ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ) กลับมาเป็นที่พูดถึงในแวดวงสื่อมวลชนอีกครั้ง หลังจากกฎหมายควบคุมสื่อทำนองนี้ผลุบๆ โผล่ๆ ในระยะสายตามามากว่า 10 ปี วันดีคืนร้ายปรากฏว่า 7 กุมภาพันธ์ 2566 ร่างฯ ดังกล่าวก็โผล่พรวดไปอยู่ขั้นการพิจารณาของสภาทั้งที่อีกไม่กี่วันอายุของรัฐบาลนี้จะหมดลงตามวาระ ไม่ว่าจะมองขนาดของร่างกฎหมายนี้ใหญ่เล็กต่างกันตามแต่ระยะห่างของความสัมพันธ์ในวิชาชีพ แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน

ข้อกังวลในกรณีที่กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ ในฐานะสื่อมวลชน กฎหมายจะมีผลต่อคนทำสื่อแทบทุกหัวระแหง กลายเป็นธรรมนูญที่ต้องปฏิบัติตาม ในฐานะประชาชน คนที่ทำงานสื่อสารไม่ว่าจะเป็นดาวติ๊กต็อก อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ ฯลฯ ก็อาจถูกหมายรวมว่าตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับ หากสื่อที่ทำอยู่นั้นก่อให้เกิดรายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มองจากสิทธิเสรีภาพ ข้อความบางบรรทัดที่นิยามความดีงามเป็นมาตรวัดก็อาจตกเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะมาให้คุณให้โทษ

ในมุมของเสียงค้าน มีนักวิชาการสื่อสารมวลชนราว 300 คน และประชาชนทั่วไปอีก 2,000 คนที่ร่วมลงชื่อผ่าน change.org ว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว 

24 มกราคม วศินี พบูประภาพ ตัวแทนจากสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทักท้วงและแสดงข้อกังวลของคนทำสื่อ และก่อนร่างฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันพรุ่งนี้ เราชวนเขามาคุยเพื่อคลี่ให้เห็นภาพว่าทำไมร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงทำให้ “คิดดีไม่ได้เลย”

วศินี พบูประภาพ ตัวแทนจากสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll ภาพจาก Wasinee Pabuprapap

เดิมทีสื่อมวลชนไทยมีกลไกการควบคุมกันเองอย่างไร ข้อดีและข้อด้อยของวิธีการแบบนี้คืออะไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการการกำกับควบคุมกันเองของสื่อไทยยังพัฒนาไม่สมบูรณ์แบบ ตอนนี้เราใช้วิธีการคือ สมาคมต่างๆ ที่มีสมาชิกเป็นของตัวเอง ใช้วิธีว่าถ้าเกิดมีการร้องเรียนจากทางประชาชนคิดว่าสื่อมวลชนนี้ทำผิด ทำไม่ตรงตามจรรยาบรรณก็ส่งเรื่องร้องขอไปที่สมาคมที่สื่อนั้นสังกัดได้ ซึ่งที่ผ่านมามันก็มีอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าปัญหาของมันก็คือบทลงโทษของมันไม่ได้มีสภาพบังคับ เพราะเคยมีกรณีขององค์กรสื่อที่อาจทำอะไรสุ่มเสี่ยงต่อการผิดจรรยาบรรณ หรือผิดจากข้อกำหนด สมาคมที่เขาสังกัดก็ว่ากล่าวตักเตือนไปว่า อันนี้ทำผิดนะ ต้องมีบทลงโทษเท่านี้ๆ แต่สำนักข่าวนั้นก็ใช้วิธีออกจากสมาคมไปเลย แค่นี้ก็ไม่สามารถที่จะจัดการได้แล้ว ซึ่งปัญหาเรื่องสภาพบังคับเป็นปัญหามาตลอด เราก็พยายามหาทางอุดช่องว่างตรงนี้ 

เราเข้าใจว่าใครก็ตามที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเขียนกฎหมายนี้ เขาคงเริ่มมาจากเจตจำนงที่ดีที่อยากจะอุดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการไปยืมมือกลไกรัฐให้มันมีสภาพบังคับขึ้นมา มันเริ่มมาจากจุดประสงค์ตรงนี้ แต่ขณะเดียวกันมันก็นำมาซึ่งดาบสองคมหลายๆ อย่างที่อาจจะเป็นประเด็นใหญ่โดยเราไม่ต้องการ ก็คือมันทำให้เราไปผูกพันกับรัฐ โดยที่มันขัดกับหลักสื่อมวลชนที่ควรเป็นอิสระจากรัฐ แต่จริงๆ แล้วเราก็ยังคิดว่ากลไกของการกำกับดูแลกันเองมันก็ยังเป็นกลไกที่เพอร์เฟคที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ 

เพราะการดำรงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนนั้นมีอยู่ 3 แบบ หนึ่ง State regulation รัฐเข้ามาจัดการเลย เช่น จีน เกาหลีเหนือ สอง แบบไม่ regulate เลย ตามใจมากเวอร์ ให้แต่ละสำนักข่าวนั้นๆ ดูแลตนเองโดยสร้างหลักจริยธรรมที่พัฒนาขึ้นมาเอง เช่น สหรัฐอเมริกา และ สาม แบบกลางๆ คือสำนักข่าวต่างๆ รวมตัวเป็นกลุ่มสมาคมหรือองค์กรแล้วกำกับดูแลกันเอง แบบนี้ใช้มากในยุโรป

สิ่งที่เราเป็นตอนนี้คือพยายามเป็นแบบยุโรป แต่ว่าเราก็ขาดเรื่องสภาพบังคับ เพราะว่าในยุโรป ไม่มีใครอยากออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมสื่อง่ายๆ เพราะว่าสมาคมสื่อเขามีอำนาจต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ให้สื่อได้สูง ฉะนั้นสำนักข่าวต่างๆ ก็จะต้องการคงความเป็นสมาชิกเพื่อให้มีพวกพ้วง และเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะของสมาชิกขององค์กรสื่อ แต่ในไทยมันก็ยังพัฒนาไม่ถึงจุดที่มองว่าออกจากองค์กรกำกับดูแลไปมันเป็นผลแย่มากกว่าผลดี

ดูราวกับว่าสื่อมวลชนไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ เลย แต่จริงๆ แล้วสื่อก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายเช่นกัน?

จริงๆ แล้วสื่อมวลชนไม่ใช่ว่าไม่ถูกกำกับดูแลเลย มันมีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชน เช่น ระดับสูงสุดที่สื่อละเมิดไม่ได้ก็คือกฎหมายความมั่นคง  มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

ถ้าละเมิดกฎหมายก็ถูกกำกับด้วยประมวลกฎหมายอาญาหรือว่าตัว พ.ร.บ.ให้มีโทษทางอาญาที่ต้องรับโทษอยู่แล้ว มันก็เรื่องหนึ่งที่จะกำกับสื่อมวลชนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย นอกจากนี้ถ้ากลัวว่าสื่อจะไปทำตัวแย่ๆ หรือจะไประรานใคร สิ่งที่สื่อโดนตรวจสอบมาโดยตลอดเลยก็จะมีกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง ทางอาญา

จริงๆ แล้วทางอาญาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าหมิ่นประมาทมันไม่ควรเป็นทางอาญา แต่สื่อมวลชนไทยยังถูกจำกัดด้วยกฎหมายเยอะทั้งทางแพ่งและอาญา ล่าสุดถ้ากลัวว่าสื่อจะไปแฉใครหรือแขวนใครก็มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ด้วยเหมือนกัน 

ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่า PDPA ยกเว้นสื่อมวลชนไม่ใช่หรือ แต่จริงๆ แล้ว PDPA เขียนไว้ว่าจะได้รับการยกเว้นเฉพาะการทำตามสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะทำ ตามหลักจริยธรรมจรรยา เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเป็นสื่อแล้วไปกลั่นแกล้งใครไม่ได้ PDPA ยังคุ้มครองคนที่ถูกระรานอยู่ ยกเว้นสามารถบอกได้ว่าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ดังนั้นถ้าเกิดกลัวว่าสื่อไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ก็ต้องบอกว่ากฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ตลอดเวลาอยู่แล้ว บางทีก็มีข้อร้องเรียน มีข้อห่วงใยจากนานาอารยประเทศด้วยว่า เราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากเกินไปหรือไม่ เพราะบางครั้งก็มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งปิดปากสื่อด้วย

