ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความชิ้นก่อนหน้า (อ่าน – ผีหัวหล่อน และความทรงจำเรื่องกบฏผีบุญของคนบ้านสะพือ) ประวัติศาสตร์ของขบวนการผู้มีบุญและการเข่นฆ่านั้นถูกบอกเล่าในลักษณะปากต่อปาก ทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นทีนี้มีความเลือนราง เรื่องราวเป็นลักษณะ “เว่าฮอดวาบอกต่อท่อศอก” และที่สำคัญคือ จากปากคำของชาวบ้าน – ชาวบ้านไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญอย่างเป็นทางการ ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน
การปราบ และตัวตนของผู้คนในความทรงจำของพื้นที่
เรื่องราวของการล้อมปราบขบวนการผู้มีบุญที่บ้านสะพือนั้น มีเรื่องราวของการสู้รบ การใช้ปืนใหญ่ การตัดหัวเสียบประจาน แต่จากการลงพื้นที่อีกครั้ง พระรูปหนึ่งที่วัดศรีชมภู เล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป
คำบอกเล่าของพระรูปนี้ ซึ่งอ้างถึงตำราภาษาไทน้อยฉบับหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญในอีสานที่สูญหายไปนั้น ผู้ที่ถูกเข่นฆ่าอยู่ที่นี่ไม่ใช่ขบวนการผู้มีบุญ ขบวนการผู้มีบุญถูกจับไปที่ทุ่งศรีเมืองแล้ว แต่เนื่องจากเป็นขบวนการใหญ่ “ทางการ” กลัวว่าจะมีการปลุกระดมคนขึ้นอีก จึงมีการส่งสารไปยัง “ผู้นำก๊ก” (ประชาชนในสมัยนั้นไม่ได้อยู่กันเป็นเมือง เป็นจังหวัด แต่อยู่กันเป็น “ก๊ก” ตามคำบอกเล่าของพระ) ในบริเวณทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยหลอกว่าจะให้มาช่วยงานราชการบ้าง มารับราชการบ้าง จึงมีการขนทรัพย์สินเงินทองมา แปรรูปทองคำเป็นพระพุทธรูป เดินทางมาจนถึงสะพือ ที่ซึ่งทางการบอกให้เป็นจุดพัก ก็มีการประกาศว่าคนกลุ่มนี้เป็นกบฎ และทำการสังหาร ทั้งใช้มีดดาบ และวางยาในอาหาร เป็นการ “ฆ่าตัดตอน” และสร้างความกลัวให้คนในพื้นที่บริเวณนี้
สิ่งที่น่าคิดก็คือ การเข่นฆ่ากันบริเวณโนนโพธิ์นั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง นอกจากนี้การกล่าวถึง ตำราไทน้อย คนอีกฝั่งของน้ำโขง ก็สะท้อนสำนึกรับรู้ตัวตนในอดีต มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกคือทรัพย์สมบัติที่ถูกแปรรูปเป็นพระพุทธรูปและอื่นๆ ถูกฝังไว้ที่สะพือ เช่น พระพุทธรูปทองคำแท้ที่ถูกฝังไว้อยู่ใต้โบสถ์วัดศรีชมภู เพราะผู้ที่ถูกสังหารวางแผนไว้ว่าจะกลับมาขุดเอาถ้าหากตนรอดชีวิต นอกจากนี้ภายในโบสถ์วัดศรีชมภูยังมีรูปปั้นพระในลักษณะแบบลาวอยู่ด้วย
ข้อมูลประวัติศาสตร์ของขบวนการผู้มีบุญ ที่มีรายละเอียดหลายอย่างที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และเรื่องราวก็ไม่มีการบันทึกไว้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวในบ้านสะพือที่มีเพียงการใช้วาจาเท่านั้นเป็นเครื่องมือ เรื่องราวต่างๆ ก็เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งในเชิงรายละเอียด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นี้
วัดศรีชมภู บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
พระพุทธรูปส่วนหนึ่งที่พบใต้โบสถ์วัดศรีชมภู
อนุสรณ์สถาน หมุดหมายสำคัญของการเริ่มชำระประวัติศาสตร์ผู้มีบุญ
จากการลงพื้นที่และสอบถามชาวบ้านเรื่องการสร้างอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ สามารถสรุปความได้ว่า แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้รู้เรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญที่ถูกต้อง หรือความทรงจำเรื่องราวการปราบ การเข่นฆ่าที่โนนโพธิ์นั้นจะเลือนลางไปตามกาลเวลาเพียงใด การมีอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์คือการปักหมุดอย่างเป็นรูปธรรมว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญของอีสาน และเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้มีคนมาศึกษา พอมีคนเข้ามา การบันทึกเรื่องราวเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลทางวิชาการเพื่อเป็นการชำระประวัติศาสตร์จะมีรูปธรรมมากขึ้น และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของบ้านสะพืออีกด้วย กล่าวได้ว่าอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์นี้ชาวบ้านมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสามารถพัฒนาต่อยอดไปทางอื่นได้ในอนาคต
พานที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ขบวนการผู้มีบุญ
สำหรับผู้เขียนเอง อนุสรณ์สถานนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่ศึกษาแล้ว ยังจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มต้นการสร้างประวัติศาสตร์เรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญ นอกจากโนนโพธิ์แล้ว บ้านสะพือยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นไม้เท้าของสำเร็จลุน หนึ่งในผู้นำขบวนการผู้มีบุญ (อ่าน – สำเร็จลุนกับขบวนการพระในขบวนการผู้มีบุญ) และวัดสิงหาญที่ซึ่งเดินทางไปมาประจำ แม้ว่าจะยังหาคำตอบไม่ได้ว่าชาวบ้านสะพือในอดีตได้เข้าร่วมกับขบวนการผู้มีบุญหรือไม่
ประวัติศาสตร์ขบวนการผู้มีบุญ มีความสำคัญต่อการรับรู้ตัวตนและรากเหง้าขบวนการสงฆ์ในอีสานเมื่อครั้งอดีต รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมในบริเวณนี้ ที่สามารถเปลี่ยนการมองประวัติศาสตร์ของผู้คนใหม่ และอนุสรณ์สถาน จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่พูดถึงการต่อสู้ของสามัญชนและร่วมกันชำระประวัติศาสตร์ใหม่โดยที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
ท่านสามารถบริจาคสมทบทุนในการสร้างอนุสรณ์สถานที่บัญชี 020-207-003-441 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ชื่อบัญชี โครงการก่อตั้งอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์ – บ้านสะพือ
มารับชมเรื่องราวของความทรงจำบ้านสะพือ และฟังเสวนาขบวนการสงฆ์และเส้นทางผู้มีบุญ ในงาน Ubon Agenda 2.444: Memory of Sapue วันที่ 3-4 เมษายน 2566 นี้ รายละเอียดติดตามได้ที่เพจ Ubon Agenda