ทรงพล สนธิรักษ์ (ภาพ: ประชาไท)

ภาพประกอบ: ประชาไท

ยกคำร้องอัยการยื่นขอถอนประกัน ศาลอาญาชี้ “ยาใจ ทะลุ มข.” ชู 3 นิ้วในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรง และไม่ผิดเงื่อนไขประกัน

วันนี้ (24 มกราคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญายกคำร้องซึ่งอัยการยื่นขอถอนประกัน ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ ทะลุ มข. ในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยอัยการอ้างเหตุชู 3 นิ้วในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เพื่อขอถอนประกัน แต่ศาลชี้ว่าเหตุดังกล่าวไม่ใช่การใช้ความรุนแรง และไม่ผิดเงื่อนไขการถอนประกัน อย่างไรก็ตามศาลได้กล่าวตักเตือนจำเลยผ่านทนายแล้ว

ก่อนหน้านี้ ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ ทะลุ มข. ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจทะลุฟ้าเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ได้รับการประสานงานจากทนายความจะถูกเพิกถอนประกัน โดยคาดว่าอาจเพราะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 3 นิ้วในงานพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า ทำไมผมถูกเพิกถอนการประกันตัว เพราะคดีการสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีอะไรแล้ว ผมจึงคิดว่า น่าจะเป็นการชู 3 นิ้วในงานรับปริญญานี่แหละ ในฐานะนักฎหมายผมไม่เห็นว่า ทั้งสองเรื่องผิดกฎหมายตรงไหน” ทรงพล สนธิรักษ์ กล่าว

สำหรับ ทรงพล สนธิรักษ์ จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชู 3 นิ้วระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่รับพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จแล้ว และกำลังจะลงจากเวที โดยในการนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ส่วนคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 โดยทรงพลและเพื่อนในนามกลุ่มทะลุฟ้าประมาณ 50-60 คน จัดกิจกรรมรวมกลุ่มทางการเมืองเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นข้อกล่าวหากระทั่งนำมาสู่การฟ้องคดี โดยคำฟ้องระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการใช้รถยนต์ติดคเรื่องขยายเสียง ไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาด COVID-19 เป็นการรวมกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กลุ่มผู้ชุมนุมยกเว้นทรงพลและเจษฎาภรณ์ ยังขว้างปาถุงสีเข้าไปภายในพรรค มีการติดสติ๊กเกอร์และกระดาษที่มีรูปภาพล้อเลียนบุคคลที่ผนังและประตูพรรค รวมทั้งเผาหุ่นฟางบริเวณพื้นจนป้ายและผนังอาคารของพรรคเสียหาย

ทรงพลและเพื่อนถูกฟ้อง 6 ข้อหา คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทรงพล โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ทั้งยังแต่งตั้งผู้กำกับดูแล โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว

อ้างอิง

image_pdfimage_print