กล่าวถึงข้อดีของกฎหมายเหล่านี้ มันก็เป็นข้อดีตามเจตจำนงของกฎหมายทั่วไป มันก็ไม่ใช่เฉพาะกับสื่อแต่มันก็คุ้มครองประชาชน ไม่ให้ใครโฆษณาหมิ่นประมาทใครโดยที่เป็นการกลั่นแกล้ง  คุ้มครองประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการลุแก่อำนาจของสื่อ การมีสื่อในมือ หรือจากประชาชนด้วยกันเอง อันนี้คือข้อดีของมัน

ภาพจาก Wasinee Pabuprapap

ที่มาของร่าง พ.ร.บ. สื่อฯ ฉบับนี้มาได้อย่างไร อะไรคือประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

รัฐเคยพยายามที่จะออกกฎหมายบังคับใช้อย่างสมบูรณ์แบบเลย ตอนนั้นสิ่งที่รัฐบาลหลังรัฐประหารหลัง ปี พ.ศ. 2549 ให้ทำก็คือ ทุกคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมวลชนต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ ถ้าเกิดว่าไม่ขึ้นทะเบียนแล้วทำหน้าที่สื่อมวลชนก็มีโทษจำคุก เช่น อยู่ๆ หยิบมือถือมา Live ไม่ได้ ต้องไปขึ้นทะเบียนก่อน เราก็คิดว่ามันก็เกินไปหรือเปล่า แล้วจริงๆ มันขัดกับหลักสากลด้วย เพราะตามหลักสากลภาวะความเป็นสื่อไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอจากรัฐบาล มันสามารถเป็นได้เองเลย ไม่ต้องให้ใครมารับรองความเป็นสื่อ

แล้วตอนนั้นด้วยความที่มันออกมาแบบน่าตกใจ น่ากลัวมากๆ แรงต้านจึงออกมาเยอะ มีการขึ้นโปรไฟล์เฟซบุ๊กว่า “หยุดตีตรวนสื่อมวลชน” อะไรแบบนี้ แล้วมันก็หายไป คราวนี้เราคิดว่าการที่รัฐพยายามควบคุมสื่อให้ได้โดยเฉพาะสื่อใหม่ มันเป็นความฝันของทุกรัฐอยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นมันกลับมาอีกรอบในรูปแบบอันนี้ แต่ว่าไม่ได้ทำเป็นรูปของกฎหมายที่ตีความแล้วบังคับใช้และควบคุมเสียทีเดียว แต่เขาเคลือบน้ำตาลด้วยการบอกว่าถ้าไปดูร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็จะเป็นชื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งดูดีมากในกรณีที่ไม่ได้อ่านใจความข้างใน ถามใครๆ ก็เอา แต่พอมาอ่านเนื้อความของร่างกฎหมายดีๆ แล้ว มันยังมีส่วนที่เกาะเกี่ยวกับรัฐอยู่ ซึ่งทำให้เรากังวล เราคุยกับนักวิชาการก็เห็นตรงกันหลายเรื่อง เรื่องแรกเลย มันยังมีช่องให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตรวจสอบสื่อมวลชน 

เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ก็คือการตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ขึ้นมา ถ้าใครอยากเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อก็ต้องเข้ามาอยู่ในสภานี้ เหมือนสภาทนายความ แพทยสภา ขณะเดียวกันสภานี้จะต้องมีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งไม่เหมือนสภาทนายความ หรือสภาการพยาบาล ที่มาเลือกตั้ง เลือกคณะกรรมการ เลือกคนที่จะมาบริหาร สภาวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ใช่อย่างนั้น แต่มาจากคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 15 การสรรหาและคัดเลือกกรรมการตามมาตรา 13 (1) และ (2) ซึ่งประกอบด้วย 7 คน คือ 

  1. คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  2. คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  3. คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  4. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน
  5. ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
  6. ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน
  7. ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 1 คน

โดยกรรมการสรรหาเหล่านี้มีหน้าที่สรรหา “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ตามมาตรา 13 ประกอบไปด้วย

  1. กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน
  2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละ 1 คน และจากผู้เคยประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ 1 คน 
  3. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ

จะเห็นได้ว่ามีสมาชิกจากหน่วยงานของส่วนราชการ เป็นภาครัฐ การที่มีสิทธิในการมาสรรหา มันก็มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วว่าจะคัดใครขึ้นมา จะคัดคนที่นอบน้อมต่อรัฐมาเป็นคณะกรรมการหรือเปล่า 

ส่วนตัวแล้วไม่ได้มีข้อข้องใจเกี่ยวกับ นักวิชาการ สภาทนายความ สภาผู้บริโภค อะไรอย่างนี้ แต่ข้องใจเรื่องตัวแทนโดยตำแหน่งจาก กสทช.

เหตุการณ์นี้ถ้าร่าง พ.ร.บ. ผ่าน มันคือแขนหนึ่งที่รัฐเอื้อมเข้ามาได้ แล้วมีเรื่องอื่นด้วย คือที่มาเหล่านี้ไม่รู้ว่าเชื่อมโยงกับนักข่าวอย่างไร ถามว่าทำไมที่มาของคณะกรรมการทั้ง 11 คนทำไมมันสำคัญ

เพราะว่าเขาสามารถเลือกคณะกรรมการมาร่างหลักปฏิบัติที่จะบังคับใช้กับทุกคน หลักปฏิบัติก็คือจริยธรรมสื่อซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของสื่อที่จะเอามาใช้กับทุกคน เพราะฉะนั้นที่มาที่จะต้องแตกต่างหลากหลายสำคัญมาก ว่ามีคนทำสื่อใหม่-สื่อเก่ามาด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเอาคนทำหนังสือพิมพ์มา ดูช่วงอายุของคนที่จะมาร่าง ค่านิยม ชุดความเชื่อเหล่านี้ ถ้าเราย้อนกลับไปดูคนที่จะมาสรรหา เราได้คนแบบไหนมาเขียนร่างจริยธรรมชุดนี้ แล้วร่างจริยธรรมจะออกมาเป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของใคร

ดูเหมือนโครงสร้างของระเบียบ พ.ร.บ. นี้ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของสื่อมวลชน

ใช่ แล้วที่สำคัญคือคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ที่จะตั้งมา ถ้าพลิกกฎหมายดูคนที่เข้าไปเป็นสมาชิกสภา ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ คือไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษเลย ไม่มีการถอดถอน เลือกตั้งก็ไม่ได้ เราก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นโครงสร้างที่มีประชาธิปไตยน้อยเกินไปมากๆ นี่คือประเด็นแรก 

ย้อนกลับไปคำถามที่ว่าที่มาจากตอนแรก พอคลอดร่างนี้ออกมา คนที่พยายามนำเสนอร่างนี้ก็จะบอกว่าอันนี้คือต่อรองแล้วนะ จำได้ไหมว่าคราวที่แล้วเราได้แบบ ให้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่รัฐเลยนะ แต่คราวนี้เห็นหรือไม่ว่ามันกึ่งๆ การกำกับดูแลกันเอง 

แต่แท้จริงแล้วมันไม่ใช่การกำกับดูแลกันเอง สุดท้ายแล้วมันก็เกี่ยวข้องกับรัฐอยู่ดี เพราะมันมีคนจากภาครัฐที่เข้ามามีส่วนในการเลือกคณะกรรมการได้ ฉะนั้นแล้วกลุ่มของคนที่พยายามผลักดันและนำเสนอร่างนี้พยายามที่จะอธิบายว่าอันนี้มันต่อรองมาแล้ว มันดีกว่าอันก่อนตั้งเยอะ แต่ยังยืนยันว่า มันน่าเป็นห่วงอยู่ดี มันดีไม่พอ 

เราก็จะเห็นได้ว่าตัวของร่าง พ.ร.บ. เองมันน่าสงสัยมากๆ เพราะว่าตอนที่เขียนโดยกรมประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชนที่อยู่รอบๆ ตัวเราไม่มีใครรู้เลย แล้วมันรีบเข้า ครม.มาก รีบเข้ามาอย่างเงียบเชียบ แล้วก็อนุมัติผ่านอย่างง่ายดาย คราวนี้เมื่อเข้าสภามันก็มาเข้าด้วยวิธีที่มันน่ากังขา เพราะว่าจริงๆ แล้ว การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส.ส. ส.ว. ประชุมร่วมกันจริงๆ มีประเด็นที่สำคัญกว่านี้เยอะแยะที่พิจารณาค้างอยู่ด้วย 

เช่น พ.ร.บ.การศึกษาอันนี้สำคัญกว่าตั้งเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องรีบอนุมัติให้ได้ แต่ว่าทำไมถึงรีบสลับเอาอันนี้ขึ้นมา มันมีวัตถุประสงค์อะไรหรือ ต้องการจะทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือเปล่า เพื่อที่จะตั้งองค์กรนี้และสามารถควบคุมสื่อในช่วงเลือกตั้งได้ นี่เป็นข้อสังเกต

