เครือข่ายชุมชนคนฮักแม่น้ำของ อ่านแถลงการณ์กลางแม่น้ำโขงเนื่องในวาระวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม ย้ำจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม

อุบลราชธานี – 14 มีนาคม 2566 บ้านตามุย อ.โขงเจียม เครือข่ายชุมชนคนฮักแม่น้ำของ พร้อมตัวแทนจากสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ร่วมกันจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคมของทุกปี

โดยกิจกรรมมีการล่องเรือจากโฮงเฮียนแม่น้ำของไปยังดอนพิมาน ซึ่งเป็นเกาะแก่งหินกลางแม่น้ำโขงที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านตามุย โดยชาวบ้านเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า “ซ่งบักถั่ว” มีการผูกผ้าขาวให้กับต้นพิมาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่คนลุ่มแม่น้ำโขงใช้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และในปัจจุบันเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงอย่างซ่งบักถั่ว มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกทำลายจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปหลังจากที่มีการกั้นเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างที่ล่องเรือไปยังซ่งบักถั่ว กระทั่งทำการผูกผ้าขาวให้กับต้นพิมานนั้น ได้มีมหรสพจากวง หมาเก้าหาง ที่มาร่วมทำการแสดงขับกล่อมแม่น้ำโขงและผู้คนด้วยเสียงพิณ เสียงแคน กลองหาง และฉาบน้อยตลอดกิจกรรมเพื่อเป็นการเสพงันสร้างชีวิตชีวาให้กับแม่น้ำโขง โดยผู้ร่วมกิจกรรมต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันร่วมร้องลำ ก่อนที่ตัวแทนของเครือข่ายองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานจะขึ้นกล่าวความรู้สึก และจุดยืนในการทำกิจกรรมในวันนี้ พร้อมกับอ่านแถลงการณ์

อำนาจ ไตรจักร จากสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เล่าถึงผลกระทบในฐานะผู้ที่มีวิถีชีวิตติดแม่น้ำโขงว่า เครือข่ายต่อสู้มาทุกวิถีทางแล้ว มีการไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง แต่แม่น้ำโขงก็ยังมีโครงการสร้างเขื่อนเกิดเพิ่มขึ้น ผลกระทบดังกล่าวทำให้ปลาหลายสายพันธุ์หายไป บางครั้งระดับแม่น้ำโขงก็ขึ้นสูงผิดปกติทั้งที่เป็นหน้าแลง

“ไม่สามารถคาดเดาระดับน้ำได้เหมือนก่อน นี่คือความเปลี่ยนแปลงไปของแม่น้ำโขงหลังจากมีเขื่อนมาขวางกั้น และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับคนลุ่มน้ำโขงโดยตรง”

อนันต์ (ไม่ทราบนามสกุล) อีกหนึ่งตัวแทนจากสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานจังหวัดมุกดาหารได้เล่าในฐานะพรานปลาว่า หลังเปิดเขื่อนไซยะบุรี ในปี 2562 ปลาแม่น้ำโขงที่เคยพบในพื้นที่ จ.มุกดาหารกว่า 200 ชนิด ปัจจุบันเหลือไม่เกิน 50 ชนิดแล้ว ปัญหาสำคัญอีกเรื่องการขึ้นลงของแม่น้ำที่ไม่แน่นอน

“ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ ลองวัดความลึกของน้ำบริเวณฝั่งแม่น้ำโขงได้ประมาณ 70 เซนติเมตร วานนี้วัดได้ 92 เซนติเมตร นี่คือตัวอย่างความไม่แน่นอนของระดับแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงในหนึ่งสัปดาห์ เห็นอย่างแบบนี้แล้วได้แต่สงสัยว่าทำไมยังต้องมีโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม หรือเขื่อนสาละวันอีก”

ถัดจากนั้นมีการอ่านบทกวีเอิ้นขวัญแม่น้ำของ โดยวิทยากร โสวัตร นักเขียน และเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย และทิ้งท้ายด้วยการอ่านแถลงการณ์โดยเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของต่อสถานการณ์ของแม่น้ำโขง ความว่า

แถลงการณ์ เครือข่ายชุมชนคนฮักแม่น้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี

14 มีนาคม 2566

เป็นเวลากว่า 50 ปี ที่ชุมชนลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งการสร้างเขื่อน การสร้างถนนกั้นน้ำ และการระเบิดเกาะแก่ง ซึ่งทำให้สายน้ำที่เป็นทั้งแม่ ทั้งสายเลือด แหล่งพึ่งพาอาหาร และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ กลายเป็นเครื่องมือทางการค้า การพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนที่อยู่กับน้ำและป่า ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก แม้ว่าก่อนนี้ เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวัฏจักรธรรมชาติที่พวกเราเรียนรู้ที่จะอยู่ได้อย่างสันติมาเป็นพันๆ ปี แย่ไปกว่านั้นคือการพัฒนาที่ทำให้แหล่งที่พึ่งของเราไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขงสายหลัก น้ำมูน น้ำชี ป่าบุ่งป่าทาม และห้วยหนองคลองบึง ค่อยๆ ถูกทำลาย สิ่งที่กำลังหายไปคือเครือสายความสัมพันธ์และวัฒนธรรมชุมชนที่อยู่บนความมั่งคั่งของธรรมชาติ

ในพื้นที่ของเครือข่ายชุมชนคนฮักแม่น้ำของ เขต จ.อุบลราชธานี เราเริ่มสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อน มาตั้งแต่ปี 2547 ปรากฏการณ์น้ำมาก่อนฤดูได้ท่วมพืชผักเสียหาย ทำลายเครื่องมือและเรือหาปลา ปัญหาชัดขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำที่ขึ้นๆ ลงๆ ต่างจากปกติ พอน้ำเปลี่ยน ระบบทั้งหมดก็เปลี่ยน บ้านปลา กุ้ง หอย ต้นไม้เสื่อมโทรม ในอดีต ช่วงหน้าแล้ง ริมแม่น้ำโขงจะสีเขียวเข้มและเต็มไปด้วยต้นไคร้ พืชน้ำต่างๆ และสวนเกษตร  ชุมชนริมน้ำโขงไม่เคยอดอยาก ยังไงน้ำก็ต้องมีปลา ไม่มีนาก็เอาปลาแลกข้าว เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์ เราสามารถเผื่อแผ่ให้พี่น้อง ญาติมิตร และผู้มาเยือน เทศกาลสงกรานต์และงานบุญบ้านเราคือที่สุดของความสุขประจำปี แต่ตอนนี้ เรามองไปรอบๆ เห็นแต่ซากไม้ที่ตายยืนต้นเพราะน้ำท่วมผิดฤดู ความแร้นแค้นของแม่น้ำ ทอดยาวไปถึงทุกชีวิตที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง มีนาคมปีนี้ ที่เราแทบไม่ได้ปลา สวนเกษตรริมโขงก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน คนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะถูกบีบคั้นเพื่อเร่งหาเงิน

รัฐบาลบอกว่าเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญและมั่งคั่ง ทุนไทยเข้าไปลงทุนในลาวเพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายรอง มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อไฟฟ้า แต่สิ่งที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันคือภาวะจำยอม เรากำลังถูกทำให้จน วิถีของเรากำลังถูกทำให้ด้อยค่า คนที่อยู่กับแม่น้ำไม่เคยมีสิทธิในการตัดสินใจทางนโยบาย แม้ว่าบรรพบุรุษของเราอยู่ที่นี่ก่อนประเทศไทยเกิดขึ้นเสียอีก ตอนนี้การพัฒนาเขื่อนบ้านกุ่ม หรือเขื่อนสาละวัน ในเขตอุบลราชธานี กำลังเข้ามา มีการอ้างเรื่องพลังงานสะอาดและยั่งยืน เรายืนยันว่า เขื่อนไม่มีทางสะอาดและยั่งยืน เพราะเขื่อนทำลายระบบน้ำ ป่า ปลา นก ตะกอนดอนดิน และการเกื้อกูลของธรรมชาติและชุมชนพื้นถิ่น

ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายพลังงาน ส่งเสริมการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่อ้างความเจริญและการพัฒนาที่(ไม่)ยั่งยืน เพื่อเบียดเบียนนิเวศและวิถีพื้นถิ่น

ถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยต้องมีนโยบายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่บนฐานของชุมชนพื้นถิ่นและชาติพันธุ์

ถึงเวลาแล้ว ที่ลูกหลานแม่น้ำโขงตลอดทั้งลุ่มน้ำ และเพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์ จะร่วมยืนหยัดเพื่อรักษาให้แม่น้ำโขงอยู่ดีมีแฮง

ขอให้แม่น้ำโขงศักดิ์สิทธิ์ ขอให้แม่น้ำโขงไหลอิสระ

image_pdfimage_print