โดยพื้นฐานแล้ว สันติสุข กาญจนประกร คือสื่อมวลชน เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารไซส์เล็กแต่หมัดหนัก WAY Magazine เป็นนักเขียนเจ้าของนวนิยาย “ซิมโฟนียังบรรเลง” 1 ใน 9 เรื่องสุดท้ายรางวัลปีศาจ และเป็นเจ้าของ ‘Flavorful no sugar ice cream’ ไอศกรีมปราศจากน้ำตาล แต่ยังคงรสหวานให้ความสุนทรีย์สมดุลต่อสุขภาพ
1-2 ปี ที่ผ่านมา บทบาทของเขามีมากกว่าขายไอศกรีมและรัวกระสุนบนคีย์บอร์ด เมื่อเสียงไชโยโห่ร้องของคนกรุงที่มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยตนเองถูกโหมประโคม คำถามสำคัญวิ่งเข้ามาในหัวของเขาว่า “เห้ย คนต่างจังหวัดก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กับเขาบ้าง” นั่นจึงนำมาสู่การผลักตัวเองไปขับเคลื่อนวาระเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
แคมเปญ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” ที่เริ่มต้นจากความหงุดหงิดของเขา มีคนร่วมลงชื่อกว่า 10,000 คน ในเวลานั้น ทว่าเมื่อนำไปยื่นต่อสภา ราคาของมันไม่เพียงพอที่จะได้ไปต่อ แต่การไม่ได้ไปต่อไม่ได้เท่ากับการหยุดนิ่ง เขาเปิดเว็บไซต์ thevotersthai.com เพื่อเป็นถังกลางของความคิดว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการกระจายอำนาจ พร้อมกับวางข้อท้าทายต่อไปคือการล่ารายชื่อให้ถึง 50,000 คน เพื่อให้รัฐบาลชุดหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศ อันจะหมายถึงประชาชนทุกคนมีส่วนในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองในทุกระดับ
นี่คือภาพฝันของวันพรุ่ง แต่ก่อนถึงวันนั้น เราชวนเขาพูดคุยถึงระหว่างทาง ทั้งอุปสรรค โอกาส ปัญหา และข้อคลางแคลงอันน่ากุมขมับ ทั้งที่เจตนาคือการขยับให้ประเทศนี้เดินหน้า
จากบรรณาธิการ สู่นักกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างไร
ผมเคยเป็นบรรณาธิการของ WAY Magazine สมัยที่ยังเป็นกระดาษ ช่วงนั้นเองผมได้สัมภาษณ์ผู้คนจำนวนหนึ่ง ทำให้ได้เห็นความเดือดร้อนของผู้คนต่างจังหวัดพอสมควร แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าสาเหตุจริงๆ เป็นเพราะอะไรกันแน่ พอได้มาทำแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ผมเลยรู้ว่าสาเหตุความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตต่างๆ เช่น ขนส่งสาธารณะ น้ำประปาที่ขุ่น หรือแม้กระทั่งการศึกษาที่แย่ มันเกิดจากการที่ประเทศเรารวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สิ่งที่สำคัญในยุคปัจจุบันนี้ และจำเป็นอย่างเร่งด่วนเลย คือการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพราะถ้ากระจายอำนาจอย่างเดียวไม่พอ ต้องกระจายงบประมาณออกไปด้วย ถ้าท้องถิ่นไม่มีงบประมาณ ก็ไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้
คุณเกิดที่จังหวัดอะไร และทำไมจึงสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดสาทร อยู่ใจกลางย่านธุรกิจเลย ผมได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ มาตลอด ไม่เคยรู้สึกอะไร จนมีเหตุจำเป็นที่ต้องย้ายไปอยู่นนทบุรี พอย้ายไปอยู่ที่โน่น ถึงช่วงกรุงเทพเลือกตั้งผู้ว่าฯ หลังจากไม่ได้เลือกมา 8 ปี เพราะการแต่งตั้งคุณอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ ผมรู้สึกได้ถึงความคึกคัก มีตัวเลือกจากบรรดาผู้สมัครต่างๆ แต่ผมกลับไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้ว จึงรู้สึกถึงความอึดอัดของคนต่างจังหวัดว่า “เห้ย คนต่างจังหวัดก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกับเขาบ้าง” ทีนี้ก็เลยตั้งแคมเปญกับเพื่อนคือ คุณชลธร วงศ์รัศมี คิดกันช่วงแรกว่าอยากจะรณรงค์เรื่องเลือกตั้งใน จ.นนทบุรี ไหม ผมบอกว่าไม่เอา ถ้าจะเลือกทั้งทีต้องเลือกทั้งประเทศไปเลย เพราะเราเลือกตั้งนำร่องเฉพาะกรุงเทพมหานครและเทศบาลพัทยามานานพอแล้ว ถ้าเกิดเรามัวแต่นำร่องมันก็จะไม่ได้เลือกตั้งสักจังหวัด ก็เลยตั้งแคมเปญเป็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศเลย
จุดเริ่มต้นของแคมเปญการกระจายอำนาจคืออะไร
ผมเริ่มต้นผ่านการตั้งแคมเปญใน Change.org ได้รายชื่อมาประมาณ 15,000-17,000 รายชื่อ แล้วยื่นกับประธานกรรมาธิการการกระจายอำนาจ ท่านก็รับเรื่องไป ที่จริงเรื่องนี้มีวาระในสภาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นวาระเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง และเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แต่วาระนี้ถูกดองไว้นานมาก รายชื่อที่ Change.org เข้าไปเป็นการกระตุ้นให้สภาพิจารณาเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น ทางสภาก็ได้หยิบมาพิจารณา คนที่เข้าร่วมชี้แจงคือ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ และ คุณบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น
จากนั้นผมกลับมาคิดว่า การรวบรวมรายชื่อใน Change.org เป็นเพียงแค่การกดดันเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปในทางกฎหมาย ผมเลยก่อตั้งเว็บไซต์ รวมถึงสื่อออนไลน์ที่ชื่อ The Voters ขึ้นมา เพื่อสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ชื่อ เลขบัตรประชาชน ลายเซ็นต์ และความยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูล เพื่อใช้ในการดำเนินการทางรัฐธรรมนูญ และตอนนี้เราก็กำลังรวบรวมรายชื่อจากทางนี้ให้เกิน 50,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ว่า สามารถใช้เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ ซึ่งกฎหมายที่เราจะเปลี่ยนคือหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
The Voters นำเสนออะไรบ้าง
ในตอนแรก เราจะใช้ชื่อเพจว่า We are all Voters เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ซึ่งในเพจอย่างเดียวนี้ ไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ได้ยาวมากนัก พอเป็นเว็บไซต์ก็จะสามารถนำเสนอเนื้อหาที่ยาวได้ เช่น บทความเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ บทสัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง สารคดี บทความวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจที่นำเสนอได้ลึกขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยเว็บไซต์
กระแสตอบรับกับเรื่องการกระจายอำนาจเป็นอย่างไร
ส่วนใหญ่จะเป็นด้านดี ผู้คนจะเห็นด้วย และรู้เรื่องการกระจายอำนาจดีด้วย ว่าโครงสร้างการปกครองแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งหลายเสียงมาก อยากให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคออกไปเลย เราก็ค่อยๆ วิเคราะห์ความคิดเห็นจากเว็บไซต์ ส่วนใหญ่จะออกเป็นด้านบวก ด้านลบจะมีน้อย เช่น กระจายอำนาจก็เข้าทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สิ เขาอยากแบ่งดินแดนอำนาจอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งบางจังหวัดในภาคเหนือหรืออีสานที่อยากแบ่งแยกดินแดน อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ เพราะยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งจะทำให้ความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนมันลดลง คือถ้าเรากระจายอำนาจก็จะทำให้ผู้คนกินดีอยู่ดี จะไม่มีใครคิดอยากแบ่งแยกดินแดน ความคิดแบบนี้เป็นความคิดของ สว. ที่มีอคติกับการกระจายอำนาจ ซึ่งถ้าเราไปดูในรัฐธรรมนูญหมวด 1 บัญญัติไว้ชัดเจนเลยว่า ราชอาณาจักรไทยไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ ซึ่งมันไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย เพราะเราไม่มีกระบอกปืนสักกระบอกเลย เราจะแบ่งแยกดินแดนได้อย่างไร มันเป็นความคิดที่เพ้อเจอมากๆ ถ้าหากจะบอกว่าการกระจายอำนาจคือการแบ่งแยกดินแดน
บางเสียงก็จะบอกว่า กระจายอำนาจ คือการเปิดโอกาสให้นักการเมืองท้องถิ่นโกงกิน?
ถ้าหากเราไปดูสถิติจริง จะพบว่า 7,000 กว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสถิติการทุจริตน้อยกว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเยอะมาก แม้จะมีอัตราการฟ้องร้อง อปท. เยอะกว่า แต่เป็นไปด้วยสัดส่วนของหน่วยงาน แต่ถ้าเรากระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น ผู้คนในพื้นที่ก็จะรู้แล้วว่า “เฮ้ย บ้านเรามีงบเยอะนะ” แล้วเราก็จะเริ่มตั้งคำถามและจับตามองว่าจะมีอะไรพิเรนทร์ๆ ไหมนะ เสาไฟเป็นรูปแปลกประหลาดวิลิศมาหราเมื่อไหร่ เราจะรู้ได้เลย เพราะยิ่งกระจายอำนาจออกไปเท่าไหร่ ก็จะมีการตรวจสอบจากประชาชนมากเท่านั้น
การกระจายอำนาจคือการสร้างชีวิต การสร้างสังคม ว่าอยากจะเห็นตัวเองเป็นยังไง เห็นสังคมเป็นยังไง อยากจะเห็นหมู่บ้านเล็กๆ อำเภอเล็กๆ ของเราเป็นยังไง อย่าง อบต. เราอยากเห็นอะไรจาก อบต. เราก็ได้เลือก คนจะเลือกจากนโยบายมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แทนที่จะเลือกจากตัวบุคคล
อีกข้อครหา คือ การผูกขาดท้องถิ่น ผมเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นระบบเดียวที่จะดึงเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่อยู่ในที่มืด ให้ออกมาในเกมการเลือกตั้งที่สว่าง พวกเขาต้องเสนอนโยบายให้เลือก แล้วถ้าเขาถูกเลือกแล้วสามารถทำนโยบายได้ดี ผมว่านั่นไม่เป็นปัญหาที่จะมีเจ้าพ่อเจ้าแม่ปกครองบ้านเมือง เพราะเขาทำงานดี ตำบล อำเภอ จังหวัดไปได้ด้วยดีก็รับได้ แต่ถ้าทำงานไม่ดี 4 ปี เราก็ไม่เลือกแล้ว บัตรเลือกตั้งมันจะเข้มแข็งกว่ากระสุนปืนมากๆ เลย
สุดท้ายคือเรื่องโกงกิน ผมยกตัวอย่างเรื่อง เสาไฟกินนรี มันโด่งดังขึ้นมาเพราะประชาชนช่วยตรวจสอบ แต่กรณี GT200 ที่คุณหมอพรทิพย์ออกมาโวยวายตอนนี้ ผมอยากรู้ว่าจะมีทหารคนไหนรับผิดชอบบ้าง ยิ่งอำนาจถูกรวมศูนย์อยู่ การตรวจสอบก็ยิ่งไปถึงยาก เราตรวจสอบเรือดำน้ำไม่ได้เลย ว่ามีสัดส่วนการบริหารยังไง เราร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์หาวิธีการจัดซื้อได้รึเปล่า สุดท้ายใครเป็นคนผิด คือประชาชนอย่างคุณหมอพรทิพย์เหรอ
ท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรจากการกระจายอำนาจ และกระจายงบประมาณที่คุณพูดถึง
ในร่างของการเลือกผู้ว่าทั่วประเทศที่เรากำลังเปิดให้ลงชื่อ มีส่วนที่สร้างพื้นที่ให้ประชาชนร่วมเลือกสรร เนื่องจากร่างการกระจายอำนาจนี้ไม่ใช่แค่ให้อำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีอำนาจและมีส่วนร่วม คือมีการจัดศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินการขององค์กรส่วนท้องถิ่น ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นถือเป็นสาระสำคัญ มีการจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นให้สมาชิกสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันภายในประชาชนในท้องถิ่นในทุกปี เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและตรวจสอบการบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการจัดทำงบประมาณส่วนร่วมที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตัดสินใจในโครงการหรือแผนงานที่จะนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ เช่น โครงการที่จะส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น อย่างขนส่งสาธารณะ หรือน้ำประปาที่ใสสะอาด คือตรงนี้งบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง 70% ท้องถิ่นแค่ 30% ซึ่งในร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศนี้กลับกันเลย คือส่วนท้องถิ่น 70% ส่วนกลาง 30% ไม่มีส่วนราชการส่วนภูมิภาคอีกแล้ว
สำหรับท้องถิ่น 70% เราต้องจินตนาการหน่อย เพราะว่าเรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นว่าท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจะเจริญขนาดไหน เมื่อได้งบประมาณถึง 70% เราอาจจะมีโรงเรียนนานาชาติในตำบลที่มีเด็กลูกครึ่งเยอะก็ได้ เราอาจจะมีศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับทุเรียนในจังหวัดระยองก็ได้ ผมได้ยินมาว่า ทุกวันนี้ผู้ว่าฯ วัดผลการทำงาน ใช้เกณฑ์เก็บผักตบชวาทั่วประเทศเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่บางจังหวัดไม่มีผักตบชวา สำหรับร่างฉบับเต็มๆ ของเราคือร่างการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง หมายถึงจังหวัดมีทรัพยากรและรูปแบบภูมิทัศน์แบบไหน ก็จะจัดการได้อย่างใจนึก หมายถึงท้องถิ่นจะมีอำนาจเต็มในการจัดการสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมตามพื้นที่
นอกจาก The Voters แล้ว มีใครที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้อีกบ้าง
ผมไม่แน่ใจว่า ที่ผ่านมาคณะก้าวหน้าเรียกภาคประชาชนได้รึเปล่า ที่พยายามเสนอเรื่องปลดล็อคท้องถิ่นแต่ไม่ผ่านสภา เนื่องจาก ส.ว. บางคนมีอคติต่อการกระจายอำนาจอย่างที่กล่าวไป ทั้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน หรือแม้แต่ คุณไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่อธิบายกรณีตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษแล้ว คือ สก็อตแลนด์ มีการทำประชามติเรื่องการกระจายอำนาจในอดีต และเมื่ออังกฤษมีการทำประชามติอีกครั้งถึงการแบ่งแยกดินแดนของสก็อตแลนด์ ชาวสก็อตแลนด์ก็ยังคงยืนยันจะอยู่กับราชอาณาจักรอังกฤษ หรืออย่างเช่นในอินโดนีเซียเอง เคยมีการสู้รบกันเหมือนสามจังหวัดชายแดนของไทย ก็ได้ถูกหยิบยกทุกอย่างขึ้นมาบนดิน เพื่อเจรจาบนโต๊ะ กระนั้นก็ยังมีคนอคติถึงการแบ่งแยกดินแดนกับการกระจายอำนาจ นั่นก็เป็นกรณีของคณะก้าวหน้า ที่ถูกปัดตกร่างปลดล็อคท้องถิ่น
หากเป็นภาคประชาชนอื่นๆ ผมก็เห็นช่วงก่อนหน้านี้ที่กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติจบลงไปใหม่ เกิดการจัดสัมมนาเลือกตั้งผู้ว่าฯ เยอะมาก เช่น กลุ่มรามคำแหง หรือกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มพอสมควรที่ตอนนี้เริ่มซาลงมาบ้างแล้ว แต่ที่ยังคงล่ารายชื่ออยู่ตอนนี้ ก็คงจะเป็น The Voters กลุ่มเดียวที่ล่ารายชื่อเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ นะครับ มันเป็นการตัดสัดส่วนงบประมาณอย่างที่กล่าวไป เป็นท้องถิ่น 70 ส่วนกลาง 30 ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และจังหวัดมี 2 ชั้น ชั้นบนยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาเป็นผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง แล้วชั้นล่าง เช่น เทศบาล อบต. กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังอยู่ดังเดิม แต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามวาระการเลือกตั้ง
อุปสรรคที่เรียกว่า ส.ว. และข้าราชการ ต่อการกระจายอำนาจคืออะไร
ผมพูดในเรื่องข้าราชการก่อน ข้าราชการถูกปรามาสมาตลอดว่าไม่เคยทำงานเพื่อประชาชนเลย ทำงานรับใช้นายอย่างเดียว ยิ่งในต่างจังหวัดยิ่งเห็นประชาชนเป็นผู้ขอใช้บริการ ถ้าข้าราชการมาอยู่ภายใต้ระบบเลือกตั้ง นี่เป็นโอกาสที่ดีเลย ที่จะทวงศักดิ์ศรีของการเป็นข้าราชการกลับคืนมา ส่วน ส.ว. เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องรณรงค์การปิดสวิตซ์ และแก้กฎหมายต่อไป ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ถามว่าเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศนี้ จะถูกปัดตกไหม ผมเห็นด้วยว่ามีสิทธิ์ถูกปัดตกมาก แต่ทุกการเริ่มต้นไม่มีคำว่าเสียเปล่า ทุกการเริ่มต้นเป็นการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป พอร่างนี้ถูกปัดตกอีกนะ ปลดล็อคท้องถิ่นถูกปัด มีอีกก็ถูกปัด นั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ไม่อยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นควรพิจารณาสถานะตัวเองไว้เลย
ผมไม่อยากกล่าวถึงว่าเป็นผู้มีอำนาจคนไหน แต่เด็กรุ่นใหม่เขาคับแค้นใจอะไรขึ้นมา ผมไม่อยากนึกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสมัยนี้เด็กกล้าหาญมาก เราเป็นคนรุ่นนี้ รุ่นก่อนหน้านี้ ส่งต่อประเทศแบบไหนให้เด็กๆ ที่เด็กจะต้องมาอดอาหาร ที่เด็กๆ ต้องมาถอนประกันตัวเอง เพราะการกระจายอำนาจมันไม่ใช่แค่เรื่องของปากท้องอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องเลย ถ้าเรามีอำนาจทางการเมืองในมือ เราจะรู้สึกอยากส่งเสียง เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม การยกเลิก ม.112 หรือการผลิตเบียร์ในท้องถิ่น เราก็ต้องส่งเสียงไปให้ถึงผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของเรา ให้เขาผลักดันความต้องการของเรา การกระจายอำนาจมันอยู่ในทุกเรื่องครับ เพราะถ้าเรามีอำนาจ เราก็จะส่งเสียงของความต้องการเราได้
ความฝันหลังการกระจายอำนาจของคุณคืออะไร
ผมอยากให้ขนส่งสาธารณะดีทั่วประเทศ ผมอยากให้ขนส่งสาธารณะดีขึ้นเป็นอันดับแรก สามารถเชื่อมต่อถึงกัน ไม่จำเป็นต้องมีรถโดยสารทุก 5 นาที 10 นาที แต่เป็นการจัดการเวลาว่า อีก 30 นาที จะมีรถโดยสารมาตรงนี้ เวลานี้ มีการเชื่อมต่อกับขนส่งอื่นๆ เช่น มอเตอร์ไซค์
เรื่องที่สองเป็นเรื่องการศึกษา ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยที่ดีในทุกจังหวัด นักเรียนไม่ต้องเดินทางมาเรียนในศูนย์กลาง เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ พองบประมาณมาสู่ท้องถิ่นเยอะขึ้น ความฝันของผมคือเห็นผู้คนยังอยู่ที่บ้านเกิด เพราะมีการจ้างงานกันเกิดขึ้น ไม่ต้องเร่ร่อนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ
สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เพื่อผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน