17 เมษายน – แฟนเพจ Ubon Agenda เปิดตัวแบบร่างอนุสรณ์สถานผู้มีบุญ ศึกโนนโพธิ์ เหตุการณ์ปราบกบฎผู้มีบุญ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เลือนหาย สืบต่อเจตนารมณ์ของ “ถนอม ชาภักดี” นักปฏิบัติการทางศิลปะผู้เปิดหน้าดินนำเรื่องกบฎผู้มีบุญมาชำระ เนื่องจากเรื่องราวของกบฎผู้มีบุญนั้น ไม่ได้ถูกพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์กว่า 121 ปี ทั้งนี้ อนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ กระจายรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
“การสร้างอนุสรณ์สถานครั้งนี้ เป็นการปลดแอกทางความคิดออกจากประวัติศาสตร์ของส่วนกลาง เพราะถ้าเกิดจากแรงผลักดันของประชาชน จะทำให้เราเข้าใจตัวตนของตัวเอง ยืนยันตัวเองว่าเราเป็นใคร และถ้าถึงวันที่อนุสาวรีย์สร้างเสร็จแล้ว เหตุการณ์นี้จะช่วยชูว่า คนในพื้นที่สามารถกำหนดความหมายและเรื่องราวของตัวเองได้ รวมถึงเป็นการปักหมุดเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่ ทำให้เราสร้างอนุสรณ์ประวัติศาสตร์ในชุมชนของตัวเองมากขึ้น
“ผมมองไปถึงระดับใหญ่เลยคือ การขอโทษต่อสาธารณะ (public apology) เหมือนที่ในต่างประเทศหลายๆ ชาติที่ขอโทษต่อชนพื้นเมือง มันไม่ใช่การตอกย้ำบาดแผลที่เกิดขึ้นในอดีต แต่มันเป็นการยอมรับตัวตนของประชาชนในพื้นที่ ที่สุดแล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้โดยเข้าใจในความหลากหลายของกันและกัน” นราสิทธิ์ วงศ์ประเสริฐ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์ฯ
แบบอนุสรณ์สถานผู้มีบุญ ศึกโนนโพธิ์ ออกแบบโดย ศ.ชาตรี ประกิตนนทการ และ พัชรพงศ์ กุญกาญจนาชีวิน ตัวอนุสรณ์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
- อนุสรณ์แคนลาวสูง 16 เมตร ผลิตโดยวัสดุโลหะรมดำ สื่อถึงความเป็นลาวในพื้นที่
- ไม้ไผ่ประกอบแคน (ไผ่เฮียะ) ถูกแทนที่โดยมีดและดาบ สื่อถึงการลุกขึ้นต่อสู้ของผู้มีบุญ
- ตัวฐานของอนุสรณ์สถานออกแบบเป็นขื่อคาเพื่อสื่อถึงการถูกจับกุมและขังในฐานะกบฎ รูปทรงของอนุสรณ์สถานเปรียบเสมือนกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลาง สื่อผ่าน ดาบที่ประกอบเข้า เป็นแคน
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบศาลากลางน้ำ และบริเวณทุ่งนาและสระน้ำโดยรอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยวพื้นที่ ทุ่งนาเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาใช้เพาะปลูกข้าวได้ตามฤดูกาล และศาลากลางน้ำใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมและศูนย์การเรียนรู้ผู้มีบุญ บ้านสะพือ
ศ.ชาตรี ประกิตนนทการ 1 ในผู้ร่วมออกแบบอนุสรณ์ฯ เผยแรงบันดาลใจการออกแบบอนุสรณ์สถานผ่าน Facebook ว่า เมื่อได้รับการติดต่อให้ออกแบบอนุสรณ์สถาน ตนตอบรับในทันทีเพราะต้องการเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการสานต่อความฝันของถนอม ชาภักดี ที่จากไปเมื่อราวหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าการออกแบบนี้จะช่วยทำความฝันสุดท้ายของถอนมให้สำเร็จ และตนขอบคุณ พัชรพงศ์ กุญกาญจนาชีวิน เป็นอย่างมากที่ตอบรับโดยทันทีเช่นกันในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบงานชิ้นนี้
ถนอม ชาภักดี ผู้ล่วงลับ (เสื้อเชิ๊ตสีฟ้า)
“อนุสรณ์สถานออกแบบให้เป็นรูปแคนโลหะรมดำสูง 16 เมตร ไม้ไผ่ที่ประกอบเข้ามาเป็นตัวแคน ออกแบบเปลี่ยนให้เป็นมีดดาบชาวบ้านเพื่อสื่อถึงการรุกขึ้นต่อสู้ของผีบุญ ฐานของอนุสรณ์สถานออกแบบเป็นขื่อคาที่ทำจากโลหะรมดำ เพื่อสื่อถึงการถูกจับกุมและขังในฐานะกบฎ รูปทรงของอนุสรณ์สถานเปรียบเสมือนกลุ่มชาวบ้านที่รุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลาง (สื่อผ่านดาบที่ประกอบเข้าเป็นแคน) ที่แม้ว่าสุดท้ายจะถูกจับกุมและปราบปราม (สื่อผ่านขื่อคาโลหะ) แต่ก็ยังยืนหยัดโดยท้าทายต่ออำนาจที่เข้ามาจัดการ (สื่อผ่านตัวแคนโลหะที่พุ่งขึ้นสู่ฟ้าทะลุขื่อคาขึ้นไป)
“ออกแบบสภาพแวดล้อมให้สามารถดูแลรักษาง่าย ตัวอนุสรณ์สถานตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ โดยด้านหลังและด้านข้างปลูกต้นไม้ท้องถิ่นโดยรอบเพื่อเป็นฉากให้กับอนุสรณ์สถาน สร้างศาลาหนึ่งหลังบนแนวแกนด้านหน้า สำหรับจัดกิจกรรมประจำปี ใช้รูปทรงแบบหอแจก เพื่อให้เข้ากับบริบททางวัฒนธรรม พื้นที่ที่เหลือทั้งหมด ทำนาไปตามฤดูกาล เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีของผีบุญ โดยทางเดินเชื่อมต่อส่วนต่างๆ สร้างขึ้นเป็นสะพานไม้ง่ายๆ”
อนึ่ง แฟนเพจ Ubon Agenda เปิดให้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ ผ่านการบริจาคได้ตามเลขที่บัญชี 020207003441 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธ.ก.ส.) ชื่อบัญชี โครงการก่อตั้งอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ – บ้านสะพือ