อีสานเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุดในประเทศ การเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ. 2562 ภาคอีสานมี ส.ส. เขตมากถึง 116 ที่นั่ง จากทั้งหมด 350 ที่นั่งทั่วประเทศ (ยังไม่รวม ส.ส.ที่มาจากปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน) สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้ มีการจัดที่นั่ง ส.ส.เขตใหม่ทั่วประเทศโดยเพิ่มจาก 350 เขตเลือกตั้ง เป็น 400 เขตเลือกตั้ง และลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้เหลือ 100 คน ผลที่ตามมาทำให้ภาคอีสานมี ส.ส.เขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้น 16 เขต ดังนั้น ในการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้ ภูมิภาคอีสานจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เขตมากถึง 133 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 400 เขตการเลือกตั้ง
ที่สำคัญมีการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งใหม่จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวโดยเลือกทั้งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่สังกัด และมีการนับคะแนนแบบสัดส่วนไม่แยกจากกัน มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ บัตรใบหนึ่งเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง และอีกใบหนึ่งเลือกพรรคการเมือง และมีการนับคะแนนแยกกันเหมือนกับการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 ผลที่ตามมา พรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่และมี ส.ส.เขตอยู่ในพื้นที่จำนวนมากมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งรอบนี้เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคมากขึ้น และพรรคการเมืองขนาดใหญ่มีกำลังและศักยภาพที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ทุกเขต ต่างจากพรรคเล็กที่มีกำลังน้อยกว่าในการส่งผู้สมัครลงครบทุกเขต
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการฉายภาพภูมิศาสตร์การเมืองของพรรคการเมืองในอีสานก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมนี้ว่าเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาตลอดเกือบ 4 ปี แต่ละพรรคการเมืองมีการเคลื่อนไหวในภูมิภาคอีสานและมีการเตรียมตัวในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้อย่างไร
พรรคเพื่อไทย พรรคที่ครองใจชาวอีสาน
พรรคแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส.ส.เขตจากพรรคเพื่อไทยในอีสานได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมากที่สุดถึง 84 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งรอบนี้พรรคเพื่อไทยได้มีการวางยุทธศาสตร์ใหม่ผ่านการเปิดตัวครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และดึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำเสื้อแดงคนสำคัญมาเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยมีการรีแบรนด์พรรคใหม่เป็นสีแดงผสมกับสีขาว ครอบครัวเพื่อไทยและพรรคเพื่อไทยมีการนำเสนอนโยบายของพรรคครั้งแรกในอีสานที่อุดรธานี ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงและเป็นจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ยกจังหวัด ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 หลังจากนั้นครอบครัวเพื่อไทยและสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ออกเดินสายอีกหลายครั้ง ทั้งสุรินทร์ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู หนองคาย เลย ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และขอนแก่น เป็นต้น
แคมเปญหาเสียงพรรคเพื่อไทยในอีสาน มีนาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566
วันที่ | แคมเปญ | จังหวัด | ส.ส.ที่ได้* |
16 มี.ค. 65 | ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม | อุดรธานี | 8/8 |
5 มิ.ย. 65 | แลนด์สไลด์ ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง | สุรินทร์ | 5/7 |
18 มิ.ย. 65 | ปลุกแลนด์สไลด์ เลือก ส.ส.ยกจังหวัด | อุบลราชธานี | 7/10 |
18 มิ.ย. 65 | ครอบครัวเพื่อไทย ไปศรีสะเกษ ‘ไล่หนูตีงูเห่า’ | ศรีสะเกษ | 3/8** |
16 ส.ค. 65 | 8 ปี ประยุทธ์อยากไปต่อ แต่ต้องพอแค่นี้ | อุบลราชธานี | 7/10 |
18 ก.ย. 65 | ปราศรัยใหญ่ “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” | ร้อยเอ็ด | 5/6 |
24 ต.ค. 65 | ลงพื้นที่ให้กำลังใจและรับฟังปัญหาผู้ประสบภัยน้ำท่วม | อุบลราชธานี | 7/10 |
15 ม.ค. 66 | ครอบครัวเพื่อไทย : อีสานยามใด๋ เพื่อไทยทอนั่น | อุดรธานี | 8/8 |
27 ม.ค. 66 | ปราศรัยใหญ่ ที่สนามกีฬากลาง | เลย | 2/3 |
27 ม.ค. 66 | ปราศรัยใหญ่ที่ลานตลาดนัดเก้าค่ำ | หนองบัวลำภู | 3/3 |
*ส.ส.เขตที่เคยได้รับการเลือกเมื่อปี 2562 ต่อจำนวนที่นั่งที่มี
**เพื่อไทยได้ ส.ส. ในจังหวัดศรีสะเกษ 6 คน แต่ตอนหลังย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย 3 คน
เราสามารถสังเกตได้ว่าจังหวัดส่วนใหญ่ที่ไปนั้นเป็นจังหวัดที่มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอยู่จำนวนมาก และเป็นการแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่พรรคจะส่งชื่อไปในตัว
ในการลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่พรรคจะทำต่อไปในอนาคตถ้าได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล รวมถึงการพูดถึงผลงานที่เคยทำสำเร็จได้จริงสมัยที่ยังเป็นพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และนโยบายการปราบปรามยาเสพติด นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่มัดใจคนอีสานและสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์และการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและครอบครัวเพื่อไทยกำลังทำคือการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าถ้าการเลือกตั้งรอบหน้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเศรษฐกิจจะกลับมาดีอีกครั้ง คนจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ยาเสพติดจะหมดไปเหมือนดังที่เคยประสบกันมาแล้วในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้นถ้าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง และลูกหลานไม่ติดยาเสพติดต้องเลือกพรรคเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ มี ส.ส.ของพรรคเข้าไปในสภาให้ได้มากที่สุดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะอีกฝ่ายที่สืบทอดอำนาจนั้นมี 250 ส.ว. เป็นแต้มต่ออยู่แล้ว
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้พยายามวางเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การประกาศส่งผู้สมัครในนามพรรคลงรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งนายก อบจ.พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในนามพรรค 25 จังหวัด ผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ.จากพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง 9 จังหวัด ผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 4 จังหวัด ในภาคอีสาน ได้แก่ 1. นายวิเชียร ขาวขำ จ.อุดรธานี 2. นายวิเชียร สมวงศ์ จ.ยโสธร 3. พ.ต.ท.ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ จ.มุกดาหาร และ 4. นายกานต์ กัลป์ตินันท์ จ.อุบลราชธานี ส่วนผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ.ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งอีก 5 จังหวัดนั้นอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ 1. นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จ.เชียงใหม่ 2. นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ จ.ลำพูน 3. นายนพรัตน์ ถาวงศ์ จ.น่าน 4. น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร จ.ลำปาง 5. นายอนุวัธ วงศ์วรรณ จ.แพร่
การเลือกตั้งใหญ่ในอีสานครั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยสายอีสานมีการสนับสนุนให้ลูกและญาติลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ อย่างเช่น นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.เขต ที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี รอบนี้ดันลูกสาว คือ น.ส.สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ลงเลือกตั้งในเขต 7 ส่วนตนเองนั้นลงเลือกตั้งในเขต 3 จังหวัดอุบลราชธานี นายพัฒนา สัพโส ส.ส.จังหวัดสกลนคร เขตเลือกตั้งที่ 3 ส่ง น.ส.จิรัชยา สัพโส ลูกสาวลงในเขตเลือกตั้งที่ 3 ส่วนตนเองมาลงในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร น.ส.จิราพร สินธุไพร ที่รู้จักในชื่อ ส.ส.น้ำ ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด บุตรสาวนายนิสิต สินธุไพร อดีตแกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เสียชีวิตไปแล้ว ลงรับเลือกตั้งในเขตที่ 5 และรอบนี้ได้ส่งน้องสาว นางสาวชญาภา สินธุไพร ลงรับสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดร้อยเอ็ด สู้กับ นางจุรีพร สินธุไพรจากพรรคไทยสร้างไทยซึ่งเป็นอาขอทั้งสองคน
นอกจากนี้ กระแสนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่การเกิดกระแสแฟนคลับของ น.ส.จิราพร สินธุไพร (ส.ส.น้ำ) ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด กับ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (ส.ส.อิ่ม) ส.ส.จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 18 ที่กลายมาเป็นขวัญใจของเยาวชน ส่งผลให้นักการเมืองหน้าใหม่ของพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเมือง ได้มีวิธีการสร้างฐานแฟนคลับจากเยาวชนตาม ส.ส.ทั้ง 2 ท่านไปด้วย นักการเมืองรุ่นใหญ่มีการปรับตัวในการมาใช้สื่อและแอพพลิเคชั่นมากขึ้นในการนำเสนอผลงานของพรรคและตัวเองผ่านโลกออนไลน์ ภาพที่ผมเห็นเมื่อตอนที่พรรคเพื่อไทยมาจัดเวทีปราศรัยใหญ่ที่อุบลราชธานีคือ มีเยาวชนจำนวนมากมาขอถ่ายรูปกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และกลุ่มผู้สมัคร ส.ส.รุ่นใหม่ที่พวกเขาติดตาม การมีนักการเมืองรุ่นใหม่ลงมารับเลือกตั้งและการสร้างฐานแฟนคลับในกลุ่มเยาวชนที่ชอบความน่ารักสดใส มีความเป็นผู้นำของนักการเมืองรุ่นใหม่ น่าจะช่วยขยายฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยได้
พรรคก้าวไกลกับการรักษาฐานคะแนนเสียงในอีสาน
พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่เพิ่งเกิดใหม่ ส.ส.ทั้งหมดย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.ในอีสาน 1 ที่นั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามด้วยกติกาการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 ที่ให้มีบัตรใบเดียว และมีการคำนวณในระบบสัดส่วนส่งผลให้คะแนนเสียงของคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ไม่ตกน้ำ เมื่อถูกนำมานับรวมในการจัดสรรจำนวน ส.ส. ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้ พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 57 คน และ ส.ส.เขต 30 คน รวมทั้งหมด 87 คน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพรรคอนาคตใหม่คือ การคัดคนลงสมัคร ส.ส. มีผู้สมัครหลายคนของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็น ส.ส.แล้วย้ายไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ส.ส.เขต หนึ่งเดียวในอีสาน คือ เขต 1 จังหวัดขอนแก่น นายฐิตินันท์ แสงนาค จากพรรคอนาคตใหม่ ชนะการเลือกตั้งนายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร อดีต ส.ส.เพื่อไทย หลังจากนั้นไม่นาน นายฐิตินันท์ แสงนาค ได้ย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ปรากฏการณ์นี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับผู้เลือกพรรคอนาคตใหม่ในพื้นที่ เนื่องจากส่วนใหญ่เลือกเพราะพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล
ในการเลือกตั้งรอบนี้เขต 1 จังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกลส่งนายวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลงสู้ศึกเลือกตั้งในรอบนี้แทน
พรรคก้าวไกลมีการทำงานควบคู่กับกลุ่มคณะก้าวหน้ามาโดยตลอด การลงพื้นที่ในหลายจังหวัดในอีสาน มีสมาชิกของกลุ่มก้าวหน้าซึ่งหลายท่านเป็นอดีต ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่แต่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองลงมาพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ กลุ่มคณะก้าวหน้าได้มีการส่งผู้สมัครหลายท่านลงชิงในการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อหวังที่จะมาสร้างฐานคะแนนในท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้น และต้องการพิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถในการบริหารงานให้ประชาชนเห็น ผลที่ได้คือ ในการเลือกตั้ง อบจ. ผู้สมัครจากคณะก้าวนั้นได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) 57 คน แต่ไม่มีสมาชิกของกลุ่มได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. ในการเลือกตั้งเทศบาล ผู้สมัครของกลุ่มก้าวหน้าได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรี 16 คน คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรีลงเลือกตั้งรวม 105 คน จากนายกเทศมนตรีทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,472 แห่ง แต่ชนะเลือกตั้งเพียง 12 แห่ง ได้แก่ ลำพูน 1 แห่ง, ร้อยเอ็ด 3 แห่ง, หนองบัวลำภู 3 แห่ง, อุดรธานี 2 แห่ง, มุกดาหาร 2 แห่ง และสมุทรปราการ 1 แห่ง มีสมาชิกสภาเทศบาล 130 คน ส่วนการเลือกตั้งในระดับ อบต. กลุ่มก้าวหน้ามีนายก อบต. 38 คน อยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ 1. กาฬสินธุ์ 2. ขอนแก่น 3. ชัยภูมิ 4. เชียงใหม่ 5. นครปฐม 6. นครราชสีมา 7. น่าน 8. บึงกาฬ 9. พิษณุโลก 10. เพชรบูรณ์ 11. มหาสารคาม 12. ร้อยเอ็ด 13. ศรีสะเกษ 14. สุพรรณบุรี 15. หนองคาย 16. หนองบัวลำภู 17. อุดรธานี
สำหรับในส่วนของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมามีผลงานโดดเด่นอย่างมากในการตรวจสอบการทุจริตและการทำงานของรัฐบาล นอกจากนี้ สมาชิกพรรคก้าวไกลหลายท่านยังให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ การกระจายอำนาจ รัฐสวัสดิการ นักโทษคดีการเมือง และการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่หรือตั้งข้อหาในคดีต่างๆ ผลที่ตามมาคือ การดำเนินงานของกลุ่มก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะในอีสานเองได้เสียงตอบรับที่ดีอย่างมากจากเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่มาก่อน
ในการเลือกตั้งรอบนี้พรรคก้าวไกลน่าจะได้คะแนนเสียงในอีสานเพิ่มมากขึ้นจากคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก (New Voters) แต่ยังไม่สามารถที่จะขยายฐานกลุ่มคะแนนออกไปยังคนในพื้นที่เขตชนบทหรือกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่เป็นฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกลเองมีความเด่นชัดในการดำเนินนโยบายทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ข้อด้อยคือประชาชนในอีสานยังไม่เห็นฝีมือในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่พรรคยังขาดในจุดนี้เนื่องด้วยพรรคยังไม่ได้เคยได้เป็นรัฐบาล
มากกว่านั้น ในการเลือกตั้งรอบนี้ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงจาก New Voters มากขึ้น แต่สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ กติกาการเลือกตั้งในรูปแบบบัตร 2 ใบคิดคะแนนแยกกัน กติกานี้ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเปรียบอย่างมาก เนื่องมี ส.ส.ในพื้นที่และมีเครือข่ายในท้องถิ่นที่น้อยกว่าพรรคอื่น ที่สำคัญคนที่เลือกผู้สมัครพรรคก้าวไกลแต่ไม่ได้เลือกพรรคทำให้คะแนนจะตกน้ำไม่ถูกนำมาคิดรวมเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) หรือพรรคชาติพัฒนากล้า กับการสถานการณ์ในโคราช
พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) หรือพรรคชาติพัฒนากล้า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ ส.ส. 1 ที่นั่งในพื้นที่เขตการเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา จากทั้งหมด 14 ที่นั่ง ซึ่งหายไปถึง 13 ที่นั่งจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 คู่แข่งรอบที่ผ่านมาคือ พรรคพลังประชารัฐได้ 6 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยได้ 3 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 4 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคชาติพัฒนากล้าเองต้องต่อสู้อย่างเต็มที่กับพรรคภูมิใจไทยที่จะครองอีสานใต้และพรรคเพื่อไทยที่ประกาศจะแลนด์สไลด์ในอีสานและทั้งประเทศ
บทความชุดนี้มี 2 ตอน (ชิ้นนี้เป็นตอนแรก) โปรดติดตามตอนต่อไป โดยผู้เขียนแสดงทัศนะต่อพรรคอื่นๆ กับการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น