สุดท้ายแล้วหวังว่ามันจะไม่เป็นจริง แต่ว่ามันก็มีคนพูดกันว่าการเข้าครั้งนี้ จะเป็นการผ่าน 3 วาระพร้อมกันเลย หมายความว่าปกติแล้วกฎหมายเวลากลั่นกรองแล้วเอาเข้าไปวาระ 1 มันคือการรับหลักการ แล้วเขามักจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายให้มันถ้วนถี่เสียก่อน เพื่อให้แต่ละฝ่าย ให้พรรคการเมืองทุกพรรคเข้าไปดูด้วยกันว่ามีสิ่งใดที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่กฎหมายถูกพิจารณาอย่างถ้วนถี่ที่สุด

แต่ว่าถ้าเป็นการผ่าน 3 วาระพร้อมกันก็คือเมื่อร่างกฎหมายมาถึง และรีบร้อนที่จะดูและดันให้มันผ่าน ซึ่งวันเดียวไม่มีทางที่จะพิจารณาเรื่องใหญ่ขนาดนี้ให้เสร็จได้ หนึ่งคือคุณขาดการมีส่วนร่วมจากสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องทั้งๆ ที่เป็นคนที่จะถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายนี้  สองก็คือการพิจารณาในรัฐสภายังจะเร่งรีบอีก อันนี้ทำให้เราคิดดีไม่ได้

ตัวแทนสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll ยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง  พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และรายชื่อประชาชนกว่า 2,000 รายชื่อ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาคุณมีส่วนในการเคลื่อนไหวต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้อย่างไร และอะไรคือข้อเสนอที่ยื่นต่อสภาฯ

เรารู้เรื่องนี้พร้อมกับทุกคนคือรู้ตอนที่ ผ่าน ครม.เรียบร้อยแล้ว แล้วก็คุยกันกับเพื่อนๆ ในวงการสื่อ จริงๆ ก็คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย หลายคนไม่รู้เลยว่ามีการทำสิ่งนี้ มีการเร่งเขียนสิ่งนี้อยู่ รู้พร้อมกันทั้งหมดเลย คราวนี้เราก็เลยจัดเป็นเวทีเสวนาก่อน มาคุยกันว่าอันนี้มันมีข้อกังวลอะไรบ้าง มันจะเป็นทางเลือกที่ดีหรือเปล่า หรือช่องโหว่ของมันมีอะไรบ้างที่น่ากังวล

ตอนนั้นเวทีจัดที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FTCC) จึงได้ตัดสินใจออกแถลงการณ์ร่วมกันในฐานะสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) รวบรวม 3 ข้อที่เรากังวล 

  1. เรื่องการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชน
  2. ชุดศีลธรรมจรรยาที่จะเอามาตีกรอบว่าเป็นศีลธรรมของใคร มันมีที่มาจากไหน จะถูกทำอย่างไรอันนี้เป็นข้อเป็นห่วง
  3. คือเรื่องงบประมาณ เพราะว่ามันมีงบประมาณของประชาชนต้องลงมาด้วย โดยคนที่จะจัดการว่างบจะมาเท่าไรก็คือ กสทช. เพราะฉะนั้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็น่ากังวล 

อันนี้เป็น 3 ข้อที่เราออกแถลงการณ์มา แล้วเราก็รวบรวมรายชื่อของคนที่เห็นตรงกับเรา ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการสื่อ สื่อมวลชน แล้วก็มีประชาชนทั่วไป ระลอกแรกรวบรวมได้ 300 ชื่อ แต่ว่าเป็น 300 ชื่อที่มีแต่นักวิชาการสื่อชื่อดังหลายท่าน หลังจากนั้นก็มีการเคมเปญผ่าน Change.org ตอนนั้นก็ได้เสียงของประชาชนมาประมาณ 2,000 เสียง 

แล้วเราก็จับตาว่าจะเข้าสภาเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าร่างกฎหมายจะปรากฎในวาระ จนคิดว่าอาจจะโดนตีตกไปแล้ว แต่ว่าเมื่อใกล้โค้งสุดท้ายของรัฐสภา เราก็รู้สึกว่าต้องยื่นหนังสือ ก็เลยไปยื่นหนังสือกับกรรมาธิการสื่อฯ ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ทาง ส.ว.ไม่ใช่ว่าเราไม่พูดอะไรด้วยเลย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส.ว.เรียกเราเชิญเราเข้าร่วมฟังความเห็น 2 รอบด้วยกัน รอบแรกเป็นวงปิดในอนุกรรมาธิการเรื่องสิทธิ เรื่องสื่อ เสรีภาพ ของ ส.ว. ซึ่งเราก็เข้าไปแล้วเราก็อธิบายข้อกังวลอย่างที่เราได้ออกมาตามแถลงการณ์ ก็ขอบคุณที่ชวนไป เราก็พูดไป แต่ดูเหมือนว่าเขาอาจจะยังไม่แน่ใจ เขาต้องการจัดงานเสวนาอีกรอบหนึ่งโดยอนุกรรมาธิการของ ส.ว.นี้ เสวนาเรื่องความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ แล้วเขาก็เชิญนักวิชาการสื่อไป เห็นได้ว่ามันไม่ได้มีแค่สื่อใหม่ แต่ว่าเขาก็เชิญสื่อที่เป็นสื่อกึ่งเก่ากึ่งใหม่ หรือว่าสื่อ Traditional ไปด้วยเหมือนกัน 

ซึ่งงานเสวนาตอนนั้นทุกคนบอกตรงกันว่ามันดูไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันมีปัญหาเยอะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็คิดว่า น่าจะเห็นตรงกันแล้วว่าเรื่องนี้ไม่สามารถที่จะเร่งรีบในการพิจารณาได้ 

ขณะเดียวกันเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมสุดท้าย ส.ว. ถึงเลือกที่จะรีบเสนอให้เอาเรื่องนี้มาเร่งพิจารณาให้ได้ แม้ว่าในการรับฟังความคิดเห็น 2 รอบจะมีคนคัดค้าน เป็นเรื่องที่ทำมาก็น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกรับฟัง ข้อเสนอของเราก็คือให้หยุดการเอาเข้าสภาก่อน หยุดการเอาบรรจุเข้าในวาระก่อน แล้วก็จัดเวทีพูดคุยกับสื่อมวลชนให้ทุกคนที่อยู่ในสนามรู้เรื่องนี้ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้เรื่องนี้ หรือว่าให้รู้กันในวงกว้างก็ได้ เพราะว่ากฎหมายสำคัญขนาดนี้ที่ต้องคลุมไปหลากหลายภาคส่วนซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจขนาดนี้

จริงๆ แล้วไม่ใช่คือสื่อมวลชนที่เรามองว่าเป็นนักข่าว แต่มันคลุมทุกคนที่มีรายได้จากคอนเทนต์ หมายถึงว่าถ้าเป็นนักสร้างคอนเทนต์แล้วได้เงินจากคอนเทนต์นั้นก็จะต้องอยู่ใต้ร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วยเหมือนกัน

ภาพจาก Wasinee Pabuprapap

โดยภาพรวมแล้ว สื่อมวลชน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มีความตื่นตัวมากน้อยแค่ไหน และจากนี้ต้องทำอะไรอีกบ้าง

ที่ผ่านมามันจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เข้าใจว่าไม่ได้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางมากนักเท่าไร ขณะเดียวกันเราก็จะเห็นว่ากระบวนการมันไม่ได้ตั้งใจให้คนรู้เรื่องนี้ ทุกอย่างดูเร่งรัดผิดปกติ แต่อีกนัยหนึ่ง ก็คิดว่ามันเป็นสัญญาณที่ดี ในฐานะของผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มา 1 ปีแล้ว เป็นสัญญาณที่ดีที่ในช่วงคืนสองคืนที่ผ่านมาในที่สุดมันก็มีการตื่นตัวขึ้นมาเสียที และคิดว่ายังคงไม่สายเกินไป ถ้าเกิดเราจะยื่นข้อเสนอในการพูดคุยพิจารณากฎหมายตัวนี้ให้มันรอบคอบเสียก่อนที่จะออกมา

ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ จะถูกเสนอในวาระประชุมวันที่ 7 ก็คืออังคารหน้านี้ เราคิดว่าเสียงของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญมาก ว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร แล้วก็มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้คนที่จะเข้าไปประชุมไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนฝ่ายไหน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. รับรู้ข้อกังวลของเรา เราก็หวังว่ามันจะมากพอที่จะทำให้ข้อกังวลต่างๆ ของเราได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะได้รับการเคาะออกมา คาดหวังอย่างนั้น

image_pdfimage_print