4 หมื่นล้านบาท ผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ ประชาชนตั้งคำถาม ทำไมไม่พร่องน้ำก่อนท่วม

อุบลราชธานี – หลังจากผ่านวิกฤตการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีนานกว่า 3 เดือน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ภาคประชาชน นักวิชาการและภาคส่วนอื่นๆ จัดเสวนาหัวข้อ “มองหลากมุมกับโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลธานี โดยมีนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คนและมีตัวแทนจากกรมชลประทานเข้าร่วม

หวั่นโครงการผันน้ำทำ 2 หมู่บ้านจมใต้น้ำ

สุเวช จันทร์จิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตอนแรกที่ทราบว่าจะมีโครงการผันน้ำก็ดีใจ แต่ อ.พิบูลมังสาหาร อยู่ด้านล่างของแม่น้ำมูลและลำโดมใหญ่ กว่าสิบปีที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้นั้นตนต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ถึงสามครั้ง คือปี 2558 ปี 2562 และ 2565 

“ปีที่น้ำท่วมสูงที่สุดตั้งแต่ตั้งบ้านมาร้อยกว่าปี คือ ปี 2565 ยังดีที่คนในตำบลชาวไร่ใต้มีประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมมาหลายครั้ง จึงได้เรียนรู้และแก้ปัญหา ทำให้ความเสียหายไม่มาก อย่างไรก็ตามน้ำท่วมแต่ละครั้งกินระยะเวลานานเป็นเดือน ครั้งล่าสุดนี้ท่วมไป 14 จาก 15 หมู่บ้าน ผู้ได้รับผลกระทบ 1,300 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายเกือบ 4,000 ไร่ ตอนนี้ก็ทำเรื่องเยียวยาผลกระทบไปยังรัฐบาลยังไม่เสร็จเลยครับ เพราะความเสียหายมีเยอะมาก

“มื่อสองสามปีที่ผ่านมารับทราบเรื่องคลองผันน้ำยักษ์ ซึ่งมีขนาดควาากว้าง 120 เมตร แรกทีเดียวก็ดีใจ แต่เมื่อมาดูแนวเขตของคลองผันน้ำที่จะพาดผ่านตั้งแต่เขื่อนหัวนาลงมาที่ห้วยตองแวด ห้วยแม่ข้าวสาร ข้ามลำโดม ไปที่ไร่ใต้ ลงที่ลำห้วยกว้าง ออกที่แม่น้ำมูลตรงที่ตำบลคันไร่ของเขื่อนสิรินธร เท่าที่ทราบจะผ่ากลางตำบลไร่ใต้ด้วย

“ถ้าคลองผันน้ำมา ทั้งสองหมู่บ้านในตำบลไร่ใต้จะต้องหายไปเลย ทั้งวัดสองวัด บ้านกว่า 300 หลังคาเรือน ซึ่งระยะตรงนั้นมีระยะพาดผ่านกว่า 7 กิโลเมตรและจะมีอีกหลายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ กล่าว 

สุเวช กล่าวอีกว่า เมื่อมีการวิจัยเบื้องต้นเรื่องคลองผันน้ำและทราบว่าทางกรมชลประทานลงพื้นที่ออกแบบแนวทาง โดยมีบริษัทที่ปรึกษาลงมาพื้นที่และเปิดแนวให้ดู จึงทราบว่าพื้นที่ตำบลไร่ใต้จะมีคลองผันน้ำขนาดใหญ่ผ่าน และนั่นนำมาซึ่งความกังวล

“พี่น้องเราอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครอยากจะย้ายบ้าน สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ มีสองหมู่บ้านที่มีการก่อตั้งมากว่าร้อยปี ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นทำเลที่เหมาะกับทำปศุสัตว์ ถ้าคลองผันน้ำผ่านมา ทั้งหมู่บ้านจะได้รับการชดเชยหรือเยียวยาไหม” เขาตั้งคำถาม 

โครงการผันน้ำไม่ได้ทำ EIA กรมชลฯ ชี้แจงได้ศึกษาข้อมูลแล้ว 

ขณะที่ตัวแทนกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการที่ศึกษาความเหมาะสมเกี่ยวกับการผันน้ำเบื้องต้นเสร็จแล้ว แต่ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เนื่องจากโครงการนี้ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องจัดทำ EIA ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ แม้จะใช้งบประมาณกว่าสี่หมื่นล้านบาทก็ตาม 

ขณะที่ ไพโรจน์ เตชะเจริญสุขจีระ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 2 สำนักงานบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ มีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2554 ผลการศึกษาพบว่า ในแม่น้ำมูลมีเกาะแก่งเยอะมาก มีสภาพท้องน้ำที่สูงๆ ต่ำๆ ในตอนนั้นมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การขุดลอกและการทำลายแก่งต่างๆ เพื่อที่จะให้น้ำระบายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“การแก้ปัญหาแบบนี้มีผลกระทบต่อธรรมชาติมาก ซึ่งก็ศึกษาในหลากหลายมิติและได้มีมวลชนสัมพันธ์ เริ่มตั้งแต่ปี 2564 ประชุมเวทีย่อยๆ แต่ในสถานการณ์โควิดทำให้เวทีย่อยที่จัดขึ้นมีผู้เข้าร่วมไม่ค่อยมากนัก” ตัวแทนกรมชลประทาน กล่าว 

ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 2 สำนักงานบริหารโครงการ กรมชลประทาน ยังกล่าวอีกว่า ได้มีการจัดเวทีออนไลน์ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์และลงพื้นที่ด้วยการโฟกัสกรุ๊ปอีก 7 เวที ซึ่งได้ข้อสรุปและแนวทางว่า จะผันน้ำมากแค่ไหน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนกี่ราย และเราก็ได้ดำเนินการในเวทีสุดท้าย คือ เวทีปัจฉิมนิเทศ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ได้ข้อสรุปว่า การก่อสร้างจะออกมาในแนวทางใด ค่าก่อสร้างจะใช้เท่าไหร่และมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

“ตอนนี้โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ ก็ยังมีประชาชนที่คัดค้านและเห็นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ยังไม่ไปถึงขั้นตอนการออกแบบในการก่อสร้างและดำเนินการแต่ต้องการที่จะบูรณาการให้ได้ข้อยุติที่สามารถไปต่อได้ทั้งสองฝ่ายควบคู่กับแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป”

แนะแก้ไขน้ำท่วมทั้งลุ่มน้ำอีสาน 

จากนั้น นิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา จังหวัดมหาสารคามน้ำท่วมหนัก เนื่องจากมีแม่น้ำชีไหลผ่าน และมีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมูลในระบบของลุ่มน้ำอีสาน ฉะนั้นการจัดการพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จะมองเพียงแค่อุบลราชธานีอย่างเดียวไม่ได้

“การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยพิจารณาเพียงแค่พื้นที่อุบลฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะนี่เป็นเรื่องของปัญหาระบบลุ่มน้ำที่สัมพันธ์กัน ตั้งแต่ต้นน้ำชี ต้นน้ำมูล จนมาถึงอุบลฯ ปริมาณน้ำมากจากมหาสารคามท้ายที่สุดก็ต้องไหลมาที่อุบลฯ การออกแบบการแก้ไขปัญหาจึงควรต้องพิจารณาทั้งระบบลุ่มน้ำ”

เขายังบอกอีกว่า ปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปัจจุบันมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม คือ ความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการน้ำที่ใช้อยู่เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมและปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ข้อกังวลใจของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็ควรตอบคำถามได้ให้ชัดเจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุมและชัดเจน

จากน้ัน สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า การผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล ถ้าจะจัดการน้ำที่ไม่ต้องใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท ผ่านรูปแบบการจัดการน้ำที่มองและคำนวณฤดูกาลที่จะมาถึงอย่างเช่นแม่น้ำชีกว่า 700 ร้อยกิโลเมตร แม่น้ำมูลกว่า 600 กิโลเมตร กว่าจะไหลมาบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลที่วารินชำราบ ควรพร่องน้ำออกก่อนดีหรือไม่ 

“แนวทางแก้ไขน้ำท่วม ควรพร่องน้ำออกก่อนที่น้ำจะมา อันนี้เป็นหลักการง่ายๆ ที่ไม่มีใครพูดถึง เราไม่พูดถึงเมกกะโปรเจกต์ได้ไหม เพราะตอนนี้มีเขื่อนหลายแห่งอยู่ในแม่น้ำแล้ว หลักการนี้ผมคิดว่า มันใช้ได้และลดความเสี่ยงด้วย ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล”

สำหรับกรณีโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี สิริศักดิ์ กล่าวว่า  แม้โครงการนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ยังไม่มีการพูดถึงมิติทางด้านระบบนิเวศ สังคม อีกทั้งโครงการนี้ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA คำถามคือ เราได้ศึกษาและเข้าใจการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมที่เขาเคยใช้มาก่อนหรือไม่ หรือเราคิดว่าเทคโนโลยีจะสามารถจัดการน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดฤดูกาล 

“โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานีที่ใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาท จะมีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ทราบว่าสาเหตุของปัญหาที่จะนำมาสู่การผันน้ำ เป็นการมองแค่เฉพาะจุดว่าอุบลฯ เกิดน้ำท่วมแค่นั้น แต่ไม่มองลุ่มน้ำทั้งระบบว่ามีเขื่อนกี่ตัวแล้ว และจะจัดการยังไงโดยไม่ใช้งบประมาณมากมายมหาศาล และลดความเสี่ยงไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี และพื้นที่การเกษตรของพี่น้องลุ่มน้ำชีและน้ำมูลที่กินระยะเวลานาน” 

นอกจากนี้สิริศักดิ์ ยังเสนอทางออกว่า ไม่ควรมีการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ แต่ควรกระจายอำนาจในการจัดการน้ำไปสู่ท้องถิ่นในการจัดการน้ำได้โดยท้องถิ่นตนเองจริงๆ และใช้ได้จริงร่วมทั้งมีความคุ้มค่าตลอดจนยั่งยืนจริง สำหรับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ก็ควรการจัดการทรัพยากรน้ำภาคประชาชน ด้วย