ขอนแก่น – 22 มกราคม 2566 กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกอีสาน จัดกิจกรรม “อดอาหารด้วยกันกับเพื่อน” ที่บริเวณลานหน้าบึงศรีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาคดีทางการเมือง จากกรณีที่สองนักกิจกรรม ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ ประกาศยื่นถอนประกันตัวเองกรณีคดีอาญา มาตรา 112 พร้อมแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง คือ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางความคิด และให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายประกันสิทธิและเสรีภาพ โดยทั้งคู่อดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว (นับถึงวันที่ 22 มกราคม)
ก่อนหน้านี้ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรา 112 เดินทางมายังศาลรัชดา เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อประกาศถอนประกันตัวเองและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยราดตัวด้วยสีแดง เพื่อสื่อความหมายว่า “เลือดแลกเลือด ทวงชีวิตเพื่อนคืน” ก่อนประกาศหากไม่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง จะมีการยกระดับทั้งด้านในคุกและนอกคุก
สำหรับกิจกรรม “อดอาหารด้วยกันกับเพื่อน” จัดขึ้นเมื่อเวลา 15.00 – 23.00 น. โดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกแต่งกายชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล ชูป้ายข้อความ “คืนชีวิต คืนสิทธิประกันตัว” เพื่อแสดงจุดยืนถึงการสนับสนุนข้อเรียกร้องของแบมและตะวัน พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและทุกพรรคการเมือง รับฟังและกำหนดนโยบายเพื่อแสดงจุดยืนข้างประชาชน
“อยากเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองออกนโยบายเพื่อแสดงให้เราเห็นว่า เขาเป็นพรรคของประชาชน ที่จะทำเพื่อประชาชนจริงๆ เพราะว่าเพื่อนเราที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ว่าจะเป็นนักโทษทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม เขาก็เป็นประชาชนคนนึงเหมือนกัน” กชกร ธงศรี หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีการจัดกิจกรรมคืนสิทธิประกันตัวที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ ทะลุ มข. หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมให้สัมภาษณ์เพจทะลุฟ้าว่า ได้รับการประสานงานจากทนายความจะถูกเพิกถอนประกัน ซึ่งตนยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยคาดว่าอาจเพราะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 3 นิ้วในงานพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะบัณฑิตคณะนิติศาสตร์
“ตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า ทำไมผมถูกเพิกถอนการประกันตัว เพราะคดีการสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีอะไรแล้ว ผมจึงคิดว่า น่าจะเป็นการชู 3 นิ้วในงานรับปริญญานี่แหละ ในฐานะนักฎหมายผมไม่เห็นว่า ทั้งสองเรื่องผิดกฎหมายตรงไหน” ทรงพล สนธิรักษ์ กล่าว
สำหรับ ทรงพล สนธิรักษ์ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชู 3 นิ้วระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยเกิดขึ้นขณะที่รับพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จแล้ว และกำลังจะลงจากเวที โดยในการนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา