บ่ายวันที่ “ทรงพล สนธิรักษ์” หรือ “ยาใจ ทะลุฟ้า” กำลังลุ้นด้วยอาการตุ้มๆ ต่อมๆ ว่า ทนายความผู้เป็นตัวแทนของเขาจะสามารถปลดเปลื้องพันธนาการของกำไลอีเอ็มที่เป็นโซ่ตรวนจำกัดสิทธิเสรีภาพออกจากชีวิตหรือไม่

เป็นบ่ายวันเดียวที่ The Isaan Record ชวนเขามาคุยถึงเหตุการณ์วันที่เขาใช้เวลา 1.5 วินาที ชูสามนิ้วต่อพระพักตร์กรมสมเด็จพระเทพฯ ในงานรับปริญญาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ในฐานะบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ในห้วงเวลาที่ไม่รู้ว่าคำตอบจะออกหัวหรือก้อย เราตั้งคำถามกับเขาว่า “ทำไมชื่อยาใจ เป็นยาใจใครหรือเปล่า” ฉับพลันนั้นเขาหัวเราะร่วนก่อนอธิบายว่า มันเป็นฉายาที่ได้มาบนสังเวียนมวยไทย พ่อของเขาคือ “ยาใจ” ส่วนเขามีฉายาว่า “ยาใจเล็ก” ต่อเมื่อมาร่ำเรียนคณะนิติศาสตร์เขาก็สมัครเข้าชมรมมวยจึงใช้ฉายานี้เรื่อยมา จากนั้นบทสนทนาอันเนื่องมาจากความสงสัยอื่นๆ ก็เริ่มขึ้น

เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนไหน

ปี 2562 ช่วงที่มีเลือกตั้ง ผมเพิ่งได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต แต่ตอนนั้นผมยังติดเงื่อนไขว่า เพิ่งย้ายเข้ามามหาวิทยาลัยจึงไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับสิทธิเลือกตั้ง และเริ่มติดตามสถานการณ์การเมือง แต่ยังไม่ได้เคลื่อนอะไรมาก 

เป็นจังหวะเดียวกับที่พี่ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ออกมาจากเรือนจำพอดี เขาก็มาอยู่บ้านของชมรมมวย จากนั้นจึงชวนกันลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านน้ำท่วมที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 

ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จึงได้ออกมาร่วมชุมนุมกับ กลุ่ม มข.พอกันที ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ปราศรัยบนเวทีชุมนุม 

ถือว่า ไผ่ ดาวดิน เป็นแรงบันดาลใจและผู้ชักชวนให้เข้าสู่การเป็นกิจกรรมทางการเมืองไหม 

จริงๆ แล้วก่อนที่พี่ไผ่จะออกมาจากเรือนจำ ผมไม่รู้จักเขามาก่อน ตอนที่เข้ามามหาวิทยาลัยตอนปีหนึ่งก็ยังไม่ได้รู้จักกลุ่มเพื่อนใหม่มากนัก ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นอาสาช่วยชาวบ้านเรื่องน้ำท่วม จากน้ันก็ไปต่อต้านโรงงานน้ำตาล อ.บ้านไผ่ ขณะรับฟังความคิดเห็นก็เห็นบรรยากาศที่ชาวบ้านถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ 

พอได้มีโอกาสเห็นปัญหาของพี่น้องมากกว่าที่ทำให้เริ่มมีสำนึกให้รู้สึกว่า เราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในสังคม เพราะเราเรียนกฎหมาย เหมือนมีโอกาสที่ได้รู้ถึงปัญหาและมีโอกาสที่จะสื่อสารถึงปัญหาต่างๆ ได้ 

ทำไมถึงเรียนกฎหมาย 

ตอนเป็นเด็ก ผมก็ไม่ได้มีความฝันอะไรขนาดนั้น ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็อยากให้เป็นข้าราชการ แต่เราก็ไม่ชอบ ขณะเดียวกันเขาอยากรู้เรื่องกฎหมายที่เขาเองก็กลัว เช่น กลัวว่าตัวเองจะถูกเอาเปรียบทางกฎหมาย กลัวถูกลิดรอนสิทธิ์ 

ก่อนหน้านี้พี่ชายมีปัญหาเรื่องชกต่อย เวลาขึ้นโรงพัก ขึ้นศาล เขาก็จะไม่ได้ดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งที่ข้อเท็จจริงพี่ชายผมไม่ได้ผิด แต่ตอนนั้นเราพูดเรื่องข้อกฎหมายหรือโต้แย้งอะไรไม่ได้ 

สุดท้ายเราต้องจ่ายตังค์เพื่อไกล่เกลี่ยในชั้นตำรวจ แต่ก็มีเรื่องเหมือนเดิม พอผมเห็นตรงนี้ก็รู้สึกว่า กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เราจะไม่ยอมถูกเอารัดเอาเปรียบ เลยอยากเรียน

จากนักมวยเริ่มสนใจเรื่องมาตรา 112 ได้อย่างไร 

เริ่มสนใจหลังจากเพื่อนๆ ถูกดำเนินคดีช่วงปี 2563-2564 ที่มีเรื่องบังคับใช้มาก พอเราไปดูที่มาที่ไป แต่ละครั้งที่ดำเนินคดี ถ้าในทางกฎหมาย คือ เหมือนมันไม่เมคเซนส์กับบริบทของสังคม บางครั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ควรถูกฟ้อง แต่สุดท้ายกระบวนการของกฎหมายก็ดำเนินคดีถึงชั้นฎีกา 

อย่างเคส อากง (อำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องหาคดี 112 จากการส่ง SMS ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีและเสียชีวิตในเรือนจำ) ที่มันก็ยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงชัด แล้วยิ่งเป็นการสันนิษฐานเอาเองของผู้ปฏิบัติงาน ผู้พิพากษา ผมก็เลยรู้สึกว่า มาตรานี้เป็นปัญหา 

ส่วนในทางสังคม พอคนเขาไม่กล้าพูดหรือโยงไปถึงเรื่องสถาบันก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่กล้าไปแตะ 

การชู 3 นิ้วต่อพระพักตร์กรมสมเด็จพระเทพฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็นวันที่เข้ารับปริญญา แล้วเป็นเหมือนโอกาสในชีวิต เป็นอารมณ์เหมือนครั้งเดียวที่ผมจะได้เห็นตัวแทนของสถาบันฯ ตอนเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ 4-5 ปี ผมพบว่า ทุกบริบทจะเห็นสถาบันฯ เกี่ยวข้อง มีส่วนคานอำนาจ หรือเป็นอำนาจหลักของประเทศ 

พูดง่ายๆ เขาเป็นเจ้าของประเทศ ผมรู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสที่จะสื่อสารก็อยากสื่อสารข้อเรียกร้องหรือประเด็นปัญหาที่เราอยากให้เขาร่วมปรับหรือช่วยกันแก้ ซึ่งข้อเรียกร้องสื่อสารไปเป็นการต่อสู้ของภาคประชาชนที่มีตั้งแต่ปี 2563 

ตอนแรกตั้งใจจะไม่เข้ารับปริญญา แต่สภาพสังคมบังคับ เพราะผมเพิ่งเรียนจบเป็นคนแรกของบ้าน ครอบครัวก็อยากให้เข้ารับปริญญา ตอนนั้นก็เหมือนชั่งใจว่า จะกล้าทำหรือเปล่า แต่คิดว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากใช้พื้นที่ตรงนั้น 

เพราะการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563-2564 มันยาวนาน ผมก็อยากเห็นชัยชนะ แล้ววันนั้นก็รู้สึกว่า แสดงออกได้ ไม่ได้รู้สึกว่า มันดูน่ากลัว หรือไม่ใช่พื้นที่ๆ ต้องห้ามอะไร

ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

ตื่นเต้นๆ มากๆ (นิ่งคิด) เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าทำไป คือ ไม่ใช่แค่สังคม แต่หมายถึงตัวอาจารย์ บัณฑิตที่อยู่ในห้องประชุม ตัวแทนของสถาบันฯ ที่เห็นผมแสดงออกจะเข้าใจในเจตนาที่ผมต้องการสื่อสารไหม เพราะสภาพสังคมทุกวันนี้เรานิ่งเฉย ผมก็บอกตัวเองว่า เราจะสยบยอมหรือปล่อยเลยตามเลยไม่ได้ 

ถ้ามีโอกาสที่จะสื่อสาร อย่างน้อยๆ ถ้ามันไม่เปลี่ยนอะไร ผมก็ยังรู้สึกยอมรับตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ทำหรือตื่นเต้นจนกลัวที่จะไม่ทำก็จะรู้สึกว่า เออ ขนาดเราก็ยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงสังคม เรายังไม่กล้าพิสูจน์ว่า พิธีการหรือสภาพสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว คนอื่นมันจะกล้าเปลี่ยนได้อย่างไร 

หลังจากนั้นเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

จริงๆ ก็ทันควันเลย พอแอคชั่นเสร็จปุ๊บอาจารย์ก็ให้เข้ามาคุย มาตักเตือน จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบโทรหาผู้ปกครองที่รอถ่ายรูปอยู่นอกห้องประชุมแล้วบอกว่า ผมแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมในพิธีการ แต่ไม่ได้บอกรายละเอียด ครอบครัวที่ตั้งใจจะมาถ่ายรูปงานรับปริญญาก็ตกใจ เขามาจากร้อยเอ็ด ไม่เคยเจอบรรยากาศแบบนี้ ทุกคนก็งงๆ พอตอนผมออกมาเขาก็เข้ามาถามว่า “มีอะไร” 

อธิบายกับครอบครัวอย่างไร

ตอนแรกผมก็ยังไม่ได้กล้าบอกว่า ชู 3 นิ้ว มาบอกตอนครอบครัวจะกลับบ้าน ผมบอกว่า “ห้ามใจตัวเองไม่ได้” แต่ก็ไม่ได้บอกรายละเอียด จะบอกว่า เป็นความรู้สึกชั่ววูบก็ไม่เชิง เพราะคิดไว้ก่อนแล้ว แค่บางทีผมก็รู้สึกว่า ผมคงไม่กล้าที่จะทำอะไรแบบนั้น แต่มันก็ไม่ได้ขัดขวางพิธีหรือสร้างความเดือดร้อนหรืออะไร 

ผมแค่ต้องการสื่อสาร เพราะเขาจะให้เวลากับบัณฑิตหนึ่งคนประมาณ 1.5 วินาที พอแอคชั่นไปแล้ว ผมรู้สึกว่า มันไม่ได้เกินไป 

ถ้ามีโอกาสนั่งต่อพระพักตร์กรมสมเด็จพระเทพฯ โดยไม่ใช่การรับปริญญาจะพูดอะไร

ถ้ามีโอกาสจริงๆ เหรอครับ (เลิกคิ้วสูง) ผมก็น่าจะต้องชวนคุยว่า ก่อนอื่นเลยจะบอกว่า อย่าเพิ่งทิ้งปัญหาตอนนี้ พอมีม็อบออกมาเรียกร้องและทุกวันนี้มีคนอดข้าวอดน้ำเพื่อแค่เรียกร้องให้ศาลทำตามกฎหมายหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คืนสิทธิการประกันตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับผู้ต้องหา ยิ่งเป็นนักสู้ทางการเมือง เราก็รู้ว่า เป็นคดีทางการเมือง 

พอเห็นสภาพปัญหาสังคมตอนนี้ก็ต้องมาคุยกันว่า ปัญหาต้นตอคืออะไร แม้แต่ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ทำไมเส้นราชดำเนิน ผมเห็นคนนอน คนไร้บ้านนอนเต็มเลย แต่ไม่มีการแก้ไข จริงๆ จะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้แล้วก็มองข้ามเขาไปหรือ ตรงนี้ต้องมาคุยก่อนว่า จะแก้ปัญหาประเทศไทยอย่างไร จะแก้กฎหมายให้คนได้รู้สึกว่า มีเสรีภาพมากขึ้นอย่างไร ถ้าเรื่อง 112 เป็นปัญหาจะหาทางออกกันอย่างไร 

ผมรู้สึกว่า ถ้าเจ้าของปัญหาโดยตรง หมายถึงว่า ตัวแทนสถาบันฯ จริงๆ ถ้าได้คิดมุมนี้ อย่างน้อยมันก็เป็นอำนาจต่อรองให้กับรัฐสภาด้วยซ้ำ ที่จะแก้มาตรา 112 ถ้าอยากเสนอลดงบของสถาบันฯ ลงเพื่อให้นำไปสร้างประโยชน์กับสังคมมากกว่าก็ต้องมาคุยข้อเท็จจริงว่า มีมุมมองอย่างไร 

คิดว่าพระองค์จะฟังไหม

ถ้ามีโอกาสได้คุยกัน ผมคิดว่าพระองค์น่าจะฟังนะ เข้าใจว่า ท่านเป็นสถาบันฯ ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน อย่างน้อยก็ควรสนใจปัญหาสังคม ซึ่งเป็นพสกนิกรอย่างเราๆ ถ้าจะบอกว่า สถาบันฯ ไม่มีส่วนในการบริหารหรือเกี่ยวกับอำนาจการปกครองมันก็ไม่ใช่ เพราะกฎหมายบอกว่า เป็นหนึ่งในอำนาจตัดสินใจ

หลังจากชูสามนิ้วไปแล้วมีกระแสกระแสตีกลับจากผู้เห็นต่าง เกรงเรื่องความไม่ปลอดภัยหรือไม่

ความจริงผมถูกร้องให้ถอนประกันกรณีอื่นๆ แต่ศาลก็ยกคำร้องจากเหตุไปชูสามนิ้ว ตอนนั้นเขาก็ถอนประกันเรื่องคดีไปสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ห้ามก่อเหตุซ้ำอีก ศาลก็ยกคำร้องไปแล้ว เพราะไม่ได้ผิดเงื่อนไข 

กรณีที่มีกลุ่มเห็นต่างไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ จ.ขอนแก่น และหน่วยงานอื่นๆ ผมก็คิดว่า อยู่ที่ฐานของผู้ปฏิบัติงานหรือคนที่รับเรื่องที่น่าจะมีวิจารณญาณว่า อันไหนที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะถ้าจะให้ผิดมาตรา 112 ก็ไม่เข้าข่าย ผมเรียนกฎหมายมา ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ทำไม่ผิดกฎหมายแน่ๆ 

ผมกลัวแค่บรรยากาศในสังคมว่า คนจะมองสิ่งที่ผมทำมันผิดหรือเปล่าแล้วไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ถ้ามองชาวบ้านเขาอาจจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ ถ้าเขาจะนำเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย ก็ให้ดูตัวอย่าง เรื่องล่าสุดที่ผมถูกกล่าวหาจนถูกถอนประกันสุดท้ายก็ยกคำร้องและบอกว่า ผมไม่ผิด  

กลัวว่า จะถูกทำร้ายจากคนที่มีเห็นต่างไหม   

จะบอกว่าไม่คิดก็ไม่ได้ อย่างที่บอกสภาพสังคมก็มีเรื่องทำร้ายนักกิจกรรมหรือคนที่เห็นต่างอยู่บ่อยครั้ง แล้วก็บอกว่าควบคุมอารมณ์ใม่ได้ที่ทำร้ายกัน ก็มีกลัวบ้างก็พยายามระวังตัวเอง ส่วนตัวไม่คิดว่า ทางออกควรเป็นแบบนี้ คิดว่าถ้ามันมีปัญหาก็พูดคุยกัน ผมก็คิดว่าผมคุยรู้เรื่องนะ 

ต้องการส่งสัญญาณต่อไปในสังคมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกรณี 112 ที่มีนักกิจกรรมกำลังอดข้าวเพื่อต่อต้านกระบวนการยุติธรรม

ต้องมองไปข้อเสนอ 3 ข้อที่แบม (อรวรรณ ภู่หงษ์) และ ตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ) เสนอ โดยเฉพาะอำนาจประชาชนที่เรามีการปกครองระบอบรัฐสภา มีตัวแทนเป็นพรรคการเมือง ยิ่งปีนี้จะมีการเลือกตั้ง ผมคิดว่า ต้องหยิบปัญหาของมาตรา 112 มาตรา 116 มาพิจารณา ตั้งแต่เรื่องการปล่อยตัวนักสู้ทางการเมือง ยุติการดำเนินคดีของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวภายใต้ยุคเผด็จการ ซึ่งเป็นยุคที่เราไม่มีสิทธิเสรีภาพ 

ผมว่า ประเด็นอย่างนี้ต้องถูกผลักดันไปสู่นโยบายของพรรคการเมืองให้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันคือสภาพสังคม ถ้าเราไม่ชูปัญหาต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังไม่ชัดว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้อย่างไร ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกแก้ไข แล้วมันจะพัฒนาไปทางไหน

อยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร 

หลักๆ อยากเห็นความเท่าเทียมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่เขาควรจะได้ ควรมีการโอบอุ้มหรือมีการเปิดโอกาสหรือสร้างพื้นที่จากทางภาครัฐ

นอกจากเสรีภาพทางการแสดงออก กฎหมายต่างๆ ก็ต้องมีการปรับ ปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในสังคมว่า ถ้าเขาออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเองก็จะไม่ถูกคุกคาม 

หลังจากได้รับอนุญาตให้ปลดกำไลอีเอ็มแล้วจะทำใช้ชีวิตอย่างไร 

ก่อนหน้านี้ผมเคยขอศาลไป 2 รอบ โดยอ้างเหตุผลว่า อยากกลับมาต่อยมวย เพราะติดอีเอ็มมันก็ขึ้นเวทีต่อยไม่ได้ แม้ออกกำลังกายก็ไม่สะดวก พอไม่ได้ก็รู้สึกเซ็ง ครั้งนี้ก็คิดว่าอาจเป็นเพราะกระแสสังคมจึงทำให้นักกิจกรรมหลายคนได้รับการปลดปล่อย แต่ลึกๆ ก็ไม่ทราบว่าศาลใช้มาตรฐานอย่างไร 

หลังจากนี้ผมก็จะใช้ชีวิตแบบมีแผนการมากขึ้น เพราะช่วง 7-8 เดือนที่เราติดกำไลอีเอ็ม คือ ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่แต่บ้าน แล้วก็เตรียมตัวไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ มันก็จะวนอยู่แบบนี้ 

อยากเรียกร้องศาลจ่ายค่าชดเชยกรณีที่สูญเสียเสรีภาพช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่

ผมอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆ อย่าง กำไลอีเอ็ม ถ้านำเอาไปใช้ในทางที่ถูกทางที่ดีก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักโทษหรือคนที่ถูกพิพากษามีโอกาสทำประโยชน์ให้กับสังคมภายนอกมากกว่าถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ

ถ้ามีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนตรวจสอบผู้พิพากษาได้ โดยผู้พิพากษาจะต้องไม่แยกขาดจากประชาชนมากเกินไปก็จะเป็นเรื่องดี ผมอยากให้เขาทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกผู้มีอำนาจหรือของรัฐ ผมคิดว่าแบบนี้น่าจะเป็นการชดเชยที่ดีที่สุด

image_pdfimage_print