82 ปีมรณสักขีโบสถ์สองคอน : เมื่อผู้นับถือคริสต์กลายเป็นผีปอบในสายตารัฐสยาม

เมื่อ 82 ปีที่แล้ว หลังคืนวันคริสต์มาสเพียง 1 คืน ชาวคริสต์อีสานในหมู่บ้านสองคอน จ.นครพนม ถูกกล่าวหาว่า เป็นผีปอบ เพราะนับถือศาสนาของต่างชาติ นำมาสู่โศกนาฏกรรมในอีสานที่ต่อมาเรียกว่า “มรณสักขี” หรือ การตายเพื่อพระเจ้า

การถูกตราหน้า ถูกใส่ป้ายสี ด้วยการยัดข้อหาว่า “เป็นผีปอบ” เมื่อปี 2477 ของชาวอีสาน เพราะต่อต้านผู้มีอำนาจในชุมชน ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านแถบจังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหารหลายคนถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน จึงได้หนีมาพึ่งใบบุญในร่มของศาสนาคริสต์ แต่รัฐก็บีบบังคับให้คนเหล่านี้กลับมาเป็นชาวพุทธดังเดิม ทว่าพวกเขาไม่ยอม การขัดขืนครั้งนั้นจึงนำมาสู่ความตายของชาวคริสต์ 7 คนในเวลาต่อมา  

ในโบสถ์สองคอนจึงมีโลงศพของบุญราศีทั้ง 7 คนที่ต่อต้านการถูกบีบบังคับของรัฐวางเรียงกันเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของความขัดแย้งในอดีต แต่ในขณะหนึ่งการสละชีพเพื่อศาสนากลับได้รับยกย่องว่า เป็นการเสียสละเพื่อพระเจ้าที่เรียกว่า มรณสักขี 

“มรณสักขี คือ บุคคลที่ยอมตายเพื่อศาสนา อาจจะโดนฆ่าบ้าง ลักลอบวางยาบ้าง” มาร์ธา นฤมล แดงมา ซิสเตอร์ประจำวัดสองคอนพูดด้วยความภาคภูมิใจ ขณะที่กล่าวถึงวีรกรรมของบุญราศรีทั้ง 7 คนที่ถูกสรรเสริญในการทำคุณงามความดีและการหยั่งรากลึกในศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า 

ห้องพระธาตุ ที่จัดเก็บหุ่นจำลองที่ภายในบรรจุเถ้ากระดูกของบุญราศีทั้ง 7  สักการะสถานมรณสักขี วัดสองคอน

“การได้เป็นมาตีร์ (Martyr) หรือ มรณสักขี คือ การพลีชีพโดยปราศจากความลังเลและไม่สงสัยที่จะยอมโดนปลิดชีวิต จุดประสงค์เดียว คือ การบูชาพระศาสนาและหลังจากลาโลกนี้ไป ดวงจิตจะได้กลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นตัวซิสเตอร์เองยังคิดเลยว่า จะกล้าเสียสละเท่าพวกท่าน (ทั้ง 7 คน) หรือเปล่า” เธอตั้งคำถาม

มาร์ธา นฤมล แดงมา ซิสเตอร์ประจำวัดสองคอน จ.มุกดาหาร

ผีห่าและซาเวียร์

เธอเล่าย้อนประวัติศาสตร์ที่บอกต่อกันถึงความเชื่อที่เกิดขึ้นจนคร่าชีวิตผู้คนว่า ก่อนจะเกิดเหตุมรณสักขีมีชาวบ้านได้เชิญบาทหลวงชื่อ “ซาเวียร์ เกโก” เป็นผู้นำความเชื่อของคาทอลิก ที่มีชื่อเสียงเรื่องการปราบวิญญาณ สิ่งชั่วร้าย และมียารักษาโรคภัยไข้เจ็บ มาจากบ้านหนองแสง จ.นครพนม มาในฐานะผู้เผยแผ่คำสอนให้ชาวบ้านในละแวกนั้นด้วยการรักษาโรคระบาด และเผยแผ่ศาสนาเพื่อให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความเป็นปอบเพียงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ความเชื่อเรื่องปอบก็จะหายไปในทันที 

