ท่ามกลางกระแสการเมืองระดับประเทศในช่วงปี พ.ศ.2563 ที่ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมไปถึงนักเรียนระดับมัธยมและอุดมศึกษาเริ่มมีบทบาทในเวทีการเมืองผ่านการตั้งคำถาม เรียกร้องสิทธิ ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเมืองในระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงไปกับการเมืองระดับประเทศอย่างน่าสนใจ
เช่นเดียวกับพรรคปฏิวัติมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อยกระดับการเมืองในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2563 และในสนามการเมืองปี 2566 ที่ใกล้จะมาถึงนี้
The Isaan Record ได้สนทนากับ “อะตอม – ชานนท์ อาจณรงค์” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงเรื่องการคลื่อนไหวทางการเมือง สู่บทบาทหัวหน้าพรรคปฏิวัติมอดินแดงรุ่นที่ 2 ในปี 2566 กับการลงสมัครสมาชิกสภานักศึกษา และการเปลี่ยนผ่านของพรรคที่ยังคงตั้งเป้าหมาย “เดินหน้าปฏิวัติ” อำนาจนำในรั้วมหาวิทยาลัย และอะไรทำให้พวกเขาได้รับคำชื่นชมอย่างขมขื่นว่า “เป็นเด็กไม่น่ารัก”
เริ่มสนใจในการเมืองตอนไหน
ช่วงปี 2563 ครับ ตอนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการสนใจแล้วเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเริ่มต้นเคลื่อนไหวที่อุดรฯ พอเข้ามาเป็นนักศึกษา มข. แล้วก็เคลื่อนไหวต่อ
ตอนอยู่อุดรธานีมีการเคลื่อนไหวอย่างไร
ตอนแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า “เสรีเยาวชนอุดร” แต่กลุ่มนี้ก็ยุบไปในช่วงเวลาสั้นๆ ต่อมาช่วงม็อบเดือนตุลาผมกับพี่สองคนร่วมกันตั้งกลุ่ม “อุดรพอกันที” ขึ้นมาเคลื่อนไหว หลังจากสอบติดที่ มข. ก็มาเคลื่อนไหวกับกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และทำกิจกรรมเรื่อยๆ จนอยู่กับ “พรรคปฏิวัติมอดินแดง” ในปี 2564
เดิมทีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างไร
เท่าที่ผมสัมผัสมา 1-2 ปีนี้ อาจจะโชคดีหรือเพราะว่ามีกระแสทางการเมืองเอื้อ ให้ความตื่นตัวในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเพิ่มมากขึ้น วัดได้จากการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา ซึ่งพวกเราทำกิจกรรมในฐานะพรรคปฏิวัติมอดินแดงก็มีการทำกิจกรรมเรื่อยๆ เช่น ลงชื่อรณรงค์ลดค่าเทอม 30 เปอร์เซ็นต์ช่วงโควิด หรือการลงชื่อแก้ไขข้อบังคับเครื่องแต่งกาย แคมเปญหรือนโยบายเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการตื่นตัวทางการเมืองด้วย บวกกับการถูกกดทับของนักศึกษา ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี แล้วก็อยากให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
อะไรคือจุดเปลี่ยนของการก่อตั้งพรรคปฏิวัติมอดินแดง
ผมไม่ใช่รุ่นก่อตั้งนะครับ แต่เคยพูดคุยกับรุ่นก่อตั้งว่าจริงๆ แล้วมันคือการรวมกลุ่มของคนที่ไม่ทนกับการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม การทำอะไรที่ไม่เห็นหัวนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น กรณีการเลือกอธิการบดี นักศึกษาก็ไม่มีส่วนร่วมในการเข้าไปพูดหยั่งเสียง การฟังนโยบาย หรือแม้กระทั่งการเลือกอธิการบดี เลยกลายเป็นว่า “เออ คำสั่งที่ออกมาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเนี่ย มันก็เป็นความไม่ชอบธรรมรึเปล่า เพราะว่ามาจากไหนก็ไม่รู้ นักศึกษาก็ไม่มีส่วนร่วม แล้วอยู่ๆ ก็มาสั่งเรา”
เข้ามาร่วมกับพรรคปฏิวัติมอดินแดงได้อย่างไร
อย่างที่เล่าให้ฟังว่า เดิมทีผมเป็นนักกิจกรรมที่อุดรฯ พอมาเข้าขอนแก่นก็มีเครือข่ายคนรู้จักกัน ประกอบกับเราสนใจด้านการเมืองอยู่แล้ว เข้ามา มข. ก็อยากเคลื่อนไหวต่อ เห็นพรรคปฏิวัติมอดินแดงนี่แหละครับ ผมก็ไปเข้าร่วมกับเขา แล้วร่วมทำแคมเปญต่างๆ ด้วยกัน
พรรคฯ มีนโยบายแรกเริ่มว่า “ถึงเวลาปฏิวัติ” คำว่า “เวลา” ในความหมายของพรรค คืออะไร
คอนเซปต์การหาเสียงเลือกตั้งตอนนั้นใช้ชื่อแคมเปญว่า “ถึงเวลาปฏิวัติ” ซึ่งเราชูนโยบายการปักธงประชาธิปไตย พื้นที่แห่งเสรีภาพ มี 3 นโยบายหลักที่เราได้หาเสียงไว้ นั่นคือ เสรีภาพด้านวิชาการ เสรีภาพทางเพศ และเสรีภาพทางความคิด ณ ช่วงเวลานั้น เราคิดว่าสังคมไม่ทนต่อสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ในเมื่อสิ่งที่เขาได้รับมามันไม่ยุติธรรม การหาเสียงรอบนี้คำว่า “เวลา” เลยเป็นเหมือนระเบิด ที่มันจะแตกหักระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ เพื่อที่จะให้พลังใหม่ ขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้
หลังจากคำว่า “ถึงเวลาปฏิวัติ” สู่การ “เดินหน้าปฏิวัติ” พรรคฯ จะปฏิวัติอะไร
ถ้ายกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมในนโยบายการหาเสียงรอบนี้ ครั้งที่แล้วเราปฏิวัติสภานักศึกษากันแล้ว ด้วยการจัดระเบียบโครงสร้างสภาใหม่ วิธีการทำงาน การถ่วงดุลอำนาจของฝั่งบริหาร ปีนี้เราหาเสียงด้วยนโยบายเดินหน้าปฏิวัติ เนื่องจากสิ่งต่างๆ ตามนโยบายที่เราวางทั้ง 3 ตัว คือ การเปิดพื้นที่ให้นักศึกษา การปฏิวัติชุดรับพระราชทานปริญญาบัตร (ชุดครุย) และการปฏิวัติกระบวนการเลือกตั้งอธิการบดี เป็นเวลาที่ค่อนข้างจะสุกงอม
โดยนโยบายแรกคือ การเปิดพื้นที่ของนักศึกษา เรื่องงบประมาณ คือในองค์กรกิจกรรมนักศึกษาจะมีงบก้อนหนึ่ง ซึ่งก็จะได้มาเทอมละประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการกิจกรรม แต่ว่ารูปแบบการจัดการรายละเอียดของการกระจายงบไม่มีบรรทัดฐานหรือตัวชี้วัดเลยว่า ชมรมนี้จะได้เท่าไหร่ ชมรมนั้นได้เท่าไหร่ จำนวนคนเท่าไหร่ เรียงลำดับความสำคัญอย่างไร ซึ่งอยู่ๆ มานั่งคุยกันว่า คุณเอาไป 5 เปอร์เซ็น ผมขอ 10 เปอร์เซ็นอย่างนี้ มันเป็นประเด็นที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึง เราก็เลยตัดสินใจเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้
เรื่องชุดครุยก็เหมือนกัน เรื่องนี้มันเป็นประเด็นมานานมากแล้ว ยังไม่มีใครออกมาพูดถึง หมายถึงกลุ่มการเมืองในมหาวิทยาลัยนะครับ เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องนี้เราเคยทำมาก่อน และเราคิดว่าถึงกระบวนการสุดท้ายชุดครุยต้องเดินหน้าต่อ
ส่วนเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องอธิการบดี เรื่องนี้จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ โดยอธิการบดีจะเข้าสู่กระบวนการสรรหา เราตั้งใจว่าควรจะออกมาในรูปแบบที่นักศึกษาต้องมีส่วนร่วม เพราะอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงเองก็สามารถเลือกตั้งอธิการบดีได้ ทำไม มข. จะเลือกตั้งไม่ได้
