อ่านนิตยสารสารคดี มองกลับประวัติศาสตร์กบฏไพร่ เหตุแห่งปัจจัยผีบุญสองฝั่งโขง
“ผู้มีบุญ” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขาน แต่ทางการขานนามเขาว่า “ผีบุญ” โดยมีคำว่า “กบฏ” นำหน้า มาตั้งแต่ ร.ศ.120 หรือปี พ.ศ. 2444
ภาพปกขาวดำของชายในขื่อคากับภาพผืนนาแตกระแหง ที่ผ่านการผสมภาพโดย AI เว็บไซต์ NightCafe Studio โดยภาพชายดังกล่าวนั้นเป็นภาพอันโด่งดังเมื่อกล่าวถึง ‘กบฏผีบุญ’ แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นใคร กระนั้นก็เพียงพอแล้วให้ถูกรับเลือกเป็นปก “นิตยสารสารคดี” พร้อมด้วยข้อความที่สลักไว้บนหน้าปกว่า ‘ทุ่งสังหารบนแผ่นดินอีสาน ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม’
ภาพที่กล่าวมานั้นเป็นปกของนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 451 ตุลาคม 2565 ในชื่อ ‘ที่ใดมีการกดขี่… กบฏผู้มีบุญ’ ที่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจาก วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนหนุ่มใหญ่ชาวเมืองกระบี่ เจ้าของรางวัล “วรรณกรรมแม่น้ำโขง” (MERLA) ของกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ปี 2560 ปัจจุบันเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีและมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร ซึ่งลงไป ‘คลุกวงใน’ ในทุกมุมที่จะสามารถหยิบมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวแห่งเหตุปัจจัยของขบวนการผู้มีบุญแห่งบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โดยมี วิจิตต์ แซ่เฮ้ง เป็นผู้ร่วมบันทึกภาพจากทุกสถานที่ที่เรื่องราวแห่งขบวนผู้มีบุญพาไป พร้อมกับทีมงานนิตยสารสาคดีภายใต้การนำของบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดีอย่าง สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ เจ้าของรางวัลบรรณาธิการดีเด่นคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2561

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอันอบอ้าวที่ดอกจานเบ่งบานแดงจ่ายหว่าย (แดงจ่ายหว่า หมายถึง แดงระเรื่อ) หรือจะหน้าแล้งย่างเข้าเดือนเมษาฯ หอมดอกมันปลามาห่วยๆ (หอมห่วยๆ หมายถึง หอมระรวย) นั้น ก็ถือว่าเป็นอีกวาระฤดูกาลหนึ่งที่หวนมาบรรจบอีกครั้ง
Ubon Agenda ประกาศทำการเตรียมจัดงานในชื่อ UBON AGENDA 2.444 “MEMORY OF SAPUE” โดยจัดขึ้นในวันที่ 3-4 เมษายน 2566 ที่จะมีปฏิบัติการทางศิลปะ บนพื้นที่ประวัติศาสตร์จริง ร่วมกับชุมชนสะพือและนักปฏิบัติการทางศิลปะมากมายกว่า 20 ท่าน พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ (อ่านกำหนดการเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ Ubon Agenda)

กลับสู่บ้านสะพือ
บ้านสะพือเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีสาน พื้นที่ที่มีการเข่นฆ่า ‘กบฎผู้มีบุญ’ กว่า 300 ศพ และเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านพบเห็น “ผีหัวหล่อน”
ถนอม ชาภักดี เคยเปิดหน้าดินทางประวัติศาสตร์เมื่อ 4 เมษายน 2022 ซึ่งก่อนจะถึงวาระครบรอบปีของการเริ่มรื้อค้นความทรงจำ คงเป็นการดีที่ได้กลับมาทบทวนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของ “ขบวนการผู้มีบุญ” ผ่านนิตยสารฉบับนี้ ซึ่งได้บรรจุเอาเนื้อหาข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการที่ทางการเรียกขานกันว่า ‘กบฏผีบุญ’ ผ่านการเจาะลึกเอกสาร สัมภาษณ์และพูดคุยกับคนในพื้นที่ สอบถามกับนักวิชาการ นักศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งจะไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แต่เพียงฝั่งขวาแม่น้ำโขง หากแต่ยังมีการเชื่อมโยงไปยังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
โดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง สลายตัวและแสดงตนเป็นตัวอักษร เสมือนหนึ่งว่าไร้ตัวตนในเรื่องเล่าของตนเอง ผ่านเนื้อหาสาระที่เข้มข้นเอาจริงเอาจัง และสื่อให้เห็นการร้อยเรียงที่เป็นการ ‘ย่อยเรื่องยาวๆ ให้กระชับเข้าใจง่าย และน่าติดตาม..’ ซึ่งในประเด็นของขบวนการกบฏผู้มีบุญที่บรรจุอยู่ในนิตยสารเล่มนี้จะสะท้อนให้เห็นถึง Timeline ที่สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ เห็นพัฒนาการของรัฐสยามที่มีการปฏิรูประบบเทศาภิบาลอย่างเป็นทางการ ยกเลิกระบบกินเมือง อาญา 4 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้มีอำนาจเดิมในพื้นที่ที่จำต้องเลือกเข้าสวามิภักดิ์กับรัฐสยามหรือถอนตัวออกจากตำแหน่งให้กับคนที่ทางการพิจารณาส่งมา
ในจุดนี้ถือเป็นการแสดงถึงอิทธิพลและเริ่มเข้ามามีบทบาทของรัฐสยามบนผืนแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งถูกมองข้ามก่อนการมาถึงของชาติตะวันตก พร้อมกับแนวคิดล่าอาณานิคมผ่าน ‘แผนที่’ และการปักปันเขตแดน และในส่วนนี้ก็จะเริ่มเกิดตัวละครต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกจริง มีชีวิตจริง เจ็บจริง และตายจริง

พ่ายแพ้แก่โทรเลข
รายละเอียดในนิตยสารจะขยายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ เหตุแห่งการเกิดผู้มีบุญในแต่ละครั้ง โดยไม่จำกัดเฉพาะเหตุการณ์การปะทะและสังหารหมู่ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ หากแต่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอีสานที่มีการเกิดกบฏผีบุญ 9 ครั้ง ซึ่งแทบจะทั้งหมดนั้นเป็นการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ มีการกล่าวถึงการปกครองอย่างไม่เป็นธรรม มีการกำหนดเกณฑ์ภาษี ซึ่งเมื่อไม่ทำการเสียภาษีก็จำต้องไปเป็นแรงงาน เสมือนกับบีบให้คนอับจนหนทาง ไม่มีทางเลือกจนต้องไปเป็นทาสใช้แรงงาน เพราะหาเงินมาจ่ายภาษี 4 บาท ในยุคนั้นไม่ได้ – ในยุคที่ไก่ตัวละ 1 สลึง
กอปรกับความไม่มั่นคงทางการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างสยามกับลาวซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในขณะนั้น สิ่งที่พอจะยึดเหนี่ยวจิตใจได้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘ความเชื่อ และศาสนา’ ที่เมื่อถูกกล่าวปากต่อปาก ผ่านหมอลำ ผ่านพระ ผ่านการเทศนา ผ่านการรวมตัวทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ก็ก่อเกิดเป็นความเลื่อมใสศรัทธา และถวิลหาในสังคมอุดมคติที่เรียกกันว่า ‘ยุคพระศรีอาริย์’
หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ตามความเชื่อโลกพระศรีอาริย์นั้นเชื่อว่าไม่มี ก็คือ ‘ความทุกข์ยากด้านภาษี’ ซึ่งจะฉายให้เห็นถึงความต้องการเป็นอิสระจากรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองและริบเอาแรงงานของประชากรด้วย ‘ภาษี’ โดยไม่ให้สิ่งใดตอบแทนกลับมา ซึ่งเมื่อรวมคนได้มากขึ้นก็เป็นที่จับตาของรัฐเจ้าอาณานิคมภายใน จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง
นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดในส่วนของปากคำจากลูกหลานของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีบุญ ที่ยังอาศัยอยู่ภายในชุมชน และยังรวมไปถึงสอบถามความคิดเห็นถึงกรณีการสร้างอนุสรณ์สถาน จากทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ส่วนนี้ เพื่อให้เห็นแง่คิดและการทำงานของวาทกรรม ‘กบฏ’ ที่มาจากหลากหลายมุมของคนในชุมชน
พร้อมกันนั้นก็ประกอบเสริมไปด้วยหลักฐาน ลายลักษณ์อักษร รายชื่อผู้รับผู้ส่ง ที่จะทำให้เห็นถึงตัวละครในทางการเมืองและเกมแห่งอำนาจ พร้อมกันนั้นเมื่อพินิจดีๆ ก็อาจเห็นร่องรอยที่น่าจะเด่นชัดที่สุดของ “ฆาตกร” จากยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถูกนำมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการชี้ขาดสงคราม นอกจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว สิ่งที่ทำให้รัฐสยามปราบปรามขบวนการผู้มีบุญ และพันธนาการไว้ที่คำว่า “กบฏผีบุญ” ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “รถไฟและโทรเลข”
ถึงขนาดมีบางช่วงบางตอนที่ วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย กล่าวในส่วนหนึ่งของนิตยสารว่า
“ถ้าไม่มีโทรเลข เมืองอุบลแตก ผมมั่นใจเลย..”
ตีแตกแน่แต่อาจจะรักษาไว้ได้ไม่ยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สยามจัดกองกำลังสมัยใหม่มาหนุนช่วยได้เร็วคือ โทรเลข ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบและเสียเปรียบเชิงทรัพยากรระหว่าง รัฐสยาม และ ขบวนการผู้มีบุญ อย่างเห็นได้ชัด
มองจากหลายมุม
นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์พิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่มาในหัวข้อ กบฏชาวบ้านและต้นแบบรัฐไทย ความนัยจากปรากฏการณ์ผีบุญ ซึ่งได้บันทึกลงในนิตยสารฉบับนี้ด้วย โดยเป็นการกล่าวถึงอิทธิพลของขบวนการผีบุญ บ้านสะพือ มีส่วนในการจุดประกายให้ตัวของอาจารย์ธำรงศักดิ์ ได้เริ่มหันมาสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสาน
โดยส่วนถัดมาจะเป็นส่วนของผู้มีบุญศึกษา โดยมี วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ที่ได้ชื่อว่าแหล่งมั่วสุมทางปัญญาของคนรุ่นใหม่ ได้กล่าวถึงขบวนการผู้มีบุญและการขูดรีดภาษี 4 บาทยุคนั้นกับ ‘ภาษีกู’ ยุคนี้เป็นเรื่องเดียวกัน
โดยส่วนถัดมาก็จะรำลึกแด่ผู้ที่ริเริ่ม ‘เปิดหน้าดิน’ ในรอบ 120 ปีให้กับผู้มีบุญอุบลอย่าง ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะผู้ล่วงลับ ที่ได้เล่าถึงเหตุผลที่คิดริเริ่มในการทำบุญแจกข้าวให้กับผู้มีบุญ รื้อฟื้นประวัติศาสตร์และกล่าวถึงประวัติศาสตร์ตรงนี้ ผ่านการรับฟังลูกหลานของคนในพื้นที่ที่ยังคงมีความทรงจำร่วมกับประวัติศาสตร์ส่วนนี้อยู่ พร้อมกับมีแผนที่จะจัดทำอนุสรณ์สถานผู้มีบุญบ้านสะพือ
ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 3 เดือน ถนอม ชาภักดี ก็จากไปอย่างไม่หวนกลับด้วยโรคภัยอย่างกะทันหัน หากแต่โครงการที่ถนอมได้ริเริ่มไว้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป



ถัดมาจึงเป็นส่วนของ โดม – อติเทพ จันทร์เทศ อดีตพนักงานของ The Isaan Records ผู้ล่วงลับ เจ้าของผลงานหนังสารคดี The Killing Field of Isaan : ทุ่งสังหารแห่งอีสาน ที่ได้บอกเล่าความรู้สึกหลังจากฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อ 3 เมษายน 2565 ที่ลานวัดสีชมพู หมู่บ้านสะพือ โดยหลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เขาได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลง เหลือไว้เพียงผลงานจากใจและความทุ่มเทของเขา
ในส่วนท้ายก็จะเป็นส่วนของ ธีระพล อันมัย อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ของเมืองอบุลฯ เมื่อครั้งรัฐประหารปี 2557 หนุ่มใหญ่ผู้เป็นเจ้าของงานเขียนรวมเรื่องสั้นรสขมอย่าง ‘ตะวันออกเฉียงเหนือ’ ก็ได้ชวนพินิจในหัวข้อ พระศรีอาริย์- ภาษีอาน “เรื่องเล่าควรมีได้หลายมิติ”
ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย 140 ปี ปฏิรูป ปูมหลังกบฏผู้มีบุญ ที่จะย้อนกลับไปดูข้อมูล และมูลเหตุแห่งปัจจัยที่เล่าถึงขบวนการที่ถูกเรียกว่า ‘กบฏ’ ก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ทุ่งโนนโพธิ์ปี 2444 บ้านสะพือ
และในส่วนท้ายและท้ายสุดนั้นมาในหัวข้อ เล่าใหม่ “ขบวนการไพร่” ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จาก สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์มุมมองใหม่ หนึ่งในกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการไพร่ ที่มีเหตุแห่งที่ไปที่มาอย่างไร พร้อมกับบันทึกเอาสถานที่ต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลือพอเป็นหลักฐานได้ไว้เป็นฐานข้อมูลอีกด้วย โดยมีการบันทึกภาพจาก บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช (ภาพในราชอาณาจักรไทย) และ สุเจน กรรพฤทธิ์ (ภาพใน สปป.ลาว)
ซึ่งจากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นคงเทียบไม่ได้กับเนื้อหาและรายละเอียดที่อัดแน่นรอนักผจญภัยในบรรพิภพทุกท่านอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวของข้าพเจ้า ในวาระงานรำลึกผู้มีบุญที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านั้น หากจะกล่าวถึงเอกสาร หนังสือหรือนิตยสาร ที่มีเนื้อหาในเรื่องขบวนการผู้มีบุญ (หรือขบวนการผีบุญ ตามแต่จะเรียก) ซึ่งเป็นเอกสาร หนังสือหรือนิตยสารที่ค่อนข้างครอบคลุมในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 451 ตุลาคม 2565 ในชื่อ ‘ที่ใดมีการกดขี่… กบฏผู้มีบุญ’ คงเหมาะสมไม่น้อยที่จะเป็นสารตั้งต้น ก่อนการเดินทางเพื่อไปรำลึกผู้มีบุญจะมาถึง
นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 451 ตุลาคม 2565 ในชื่อ ‘ที่ใดมีการกดขี่… กบฏผู้มีบุญ’ สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของขบวนการผู้มีบุญ รวมไปถึงขบวนการไพร่ หรือที่ต่างก็ถูกตราหน้าจากรัฐส่วนกลางว่า ‘กบฏ’ นั้น ควรค่าแก่การสรรหามาไว้เพื่อศึกษาเพื่อมองกลับไปยังเหตุปัจจัยแห่งการเกิดขบวนการนี้เป็นอย่างยิ่ง
มีองค์ความรู้อยู่แล้ว หรือไม่มีอยู่เลย จะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง ก็สามารถอ่านนิตยสารเล่มนี้ได้ เพราะข้อมูลข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานที่ค้นพบใหม่อยู่แล้ว
ซึ่งในขณะปัจจุบันข้าพเจ้าคิดว่า นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 451 ตุลาคม 2565 ในชื่อ ‘ที่ใดมีการกดขี่… กบฏผู้มีบุญ’ นั้นครอบคลุมไปด้วยเนื้อหาสาระ และสามารถนำไปใช้ต่อยอด หรือใช้เป็นแผนที่สำหรับเดินทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 451 เดือนตุลาคม 2565 “ที่ใดมีการกดขี่ กบฏผู้มีบุญ”
- แฟนเพจ Ubon Agenda
- กำหนดการณ์งาน UBON AGENDA 2.444 “MEMORY OF SAPUE”