“บาทหลวงก็พาทาสที่ไปไถ่มาจากหลายที่มาอยู่รวมกันที่นี่ แล้วยังมียาฝรั่งช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพราะว่า แถบนี้ไม่มียาแบบนั้น ทั้งรักษา ทั้งสอนศาสนา คนก็เลยเปลี่ยนมานับถือคริสต์มากขึ้น เพราะอยากหนีจากการเป็นปอบและอยากเรียนรู้การรักษาโรค” มาธาร์ กล่าวเสริม

แต่การเผยแพร่ศาสนาและการรักษาโรคก็ส่งผลอีกด้านต่อรัฐไทย เพราะในสายตาของรัฐส่วนกลาง การเติบโตของชุมชนคาทอลิกอย่างรวดเร็วอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก ทำให้หมู่บ้านสองคอนถูกจับตามองเป็นพิเศษ กระทั่งเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันลืม

โบสถ์หลังแรกของ “วัดแม่พระไถ่ทาส” ที่บ้านสองคอน ภาพจาก Facebook: หอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก

กรณีพิพาทอินโดจีน

“สองคอนเป็นพื้นที่ที่มีความเกลียดชังคูณสอง คือ ถูกมองว่า เป็นพวกเลี่ยงภาษีโดยการเข้ารีตและเป็นพวกของฝรั่งเศส เหตุผลเหล่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะโจมตี” ผศ.ดร.สถิตย์ ภาคมฤค รอง ผอ.สถาบันภาษาและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสกลนคร อธิบาย 

ผลกระทบโดยตรงจากภาครัฐยุคจากการตื่นตัวของแนวคิดชาตินิยมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์โลก (กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1984) ตรงกับสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม) สมัยนั้นหมู่บ้านสองคอนยังอยู่ใน อ.มุกดาหาร จ.นครพนม 

“บาทหลวงทั้งหลายมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาสูง ทั้งช่วยอธิบายถึงปรากฏการณ์ปอบหรือความป่วยไข้ เช่น การรักษาโรคก็จะผูกโยงกับความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า เป็นสาเหตุให้คนเข้ารีตเยอะ แต่เผอิญว่า ช่วงนั้นมันประจวบเหมาะกับกระแสชาตินิยมที่จอมพล ป. พยายามจะปลุกขึ้นมา”

กระแสการเกลียดชังฝรั่งเศสทำให้เกิดการเหมารวมว่า คริสตศาสนาเป็นศาสนาของชาวฝรั่งเศส ชาวคาทอลิกจำนวนมากตกอยู่ในความหวาดระแวงจากภาครัฐและผู้มีอำนาจในท้องถิ่นที่พยายามปราบปรามและกำจัดชาวบ้านแถวนั้น ทั้งการชักชวน หว่านล้อมให้กลับมานับถือศาสนาพุทธ รวมไปถึงการสั่งงดการทำพิธีต่างๆ ในวันสำคัญ สิ่งเหล่านี้ คือ การทำให้ชาวคริสต์อยู่ในสถานะไม่ต่างจากชาวบ้านที่มองผีปอบ แม้รัฐไทยจะไม่มีความรู้ว่าปอบ คือ อะไรก็ตาม

“ชนวนที่ทำให้เกิดมรณสักขีที่แท้จริง คือ การลุกฮือแบบเหมารวม เช่น การกล่าวหาว่าพวกเรียนภาษากับฝรั่งเศส หรือนับถือศาสนาของฝรั่งเศส นั้นคือพวกที่เข้าข้างเขา บ้านสองคอน คือ การลงล็อกของความขัดแย้งทั้งหมด มันเลยเกิดมรณสักขีขึ้นมา” 

ผศ.ดร.สถิตย์ อธิบายสิ่งถูกบันทึกไว้ในตำราวิชาการเกี่ยวกับปรากฎการณ์ครั้งนั้นว่า รัฐไม่เคยมองคนที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นปอบ แต่รัฐมองว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการเก็บงบภาษี ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การตัดความเชื่อเดิม เรื่องผีปอบหรือความเชื่อพื้นถิ่นอื่นๆ ที่กดทับพวกเขาอยู่ เป็นต้น

ในยุคนั้นเทศาภิบาลเมืองหรือหน่วยงานในภาครัฐอื่นๆ สูญเสียอำนาจจากการที่เหล่าทาส ชาวบ้าน เข้ารีตเป็นชาวคาทอลิก เมื่อเปลี่ยนศาสนาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีและเงินเบี้ยหวัดที่ต้องจ่ายให้รัฐ

ผศ.ดร.สถิตย์ ภาคมฤค รอง ผอ. สถาบันภาษาและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสกลนคร

นักวิชาการคนนี้ เล่าว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ระดับพื้นถิ่นที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฏหมายฉบับนี้ก็ยังเรียนหนังสือแบบที่เคยชินกัน วัดทางภาคเหนือก็ยังคงสอนหนังสือโดยอักษรฝักขาม คำเมือง ส่วนอีสานก็ยังใช้อักษรไทน้อยและตัวธรรม ส่วนภาคใต้ก็เรียนขอม เมื่อรัฐหาทางออกในการจัดระเบียบการศึกษาให้คนมาเรียนอักษรไทยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดการแบบคลื่นใต้น้ำ

“วิธีคิดแบบนี้ถูกใช้หลายแง่มุมมาก คือ ใช้หน่วยจารชนปล่อยข่าวลับว่า ถ้าไม่เรียนอักษรไทย ภาษาไทย ท่านหลวง ท่านขุนจะเอาไปฆ่า พระสมัยนั้นกลัวกันแทบตายได้ขนใบลานไปเผาทิ้ง” ผศ.ดร.สถิตย์ กล่าวและว่า “สมัยนั้นรัฐส่วนหนึ่งมันมีการใช้อำนาจแบบเดียวกันเพื่อประโคมข่าวการตีตรา หรือใส่ความว่าเป็นปอบ” 

รูปปั้นและหลุมฝังศพของครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ณ ป่าศักดิ์สิทธิ์

ข้อมูลจากหนังสือที่ระลึก บุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย 22 ตุลาคม 2532 ระบุว่า ในช่วงนั้น ฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสองคอนพยายามที่จะร้องเรียน ด้วยการเขียนจดหมายให้กับทางอำเภอมุกดาหาร เรื่อง การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ได้โน้มน้าวให้ครูฟิลิปและคณะเลิกนับถือศาสนาคริสต์ 

แต่จดหมายฉบับนั้นถูกแปลงสารโดย จ.ส.ต.ลือ เมืองโคตร หัวหน้าตำรวจที่กำกับดูแลบ้านสองคอน โดยเขาได้สวมรอยเป็นนายอำเภอมุกดาหารแปลงเนื้อความในจดหมาย และส่งจดหมายฉบับนี้กลับไปให้ครูฟิลิป ทำให้ครูฟิลิปที่เข้าใจว่านายอำเภอรับทราบเรื่องแล้ว 16 ธันวาคม 2483 เขาจึงปั่นจักรยานไปพบนายอำเภอ ก่อนถูกลวงไปฆ่าตายที่บ้านพาลุกา ซึ่งห่างจากบ้านสองคอนเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร

ต้นคริสต์มาสที่ทำด้วยฟางและไม้กางเขนขนาดใหญ่ อยู่ถัดจากโบสถ์วัดสองคอน เพื่อเป็นการสักการะสถานะบุญราศีทั้ง 7 คน

25 ธันวาฯ คืนคริสตสมภพ

แสงดาวประดับระยิบระยับร้อยเรียงบนต้นคริสต์มาสที่สูงตระหง่าน คละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศอบอวลแห่งความรัก กล่องของขวัญน้อยใหญ่เรียงรายใต้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เสียงร้องประสานเสียงถึงพระเจ้า ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ว่า วันคริสต์มาสมาถึงแล้ว แต่ภาพเหล่านี้กลับถูกกลืนกินด้วยความหนาวเย็นรวมถึงความเงียบสงัด ในคืนคริสตสมภพ 25 ธันวาคม 2483  

ความจริงอันแสนหดหู่ปรากฏขึ้น ไม่มีพิธีแลกของขวัญ ไม่มีการร้องเพลงสรรเสริญ ค่ำคืนของคริสตสมภพที่มืดมน เป็นคริสตสมภพที่ชี้เป็นชี้ตายว่า ซิสเตอร์ทั้งสองคนจะเลือกสิ่งไหน ระหว่างการยอมตายเพื่อศาสนา และละทิ้งพระเจ้าแล้วเอาชีวิตรอด 

หลังจากการเสียชีวิตของฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ สร้างความหวาดหวั่นให้ชาวบ้านแต่พวกเขายังมั่นคงในศาสนา เพราะมีซิสเตอร์สองคน คือ ซิสเตอร์ อักแนส พิลา ทิพย์สุข และ ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพองเป็นเสาหลักแทน ครูฟิลิป สีฟอง ที่เสียชีวิตไป แต่ตำรวจได้ดำเนินการหลอกล่อและข่มขู่เพื่อให้ชาวบ้านละทิ้งความเชื่อและกลับมานับถือพุทธ 

ไม่นาน ซิสเตอร์ อักแนส พิลา ทิพย์สุข และ ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพอง ได้ตัดสินใจยินดีที่จะไปพบกับเจ้าหน้าที่ และบอกพวกเขาว่า ในเมื่อเราไม่สามารถทำแก้ไขสถานการณ์ให้มันดีไปกว่านี้ได้ ก็คงต้องสุดแท้แต่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ  

การตัดสินใจที่เลือกจบชีวิตครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการกลับคำพูดของ จ.ส.ต.ลือ ที่บอกกับทั้งสองคนว่า จะเลิกข่มขู่และคุกคามชาวคริสต์ในบ้านสองคอน หากซิสเตอร์ทั้งสองถอดเครื่องแบบนักบวชและละทิ้งพระเจ้าเสีย

“ตอนเพิ่นเสียที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ฝั่งทางพุ่นแล้ว เขากะฝังเพิ่นเลย มีทั้งเบิด 3 หลุม หลุมละ 2 คน กะเฮ็ดบ่ดีปานได๋ค่ะ ทำลวกๆ ฟ้าวฝังค่ะ ขั่นภาษาบ้านเฮากะฮ้องว่า ตายโหงเนาะ กะคือ จั่งการเก็บหลักฐานบ่ให้หลงเหลือ ของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในมื้อนั้น กะถืกเอาไปเผา” มาร์ธาได้เล่าถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของคริสตชน

เสียงปืนโหมกระหน่ำในป่าทึบริมน้ำโขง หลังสิ้นเสียงปืนในวันถัดมา อากาทา พุดทา, ว่องไว, เซซีลีอา บุดสี, ว่องไว บีบีอานา, คำไพ ว่องไว, มารีอา พร ว่องไว รวมถึงซิสเตอร์อีกสองท่าน ถูกสังหารพร้อมกันที่ป่าตรงข้ามกับแม่น้ำโขงไม่ไกล สามคนหลังนั้นเป็นเยาวชน เป็นผู้หญิงทั้งหมดและอายุน้อยสุดเพียง 14 ปี รวมผู้เสียชีวิตคือ 6 คน เป็นซิสเตอร์ 2 คน แม่ครัวประจำวัด 1 คน และเยาวชนอีก 3 คน โดนยิงที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ตรงข้ามวิหารนี้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2483 

บ้านของซิสเตอร์บุญราศี ที่พิพิธภัณฑ์ บุญราศี ริมแม่น้ำโขงของวัดสองคอน

ถึงหูวาติกัน

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายได้คลี่คลายลง 49 ปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2532 วันเวลาผ่านพ้นไป จึงเกิดการรวบรวมหลักฐาน ทั้งจดหมาย ข้าวของเครื่องใช้ ปากคำจากญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่พอจะรวบรวมได้ ส่งไปถึงคริสตจักรโรมันคาทอลิก

สมเด็จพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 เครดิตภาพ HocVien DaminhV

ต่อมา สมเด็จพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในขณะนั้น ได้รับรองบุคคลทั้ง 7 เป็นมรณสักขี และ บุญราศรี ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2532 ทุกคนถือเป็นคริสตชนไทยกลุ่มแรกที่ได้รับรองว่า เป็นบุญราศรี  

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงถูกตั้งคำถามเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและชื่อเสียงของท้องถิ่นที่ได้มาจากการนองเลือด ว่าสรุปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงความดีงาม หรือเป็นเหตุการณ์ที่ควรถอดบทเรียนอย่างจริงจังระหว่างการใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพลกับประชาชน