นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์เรื่อง “กบฏผู้มีบุญ” ถูกเปิดหน้าดินออกมาเมื่อปี 2565 ในวิดีโอที่มีการสัมภาษณ์ชาวบ้าน จะมีคำว่า “ผีหัวหล่อน” ออกมาให้เราได้ยินบ้างประปราย แน่นอนว่าพื้นที่ที่มีการสู้รบและมีคนตาย เรื่อง “ผี” ก็ย่อมจะมีอยู่ในพื้นที่เรื่องเล่าเหล่านั้น

หากเราได้ยินคำว่า “ผี” เราจะนึกถึงสิ่งน่ากลัว เหนือธรรมชาติที่ออกมาปรากฎให้คนเห็นด้วยข้อเรียกร้องบางอย่าง เป็นพลังงานบางอย่าง แต่ “ผีหัวหล่อน” ที่บ้านสะพือคืออะไร ด้านหนึ่งก็เหมือน “ผี” ที่ในการรับรู้ของเรา แต่ในขณะเดียวกัน “ผี” ในที่นี้ก็สะท้อนเรื่องราวในการรับรู้ของชาวบ้านที่มีต่อพื้นที่โนนโพธิ์ พื้นที่ที่มีการเข่นฆ่าครั้งใหญ่ในภาคอีสาน และหากมองย้อนไปถึงคำว่า “ผี” ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในบริบทที่อยู่บ้านสะพือ ทั้งในแง่ของการรับรู้ของอดีตและปัจจุบัน

ที่มาที่ไปของคำผีหัวหล่อน 

คำว่า “ผีหัวหล่อน” หากเราแกะความหมายในระดับวลี จะเห็นว่าคำนี้คือนามวลีที่มีคำนามผสมและขยายด้วยคุณศัพท์ “ผีหัว” คือนามผสมที่มีความหมายว่า หัวของคนตาย ส่วนคำว่า “หล่อน” แปลว่า โล้น หลุดลุ่ย ไม่มีอะไรติดอยู่ ดังนั้น “ผีหัวหล่อน” คือหัวกะโหลกที่เปื่อยจนไม่มีเนื้อหนังมังสา เหลือเพียงกระดูก ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำของสะพือ (ผู้เขียนขออธิบายในภายหลัง)  

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือที่มาของวลี บริเวณ “โนนโพธิ์” นั้น หากเป็นภาษาทางการ จะมีการบันทึกในหมู่บ้านว่าเป็นพื้นที่ “ศึกโนนโพธิ์” ผ่านภาพแผนที่บนหินและภาพวาดฝาผนังในวัดบูรพา แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ไห่ผีหัวหล่อน” ซึ่งคำว่า “ไห่” ก็คือไร่ พื้นที่ที่ชาวบ้านทำนาทำเกษตรกรรม เพราะจากเรื่องราวที่ชาวบ้านฟังสืบต่อกันมาคือไปไถนาแล้วเจอ “หัวกะโหลก” กระดูก และวัตถุอื่นๆ หลายอย่าง เลยเป็นที่มาของคำว่า “ไห่ผีหัวหล่อน”  

ดังนั้น วลี “ไห่ผีหัวหล่อน” จึงเป็นเหมือนวลีที่สะท้อนถึงการรับรู้ของชาวบ้านที่มีต่อพื้นที่โนนโพธิ์ 

ขบวนการผู้มีบุญ การเข่นฆ่า และความทรงจำของสะพือ 

จากการสัมภาษณ์พ่อเสือน้อย (พินิจ ประชุมรักษ์ ชาวบ้านสะพือและอดีตข้าราชการครู) พ่อเสือน้อยเล่าถึงที่มาที่ไปของ “ไห่ผีหัวหล่อน” ได้ละเอียด แต่กระนั้นสิ่งที่พ่อเสือน้อยเล่าสามารถสะท้อนถึงความทรงจำก้อนหนึ่งที่ลอยเหมือนเป็นเมฆอยู่บนท้องฟ้าบ้านสะพือ แต่คลุมเครือและไม่ชัดเจนว่ามีรูปร่างอย่างไร 

พ่อเสือน้อยกล่าวว่า จากเรื่องราวที่ได้ยินปู่ย่าตายายเล่ามา มี “ข้าศึก” ซึ่งก็คือขบวนการผู้มีบุญ เดินทางมาพักเตรียมไปตีเมืองอุบลฯ ต่อ เพราะบริเวณสะพือมีบ่น้ำ เป็นน้ำซับ น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญในการเดินทาง กลุ่มขบวนการจึงมาพักที่นี่ ส่วนชาวบ้านสะพือก็กลัว ผู้ชายต้องไปซ่อนตัวเพราะกลัวเขาเอาไปเป็นกำลังพลในการสู้กับ “ทางการ” ดังนั้นจึงไม่มีใครเห็นตอนสู้รบว่าเป็นอย่างไร มาเห็นอีกทีตอนเห็นหัวที่ถูกเสียบอยู่บนไม้ไผ่ และเห็นศพในบ่อหลุมฝัง  

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ชาวบ้านเรียกบริเวณศึกโนนโพธิ์ด้วยวลีเดียวกัน คือคำว่า ไห่ผีหัวหล่อน ถ้าใช้คำว่า ไห่ ที่แปลว่าไร่ หมายความว่าบริเวณนั้นมีการเพาะปลูก แต่หากอิงตามคำพูดของพ่อเสือน้อยที่ทัพขบวนการผู้มีบุญมาพักบริเวณนั้น ช่วงนั้นน่าจะไม่มีการเพาะ และยิ่งเวลาผ่านไปกระทั่งชาวบ้านไถดินเจอกะโหลก ก็น่าจะผ่านจากช่วงเวลาของการฆ่าฟันกันไปหลายปีแล้ว  

แต่กระนั้นก็ตาม พ่อเสือน้อยเล่าเรื่องรายละเอียดของสภาพ “ผีหัวหล่อน” ได้แจ่มชัดว่า มีแมงกุดจี่ไปกิน วัวไปเลียกินเนื้อติดกะโหลก แต่บริเวณที่มีศพผู้เสียชีวิตและมีการเอาหัวปักเสียบประจาน พื้นที่บริเวณนั้นน่าจะไม่มีการทำการเพาะปลูกสักระยะเวลาหนึ่ง เป็นไปได้ว่ามีการทำไร่หลังจากมีการปราบเสร็จไปสักระยะ ต่อเมื่อไถดินแล้วพบกะโหลกที่ยัง “สด” พร้อมมีกุดจี่กินซากเศษเนื้อ จึงกลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา

เป็นเรื่องความทรงจำของโนนโพธิ์ หรือ ไฮผีหัวหล่อน ที่ไม่เคยมีการบันทึกผ่านเอกสารทางการหรือประวัติศาสตร์กระแสหลัก สิ่งที่ชาวบ้านรับรู้คือการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นประวัติศาสตร์วาจาที่ “เว่าฮอดวาบอกต่อท่อศอก” แล้วก็ปะปนกับความทรงจำต่างๆ ของคนในชุมชน 

พ่อเสือน้อย – พินิจ ประชุมรักษ์ ชาวบ้านสะพือและอดีตข้าราชการครู

เมื่อมองย้อนกลับตรงความเข้าใจของชาวบ้าน ที่ว่าบ้านสะพือไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขบวนการผู้มีบุญ เป็นเรื่องที่ยากจะพิสูจน์ เพราะการที่จะหาผู้มีอายุที่จะอยู่ในเหตุการณ์ และสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ ต้องมีอายุถึง 140-150 ปี ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ และหากถามว่าจะไม่มีชาวสะพือเลยหรือที่เข้าร่วมกับขบวนการผู้มีบุญแล้วมาเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานฟังต่อ กลุ่มผู้มีบุญถูกปราบที่บ้านสะพือ แล้วนำไปคุมขังและประหารต่อตามข้อมูลทางเอกสาร 

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าชาวบ้านในสมัยนั้นที่เข้าร่วมไม่ได้มีชีวิตเพื่อมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ และความกลัวที่เกิดจากการสังหารได้เกิดขึ้นจนทำให้คนพยายามปกปิดความเป็นผู้มีส่วนร่วม หรือมองในทางตรงข้าม ชาวบ้านสะพือในอดีตก็อาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับขบวนการผู้มีบุญจริงๆ แต่จุดร่วมในแง่ความเป็นไปได้ของสองกรอบนี้คือ ผลลัพธ์ที่เกิดภายหลังที่ส่งอิทธิพลต่อเรื่องราวของการเล่าประวัติศาสตร์คือ “ความกลัว” กลัวเขาจะเอาไปเข้ากองทัพ กลัวเขาฆ่า กลัวเขาจับ ซึ่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การจะไปพิสูจน์เรื่องราวเหล่านี้จากปากคำชาวบ้านให้ชัดๆ มันเป็นเรื่องยากเพราะไม่ว่าจะชาวบ้านสะพือจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมกับขบวนการผู้มีบุญ คนที่ในยุคนั้นก็ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว 

บริเวณสวนมอน (สวนหม่อน) ซึ่งเป็นจุดตั้งปืนใหญ่ปราบกบฏผีบุญ

ผีหัวหล่อน 

จากที่กล่าวมา ผีหัวหล่อน ก็คือกะโหลกที่ชาวบ้านพบจากการทำไร่ทำนาบริเวณศึกโนนโพธิ์ จนเป็นการเรียกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผู้เขียนได้ลงพื้นที่และสัมภาษณ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง เธอเล่าว่า แต่ก่อนก็มี “ผี” ที่คอยมาปรากฎกายให้ชาวบ้านเห็น มีแต่หัวบ้าง มีแต่ตัวบ้าง มาเขย่าต้นไม้เรียกคนบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะเขาทำบุญให้แล้วในปีที่แล้ว ซึ่งในแง่เรื่องเหนือธรรมชาตินี้ ชาวบ้านบางคนก็บอกว่าเห็น บางคนก็ว่าไม่เห็น 

ผู้เขียนได้ถามว่ากลัวไหมกับคำว่าผีหัวหล่อน ชาวบ้านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเป็นเหมือนแค่คำเรียกพื้นที่ตรงนั้นตามประสาที่เรามักจะมีคำง่ายๆ เข้าใจตรงกันขึ้นมา ดังนั้นคำว่าผีหัวหล่อนจึงไม่ใช่เรื่องราวแบบ urban legend ที่เล่าเพื่อสร้างความรู้สึกกลัวอะไรบางอย่าง แต่มันเป็นพื้นที่ที่พอไปทำไปขุดแล้วพบกะโหลดเป็นบริเวณกว้างจนได้เรียกว่าเป็น “ไห่ผีหัวหล่อน” ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ดังนั้น คำว่า “ผีหัวหล่อน” อาจจะมีองค์ประกอบของความเป็นผี แต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับความรับรู้แต่ละคน บางคนมองว่ามันก็มี “ผี” นะ (แต่ไปสู่ภพภูมิที่ดีแล้ว) บางคนก็บอกว่าไม่มี ไม่เคยเจอ จากการสัมภาษณ์พ่อนที เจ้าของไร่นาที่เจอกะโหลก แกบอกว่า มานอนเฝ้าไร่เฝ้านาก็ไม่เคยโดนผีหลอกเลย  

ผีหัวหล่อน จึงเป็นตัวแทนของความทรงจำในสะพือ มันมีความคลุมเครือ ความคลุมเครือที่ว่า ไม่ใช่ผีนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง แต่เป็นความคลุมเครือต่อหัวกะโหลกที่เขาเจอนั้น มันเกี่ยวข้องกับคนบ้านสะพืออย่างไร 

image_pdfimage_print