แล้วจะขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรให้เป็นไปได้จริง
นโยบายของเราพัฒนามาจากปัญหาที่ต้องแก้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากความต้องการของนักศึกษา ซึ่งผมมองว่าในสภานักศึกษาสามารถทำได้เลย ถามว่าจะแก้ยังไง กระบวนการขั้นตอนในสามนโยบายนี้ถูกวางมาอยู่แล้ว เช่น การเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาใช้หอศิลป์ จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการกำหนดงบประมาณแล้วจัดสรรงบฯ เรียงลำดับตามความสำคัญให้ตรงกับความต้องการของชมรม หอศิลป์ก็ไม่ควรเป็นพื้นที่เฉพาะงานของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นๆ แต่ควรเป็นพื้นที่แสดงผลงานของนักศึกษาและสามารถเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจบริเวณนั้นได้ด้วย
เรื่องที่สองคือชุดครุย เราจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องข้อบังคับเครื่องแต่งกาย แม้จะออกประกาศฉบับใหม่ในปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมชุดรับพระราชทานปริญญาบัตร เพราะฉะนั้นแล้วต้องแก้ที่ข้อบังคับ อาจไปใช้โมเดลแบบ มธ. ก่อนก็ได้ คือแจ้งความประสงค์ไปว่าคุณจะแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน คุณก็จะสามารถแต่งได้เลย ไม่ต้องขอใบรับรองแพทย์ ไม่ต้องขอใบความยินยอม ซึ่งเราเคยขับเคลื่อนมาแล้วในปี 2564 ตามข้อบังคับการแต่งกายในตอนนั้น
“เราพยายามครอบคลุมตั้งแต่คุณเดินทางออกจากห้อง คุณเป็นอิสระเสรีได้เลย จนถึงวันสุดท้ายที่คุณจบปริญญา คุณสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่เลย”
ตอนเราขับเคลื่อนร่างถูกดองอยู่ประมาณปี 1 กลายเป็นว่าประกาศออกมาเป็นคนละฉบับกับที่พรรคของเรายื่นไป รอบนั้นเราเปิดแคมเปญเรื่องการแก้ไขข้อบังคับเครื่องแต่งกาย วิธีการแรกเราประชุมกันในพรรคก่อน เพื่อที่จะหารือเรื่องวิธีการขั้นตอนว่าจะไปยังไงต่อ เมื่อเราได้ข้อสรุปแล้ว ก็มาสู่วาระที่สอง นั่นคือการลงพื้นที่ ตอนนั้นเรามีสมาชิกสภาเป็นสมาชิกพรรคแค่ 5 คน ด้วยความที่เราเป็นฝ่ายค้าน เราเลยตัดสินใจมาเคลื่อนไหวด้านนอกดีกว่า คือมาเปิดโต๊ะล่ารายชื่อให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา และพยายามอธิบายว่าร่างนี้แตกต่างจากร่างเดิมยังไง จนสุดท้ายมีนักศึกษามาลงชื่อมากกว่า 3,000 คน แล้วเรายื่นเข้าไปให้สภานักศึกษาพิจารณา พร้อมกับยื่นกองพัฒนานักศึกษาด้วย
ถึงแม้ปลดล็อกชุดครุยจะไม่ผ่าน แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีเสรีภาพเพิ่มมากขึ้นในประกาศฉบับนั้น เพราะนักศึกษาสามารถแต่งชุดลำลองได้ แต่สิ่งที่ยังติดค้างอยู่คือเราพูดถึงกระบวนการตั้งแต่คุณออกจากห้อง แล้วคุณไปเรียน แต่ไม่ได้พูดถึงคุณที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา ดังนั้นเสรีภาพทางเพศที่พูดถึงการปลดล็อกชุดครุยเนี่ย ที่จะเลือกได้ตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเนี่ย มันเป็นการแสดงความยินดีกับเขาในความสำเร็จ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างได้ เพราะปัญหาปลดล็อกชุดครุยที่สำคัญคือ 1) เขาไม่สามารถเลือกที่จะเป็นตัวเองได้ในวันที่เขาสำเร็จการศึกษา 2) เขาต้องพิสูจน์ว่าเขาเป็นเพศอะไรผ่านใบรับรองแพทย์ 3) เขาต้องมาขอยืนยันจากคณบดีอีกที เพื่อยืนยันจากคณบดีส่งเรื่องไปอธิการบดี กว่าจะมานั่งเซ็น กว่าจะมานั่งพิจารณา กระบวนการยุ่งยากซับซ้อน แล้วต้องพิสูจน์อีกว่าคุณเป็นเพศอะไร ถ้ามนุษย์เรามีเสรีภาพมากพอที่จะเป็นตัวเอง ฉะนั้นแล้วการเปิดปลดล็อกชุดครุยเนี่ย มนุษย์เรามีศักยภาพมากพอที่จะดูแลตัวเอง เป็นตัวเองได้มากที่สุด ไม่ต้องมาอยู่ใต้กรอบกฎหมายที่ไม่ได้มาจากพวกเขา
สุดท้ายคือเรื่องของอธิการบดี เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่พอสมควรและต้องการเสียงของนักศึกษา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต้องไปแก้ไขที่ข้อบังคับ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันมีอุปสรรค ข้อบังคับตัวนี้ต้องผ่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นแล้วข้อบังคับนี้ เมื่อเราแก้ไปแล้ว เราต้องการแรงกดดันต่อเนื่องจากนักศึกษา เพราะว่าการทำในสภามันไม่จบ ต้องมีการเคลื่อนไหวของนอกสภาด้วย แม้เราจะมีอำนาจในสภาจริง แต่ทุกอย่างที่อยู่ในสภาข้างนอกควรรับรู้และขับเคลื่อนไปด้วยกัน
การให้นักศึกษามีส่วนเลือกตั้งอธิการบดี เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
ผมเข้าใจว่าฝ่ายนโยบายของพรรค เขาไปทำนโยบายมาพบว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงสามารถเลือกตั้งอธิการบดีได้ แต่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ยังเลือกไม่ได้ มีแค่ รามคำแหง เมื่อต้นปีที่แล้วทาง มช. มีการหยั่งเสียงเลือกตั้งอธิการบดีไป ซึ่งก็น่าสนใจว่า หลายๆ มหาวิทยาลัยให้ความสนใจเรื่องเลือกตั้งอธิการบดีมากขึ้น ซึ่งพรรคปฏิวัติมอดินแดง ได้ชูสิ่งนี้เป็นความฝันของพรรคเลยว่า เป้าหมายหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยคือการเลือกตั้งอธิการบดี ถ้าถามผมถึงเรื่องความเป็นไปได้มันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้ยากมากเพราะว่าเราจะแก้กฎหมายการเลือกตั้งอธิการบดี ให้กับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแต่งตั้งอธิการบดี ฝ่ายผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจก็คงไม่ยอม แต่ผมคิดว่ายังไงเราก็ไม่ยอมแพ้ มันเป็นวาระร่วมกันของทั้งประเทศ ถ้า มข. เป็นคนที่นำร่องได้ นักศึกษาออกมาร่วมด้วยช่วยกัน มากดดัน มาต่อสู้เพื่อที่จะเห็นอธิการบดีที่มาจากการเลือกตั้งของนักศึกษา บุคลากรหรือผู้คนที่มีส่วนได้เสียในมหาวิทยาลัยทุกคน แม้โอกาสมันจะเป็นไปได้น้อย แต่ว่าวันหนึ่งมันจะเป็นไปได้
ปกติแล้วบทบาทของสภานักศึกษาเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วบทบาทของสภานักศึกษาช่วงหลังโควิดมานี้ พูดง่ายๆ ก็คือเปรียบเทียบฝั่ง อน. (คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา) เป็นรัฐบาล เราก็เป็นนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจ การจัดสรรงบประมาณของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนั่นก็คือ อน. และอีกหน้าที่หนึ่งคือการพิทักษ์สิทธิ์ของนักศึกษา ในสภาที่ผ่านมาก็จะมีการพูดถึงเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมหรือไม่ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน การออกกฎต่างๆ ที่ให้ฝ่ายรัฐบาลไปปฏิบัติต่อ เป็นเรื่องที่เหมือนรัฐบาลกับสภานิติบัญญัติ
ความท้าทายของ “พรรคปฏิวัติมอดินแดง” คืออะไร
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความท้าทายของระบบราชการนะ เพราะว่าพอเราเข้าไปจริง ๆ แล้ว กลายเป็นว่าสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำต้องผ่านหลายขั้นตอน ซึ่งมันก็เป็นไปผ่านระบบ แต่ว่าความจริงแล้วมันสามารถตัดทอนให้มันรวดเร็วได้ แต่ปัญหาจริงๆ ผมคิดว่าเราไม่น่ารัก เราไม่น่ารักเพราะว่าตั้งแต่เราเข้าสภามาเนี่ย ผมได้ยินมาหลายคนนะครับ ทั้งกองพัฒนานักศึกษาเอง หรือรองอธิการบดีเอง ก็จะบอกว่า
“เอ้ย ไอ้พวกนี้มันเป็นเด็กไม่น่ารักเลย เวลาทำอะไรขึ้นมาเนี่ย ไม่ให้มันผ่านดีกว่า”
อย่างการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องบอกว่าขับเคลื่อนได้ยากมาก พอเอาเข้าระบบก็จะมีปัญหาอย่างนี้ตลอด แต่ว่าเราก็เตรียมตัวมาดี เพราะในปีที่ผ่านมาเราสามารถที่จะทำได้ทั้งหมดที่หาเสียงไว้
อะไรคือคำว่า “เด็กไม่น่ารัก” ที่พรรคได้รับ
ผมเข้าใจว่า เคยมีรองอธิการบดีคนหนึ่งพูดมาว่า “ไอ้พวกนี้มันไม่น่ารักเลย” เพราะว่าตั้งแต่พวกเราเข้าไปในสภา เรื่องที่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย อยู่ๆ มันก็เกิดขึ้น เช่น เรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจผู้บริหาร การตรวจสอบเรื่องงบประมาณ การตรวจสอบเรื่องฐานข้อมูลให้มันโปร่งใสขึ้น อย่างปีที่ผ่านมา คำว่า “ไม่น่ารัก” ชัดเจนตอน ประธานสภาไป Live ผ่านแฟนเพจสภานักศึกษา เรื่องกรณีข้อพิพาทระหว่างอธิการบดีคนปัจจุบันกับแคนดิเดตอธิการบดีปี 2562 เพราะว่า ในปี 2562 ช่วงที่เข้าสู่กระบวนการสรรหา… ตามคำประทับรับฟ้องของสำนวนคดี ก็คือว่ามีการล็อบบี้กับกรรมการสรรหา เรื่องกระบวนการสรรหา เขาจะเอารายชื่อที่ 1, 2 กับ 3 คณะกรรมการสรรหาจะส่งเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย เพราะหนึ่งในแคนดิเดตที่ไม่ปรากฎในรายชื่ออันดับ 1, 2 หรือ 3 ของการหยั่งเสียงนักศึกษา แล้วชื่อแคนดิเดตคนนั้นซึ่งเป็นคนที่ 4 กลับมีชื่อโผล่ในกรรมการสภามหาวิทยาลัย แล้วยังได้ไปแถลงนโยบายในที่ประชุมในกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย คราวนี้ก็เลยเป็นคดีความกันอยู่
หลังจากเข้าไปในสภาต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
ถึงเราเตรียมตัวมาดี ก็ต้องปรับตัวในสภา เพราะในสภามีหลายขั้วมาก ขั้วเราก็ขั้วหนึ่ง คนเห็นต่างก็อีกขั้วหนึ่ง อิสระก็อีกขั้วหนึ่ง การคุยกันหรือการปรับตัวกันก็เลยสำคัญ จะชนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีประนีประนอมกันบ้าง อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของนักศึกษา หรือว่าผลประโยชน์ที่จะมาถึงพวกเราทุกคนก็ต้องยอมกันบ้าง จะชนอย่างเดียวไม่ได้ กลายเป็นว่า หลังจากที่พวกเราชนมาตลอดก็เปลี่ยนเป็นประนีประนอม แม้กระทั่งแบบกระบวนการนี้ก็ใช้กับกองพัฒนานักศึกษาได้ด้วย ไปใช้กับรองอธิการดีด้วย เพราะว่าชนอย่างเดียวเรากลายเป็น ‘เด็กไม่น่ารัก’
บรรยากาศการหาเสียงของพรรคเป็นอย่างไร
ในรอบนี้ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเจน 1 กับเจน 2 ผมเป็นเจน 2 แต่ว่าในบรรยากาศหาเสียงในรอบนี้คึกคักพอสมควร เพราะไม่ได้มีแค่กลุ่มเรา มีอีกสองกลุ่มที่จะลง อน. ซึ่งปีนี้มาตรฐานในเรื่องการหาเสียงได้ยกระดับมากขึ้น ถือว่าสนุกพอสมควร ผมว่าเป็นที่น่าจับตาของนักศึกษาทุกคน ส่วนกระแสรอบนี้ผมคิดว่า อยู่ในระดับที่ไม่ได้หวือหวาเท่าปี 2563 หรือปี 2564 แต่ผมก็คิดว่า ไม่ได้น้อยลงไปมากกว่านั้น
การยกระดับการเมืองมหาวิทยาลัย
เรื่องของการยกระดับการหาเสียง ผมพูดถึงทั้งการปรับตัวของผู้สมัครเองในทั้งฝั่ง อน. ที่เขาจะลงกัน มีการปรับตำแหน่งต่างๆ ให้ดูสอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบันมากขึ้น เช่น มีกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจ เรื่องที่สองคือเรื่องของนโยบาย เริ่มมีการพูดถึงสวัสดิการพื้นฐานมากขึ้น พูดถึงการมีส่วนร่วมของนักศึกษา ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เรื่องที่สามคือเรื่องของการปรับตัวในการหาเสียง มีการลงพื้นที่มากขึ้น เจอเพื่อนนักศึกษา ทำการสำรวจต่างๆ ผมก็เลยคิดว่า นี่คือการยกระดับการเมืองที่จะทำให้การเมือง มข. มันน่าสนใจไปอีกหลายปี
ความคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้
เรื่องแรกเลยก็คงอยากให้เพื่อนนักศึกษามาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันครับ การใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ก็อยากให้ดูจริงๆ ว่านโยบายของแต่ละกลุ่มการเมืองเป็นยังไง แล้วนโยบายที่ให้สัญญากับนักศึกษาไว้ อยากจะให้ดูเรื่องนี้เป็นสำคัญ อาจจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องของตัวบุคคลมาก ให้รู้ว่านโยบายเป็นยังไง วิธีการเป็นยังไง เรื่องที่สองคงเป็นเรื่องของความคาดหวังตัวกลุ่มและก็พรรคการเมืองเองในการเลือกตั้งรอบนี้ หลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ผมคิดว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจำเป็นต้องทำตามนโยบายที่ให้ไว้กับเพื่อนนักศึกษา จะมาซิกแซกบอกว่านโยบายของเราไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอแบบนี้ไม่ได้แล้ว ในปีที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้น ซึ่งปีนี้ไม่ได้แล้ว ทั้งหมดที่คุณพูดมาจำเป็นที่จะต้องทำ มีงบประมาณหรือไม่มีงบประมาณ ก็ต้องมีวิธีการแก้ปัญหา แล้วต้องทำให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับสิ่งที่คุณหาเสียงไว้ให้ได้ นี่คงจะเป็นสองข้อที่ผมคาดหวังอยากจะให้การเมืองใน มข. เป็น
การเคลื่อนไหวของพรรคนำมาสู่การถูกกดดันจากมหาวิทยาลัย หรือฝ่ายที่มีอำนาจบ้างหรือไม่
เอาจริงๆ เรื่องของพรรคฯ คงไม่มี เพราะเราเป็นกลุ่มนอกระบบ ก็เหมือนว่าเรามีอิสระมากพอที่จะเคลื่อนไหวสิ่งต่างๆ ที่เราวางไว้เป็นนโยบาย แต่ก็จะมีส่วนหนึ่งของเราที่อยู่ในระบบ อันนั้นก็จะถูกกดดันเยอะหน่อย แต่ผมคิดว่าหลายๆ คนก็เตรียมใจมาพร้อมแล้วแหละ แล้วก็พร้อมที่จะสู้กันพอสมควร วัดจากปีที่ผ่านมา ทุกคนยังอยู่กันครบ แล้วเรายังต้องไปกันต่อ
การเลือกตั้งสภานักศึกษาจะจัดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08:00 – 17:00 น. ผ่านช่องทางออนไลน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น