Jean Sebastienne

คล้ายกับการเป็นนักดนตรีที่ไม่เคยแสดงศักยภาพในบ้านเกิดของตัวเอง “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” ชายหนุ่มอดีต Civil Entaneer (Entaneer แปลว่านักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์) ทั้งฝั่งเมือง Khon Kaen และเมือง Maha Sarakham กับความฝันที่อยากเป็นนักดนตรีร็อคด้วยความสามารถแบบ “มะล็อคก๊อกแก๊ก” ทำให้เขาได้รวมวงกับเพื่อนเดินสายทัวร์ตามงานคอนเสิร์ตในมหาวิทยาลัยบ้างประปราย แต่สิ่งที่เพื่อนจดจำเขาได้ในยุคนั้น คือการที่เขากับเพื่อนเล่นดนตรีเป็นวงเปิดในงานมินิคอนเสิร์ต “A Tribute to Kurt Cobain” ที่จัดขึ้นริมรั้วนอกมหาวิทยาลัยในช่วง Summer ปี 2002 เพื่อแสดงความคารวะแด่ Frontman แห่งคณะ Nirvana ผู้ล่วงลับจากการกระทำ “อัตวินิบาตกรรม” ในช่วงเดียวกันเมื่อปี 1994 

มินิคอนเสิร์ตครั้งนั้น เป็นการร่วมมือกันของชมรมดนตรีสากลทั้งทางฝั่ง “ไทย-เยอรมัน” และฝั่ง “มอดินแดง” ในนามกลุ่ม KK Underground

ปี 2004 เขายังคงเตร็ดเตร่ด้วยการเดินทางระหว่าง “สารคาม-ขอนแก่น-เลย” เพื่อทำงานเป็นช่างคอมพิวเตอร์และออกแบบระบบเครือข่ายที่ร้านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ “หนังเจ้ย” ได้รางวัลที่เมืองคานส์พอดี และเนื่องด้วยเขาเคยไปเดินสายเล่นดนตรีกับเด็กถาปัดเป็นหลัก (ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยมอีกที) ทำให้คุ้นเคยกับบรรยากาศแบบเด็กถาปัด และมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็นหนังที่ดูยาก ทำให้เขาเริ่มสงสัยว่าหนังอาร์ตดูยากเป็นอย่างไร 

จริงๆ เขาชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วง ม.ปลาย กับหนังสุดแนวเรื่อง “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” แต่ช่วงที่อยู่สารคาม เขาใช้ชีวิตในห้องสมุดและการเดินทางเป็นหลัก หลังจากนั้นเขาจึงเข้าห้องสมุดด้วยการไปอ่านหนังสือด้านภาพยนตร์และปรัชญาแทนที่จะเป็น Big Bang Theory (ซึ่งจริงๆ เขาก็อ่านมันด้วย) เขาเจอแนวคิด Existential เขาอ่าน Cinema Magazine จนไปเจอคำว่า หนังทดลอง พร้อมกับหนัง “บันทึกมอเตอร์ไซค์” ออกแผ่นในประเทศไทย (แต่พูดเป็นภาษา Spanish พร้อมคำบรรยาย) เขาเลยคิดเอาเองว่าหนังอินดี้ควรจะเป็นแบบนี้ 

ก่อนการฉายหนังที่ TCDC Khon Kaen (ภาพ: Watcharapong Wongsim)
 บรรยากาศขณะฉายภาพยนตร์ Isan Sonata

วันหนึ่งเขาจึงอยากทำหนังขึ้นมา ทั้งที่จริงๆ แล้วการมาเมืองสารคามเขามีเหตุผลเล็กน้อยว่า เมืองแถบนี้ (กาสิน-สาคาม) เป็นเมืองนักเขียน ซึ่งเขาชอบพูดถึงแม่ของเขาที่เขารู้สึกว่าแม่ของเขาเป็นนักเขียนที่เสียชีวิตไปแล้วในช่วงเวลาที่เขาเมาเหล้า เขาจึงมาเรียนต่อที่นี่แทนที่จะไปฝั่งมหาลัยฝึกหัดครูชั้นสูงแถบเมืององครักษ์ ซึ่งที่นี่ไม่ต่างกันมากนัก แต่ยากจนข้นแค้นกว่า

เขาทำหนังสั้นเรื่องแรกที่ว่าด้วย “ส้มตำ, การสูบบุหรี่ขณะขี้ และ Space-Time” ซึ่งได้รางวัลชมเชยจาก Young Thai Artist Awards 2005 ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาลัยแถบอีสานคนแรกที่ได้รางวัลนี้สาขาภาพยนตร์ ในขณะที่เรียนด้านวิศวกรรม เขาคิดว่าน่าจะไปเรียนภาพยนตร์หลังจากนั้น ซึ่งหลังจากดูหลักสูตรของหลายมหาลัย เขาจึงเลือกเรียนที่มหาลัยเปิดฝั่งปากเกร็ด น่าจะเข้ากับวิธีการศึกษาก่อนหน้านี้ของเขา โดยใช้ห้องสมุดมหาลัยฝั่งบางกะปิที่เขาเคยเรียนด้าน Computer Science เป็นที่กบดาน

ช่วง Q&A (ภาพ: Watcharapong Wongsim)

ปี 2011 เขากลับมาทำหนังอาร์ตขนาดยาว (แบบมะล็อคก๊อกแก๊กเช่นเคย) เรื่องแรกของเขาที่เมืองขอนแก่น โดยมีชื่อเรื่องในตอนแรกสุดว่า My Long Weekend งานแบบ “Identity and Existential Crisis” แต่เนื่องด้วยในภาคอีสาน เมื่อสิ่งใดก็ตามใช้วิธีการที่มี “เรื่องเล่า” ในนั้นมักจะเชื่อมโยงกับความเป็น “บทเพลงแนวลูกทุ่งหมอลำเพื่อชีวิต” เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” ในปีถัดมา ซึ่งหนังเรื่องนี้เดินทางเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากกว่า 30 เทศกาล แต่ไม่เคยได้นำไปฉายในมหาวิทยาลัยแถบภาคอีสาน เขาคิดว่าควรจะเป็นกรณีศึกษาให้กับนักเรียนด้านภาพยนตร์ที่นี่ แต่ไม่มีใครอยากให้นักศึกษาไปศึกษาหนังแบบนี้โดยเฉพาะการชี้นำของคณาจารย์ด้านภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยแถบนี้ 

ปี 2021 เขาเขียนโครงการผลิตภาพยนตร์สารคดี “ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี” หรือในชื่อภาษา European-American แบบ Gust Van Sant ว่า “Finding Chee’s Civilizaion” จนได้รับทุนจากกองทุนสื่อแห่งหนึ่ง ในช่วงก่อนการผลิต เขาเดินทางสำรวจ 9 จังหวัดที่แม่น้ำชีไหลผ่าน ซึ่งทุกจังหวัดล้วนแล้วแต่มีร่องรอยของอารยธรรมขอมโบราณ แต่เขาไม่ได้อยากทำงานหนังสารคดีแบบขนบดั้งเดิม เขาจึงเขียนบทภาพยนตร์ในลักษณะ Poetic Realism โดยมีตัวละครหลักที่สำคัญคือหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อในภาษาไทยว่า “บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ” หรือ “Isan Journal” ในรูปแบบ French-Anglo-Saxons โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเก่าที่ชื่อว่า “Isan Travels : Northeast Thailand’s Economy in 1883-1884” โดย Étienne Aymonier (1844-1929)

บรรยากาศหลังช่วงเสวนา (ภาพ: Watcharapong Wongsim)

เรื่องเริ่มต้นขึ้นที่ชัยภูมิเมื่อชายหนุ่มนักเดินทางคนหนึ่งพบหนังสือ “บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ” โดยบังเอิญที่ร้านขายหนังสือมือสอง ชายหนุ่มนักเดินทางได้เดินทางไปถึงโบราณสถานขอมแห่งหนึ่งในชัยภูมิตามในหนังสือ จากนั้นเดินทางไปที่ อ.แก้งสนามนาง ของเมืองโคราชเพื่อไปดูโบราณสถานเช่นกัน แต่ขากลับเขาฝากหนังสือไว้ที่ร้าน Kiosk Cafe แห่งหนึ่ง ช่วงต่อมาเวลาไม่ได้บอกว่าผ่านไปนานเท่าใด  หญิงสาวนักเดินทางพร้อมกับหนังสือบันทึกการเดินซึ่งก็ไม่รู้ว่าเล่มเดียวกันหรือไม่ เธอสำรวจพิพิธภัณฑ์เมืองขอนแก่น จากนั้นจึงเดินทางไปที่โบราณสถานขอมแห่งหนึ่งนอกเมืองขอนแก่น หญิงสาวนักเดินทางเดินทางต่อไปที่เมืองกาฬสินธุ์เพื่อเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางที่มีโบราณสถานในยุคทวารวดี จากนั้นจึงเดินทางไปที่เมืองสารคามเพื่อจะใช้ห้องสมุดแต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เธอจึงสำรวจซากโบราณสถานขอมที่อยู่ไม่ไกลจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย และได้ไปดูหนังทดลองเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตำนานแม่น้ำชี ช่วงต่อมาเวลาไม่ได้บอกว่าผ่านไปนานเท่าใดเช่นเดิม ชายหนุ่มนักสำรวจคนหนึ่งเดินทางมาที่เมืองร้อยเอ็ดพร้อมกับหนังสือบันทึกการเดินทางซึ่งก็ไม่รู้อีกเช่นเคยว่าเล่มเดียวกันหรือไม่ ชายหนุ่มนักสำรวจเดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ของเมือง จากนั้นจึงเดินทางไปสำรวจโบราณสถานนอกเมือง ต่อมาจึงเดินทางไปที่เมืองยโสธรเพื่อสำรวจโบราณสถานขอมแห่งหนึ่งนอกตัวเมือง 

เขา (หมายถึงวิชชานนท์) ใช้เทคนิคการเขียนแบบซ้ำๆ ซึ่งคล้ายกับคนที่มีอาการ Obsessive Compulsive Disorder แต่น่าจะหมายถึงสภาพทางสังคมที่เป็นสภาวะนี้ และเพื่อทดสอบความเป็น Dyslexia ในทางภาพยนตร์ของคนในสังคม เพราะในช่วงต่อมาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนภาพยนตร์ที่ Film School แห่งหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าที่ไหน เป็นหญิงสาว 4 คนกำลังนั่งคุยกันเรื่องการนำเรื่องสั้นในหนังสือ “บันทึกการเดินทาง, อารยธรรมลุ่มน้ำชี และเรื่องอื่นๆ” มาดัดแปลงเป็นหนังสั้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Moral Dilemma ที่ต้องเดินทางไปถ่ายทำที่เมืองศรีสะเกษ และตอนสุดท้ายก็เป็นกลุ่มนักเรียนหนัง 4 คนที่เป็นชายล้วนกำลังนั่งคุยกันเรื่องการดัดแปลงเรื่องสั้นในหนังสือเล่มเดียวกันที่เพิ่งอ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด Existenialism ซึ่งต้องเดินทางไปถ่ายทำที่เมืองอุบลราชธานี

ด้วยวิธีการเขียนแบบกระแสสำนึกของพารากราฟก่อนหน้านี้ ผม (หมายถึงผม Jean Sebastienne) ได้อ่านบทหนังเพราะเขา (วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์) ส่งบทหนังร่างแรกๆ มาให้ผมอ่าน และเนื่องจากหนังยาว (ซึ่งต่างไปจาก “หนังใหญ่” ในมโนสำนึกของคนแถบนี้) ชิ้นแรกของวิชชานนท์ต้องการให้เป็นภาพยนตร์ในลักษณะกวีนิพนธ์แบบกระแสสำนึก ทำให้กลุ่มคน “ดู” และ “ทำ” หนังในเมืองขอนแก่นค่อนแคะว่าเป็นหนังที่เข้าใจยาก เขาจึงชอบพูดติดตลกโดยการ “Quote” ประโยคคำพูดจากนักเขียนชื่อดังอย่าง Jame Joyce ว่าเรื่องถัดไปจะทำให้ยากกว่าเดิม (ผมว่าเขาน่าจะหมายถึง เขาทดลองทำหนังแบบ “A Portrait of the Artist as a Young Man” แล้วมาทดลองทำหนังทดลองแบบ “Finnegans Wake” ในภายหลัง แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ตอนที่เขาทำหนังสั้นไปเวนิสในชื่อเรื่อง “The Youngman Who Came From the Chee River” มันช่างคล้ายกับนามสกุลของคนยุโรปเก่าที่แปลออกมาได้แบบนี้ เพราะ Sebastienne แปลได้ประมาณว่า “คนหนุ่มที่มาจากเมือง Sebas” แต่อนุมานได้ว่า Sebas น่าจะเป็นการตั้งชื่อเมืองแบบ Common เพราะ Sebas อาจจะมาจากคำว่า Sabah ที่มาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า Morning หรือ Tomorrow)

แต่เนื่องด้วยความล่าช้าของระบบราชการไทย กว่าที่เขาจะได้ถ่ายทำภาพยนตร์ก็ผ่านเวลาล่วงเข้าไปในปี 2022 ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นในตอนที่ 3 จังหวัดขอนแก่น (เช่นเดิม) เมื่อไม่สามารถ Cast บทบาทของหญิงสาวนักโบราณคดีได้ เขาจึงได้ปรับเปลี่ยนบทในระหว่างการถ่ายทำโดยเปลี่ยนมาเป็นหนัง Genre ในรูปแบบ “สืบสวนสอบสวน” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 3-4-5-6-7 ส่วนตอนที่ 8-9 เปลี่ยนมาเป็นหนังในแนวทาง “Meta-Cinema” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Isan Sonata” จากนั้นจึงบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์จำนวน 9 เพลงตามจำนวน Chapter ในชิ้นงาน และตัดต่อสารคดีเบื้องหลังการทำงานในชื่อ “a reconstrucion of the abandoned” เพื่อฉายแบบ Series ในสื่อออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม

เจ้าหน้าที่ TCDC Khon Kaen [ซ้าย] และ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ [ขวา] (ภาพ: Watcharapong Wongsim)

วันที่ 24 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาวิชชานนท์และทีมงานผลิตภาพยนตร์ Isan Sonata ได้นำ Isan Sonata ในเวอร์ชั่น Cinema ความยาว 97 นาที มาฉายรอบพิเศษที่ TCDC Khon Kaen ซึ่งสามารถติดตามวิดีโอย้อนหลังของงานนี้ และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้ที่

image_pdfimage_print