ชื่อของ 4 รัฐมนตรีอีสานนามอุโฆษ อันได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) และเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร) ถูกหยิบยกมาพูดถึงด้วยความชื่นชมและยกย่องหลายครั้ง
ครั้งล่าสุด จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ฝีปากกล้าฉายาว่า “นักฆ่าขนตางอน” กล่าวถึงพวกเขาบนเวทีเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า พื้นที่อีสานสร้างนักสู้เพื่อประชาธิปไตยจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะแผ่นดินนี้ เป็นแผ่นดินที่สร้างนักการเมืองชื่อดังภาคอีสาน ชื่อ ถวิล อุดล เป็นทนายฝีปากเอก เป็นนักการเมืองดาวสภาและเป็น 1 ใน 4 เสือภาคอีสานที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ จำลอง ดาวเรือง เคียงข้างมากับครูเตียง ศิริขันธ์ นักสู้ขุนพลภูพาน หัวหน้าเสรีไทยภาคอีสาน
“นักต่อสู้ทั้ง 4 คนนี้เป็นกระบอกเสียง เป็น 4 รัฐมนตรีอีสานที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เพื่อให้ประชาชนกินอิ่มนอนอุ่น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวอีสาน ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจมืด ไม่เกรงกลัวต่อระบอบเผด็จการ ต่อสู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต” จิราพร กล่าวบนเวทีปราศรัย
เธอยังปราศรัยอีกว่า การต่อสู้ของบรรพบุรุษชาวอีสานไม่ได้เลือนหาย แต่ได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ถึงลูกหลานชาวอีสานทำให้พื้นที่อีสานเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายประชาธิปไตย
แม้การปราศรัยของเธอจะเป็นไปเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากศรัทธาของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ทว่าคงมี ส.ส.รุ่นใหม่ไม่กี่คนที่กล่าวถึงคุณูปการของ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานด้วยเสียงชื่นชมเช่นนี้
ย้อนกลับเมื่อ 4 มีนาคม 2492 อดีต 3 รัฐมนตรีอีสาน คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล เดินทางพร้อม ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีตรัฐมนตรีจากชลบุรี ก่อนถูกยิง ณ ก.ม.14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
ส่วนเตียง ศิริขันธ์ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มไม่ได้เดินทางไปพร้อมกับคณะครั้งนั้นจึงทำให้เขารอด ทว่า 3 ปีถัดจากนั้นเขาก็ถูกอุ้มหาย ต่อมาพบเป็นศพในป่าเมืองกาญจนบุรี
คนรุ่นใหม่ชูธงตามรอย 4 รมต.อีสาน
การสูญเสีย 4 รัฐมนตรีอีสานทำให้แผ่นดินนี้ร้างไร้ ส.ส.กล้าหาญเหมือนเช่นอดีต แม้หลายครั้งที่ประชาชนต้องต่อสู้กับผู้นำเผด็จการ แต่ก็มีนักการเมืองน้อยคนนักที่จะลุกขึ้นสู้อย่างอาจหาญจนถูกกล่าวขานและขนานว่าเป็น “ขุนพลอีสาน”
การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 จึงโหยหาการทำหน้าที่ของ ส.ส.อีสานเหมือนเช่นครั้งเก่าๆ เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการหอบหุ่นจำลองของ “4 เสืออีสาน” ขึ้นบนอนุสาวรีย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ผู้เผด็จการที่คร่าชีวิตผู้เห็นต่างทางความคิดไปมากมาย เพื่อส่งสัญญาณถึงผู้แทนราษฎรแห่งอีสานในรัฐสภา
วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือ เซฟ ขอนแก่นพอกันที ย้อนเล่าถึงแนวคิดการทำกิจกรรมครั้งนั้นว่า นักศึกษาเห็นบทบาทการทำหน้าที่ ส.ส.อีสานหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและการประชุมร่วมรัฐสภาหลายครั้งแล้วรู้สึกผิดหวัง เพราะเทียบไม่ได้กับอดีต ส.ส.อีสานในอดีต จึงแสดงออกสัญลักษณ์เพื่อเตือนพวกเขาให้ย้อนดูอดีตและเดินตามรอยของบรรพบุรุษ
“พวกเราอยากสื่อสารทางการเมืองให้ ส.ส.อีสานรู้ตัวและให้ออกมายืนเคียงข้างประชาชน ตอนนั้นนักศึกษารู้สึกหมดความหวังกับรัฐสภา เพราะฝ่ายประชาธิปไตยเสนออะไรก็แพ้หมด”
เขายังกล่าวอีกว่า การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนั้นทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักบทบาทวีรบุรุษอีสานก็มีความรู้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวก็เข้าใจด้วยว่า คนธรรมดาอย่างอดีต 4 ส.ส.อีสานก็สามารถเป็นรัฐมนตรีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“ตอนนั้นประชาชนโหยหาความกล้าหาญจากผู้แทนราษฎร แต่พวกเขากลับทำให้รัฐสภาถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ ถ้าเทียบเมื่อปี 2490 กับเหตุการณ์เมื่อปี 2564 สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภากลับสวนทางกับระบอบประชาธิปไตยที่ควรเติบโตขึ้น การเลือกต้ังคร้ังนี้เราจึงหวังว่า ส.ส.อีสานที่เข้าไปในสภาจะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา” วชิรวิทย์ กล่าวด้วยความหวัง
วิสามัญฆาตกรรมการเมือง
หากย้อนที่มาที่ไปของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการจนทำให้ 4 รัฐมนตรีอีสานจบชีวิตลง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายในบทนำของหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1” ช่วงหนึ่งว่า
“ในยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มจะเบ่งบานขึ้น ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ในช่วงการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีสภานิติบัญญัติมีการเลือกตั้งและ/หรือมีพรรคการเมือง
“นับตั้งแต่ปี 2476 ที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ “ยุคทมิฬ” และ/หรือ “วิสามัญฆาตกรรมการเมือง” ที่อำนาจ “รัฐอำนาจ” (ในสมัยของการเมือง “คณะรัฐประหาร” ของ จอมพล ป.พิบูลสงครามและจอมพลผิน ชุณหะวัณ) ที่ในส่วนของการจัดการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” (ซึ่งแปลได้ตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรว่า ฆ่าและปราบปราม) นำโดย เผ่า ศรียานนท์และบรรดา “อัศวิน”) ได้กระทำต่อบุคคลที่ไม่ลงรอยทางการเมืองกับตนจำนวนมากนั้น
กล่าวได้ว่า กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “อีสาน” ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษ ในฐานะที่พยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ จาก “วงนอก” และจาก “ชายขอบ” เป็นปากเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอำนาจ (กรุงเทพฯ)”
หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงวีรกรรมเด่นๆ ของ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงไม่แปลกที่นักศึกษาอีสานหัวก้าวหน้าในปัจจุบันจะโหยหาวีรกรรมของ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานที่หาญกล้าเหล่านั้น
ไม่มี ส.ส.อีสานเทียบเท่า 4 รัฐมนตรี
นับจาก 4 รัฐมนตรีอีสานเสียชีวิตก็ร้างไร้นักการเมืองแห่งที่ราบสูงที่มีความกล้าหาญให้ได้ฝากผีฝากไข้ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้
เขาอธิบายว่า บริบทการเมือง สังคมสมัยนั้นกับสมัยนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน สมัยก่อนนักการเมืองต้องเผชิญและต่อสู้กับเผด็จ เมื่อเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองพวกเขาก็อุทิศชีวิตให้กับประชาธิปไตย
“นักการเมืองในยุคเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น” เป็นสิ่งที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องอีสานสรุปจากการศึกษาปรากฎการณ์ทางการเมืองไทยและการเมืองอีสาน
บทบาทอดีต 4 รัฐมนตรีอีสานอย่างหนึ่งที่ รศ.ดร.สมชัย เห็นว่า ค่อนข้างโดดเด่น คือ การอภิปรายปัญหาชาวบ้านเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน
“สมัยนั้นนายเตียงอภิปรายในสภาเพื่อให้ยกเลิกเก็บภาษีแบบศักดินาและเรียกร้องให้พัฒนาชนบทอย่างถ้วนทั่ว ไม่เฉพาะในอีสานเท่านั้น ซึ่งทำให้จอมพล ป. ไม่พอใจ เพราะต้องการนำงบไปซื้ออาวุธสงคราม โดยอ้างว่า ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้วจึงเกิดความขัดแย้งกัน”
เขายังกล่าวอีกว่า ความจริงแล้ว 4 รัฐมนตรีอีสานไม่มีแนวคิดภูมิภาคนิยม แต่ต้องการพัฒนาประเทศโดยรวม โดยเฉพาะชนบท แต่ทุกครั้งที่อภิปรายในรัฐสภา ส.ส.อีสานมักจะโดนดูถูกจนเกิดข้อกล่าวหาว่า “มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน” จนนำมาสู่การฆาตรกรรม
“ในช่วงสมัยปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ เวลา ส.ส.หรือรัฐมนนตรีอีสานอภิปรายในสภาก็ถูกถูกเสียดสีจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้น โดยมีการติดป้ายประกาศในสภาเพื่อล้อเลียนว่า “พวกข้าวเหนียว” แต่ความจริงแล้วกลุ่ม ส.ส.อีสานไม่มีแนวคิดภูมิภาคนิยม อย่าง นายเตียง ก็เคยอภิปรายเรื่องสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป”
การโหยหา 4 รัฐมนตรีที่เป็นต้นแบบนักการเมืองแห่งอีสาน แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลังการเติบโตของพลังของคนรุ่นใหม่ทั่วแผ่นดิน โดยเฉพาะพื้นที่แห่งที่ราบสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาจึงคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
การเลือกตั้งปี 2566 ฐานเสียงคนอีสานจึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มี ส.ส.เขตมากที่สุดถึง 133 เสียงจาก 400 เขตทั่วประเทศ