17 มีนาคม 2566 – ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติอนุญาตประทานบัตรให้กับ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด จำนวน 2 ฉบับ คือ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (เพื่อทำเหมืองแร่) และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรที่ 27221/15393ของบริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และขอให้เพิกใบอนุญาตเข้าทำโยชน์หรืออยู่อาศัยในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยป่านากลาง เพื่อทำเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่อกองแร่) เพราะใบอนุญาตดังกล่าวได้มาขณะมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่เช่นกัน
เนื่องจากวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาตัดสินคดีหมายเลขดำที่ อส.34/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อส.2/2566 ที่ชาวบ้าน 78 คน ฟ้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และนายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ (ผู้ได้ประทานบัตร) ที่ออกใบอนุญาตประทานที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้มูลความผิดให้กับหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตให้ ศาลเห็นพ้องต่อคำฟ้องของชาวบ้าน
เวลาประมาณ 10.20 น. ของวันที่ 17 มีนาคม กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเดินทางไปยื่นหนังสือทั้ง 2 ฉบับ ณ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู โดย สยาม จุตตะโน ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู แจ้งกับกลุ่มว่าท่านผู้ว่าฯ ไปงานราชการ ส่วนรองผู้ว่าฯ มีประชุม และรองผู้ว่าฯ อีกคนลาราชการ ดังนั้นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมฯ จึงรับเรื่องแทน เพื่อนำเสนอให้ผู้ว่าฯ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู แก้ไขปัญหาตามที่กลุ่มได้ยื่น
ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า “การไปยื่นหนังสือวันนี้เป็นการให้หน่วยงานราชการที่เคยใช้อำนาจในการออกใบประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง โดยออกใบประทานบัตรที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงานราชการ ได้ออกมารับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวดงมะไฟที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติให้กับนายทุนได้ถลุงภูเขา”
กลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐและนายทุน ไม่ให้เข้ามาทำลายภูเขาที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งความมั่นคงทางการดำรงชีวิต แต่รัฐกับนายทุนก็ยังผลักดันโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย กลุ่มฯ จึงมีการฟ้องร้องคดีเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมที่สูงที่สุดของประเทศได้ตัดสินเกี่ยวกับหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังคงยึดมั่นในหลักความเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ จะมิให้ผู้ใดเข้ามาทำลายภูผาป่าไม้โดยเด็ดขาด และยังยืนหยัดที่จะต่อสู้กับผู้ที่ฝักใฝ่ความมั่นคั่ง และผู้ที่เอื้อให้กับคนเห็นแก่ตัว อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเช่นกัน
“หากการยื่นหนังสือครั้งนี้หน่วยงานราชการ ยังไม่กระตือรือร้นต่อปัญหาไม่รีบแก้ไขเรื่องที่ชาวบ้านยื่นตามกำหนดเวลาที่เขียนในหนังสือ แสดงว่าหน่วยงานราชการละเลยต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กลุ่มอนุรักษ์ฯ มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อเสนอต่อผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลของท่านให้ทราบอย่างเร่งด่วน”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได จำนวน 78 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเพิกถอนใบต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด
ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตฯ และคำสั่งต่ออายุใบประทานบัตรฯ ดังกล่าว โดยมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองอุดรธานีต่อศาลปกครองสูงสุด
ท้ายที่สุดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าทำเหมืองแร่หิน นับเป็นชัยชนะที่สำคัญของการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนานของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได