หลังปีใหม่หลายคนคงได้ทบทวนชีวิตกันแล้วว่า มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างในรอบปีที่ผ่านมา อ.ปฐวี โชติอนันต์ จึงชวนทบทวนว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาชาวอีสานเผชิญเรื่องราวอะไรร่วมกันบ้าง ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าขบคิด แต่ที่น่าสนใจเป็นการวิเคราะห์บทบาทการเคลื่อนไหวของ นักเรียน นักศึกษาอีสาน แม้จะซบเซาไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่า ยังคงมีเชื้อไฟในการเติบโต
หลังปีใหม่ 2566 ผมคิดว่า เราน่าจะลองกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ว่า เกิดขึ้นอะไรขึ้นในการเมืองไทยและการเมืองในภาคอีสานบ้าง
ใน 1 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องแรกที่เราจะไม่นึกถึงไม่ได้เลย คือ การจัดการโควิดของรัฐไทย แม้ว่า ช่วงต้นปีค่อนมาถึงกลางปีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องได้รับการรักษา ในโรงพยาบาลจะลดลง ศูนย์พักพิงหลายแห่งสำหรับผู้ป่วยปิดตัวลง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีประกาศให้นักเรียนและนักศึกษากลับมาเรียนในที่ตั้งมากขึ้น ร้านค้าเปิดขายได้ตามปกติ โดยไม่ถูกจำกัดเวลาขายและสามารถนั่งในร้านได้ แต่รัฐไทยยังคงต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดโควิดมาจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2565
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นและคาใจของใครหลายคน คือ การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้อย่างยาวนาน แม้ว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิดจะคลี่คลายลงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร รัฐบาลต้องการคง พ.ร.ก.ดังกล่าวไว้เพื่อเอาไว้จัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล เอาไว้รวบอำนาจจากพรรคการเมืองขั้วต่างๆ หรือต้องการเอาไว้บริหารจัดการโควิดตามที่รัฐกล่าวอ้างกันแน่
เรื่องที่สอง การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เคยเกิดขึ้นทั่วประเทศโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ในช่วง พ.ศ.2562-2563 อารเคลื่อนไหวดังกล่าวดูเหมือนว่า เมื่อ พ.ศ.2565 จะแผ่วลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะปริมาณในการชุมนุม กระแสการชุมนุมที่แผ่วลงนั้นไม่ได้หมายความว่า การเรียกร้องต่อสู้ที่เกิดขึ้นนั้นสูญเปล่า เนื่องจากไม่สามารถที่จะประท้วงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่ง หรือการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและมาตรา 112 ได้สำเร็จ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การได้เห็นพลังของเยาวชนที่ออกมาเป็นผู้นำในการชุมนุมที่ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่เพียงในกรุงเทพฯ แต่กระจายตัวตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก การชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ใช่ลักษณะของการเป็นฮีโร่ของผู้นำการชุมนุมเหมือนสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ชุมนุมคนใดก็ได้ที่อยากขึ้นมาพูดปราศรัยในประเด็นที่เขาเหล่านั้นเตรียมมา
ยิ่งไปกว่านั้น การชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมาได้ยกระดับทางความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ไปไกลกว่าปัญหาตัวบุคคล แต่มีการพูดถึงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำและพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองมากยิ่งขึ้น จนทำให้มีคำกล่าวว่า ความคิดทางการเมืองของคนเหล่านี้ได้ทะลุกำแพงออกไปไกลมากเกินกว่าที่ผู้มีอำนาจจะควบคุมได้แล้ว การชุมนุมของเยาวชนในอีสานนั้นได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอีสานมาให้ผู้เข้าฟังได้รับรู้และสนใจถึงปัญหาบ้านเมืองของตนอีกด้วย
งานไพร์ดที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี
นอกจากนี้การชุมนุมเดินขบวนใหญ่ในอีสานที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด คือ งานไพรด์ในอีสานของกลุ่ม LGBTQ+ ในอีสานเพื่อเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภารับรองให้รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2565 มีการชุมนุมเดินขบวนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 จังหวัดในภาคอีสาน อาทิ งานยูดีไพรด์ จ.อุดรธานี วันที่ 18 มิถุนายน, งานบุญบั้งไพรด์ จ.ศรีสะเกษ วันที่ 26 มิถุนายน งานซะเร็นไพรด์ จ.สุรินทร์ วันที่ 28 มิถุนายน งานอุบลฯ ไพรด์ จ.อุบลราชธานี วันที่ 28 มิถุนายน เป็นต้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม LGBTQ+ ในอีสานดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานไพรด์ในอีสานให้ผู้สนับสนุนในเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มาเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการและแสดงออกให้รัฐได้รับทราบและสร้างความตื่นตัวให้กับคนในสังคมได้ทราบถึงความเท่าเทียม สิทธิและเสรีภาพของคนกลุ่มดังกล่าวที่ควรได้รับการปกป้อง
เรื่องที่สาม การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐต่อนักกิจกรรมยังมีอย่างต่อเนื่อง นักกิจกรรมในอีสานหลายคน ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปหาถึงที่บ้าน หรือโทรไปคุยกับพ่อแม่ให้หยุดทำกิจกรรม นักกิจกรรมจากอีสานที่เดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ หลายคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐหมายหัวไว้ก่อนแล้ว บางคนถูกทำร้ายถึงกับต้องสูญเสียดวงตา อย่างเช่น กรณีของ พายุ บุญโสภณ หรือ พายุ ดาวดิน ที่ประท้วงรัฐบาลในการจัดงาน APEC ภายใต้ข้อแก้ตัวของผู้มีอำนาจที่กล่าวว่า ปฏิบัติไปตามมาตรฐานสากล ในเวลานี้ยังไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้และเป็นคำถามคาใจของใครหลายคนที่ว่า ถ้าปฏิบัติตามมาตรฐานสากล แล้วทำไมถึงต้องเล็งปืนยิงใส่ที่ตา
นอกจากนี้กระบวนการฟ้องร้องคดีกับนักกิจกรรมยังคงมีอยู่ และสร้างภาระให้กับนักกิจกรรม อย่างเช่น กรณี ‘ ไบค์’ หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ ‘ภูมิ’ กัมพล (สงวนนามสกุล) ที่ถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังศาลยกฟ้องคดีชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ที่ศาลบอกว่า ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นประยุทธ์ ซึ่งศาลอธิบายว่า ‘I HERE’ ไม่พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’ อีกทั้งนายกฯ ย่อมถูกวิจารณ์ได้ อย่างไรก็ตามระหว่างการต่อสู้คดีทั้งสองคนต้องเสียเวลาเดินทางมารายงานตัวหลายครั้ง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับทั้งคู่ อีกทั้งหลังการยกฟ้องก็ไม่มีการชดเชยใดๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่รัฐใช้การฟ้องเพื่อข่มขู่และหยุดนักกิจกรรมที่จะรณรงค์เรียกร้องทางการเมือง
เรื่องที่สี่ การรณรงค์ในเรื่องการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรงกลับมาอีกครั้ง การรณรงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลุ่มเชียงใหม่จัดการตนเอง ที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้นได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจในประเด็นนี้โดยเฉพาะที่ จ.ขอนแก่น มีการรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กลุ่มดาวดินได้เชิญนักวิชาการ อดีตนักการเมืองมาออกรายการเพื่อเผยแพร่ความรู้ถึงข้อดีในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเชิญชวนร่วมกับสื่อมวลชน เช่น The voters, The Isaan Record ภาคประชาสังคม และกลุ่มก้าวหน้า ในการรณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคกฎหมายท้องถิ่น – กระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองได้
แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเพิ่งถูก ส.ว.ปัดตกไป แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือกระแสการกระจายอำนาจถูกกลับนำมาพูดถึงกันในสังคมต่างจังหวัดอีกครั้งและตอนนี้เริ่มมีพรรคการเมืองหลายพรรคตอบรับกับความคิดดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่มีการประกาศนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในการลงเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2566 นี้
เรื่องที่ห้า การขยับตัวของพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งใหญ่ในภาคอีสาน ถือได้ว่าเป็นฐานที่มั่นคงของ พรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งใน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมาในอีสานมี ส.ส.เขต 116 คน พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบเขต ในอีสาน 84 คน รองลงมา คือ พรรคภูมิใจไทย 16 คน พรรคพลังประชารัฐ 11 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน ส่วนพรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาได้ ส.ส.เขตในอีสาน พรรคละ 1 คน อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พรรคที่มาแรงในอีสานอีกพรรคหนึ่ง คือ พรรคภูมิใจไทยโดยเฉพาะการวางรากฐานการเมืองท้องถิ่นและพลังดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่สอบได้และสอบตกให้เข้าพรรค จนกระทั่งทำให้พรรคเพื่อไทยต้องมีการจัดแคมเปญใหญ่ในอีสานเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและ ส.ส.ที่อยู่กับตนไม่ให้ย้ายไปไหน
ส่วนพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ในอีสานอดีตผู้ลงสมัครหลายคนในนามพรรคย้ายไปอยู่ภูมิใจไทยมากขึ้น อย่างเช่น ในอุบลฯ กลุ่มของนายสุพล ฟองงาม ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชารัฐลงเลือกตั้งรอบที่แล้วย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย หรือตี๋เล็ก หลังจากพ่ายแพ้ในเขต 7 ให้ ส.ส.ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ พรรคเพื่อไทย ก็ย้ายออกจากพลังประชารัฐไปพรรคไทยสร้างชาติ และตอนนี้ย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เราจะเห็นว่ามี ส.ส.ย้ายไปอยู่กับภูมิใจไทยมากแค่ไหนดูได้จากการจัดงานที่บุรีรัมย์ที่ผ่านมา
สุดท้ายพรรคก้าวไกลก่อนหน้านั้นคือพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. 1 ที่ในจังหวัดขอนแก่น แต่ปัญหาคือ ส.ส.คนดังกล่าวได้ย้ายพรรคไปพลังประชารัฐ รอบนี้เขตเดิมที่อนาคตใหม่เคยได้ พรรคก้าวไกลจะส่งครูใหญ่ อรรถพลลงเลือกตั้งแทน ต่อไปนี้คงต้องมาดูกันว่าพรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.พื้นที่มากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม มีการคาดคะเนจากนักวิชาการในพื้นที่ว่าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกลอาจจะได้เพิ่มมากขึ้นจากการที่คนรุ่นใหม่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นกับคะแนนฐานเสียงที่เก็บได้จากการเลือกตั้งนายกอบจ.ในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องที่หก การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การทำเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมา การสร้างโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล ใน จ.ยโสธร ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำลำเซบาย และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เขื่อนปากมูลในจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ในอีสาน ยังคงเป็นความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างรัฐ เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่อีสาน มีหลายคำถามที่เกิดขึ้นจากชาวบ้านต่อการสร้างโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์ที่ถูกมองว่าเป็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแบบปลอมๆ คือ การเอาคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมาออกความคิดเห็นหรือการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและที่สำคัญ คือ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามชาวบ้านผู้ประท้วง เป็นต้น ภายหลังจากนี้เราต้องมาดูกันว่าในปี พ.ศ.2566 นี้ ปัญหาเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากน้อยแค่ไหนจากนักการเมืองที่ต้องลงแข่งขันเลือกตั้งในพื้นที่ คนไหน และพรรคไหนที่จะสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน และสามารถที่จะนำไปสู่ข้อยุติเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เป็นผู้เสียเปรียบ
กลุ่มศิลปินได้แสดงล้อเลียนการกักขังผู้มีบุญด้วยเครื่องพันธนาการในงานรำลึกของการเสียชีวิตของชาวบ้านและการทำบุญในรอบ 120 ปีที่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
เรื่องที่เจ็ด การกลับมาของประวัติศาสตร์นอกขนบรัฐไทย หรือ “ผีบุญ” เป็นสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ เมื่อปี 2565 ประวัติศาสตร์ของชาวบ้านในบริเวณที่ราบลุ่มโขง ชี มูล ที่ลุกขึ้นต่อต้านการขยายอำนาจของรัฐไทยนั้นถูกนำกลับมาค้นคว้า รื้อฟื้นและตีความใหม่จากนักปฏิบัติการทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ มีการจัดเสวนาหลายครั้งในเรื่องของผู้มีบุญ มีการรวบรวมบทความต่างๆ จากนักเขียนและนักวิชาการออกมาให้ผู้สนใจได้อ่าน มีการจัดทำสารคดีที่เกี่ยวกับผู้มีบุญให้ผู้คนได้ชม รวมถึงมีการจัดงาน Ubon Agenda 2022 ครบ 121 ปี ผู้มีบุญแห่งศึกโนนโพธิ์ ที่นำโดย อ.ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะและทำบุญให้ผู้ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพสยาม
นอกจากนี้มีการแสดงโชว์ถึงการตัดคอผู้มีบุญที่บริเวณทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ในการประหารผู้มีบุญและขบวนการแสดงได้เดินไปตามถนนไปยังแม่น้ำมูลเพื่อจำลองสถานการณ์ที่ศพของ ผู้มีบุญถูกนำไปโยนทิ้งลงแม่น้ำหลังถูกสังหาร ปฏิบัติการทางสังคมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมอีสานโดยเฉพาะใน จ.อุบลราชธานี ได้ฉุกคิดและตั้งคำถามถึงความเป็นมาของบ้านเมืองตน รวมถึงการกระทำที่โหดร้ายของรัฐไทยไม่มากก็น้อย
เรื่องที่แปด โศกนาฏกรรมและการสูญเสียที่ จ.หนองบัวลำภู เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนและความโศกเศร้าไปทั่วโลก นักข่าวไทยและต่างประเทศต่างมาทำข่าวนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศหลายคนรีบลงพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกันต่อไป คือ การบริหารจัดการดูแลเด็กเล็กของไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำจะยังไว้ใจฝากลูกให้กับศูนย์เหล่านี้ได้ต่อไปไหม
โศกนาฏกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในอีสาน แต่ก่อนหน้านั้นใน พ.ศ. 2563 มีทหารกราดยิงประชาชนในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา สิ่งเหล่านี้รัฐและสังคมต้องกลับมาถอดบทเรียน หาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร และหาวิธีการแก้ไขเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกหรือปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เงียบหายไปโดยไม่มีใครรับผิดชอบ
เรื่องที่เก้า การสูญเสียนักสู้อีสาน 2 คนที่สำคัญ คือ อ.ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางสังคมคนสำคัญ ที่จัดงานศิลปะทางการเมืองให้คนได้ฉุกคิดและตั้งคำถามถึงสิ่งที่เขาเหล่านั้นเป็นและดำรงอยู่ในปัจจุบัน งานชิ้นสุดท้ายที่สำคัญที่ อ.ถนอม ทิ้งไว้ให้กับแผ่นดินอีสานคือ การปลุกผีบุญ หรือผู้มีบุญให้ขึ้นมาโลดแล่นอีกครั้ง บนแผ่นดินนี้ อีกคน คือ อติเทพ จันทร์เทศ นักข่าวฝีมือดีจาก The Isaan Record ซึ่งเสียชีวิตในปีนี้เช่นกัน อติเทพ เป็นนักสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย เขาคอยทำและนำเสนอข่าวในภาคอีสานในมุมมองต่างๆ ที่ไม่มีในข่าวช่องหลักให้ผู้คนได้รับทราบ นอกจากนี้ อติเทพ ยังเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นประวัติศาสตร์ผู้มีบุญ บนแผ่นดินอีสานนี้ผ่านการทำสารคดีผู้มีบุญให้ผู้คนได้ชมกัน
เรื่องที่สิบ เหยื่ออธรรมที่ถูกคุมขัง พี่น้องนักสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายท่านโดยเฉพาะคนเสื้อแดงและเยาวชนที่ถูกฟ้องร้อง ฝากขังจากเจ้าหน้าที่รัฐ เราไม่ควรลืมพวกเขาคนเหล่านี้แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การตั้งคำถามถึงการฟ้องร้องคดีของรัฐที่มีต่อประชาชนโดยเฉพาะประเด็นการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยในเรื่องการประกันตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษทางการเมือง
เรื่องสุดท้าย น้ำท่วมใหญ่ จ.อุบลราชธานี พ.ศ. 2565 น้ำท่วมใหญ่ในรอบนี้จำนวนน้ำมีปริมาณที่มากและขังอยู่นานกว่าน้ำท่วมใหญ่ จ.อุบลราชธานี พ.ศ.2562 ในช่วงที่น้ำท่วมมีทั้งนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยในพื้นที่ จากน้ำท่วม พ.ศ.2562-2565 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทำอะไรบ้างกับการป้องกันน้ำท่วม การลงพื้นที่ของผู้บริหารประเทศยังถูกตั้งคำถามถึงการเกณฑ์ข้าราชการกำลังพลไปต้อนรับและคุ้มครองแทนที่จะเอากำลังคนเหล่านั้นไปช่วยผู้ประสบภัย
ผู้ประสบภัยน้ำจังหวัดอุบลราชธานีนั่งรอความช่วยเหลือขณะที่ระดับเพิ่มประมาณสูงขึ้นกว่า 1.5 เมตร เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์
แม้ว่า น้ำจะลดลงไปแล้วการเยียวยาผู้ประสบภัยนั้นก็ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ประสบภัยอย่างมาก ผมคิดว่า ปัญหาน้ำท่วมนี้จึงเป็นวาระสำคัญที่ไม่ใช่แค่เมืองอุบลราชธานี แต่ต้องเป็นวาระสำคัญของภาคอีสานและของประเทศไทยในการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมการบริหารจัดการไม่ใช่ปล่อยให้รัฐดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมาการทำโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนต่างๆ มักสร้างปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่มากกว่าที่จะแก้ไขปัญหา เรื่องน้ำท่วมก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเอกชน ต้องหันหน้าคุยกันและหาทางออกร่วมกันเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต โดยที่ประชาชนไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้รอรับนโยบายเท่านั้นแต่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นผู้นำในการดูแลประชาชนในพื้นที่
สุดท้ายนี้ปี 2566 ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านอยู่ดีมีแฮง ฮักแพง คือ เก่าและปลอดโรคปลอดภัยกันทุก ๆ คนเด้อ !