ค่าไฟแพงคืออะไร ชุมชนริมคลองชลประทานขอนแก่น ไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้กว่า 30 ปี
ชุมชนริมคลองชลประทานที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ต.พระลับ ต.ในเมือง และ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะที่ตั้งของชุมชน ประกอบด้วยบ้านเรือนทอดเรียงยาวสุดสายขนานกับคลองชลประทาน
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่ริมคลองชลประทานแห่งนี้เป็นที่รกร้าง ชาวบ้านกลุ่มแรกได้บูรณะถางพงป่าไม้บริเวณนี้เพื่อตั้งถิ่นฐานนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่พบตั้งแต่ครั้งตั้งรกรากคือไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยการต่อพ่วงจากเพื่อนบ้าน ซึ่งค่าไฟฟ้าที่ประชาชนในชุมชนต้องจ่ายนั้นอยู่ที่หน่วยละ 7-7.5 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในแต่ละเดือน บ้างก็ผ่อนชำระ บ้างก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายจึงต้องหนีออกจากชุมชน เพื่อตัดภาระและทิ้งหนี้สินไว้ ส่วนน้ำที่ใช้อุปโภคนั้นต้องใช้น้ำจากคลองชลประทานที่ทอดผ่านหน้าชุมชน เพราะไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้

พื้นที่ของชุมชนริมคลองชลประทาน เป็นพื้นที่ราชพัสดุที่สำนักงานชลประทานทำการเช่ามาอีกทอดหนึ่ง สาเหตุนี้ทำให้ประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยถูกฟ้องในข้อหาครอบครองที่ดินของรัฐ ครอบครองที่ราชพัสดุ บางรายต้องยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้บุกรุก หลายครอบครัวตกอยู่ในความวิตกกังวล เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในกฎหมาย รวมถึงไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ
“เราสู้กันมา 10 กว่าปีแล้ว ยื่นเรื่องไปที่ไหนก็ไม่มีเสียงตอบกลับ ล่าสุดเรายื่นขอเสนอขอเช่าที่จากชลประทาน ยังไม่พูดถึงเรื่องน้ำกับไฟนะ เคยมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาลงรังวัดที่ดิน แต่เราก็ไม่เคยได้คำตอบกลับมาสักที และต่อมาเราขอบ้านเลขที่ชั่วคราว เหมือนจะสำเร็จแต่ก็เงียบไป และคนที่ไม่รู้อะไรก็ถูกสั่งฟ้องข้อหาบุกรุก ติดคุกก็มี ถูกปรับก็มี ตอนนี้เราไม่ขออะไรมาก เราชินชาไปแล้วกับเรื่องที่ดิน แต่ค่าไฟและน้ำนี่สิ ขอได้ไหม ค่าไฟและน้ำราคาปกติที่ไม่แพงเกินไป แต่ก็แปลกใจนะ เราเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วให้กับชุมชนริมคลอง ทั้ง ต.ในเมือง ต.พระลับ และ ต.ศิลา ปรากฎว่า มีแค่ ต.ศิลา ได้รับการแก้ปัญหา เข้าถึงน้ำไฟได้อย่างสะดวก แต่พวกเรากลับถูกลืม” สากล สีนนอก ประธานชุมชน รองณรงค์ วงศ์ประเสริฐ ที่ปรึกษาชุมชน และพิกุลทอง คำตา กรรมการชุมชน จับกลุ่มพรั่งพรูความในใจถึงสิ่งที่อัดอั้น

