัญ ไม่มีการร้องเพลงสรรเสริญ ค่ำคืนของคริสตสมภพที่มืดมน เป็นคริสตสมภพที่ชี้เป็นชี้ตายว่า ซิสเตอร์ทั้งสองคนจะเลือกสิ่งไหน ระหว่างการยอมตายเพื่อศาสนา และละทิ้งพระเจ้าแล้วเอาชีวิตรอด 

หลังจากการเสียชีวิตของฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ สร้างความหวาดหวั่นให้ชาวบ้านแต่พวกเขายังมั่นคงในศาสนา เพราะมีซิสเตอร์สองคน คือ ซิสเตอร์ อักแนส พิลา ทิพย์สุข และ ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพองเป็นเสาหลักแทน ครูฟิลิป สีฟอง ที่เสียชีวิตไป แต่ตำรวจได้ดำเนินการหลอกล่อและข่มขู่เพื่อให้ชาวบ้านละทิ้งความเชื่อและกลับมานับถือพุทธ 

ไม่นาน ซิสเตอร์ อักแนส พิลา ทิพย์สุข และ ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพอง ได้ตัดสินใจยินดีที่จะไปพบกับเจ้าหน้าที่ และบอกพวกเขาว่า ในเมื่อเราไม่สามารถทำแก้ไขสถานการณ์ให้มันดีไปกว่านี้ได้ ก็คงต้องสุดแท้แต่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ  

การตัดสินใจที่เลือกจบชีวิตครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการกลับคำพูดของ จ.ส.ต.ลือ ที่บอกกับทั้งสองคนว่า จะเลิกข่มขู่และคุกคามชาวคริสต์ในบ้านสองคอน หากซิสเตอร์ทั้งสองถอดเครื่องแบบนักบวชและละทิ้งพระเจ้าเสีย

“ตอนเพิ่นเสียที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ฝั่งทางพุ่นแล้ว เขากะฝังเพิ่นเลย มีทั้งเบิ่ด 3 หลุม หลุมละ 2 คน กะเฮ็ดบ่ดีปานได๋ค่ะ ทำลวกๆ ฟ้าวฝังค่ะ ขั่นภาษาบ้านเฮากะฮ้องว่า ตายโหงเนาะ กะคือ จั่งการเก็บหลักฐานบ่ให้หลงเหลือ ของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในมื้อนั้น กะถืกเอาไปเผา”มาร์ธาได้เล่าถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของคริสตชน

เสียงปืนโหมกระหน่ำในป่าทึบริมน้ำโขง หลังสิ้นเสียงปืนในวันถัดมา อากาทา พุดทา, ว่องไว, เซซีลีอา บุดสี, ว่องไว บีบีอานา, คำไพ ว่องไว, มารีอา พร ว่องไว รวมถึงซิสเตอร์อีกสองท่าน ถูกสังหารพร้อมกันที่ป่าตรงข้ามกับแม่น้ำโขงไม่ไกล สามคนหลังนั้นเป็นเยาวชน เป็นผู้หญิงทั้งหมดและอายุน้อยสุดเพียง 14 ปี รวมผู้เสียชีวิตคือ 6 คน เป็นซิสเตอร์ 2 คน แม่ครัวประจำวัด 1 คน และเยาวชนอีก 3 คน โดนยิงที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ตรงข้ามวิหารนี้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2483 

บ้านของซิสเตอร์บุญราศี ที่พิพิธภัณฑ์ บุญราศี ริมแม่น้ำโขงของวัดสองคอน

ถึงหูวาติกัน

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายได้คลี่คลายลง 49 ปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2532 วันเวลาผ่านพ้นไป จึงเกิดการรวบรวมหลักฐาน ทั้งจดหมาย ข้าวของเครื่องใช้ ปากคำจากญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่พอจะรวบรวมได้ ส่งไปถึงคริสตจักรโรมันคาทอลิก

สมเด็จพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 เครดิตภาพ HocVien DaminhV

ต่อมา สมเด็จพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในขณะนั้น ได้รับรองบุคคลทั้ง 7 เป็นมรณสักขี และ บุญราศรี ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ทุกคนถือเป็นคริสตชนไทยกลุ่มแรกที่ได้รับรองว่า เป็นบุญราศรี  

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงถูกตั้งคำถามเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและชื่อเสียงของท้องถิ่นที่ได้มาจากการนองเลือด ว่าสรุปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงความดีงาม หรือเป็นเหตุการณ์ที่ควรถอดบทเรียนอย่างจริงจังระหว่างการใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพลกับประชาชน

image_pdfimage_print