เมื่อเห็นนักกฎหมายมีนามสกุลห้อยท้ายว่า “ทนายประชาชน” วาบแรกของความรู้สึกไพล่นึกถึงทนายความจากมหาสารคาม ที่เป็นทั้งนักกฎหมายและแรงบันดาลใจให้หมอความได้อ้างถึง

ชื่อของ “ทองใบ ทองเปาด์” คือหลักไมล์ที่หลายต่อหลายคนยึดถือว่าอาชีพนักกฎหมายที่อยู่ในร่องในรอย ทั้งยังยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และสิ่งที่ยิ่งใหญ่คือการเป็นนักกฎหมายที่ไม่ศิโรราบให้กับอำนาจเผด็จการ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบใด และไม่ว่าเผด็จการผู้นั้นจะสังกัดตนในพรมแดนของรัฐใด

กล่าวให้ถึงที่สุด ทนายทองใบ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทนาย บทบาทสำคัญอย่างยิ่งคือการเป็นสื่อมวลชนที่ยืนหลังตรง เป็นทั้งนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ กระทั่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ครองตนบนเส้นมาตรฐานแห่งความยุติธรรมไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดอยู่ก็ตาม

จากมหาสารคาม สู่ทนายความประชาชน มีเกร็ดใดบ้างที่ทบทวนเกี่ยวกับ “ทองใบ ทองเปาด์” ข้อความจากบรรทัดถัดไปคือสิ่งที่เราชี้ชวนให้ระลึกถึง

‘ทองใบ’ เด็กชายจากมหาสารคาม

ทองใบ ทองเปาด์ เกิดในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่เป็นชาวนา ใน อ.เมือง จ.มหาสารคาม หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใน จ.มหาสารคาม จึงเข้ามาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าเรียนในคณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายหลังเขาลาออกเพื่อมาเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาประกอบอาชีพทนายความในเวลาต่อมา 

ทองใบ ทองเปาด์

“ผมตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องเรียนกฎหมาย เนื่องจากคนยากจนถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะความไม่รู้กฎหมาย ครอบครัวผมเป็นชาวนา มีฐานะค่อนข้างยากจนเพราะว่ากำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 พี่สาว พี่ชายได้ส่งเรียนจบจบ ม.6 พอจบก็ได้เรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำงานหาเงินเรียนเอง หลังจากเรียนจบตอนแรกอยากจะไปเป็นทนายความแต่ไม่มีเงิน จึงไปทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์โดยเป็นผู้สื่อข่าว อักทั้งทำงานทนายความควบคู่ไปด้วย”

ชีวิตการเรียนในกรุงเทพฯนั้นไม่ได้สะดวกสบาย เนื่องจากฐานะทางครอบครัวยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัดที่วัดชนะสงคราม นั่นคือจุดประกายแรกที่ทำให้ ทองใบ นึกถึงประชาชนผู้ยากจน แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ล้วนมาจากความเข้าอกเข้าใจในความยากจนทั้งสิ้น ทำให้ทองใบเป็นทนายความยืนเคียงข้างประชาชนผู้ไม่มีที่พึ่งพิง

พ.ศ. 2496 ทองใบ ทองเปาด์ เริ่มบทบาทในฐานะทนายความจบใหม่ โดยการว่าความช่วยเหลือในคดีกบฎสันติภาพให้กับนักหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ไทยใหม่ พร้อมกันกับสุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ถัดมาคือ สยามนิกร สุภาพบุรุษ-ประชามิตร และ ข่าวภาพ โดยได้รับมอบหมายให้เขียนข่าวการเมือง จนได้รับฉายาว่า บ๊อบการเมือง เนื่องจากขณะนั้นทองใบไว้ผมทรงบ๊อบ

รางวัลจากเผด็จการ

พ.ศ. 2501 ทองใบ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญจากทางการจีนโดยเดินทางไปในฐานะ คณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ “คณะผู้แทน และส่งเสริมวัฒนธรรม” จำนวน 12 คน นำโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา 

ขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 มีการใช้ พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495

เกิดการจับกุมประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก หลังจากทองใบและคณะกลับประเทศไทย เขาถูกจับกุมในข้อหากบฎภายนอกและภายในราชอาณาจักร จึงถูกขังในเรือนจำลาดยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 -2509 นับเป็นเวลา 8 ปีที่ถูกขังฟรี 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย

ประสบการณ์ 8 ปีที่อยู่ในเรือนจำ ตอกย้ำเห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองและประชาชนที่ร่วมชะตากรรมในข้อหาเดียวกัน เมื่อได้รับการปล่อยตัว ทองใบจึงมุ่งมั่นหันทิศทางเป็นทนายความเพื่อประชาชน รับปรึกษาและว่าความทั่วราชอาณาจักร เน้นคดีความที่คนยากคนจนถูกเอาเปรียบ เช่น คดีแรงงาน คดีชาวสลัม คดีเด็กและสตรี คดีการเมือง คดีเพื่อรักษาผลประโยชน์เพื่อแผ่นดิน คดีเกี่ยวกับสิทธิทำกินของชาวไร่ ชาวนา รวมไปถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

นอกจากการช่วยเหลือในทางกฎหมาย ทองใบยังปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย เพื่อให้พวกเขามีอาวุธไว้ติดตัวต่อสู้ในขบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนโดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทำให้ทองใบ เป็นที่รักของประชาชน รวมถึงได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ

“ผมมีความคิดอย่างหนึ่งว่าในเมื่อเราไม่สามารถยกมหาวิทยาลัยมาสอนชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสได้ เราก็มาทำการสอนทำหน้าที่แทนเหมือนยกมหาวิทยาลัยมาให้ชาวบ้านตามต่างจังหวัด ก็ไม่ค่อยห่วงว่าจะมีคนมาเรียนมากหรือน้อย เพราะว่าการให้ความรู้เรื่องกฎหมายเพิ่มมา 1 คน หรือ 10 คนก็ดีล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น”

การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ชูประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาล ทำให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ชนะคดีทางการเมืองเมื่อครั้งจำคุกที่เรือนจำลาดยาว ทำให้เขาและประชาชนจำนวนมากได้รับอิสระภาพ จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 ทองใบ ทองเปาด์ ได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ แต่ปฏิเสธการเดินทางไปรับรางวัลเนื่องจากจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นผู้นำเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ในปี พ.ศ. 2526

ทนายเพื่อคนยาก

ภาพของทนายเพื่อคนยากเป็นบทบาทสำคัญในสายตาของสังคมและประชาชน แต่อีกหนึ่งอย่างที่เป็นประโยชน์มหาศาลของประเทศคือ การผลักดันให้มีการกำหนดเรื่องการคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ทำให้กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบรางวัล “นักกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2547” ให้กับทองใบ ทองเปาด์

เขากล่าวว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิที่สุด เพราะเป็นนักกฎหมายชาวบ้านไม่ใช่ข้าราชการ การที่สถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิทางด้านกฎหมายให้การรับรองผลงานที่ปฏิบัติมาจึงรู้สึกดีใจอย่างยิ่ง 

จากผลงานที่เป็นประจักษ์และรางวัลต่างๆ ที่ได้รับในฐานะผู้ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และทนายความ ทำให้ ทองใบ ทองเปาด์ ได้รับการนำชื่อ ตั้งเป็นชื่อห้องเรียน และห้องประชุม โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

24 มกราคม 2554 ขณะอายุ 84 ปี “ทองใบ ทองเปาด์” จากไปด้วยการอาการหัวใจวาย แต่ชื่อของเขายังคงอยู่และถูกจดจำในฐานะ “ทนายประชาชน” ตราบเท่าทุกวันนี้

อ้างอิง

image_pdfimage_print