สด เจริญสุข แม่ค้าชราผู้เป็นหม้าย เธอเป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐก่อนที่จะถูกยกฟ้องในเวลาถัดมา สดอาศัยในชุมชนริมคลองชลประทานตั้งแต่ยุคบุกเบิกกับสามีเมื่อครั้งเขายังมีชีวิต เธอเล่าว่า สมัยที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงชุมชน เคยใช้เทียนไขเพื่อให้แสงสว่างหลังพระอาทิตย์ตกดิน กินเวลา 8-9 เดือน ดังนั้นไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต สิ่งนี้บังคับให้เธอต้องพ่วงไฟฟ้าและน้ำประปาจากเพื่อนบ้าน แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นเกินกว่าหญิงชราคนหนึ่งจะรับไหว
“ค่าน้ำก็ 800 กว่า ค่าไฟ 1,400 นี่ขนาดยายอยู่คนเดียวนะ บางทีก็เกรงใจเพื่อนบ้านที่พ่วงมานะ หาเงินก็ไม่ทัน จ่ายไหวแค่ 200-300 เพราะกลัวเขาตัดไฟ เงินซื้อข้าวสารยังไม่มี ของก็ขายไม่ดี อย่างวันนี้ขายของได้ 37 บาท เมื่อวานขายได้ 18 บาท ถึงไม่มีก็ต้องหามาจ่ายให้ได้ ครั้งเมื่อก่อนไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องได้ตะเกียกตะกายลงไปคลองน้ำ เพื่อตักน้ำมาใช้ เพราะขาเราไม่ค่อยจะดี แต่ต้องสู้”



ในเดือน เมษายน 2566 ที่ผ่านมา (ด้านขวาสุด)
อีกด้านของชุมชนริมคลอง กระท่อมเล็กๆ ข้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและท่อประปาหลัก เป็นที่ประจำของ สมลักษณ์ โม่งคำ วัย 80 ปี ประกอบอาชีพขายน้ำมัน แผงตั้งขวดน้ำมันอยู่ไม่ไกลจากกระท่อมที่เธอใช้หลบแดดในแต่ละวัน
“มาอาศัยอยู่ที่นี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ก็ประมาณ 28-29 ปีแล้วแหละที่อยู่ที่นี่ ตอนนี้ยังดีที่มีไฟฟ้าใช้ แต่น้ำใช้นี่ลำบากมาก ก็ได้ซื้อจากรถที่เขาขายน้ำ เราตักเอาจากคลองสลับกับตักจากบ่อน้ำข้างกระท่อม มาต้มก่อนที่จะอาบ เพราะตักมาแล้วอาบไม่ได้ มันคัน มันมีน้ำเสียมันปนมา ไม่เหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังดีที่น้ำในบ่อข้างกระท่อมสะอาดกว่า” เธอกล่าวด้วยความใจชื้นแม้ในบ่อจะเต็มไปด้วยเศษฝุ่นและขยะบนผิวน้ำก็ตาม

เพื่อส่งเสียงปัญหาของชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รองณรงค์ วงศ์ประเสริฐ ที่ปรึกษาชุมชนริมคลองชลประทานจัดทำหนังสือ “Khon Kaen ต้องช่วย” ภายในระบุถึงชีวิตและภาพของคนในชุมชนกับการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ภาครัฐและพรรคการเมืองเข้ามารับฟังปัญหา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และบางครัวเรือนดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเบี้ยคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปาที่พ่วงจากหลังคาเรือนอื่นนั้นจึงราคาสูงเกินความจำเป็น
“เราสู้มาขนาดที่ผู้ว่าฯ เปลี่ยนมา 4-5 คนแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะอาศัยบนพื้นที่ของรัฐ แต่ถ้าประชาชนย้ายออกจากตรงนี้จริงๆ ก็ไม่มีที่ไปอยู่ดี ผมมองว่าอยากให้นักการเมือง และภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือจริงๆ และคิดว่าถ้าภาคการเมืองที่มาช่วยเราให้ส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจได้ จะเป็นเหมือนแสงสว่างและคิดว่าคนในชุมชนคงจะยิ้มและลืมตาอ้าปากได้ไม่น้อย ไม่ขออะไรมากขอแค่รับฟังและนำปัญหาเราไปแก้ไขจริงๆ” เขากล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง