วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ผู้กำกับหนังชาวขอนแก่น ยังคงเดินทางและบันทึกเรื่องราวตามรายงานไว้อย่างละเอียดเพื่อผู้อ่านและแฟนๆ ได้หิ้วกระเป๋าตามเขาไป คราวนี้เขามีภารกิจเดินทางไปมาเลเซียเพื่อร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมือง Kota Kinabalu ประเทศมาเลเซีย (Kota Kinabalu International Film Festival) สิ่งหนึ่งที่เขาได้ทำในทริป คือ การสำรวจรอบๆ เมือง Kota Kinabalu เก็บกระเป๋าแล้วตาม วิชชานนท์ ไปเที่ยวแบบทิพย์กันเถอะ
หลังจากที่ผมตัดสินใจจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานครเป็นหลัก หรือกล่าวแบบลงรายละเอียดมากขึ้นกว่านั้น คือ งานภาคอุตสาหกรรมหลักในทุกด้านของประเทศไทยล้วนแล้วแต่อยู่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร ทำให้ผมต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง บ้านที่เมืองขอนแก่นจึงกลายเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับช่วงเทศกาลวันหยุด หรือการไปถ่ายทำภาพยนตร์แถบภาคอีสาน
แต่การตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านนานๆ แบบครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนกลับไปในช่วงหลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีที่หมู่บ้านซับแดงสิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2557 ผมยังคงอยู่ในระหว่างการลำดับภาพและเสียงแต่ยังไม่สามารถสรุปชิ้นงานให้เป็นผลงานที่ดีที่สุดได้ ในปีถัดมาจากนั้นผมได้รับการติดต่อจาก “Film Programmer” ชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งเพื่อเดินทางไปที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมือง Kota Kinabalu ประเทศมาเลเซีย (KKIFF, Kota Kinabalu International Film Festival)
“Film Programmer” หรือ “โปรแกรมเมอร์ภาพยนตร์” หมายถึงคนที่มีหน้าที่คัดเลือกภาพยนตร์และออกแบบตารางเวลาการฉายภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์ ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับ “Art Curator” หรือ “ภัณฑารักษ์” ที่คัดเลือกงานศิลปะเพื่อจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการทางศิลปะ
บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (1) : จากเมืองบางกะปิสู่เมืองลพบุรี
บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (2) : หมู่บ้านซับแดง
เมือง Kota Kinabalu เป็นเมืองหลวงแห่งรัฐ Sabah ที่ตั้งอยู่บริเวณมาเลเซียตะวันออก บริเวณตอนเหนือของ “เกาะบอร์เนียว (Borneo Islanad)” เหตุที่ใช้คำว่า “เมืองหลวง (Capital City)” เนื่องจากประเทศมาเลเซียปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบ “สหพันธรัฐ (Federation)” ซึ่งประกอบด้วย “รัฐ (States)” 13 รัฐ และ “ดินแดนสหพันธ์ (Federal Territories)” 3 ดินแดน ในแต่ละเขตพื้นที่นั้นจะมีประมุขผู้ปกครองสูงสุดของแต่ละพื้นที่ผ่านการเลือกตั้ง ในประเทศมาเลเซียมีผู้ปกครองรัฐ 2 แบบ คือ “ผู้ว่าการรัฐ” และ “สุลต่าน” แต่ประมุขสูงสุดของสหพันธ์รัฐ คือ กษัตริย์ที่ผ่านการเลือกตั้งจากสุลต่าน หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ยังดีเปอร์ตวนอากง (Yang di-Pertuan Agong)” ที่แปลว่า “พระองค์ผู้กลายเป็นเจ้า (He Who is Made Lord)” และเมืองหลวงของสหพันธรัฐมาเลเซียคือ “กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpor)” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ดินแดนสหพันธ์ของประเทศมาเลเซีย
คำว่า “Capital” มีรากศัพท์จากคำในภาษาละตินว่า “Caput” ที่แปลว่า “หัว” ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ Capital หมายถึง “เมืองหลวง” ส่วนในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง “ทุน” ทั้งสองความหมายนี้มีความเชื่อมโยงกันในบริบทของการกำเนิดรัฐ เนื่องจาก Capital City เป็นสถานที่ที่จัดการทุนทางทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตของรัฐนั้นๆ รวมถึงทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบทางเศรษฐศาสตร์และตลาดในยุคสมัยของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ซึ่งแปรเปลี่ยนความหมายมาเป็นรูปแบบของ “ทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐ (State Monopoly Capitalism)” อย่างเช่นในปัจจุบัน
ทีมงานสำรวจเมือง Kota Kinabalu (2015, KKIFF)
การเดินทางไปเมือง Kota Kinabalu ครั้งนี้ผมได้รับแจ้งล่วงหน้าว่า จะเป็นโครงการเชิญผู้กำกับภาพยนตร์ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 คน ซึ่งมีผู้กำกับหนุ่มชาวอินโดนีเซีย ผู้กำกับหนุ่มชาวฟิลิปปินส์ และผม เพื่อสำรวจเมืองและเขียนบทภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวกับเมือง Kota Kinabalu โดยจะคัดเลือกบทเพียง 1 เรื่องที่จะได้รับทุนสำหรับการผลิตเพื่อฉายในเทศกาลภาพยนตร์แห่งนี้ในปีถัดไป
สภาพทางสถาปัตยกรรมของเมือง Kota Kinabalu ไม่ต่างจากเขตพื้นที่เมืองรองในประเทศไทยมากนักยกเว้นการออกแบบให้องศาของหลังคามีค่าความชันมากกว่าหลังคาปกติที่คนไทยคุ้นเคย สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการที่รัฐแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มรสุมที่มีฝนตกชุก เช่นเดียวกับภาคใต้ของประเทศไทย
เมืองแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากนั่นคือ “Mount Kinabalu” ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดบนเกาะบอร์เนียวอันเป็นสถานที่ที่นักพิชิตภูเขาเดินทางมาเป็นประจำ แต่ทางเทศกาลภาพยนตร์ไม่ต้องการให้คนทำหนังทั้ง 3 คนเขียนบทภาพยนตร์ออกมาในลักษณะแนวทางนั้น จึงได้พาไปพวกเราสำรวจสถานที่อื่นๆ อย่างเช่น เขตพื้นที่ตลาดประมงที่เต็มไปด้วยชาวฟิลิปปินส์ เนื่องจากรัฐแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะที่ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์มากกว่าเมือง Kuala Lumpor จึงมีชาวฟิลิปปินส์อพยพจำนวนมากเนื่องจากเป็นแรงงานราคาถูกคล้ายกับระบบแรงงานในประเทศไทย รวมถึงการเข้าไปในเขตพื้นที่ตลาด China Town ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยชาวจีนมลายูและอาหารชื่อดังประจำภูมิภาคแถบนี้คือ “บักกุ๊ดเต๋ (Bak kut teh)”
แต่ผมสนใจการมีอยู่ของหมู่บ้านโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของแบบจำลองหมู่บ้านในยุค “Primitive Culture” มากกว่า เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงคล้ายกับบ้านในชนบทของอีสานในอดีต ซึ่งคนดูแลสถานที่แห่งนี้ คือ ชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่นับถือ “ศาสนาผี” ซึ่งได้พูดคุยกับลูกของหัวหน้าชุมชน ทำหน้าที่ “หมอผี” อีกด้วย คล้ายกับคติความเชื่อของคนอีสานบางกลุ่ม
จากหนังสั้นเรื่อง Somewhere Only We Know (2014)
ในวันสุดท้าย คนทำหนังทั้งสามต้องนำหนังสั้นไปฉายให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากสารคดีที่หมู่บ้านซับแดงยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ผมจึงนำหนังสั้นความยาว 20 นาที เรื่อง “Somewhere Only We Know (2014)” ไปฉาย เป็นหนังสั้นที่เกิดขึ้นจากการระดมทุน (Crowd Funding) ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวอดีตนักศึกษาคนหนึ่งที่ทำงานบัญชีและภาษีในบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองกรุงเทพมหานคร เธอได้พบกับเพื่อนสมัยเรียนและชายหนุ่มแฟนเก่าที่ต่างถวิลหาอุดมการณ์ทางการเมืองที่หล่นหายไประหว่างทาง ในตอนจบหนังเปิดเผยว่า เธอทำงานเป็นสาวไซด์ไลน์เพื่อ “เงิน” อันเป็นการเปรียบเปรยถึง “Alter-Ego” ที่หมายถึงการสร้างตัวตนอีกตัวตนหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง
ผมเดินทางกลับมาที่เมืองกรุงเทพ และนำข้อมูลต่างๆ มาเริ่มเขียนบทภาพยนตร์สั้นเพื่อส่งกลับให้ทางเทศกาล มีชื่อเรื่องตอนแรกว่า “Into the Sea” เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ฝันเห็นถึงช่วงที่เคยทำงานเป็น Technician ประจำเรือขนาดกลางลำหนึ่ง ก่อนจะดำน้ำโดยไม่มีที่ไปที่มาจนไปโผล่ที่เกาะร้างไร้ผู้คน เขาตื่นขึ้นมาในห้องเช่าที่เต็มไปด้วยขวดเหล้าและกองหนังสือ เขาเป็นคนท้องถิ่น Kota Kinabalu ที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง ทำงานเป็นพนักงานขับรถส่งน้ำดื่มไปทั่วเมืองแห่งนี้ มีเพื่อนรุ่นน้องชาวฟิลิปปินส์เป็นคู่หู หนังเต็มไปด้วยบรรยากาศของภาพยนตร์แนวจริง การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ เศรษฐศาสตร์มาร์กซิส และการค้นพบความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตด้วยการเดินลงไปในทะเลด้วยเท้าเปล่า
บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (3) : จากเมืองขอนแก่นสู่เมืองกาฬสินธุ์
บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (4) : จากเมืองเปือยน้อยสู่เมืองท่ามะกา I
บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ (5): จากเมืองเปือยน้อยสู่เมืองท่ามะกา II
ผมส่งบทภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้กลับไปที่เทศกาลภาพยนตร์ แต่ท้ายที่สุดเหมือนผู้กำกับชาวอินโดนีเซียจะได้รับทุนการผลิตจากโครงการนี้ไป จากนั้นผมจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการลำดับภาพและเสียงสำหรับภาพยนตร์สารคดีหมู่บ้านซับแดง แต่ก็ยังไม่สามารถเสร็จสิ้นงานชิ้นนี้ได้ ในช่วงเวลานั้นเองทางบ้านที่ขอนแก่นชวนผมไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ผมจึงตัดสินใจไปบวช โดยที่ไม่คิดว่า จะไปบวชมาก่อนในชีวิต
อันที่จริงแล้วการตัดสินใจไปบวชในครั้งนี้มีอีกเหตุผลที่ว่า หลังจากการอบรมด้านภาพยนตร์ที่โครงการ Produire au Sud, Nantes ประเทศฝรั่งเศส ทางทีมที่เข้าร่วมอบรม ทั้ง 6 ประเทศมีแผนการที่จะสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบ “Omnibus Film” (Omnibus Film หมายถึงภาพยนตร์ขนาดยาวที่ประกอบขึ้นจากภาพยนตร์สั้นหลายเรื่องที่อยู่ในชุดความคิดเดียวกัน) โดยมีชุดความคิดหลักว่า ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพสังคม หรือสิ่งต้องห้ามในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพในประเทศนั้นๆ เช่น คติความเชื่อหรือศาสนา
ในช่วงเวลานั้นผมเขียนบทภาพยนตร์สั้นในชื่อเรื่องว่า “35” เป็นเรื่องราวของพระรูปหนึ่ง ซึ่งอดีตเป็นนักดนตรีวงร็อค แต่หลบหนีลูกเมียไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีทีมงานสารคดีจากทีวีออนไลน์แห่งหนึ่งมาสัมภาษณ์เกี่ยวกับพระวัดป่า พระรูปนี้จึงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นพระวัดป่า ท้ายสุดของการสัมภาษณ์พระวัดป่าจำได้ว่า พิธีกรหญิงคนนี้เคยเล่นหนังสำหรับผู้ใหญ่ คืนนั้นพระวัดป่ารูปนี้นั่งสมาธิเพื่อสกัดกั้นอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ไม่นานนักเขาจึงเดินไปสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง วันต่อมาเขาจึงลาสิกขาและกลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ปกติ
การที่หนังมีลักษณะในแนวทางแบบนี้ในตอนแรกสุด เพราะคิดว่า คงสามารถหาทุนผลิตได้จากต่างชาติเป็นหลัก และสามารถทำงานโดยไม่มีใครมาสนใจมากนัก เนื่องจากการเป็น “หนังอาร์ต” ของภาพยนตร์ที่ตั้งใจเอาไว้ แน่นอนว่า หนังเกี่ยวกับการนิพพาน นางเอกหนังสำหรับผู้ใหญ่ และวงดนตรีร็อค Nirvana (ที่แปลว่า นิพพานในภาษาบาลี) เมื่อการสำเร็จความใคร่เและการแตะเนื้อต้องตัวสตรีเป็นเรื่องผิดบาปของพระสงฆ์ที่มีแต่เพศชาย หนทางหลุดพ้นคือการกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติ
ภาพวาดพิธีสตี (1816, Giulio Ferrario)
มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่า ในนิยายวิทยาศาสตร์ปี 1872 เรื่อง “80 วันรอบโลก (Around the World in Eighty Days)” ประพันธ์โดย “Jules Verne (1828-1905)” ช่วงหนึ่งของการเดินทางที่อินเดีย ตัวละครหลักของเรื่องได้ช่วยหญิงสาวชาวอินเดียให้รอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็นใน “พิธีสตี” หมายถึงประเพณีการทำศพของชาวฮินดู พิธีนี้เป็นการบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในพิธีศพของสามี ทั้งเต็มใจและถูกบังคับ ซึ่งคำว่า “สตี” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “ภรรยาผู้ซื่อสัตย์” รวมถึงผู้ประพันธ์นิยายเรื่องนี้มีถิ่นกำเนิดจากเมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศส
แต่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นจากการสังเคราะห์ข้อมูลโดยไร้ประสบการณ์ในลักษณะทาง “จิตวิญญาณแบบปัจเจก” โดยตรง ถึงแม้ว่า จะเคยสนทนากับพระหรือนักปรัชญา แต่ก็ไม่เคยบวช ซึ่งผมคิดเอาเองมาโดยตลอดว่า ผมเชื่อเรื่องศาสนาพุทธในแง่ “ความเป็นปรัชญา” มากกว่า “ความเป็นศาสนา” ผมจึงลองไปบวชเผื่อว่า โปรเจ็คท์ Beer Girl อาจจะไม่ได้ทำขึ้นมาจะได้มีโปรเจ็คท์สำรองเอาไว้อธิบายกับทางผู้ให้ทุน แต่โชคดีที่โครงการ Omnibus เรื่องนี้ล่มไปก่อน ผมสึกออกมาหลังจากบวชได้ราว 10 วัน เนื่องจากต้องไปเซ็นเอกสารจบการศึกษาให้นักศึกษาที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ในช่วงเวลาที่ไม่แน่ใจระหว่างความสับสนหรือการตกผลึก ผมตัดสินใจกลับขอนแก่นแบบระยะยาว หมายถึงการย้ายไปสร้างสตูดิโอในชื่อ “Isan New Wave Production” เพื่อสร้างเครือข่ายด้านศิลปะและภาพยนตร์ศิลปะโดยอ้างอิงจากรูปแบบของเมืองต่างๆ ที่เคยเดินทางไปร่วมกิจกรรมด้านภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ ชื่อของสตูดิโอได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า “French New Wave” ที่หมายความถึงแรงขับเคลื่อนทางสังคมของคนทำหนังชาวฝรั่งเศสในยุคนั้น
จากหนังเรื่อง The Young Man Who Came From The Chee River (2015)
ผมตัดต่อภาพยนตร์สารคดีที่หมู่บ้านซับแดงจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงดัดแปลงบทภาพยนตร์ที่เขียนให้เมือง Kota Kinabalu มาอยู่ในบริบทของเมืองขอนแก่นและถ่ายทำจนเสร็จสิ้นเป็นหนังสั้นความยาว 17 นาทีในชื่อเรื่องว่า “The Youngman Who Came From The Chee River (2015)” เป็นเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานทวงหนี้ในเมืองขอนแก่นเขาตื่นขึ้นมาจากความฝันในการดำน้ำในแม่น้ำแห่งหนึ่ง เขาเริ่มต้นวันด้วยการทำงานอย่างซ้ำซาก จนกระทั่งเขาไปบ้านหลังหนึ่งนอกเมืองขอนแก่น และพบว่า ชายหนุ่มเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ป่วยหนัก ลูกชายของบ้านนี้ขอยืมโทรศัพท์เพื่อจะโทรหารถพยาบาลฉุกเฉิน เขาจึงต้องตัดสินใจระหว่างการทำหน้าที่ตามสังคมกำหนดหรือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้ประกวดในสาย “Orrizonti Short Film Competition” ที่ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมืองเวนิส (72nd Venice Film Festival 2015)” ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ระดับ “Big Three” ของวงการภาพยนตร์โลก อีกสองแห่ง คือเมือง Cannes ประเทศฝรั่งเศส และเมือง Berlin ประเทศเยอรมัน
เบื้องหลังการถ่ายทำจากหนังเรื่อง Bangkok Stories : Mochit (2016)
แต่สิ่งที่ตั้งใจเอาไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผมมีงานโฆษณาอีก 2-3 ชิ้นที่ขอนแก่น (เดี๋ยวจะเขียนถึงในบทถัดไป) แล้วก็ไม่มีงานเข้ามา ผมจึงกลับกรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อไปทำภาพยนตร์ Omnibus ขนาดยาว เรื่อง “Bangkok Stories (2016)” เป็นการทำงานร่วมกับผู้กำกับอีก 5 คน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในย่านต่างๆ ของเมืองกรุงเทพ ผมเลือกพื้นที่บริเวณ “หมอชิต” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของชายหนุ่มที่เป็นพนักงานขับรถ Taxi กับหญิงสาวพนักงานขายหุ่นจำลองมนุษย์และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เจอกันโดยบังเอิญในสมัยที่ต้องย้ายเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองหลวง หลังจากที่ซ่อมรถเสร็จ หญิงสาวพนักงานขายกำลังเดินทางไปที่เมืองขอนแก่นชายหนุ่มจึงฝากกล่องยาสมุนไพรให้แม่ของเขา ฉายเฉพาะในช่องเคเบิ้ลทีวีแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นผมจึงไม่มีอะไรทำ ซึ่งก็คือการย้อนกลับไปสู่บทแรกของงานเขียนชุดนี้
จากหนังเรื่อง Traces and Fragments of Memory (2020)
ปลายปี 2562 ผมกลับมาขอนแก่นอีกครั้งเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำหนัง สภาวะทางสังคมและอารยธรรมขอมโบราณ ผมมีฟุตเทจจำนวนเยอะมากที่ไม่ได้ใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ตามที่เขียนเอาไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อมีเวลาผมจึงนำร่องรอยและเศษซากที่กระจัดกระจายของความทรงจำ ผ่านการบันทึกด้วยรูปแบบภาพยนตร์เหล่านี้ มาลำดับเสียงและภาพจนกลายเป็นภาพยนตร์ความเรียงขนาดความยาว 82 นาที ในชื่อ “Traces and Fragments of Memory (2020)” ที่ฉายเฉพาะในช่องทางออนไลน์ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นการเริ่มต้นระบาดของโรค Covid-19 ในประเทศไทยอย่างรุนแรงซึ่งทำให้รูปแบบของพิจารณาด้านภาพยนตร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศถูกระงับไว้ชั่วคราว
โปรดติดตามตอนต่อไป…
หมายเหตุ : ภาพยนตร์ที่กล่าวมาบางเรื่องสามารถรับชมได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้
Somewhere Only We Know (2014) (ดูฟรี)
The Young Man Who Came From The Chee River (2015) (ดูฟรี)
Traces and Fragments of Memory (2020) (เสียค่าใช้จ่ายในการชม)