การกระจายอำนาจในสมัยทุนนิยม แค่คืนอำนาจทางการปกครองยังไม่พอ
“การคืนอำนาจกลับไปสู่ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม คือหนทางเดียวในการแก้ไขวิกฤตของประชาธิปไตยจนถึงระดับรากเหง้าของมัน”
เอซิโอ มานซินี่
ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมาจนกระทั้งปัจจุบัน กระแส “การกระจายอำนาจ” ได้รับความสนใจและถูกให้ความสำคัญอย่างมากประเด็นหนึ่ง มันถูกเสนอผ่านนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรค ผ่านข้อเรียกร้องของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนหลายกลุ่ม ในหลากหลายรูปแบบลักษณะ แต่อาจกล่าวได้ว่า “การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค” “การจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง” และ “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ถือเป็นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องในประเด็นการกระจายอำนาจที่มีความก้าวหน้าที่สุดแล้วในเวลานี้ หรืออีกแง่หนึ่ง ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นเส้นขอบฟ้าหรือเพดานความคิดสูงสุดเกี่ยวกับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจเท่าที่พบเห็นในสังคมไทยในปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้นข้อเสนอเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่ถกเถียงในวงกว้างมากนัก กระทั่งมันได้พุ่งทะยานเป็นกระแสสูงถึงขีดสุดในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2565 ที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาดังกล่าวมีการถกเถียงกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศควรจะมีที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ควรมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษหรือแบบจังหวัดจัดการตนเองหรือไม่
เช่นนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเด็นการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาย่อมจะปรากฏให้เห็นในนโยบายของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน ผมจึงเห็นควรจะกล่าวถึงและทดลองเสนออะไรสักอย่างเกี่ยวกับ “การกระจายอำนาจ” เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการชวนคิดชวนคุยว่าการกระจายอำนาจนั้น เราต้อง “กระจาย” อะไรหรือต้องกระจายในมิติใด จึงจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ผมเคยพูดถึงและเสนอประเด็น “การกระจายอำนาจ” อย่างเป็นทางการในที่สาธารณะไปบ้างแล้วอย่างน้อยสองเวทีใหญ่ๆ กล่าวคือ เวทีแรกเป็นเวทีเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “เครือข่ายคนรุ่นใหม่กับกิจกรรมเพื่อสังคมและการเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชนในยุคเผด็จการ”[1] ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2563 ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีเครือข่ายนักศึกษาหลายกลุ่มทั่วประเทศเข้าร่วมเสวนา (ในช่วงนั้นขบวนการนักเรียนนักศึกษากำลังขยายตัว) ผมเป็นตัวแทนของกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม (แต่ความคิดเห็นและข้อเสนอที่พูดในเวทีดังกล่าว เป็นความรับผิดชอบของผมเพียงคนเดียว กลุ่มไม่เกี่ยวข้องหรือไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่ประการใด) ในเวทีดังกล่าว ผมมีข้อเสนอโดยสรุปอย่างสั้นที่สุดได้ว่า การกระจายอำนาจที่แท้จริงต้องเป็น “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” ผ่านการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
อีกเวทีผมพูดและเสนอผ่านบทความวิชาการชื่อ “จังหวัดจัดการตนเอง: แนวคิด พัฒนาการ และปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา”[2] ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันกับเวทีแรก โดยพยายามวิเคราะห์ว่าการจะจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมาได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยความพร้อมในด้านใดบ้าง ฉะนั้น บทความนี้จึงมีข้อเสนอโดยนัยว่า ประเทศไทยควรกระจายอำนาจในแบบจังหวัดจัดการตนเอง มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในบทความดังกล่าวก็คือ การเสนอว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” คือ “กระบวนทัศน์ใหม่” ของการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารจัดการนโยบายต่างๆ อันเป็นการทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ การกระจายอำนาจในรูปแบบ “จังหวัดจัดการตนเอง” คือ “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกันกับเวทีแรกที่กล่าวไปก่อนหน้านี้นั่นเอง
ทั้งสองเวทีมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” ซึ่งมีความหมายว่า “อำนาจ” นั้นเป็นของประชนชนมาตั้งแต่ต้น การกระจายอำนาจจึงไม่ใช่การ “จัดสรรแบ่งปันอำนาจของรัฐส่วนกลางลงมา” หากแต่เป็นการส่ง “คืนอำนาจ” ให้กับเจ้าของตัวจริง นั่นคือ “ประชาชน” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
จากนิยามข้างต้น เราจะเห็นความสัมพันธ์กันระหว่าง “การกระจายอำนาจ” กับ “ประชาธิปไตย” ในแง่ที่การกระจายอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาและการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดแบบ เอซิโอ มานซินี่ (Ezio Manzini) ได้ว่า การจะแก้ไขปัญหาวิกฤตของประชาธิปไตยจนถึงระดับรากเหง้าของมันได้นั้น เขาชี้ว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นคือ การคืนอำนาจกลับไปสู่ชุมชนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม[3] กระนั้นก็ดี หากการกระจายอำนาจไม่ได้วางอยู่บนฐานที่เป็น “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” หากแต่เป็นการกระจายอำนาจลงมาอยู่เพียงแค่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีรัฐส่วนกลางควบคุมบังคับบัญชา ก็ป่วยการที่การกระจายอำนาจไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตามจะเป็นเงื่อนไขนำพาไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
แน่นอนว่าเวลามีการถกเถียงกันเรื่อง “การกระจายอำนาจ” เรามักจะอ้างเหตุผลบนฐานแนวความคิด (concept) สำคัญที่ว่า “อำนาจเป็นของคนในชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น ก็ควรกระจายอำนาจให้กับคนในท้องถิ่นได้ปกครองดูแลตนเอง” แต่พอถึงเวลาเสนอจริงๆ เรากลับมีข้อเสนอถึงเพียงขั้นของการออกแบบ “การปกครอง” เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดที่ “อำนาจเป็นของประชาชน” หรือ “การกระจายอำนาจคือการคืนอำนาจให้กับประชาชน” ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่าการออกแบบการปกครองเป็นเพียงการกระจายอำนาจลงมาสู่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้รับอำนาจ “คืน” เฉพาะในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และอำนาจที่ได้รับคืนมาก็เป็นเพียงแค่การเข้าคูหาเลือกตั้งผู้แทนในท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว หากการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เป็นเพียงการกระจายอำนาจลงสู่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” มันก็เป็นแค่การคืนอำนาจในทาง “ปกครอง” เท่านั้น ซึ่งไม่ควรนับว่าเป็น “การคืนอำนาจ” ตามนิยามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มันเป็นเพียงการจัดสรรรูปแบบการปกครองท้องถิ่นภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นการแบ่งสรรอำนาจรัฐส่วนกลางเพื่อใช้ในการปกครองในระดับท้องถิ่น อันเป็นการย่อส่วนรูปแบบทางการเมืองของรัฐส่วนกลางที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนและรัฐราชการผูกขาดและรวมศูนย์ ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งหรือการเมืองแบบเลือกตั้ง การมีสภาผู้แทน การตัดสินใจหรือการใช้อำนาจผ่านผู้แทน กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ และระบบราชการที่มีระบบระเบียบล่าช้ายุ่งเหยิงวุ่นวายไม่ทันต่อสภาพการณ์ที่กำลังดำเนินไป ฯลฯ ลงมาสู่ท้องถิ่นเท่านั้น ในขณะที่อำนาจหน้าที่ยังคงมีลักษณะเป็นแขนขาหรือกลไกการปกครองของรัฐส่วนกลางไม่ต่างกับรูปแบบการกระจายอำนาจของไทยในปัจจุบัน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วไม่ได้นำไปสู่การที่ประชาชนจะมีอำนาจได้อย่างแท้จริง
การจะดูว่าประชาชนหรือผู้คนได้รับอำนาจคืนหรือยังนั้น เอซิโอ มานซินี่ ชี้ว่า “จำเป็นต้องดูว่าพวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจจากสถานภาพที่พวกเขาเป็นอยู่หรือไม่…” โดยกล่าวในบริบทของการกระจายอำนาจ เขาหมายถึง “การที่อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องราวสำคัญถูกส่งมอบให้กับชุมชนที่เกี่ยวข้อง… (ผู้คนหรือประชาชนในชุมชนท้องถิ่น – ผู้เขียน)”[4]
ดังนั้น “ประชาธิปไตย” ในปริมณฑลของข้อถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ จึงไม่ใช่แค่เรื่องการลดอำนาจรัฐส่วนกลางแล้วกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเดียว แน่นอนว่าผมยังคงยืนยันในข้อเสนอที่เสนอไปในสองเวทีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่หากการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค หรือรูปแบบการกระจายอำนาจแบบใดก็ตาม ตั้งอยู่ภายใต้กรอบของเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน สิ่งที่ตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ประชาชนหรือผู้คนไม่สามารถจะเข้าถึงอำนาจหรือเป็นเจ้าของอำนาจได้อย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนจะไม่ได้รับอำนาจ “คืน”
เนื่องจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนวางอยู่บนฐานคติของความเป็นปัจเจกบุคคลตามอุดมการณ์แบบทุนนิยมภายใต้แนวคิดกรรมสิทธิ์ของรัฐและกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่ถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดให้แก่รัฐส่วนกลาง[5] อันส่งผลให้เกิดการผูกขาดและรวมศูนย์ทรัพยากรไว้ที่รัฐและทุน ซึ่งเอื้อให้ชนชั้นผู้ถือครองอำนาจทางเศรษฐกิจ (อำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ) เข้ามากุมอำนาจในทางการเมือง (อำนาจผูกขาดทางการเมือง) หรือที่เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) เรียกลักษณะดังกล่าวว่า “อำนาจผูกขาดของชนชั้นทุน” ทั้งนี้ เพราะระบบเศรษฐกิจในยุคสมัยปัจจุบันส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึงการที่คนส่วนมากไร้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ เมื่อคนส่วนมากไร้อำนาจทางเศรษฐกิจก็ทำให้ถูกกีดกันออกไปจากอำนาจทางการเมืองและอำนาจในการต่อรองเชิงนโยบายด้วย[6] หากกล่าวแบบคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และ ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) ก็คือ รัฐบาลเป็นเพียงคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมกับชนชั้นนายทุนท้ังชนชั้นเท่านั้น ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ชนชั้นปกครอง”
ในแง่ดังกล่าว การจะเข้าใจและสร้างข้อเสนอหรือเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในฐานะปัจจัยหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนา การสร้างสรรค์และจรรโลงประชาธิปไตย เราจะละเลย “ระบบทุนนิยม” ซึ่งเป็นบริบทของยุคสมัยในปัจจุบันไม่ได้เลย กล่าวให้รุนแรงอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ทุนนิยมไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ฉะนั้น การกระจายอำนาจภายใต้กรอบของทุนนิยมผ่านรูปแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือแบบผู้แทนก็เป็นได้เพียงแค่การกระจายอำนาจในทางปกครอง ซึ่งอำนาจยังคงเป็นของรัฐส่วนกลางที่ตัดสินใจและใช้อำนาจผ่านตัวแทน ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เมื่อประชาชนไม่มีอำนาจ ประชาธิปไตยก็เป็นได้เพียงแค่ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือที่มาร์กซิสต์บางคนเรียกว่า “ประชาธิปไตยจอมปลอม”
จากที่กล่าวมาทั้งหมด มันได้ยืนยันว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยภายใต้ร่มเงาของระบบทุนนิยมที่วางอยู่บนฐานของความไม่เท่าเทียมของคนทุกคนในการเข้าถึงอำนาจ ไม่สามารถทำให้ “การกระจายอำนาจ” มีความหมายถึง “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” ได้เลย และนั่นก็หมายความว่ามันไม่สามารถเป็นเงื่อนไขที่จะพัฒนาและสร้างสรรค์จรรโลงประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุดังกล่าว การคิดคำนึกถึงประชาธิปไตย “แบบใหม่” ที่แตกต่างออกไปจากประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า
ดังนั้น การกระจายอำนาจที่จะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยแบบใหม่ จึงไม่ใช่การกระจายเพียงแค่รูปแบบการปกครองหรือการกระจายอำนาจลงสู่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หากแต่ต้องกระจายในความหมายที่ประชาชนคือเจ้าของอำนาจตัวจริง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอำนาจทางเศรษฐกิจมีผลอย่างสำคัญต่อการมีอำนาจต่อรองทางการเมือง ฉะนั้น การจะ “คืนอำนาจให้กับประชาชน” ได้อย่างแท้จริง จึงต้องเริ่มต้นที่การคืนอำนาจในทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนเราไม่สามารถคืนอำนาจในมิติดังกล่าวได้หากดำเนินการภายใต้แนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ของรัฐและเอกชน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การจะ “คืนอำนาจให้กับประชาชน” ได้อย่างแท้จริง เราต้องกระจายการถือครองทรัพยากรแบบใหม่ จากเดิมที่การถือครองทรัพยากรถูกดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ของรัฐและเอกชนตามอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม ก็ต้องถ่ายโอนทรัพยากรจาก “รัฐและทุน” สู่ “สังคม” อย่างเป็นธรรม ผ่านการคิดถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ต้องกระจายทรัพยากรให้เป็นของ “ส่วนรวม” (common) กล่าวแบบมาร์กซิสต์ได้ว่า เราต้องยึดปัจจัยการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐและทุนให้มาเป็นของส่วนรวมมากขึ้น[7]
โดยคำว่า “ส่วนรวม” ในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การที่คนทุกคนเป็นเจ้าของที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง การที่คนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในทุกมิติ กล่าวคือ การที่คนทุกคนร่วมกระทำการเพื่อกำหนด ออกแบบ สร้างสรรค์ จัดการ และดูแล สถาบัน กลไก ทรัพยากร สวัสดิการหรือโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันในแนวระนาบ ผ่านการที่พวกเขามีอำนาจใน “การตัดสินใจร่วมกัน” ซึ่งการสร้างส่วนรวม (commoning) ในแบบดังกล่าวเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง[8]
การที่คนทุกคนมีส่วนตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการกําหนดนโยบาย การจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม การกำหนดทิศทางของชุมชนท้องถิ่นของตนเองหรือการออกแบบสถาบันองค์กรท้องถิ่นจากเบื้องล่าง ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นการขยายพื้นที่เสรีภาพและความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ ซึ่งสะท้อนภาพว่าอำนาจเป็นของคนส่วนใหญ่ ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยมีบรรยากาศของสังคมสังคมนิยมมากขึ้น หรือที่มาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ “วิภาษวิธี” จาก “ปริมาณ” สู่ “คุณภาพ”
กล่าวในแง่นี้ การกระจายอำนาจในฐานะที่เป็น “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การที่ประชาชนมีอำนาจในการเลือกตั้งผู้แทนในทุกระดับการปกครองและการกระจายแบ่งแยกย่อยหน่วยการปกครองให้เล็กลง แต่มันหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนในชุมชนท้องถิ่นในระดับของการมีอำนาจในการตัดสินใจในทุกมิติ เพื่อกำหนด ออกแบบ สร้างสรรค์ จัดการ และดูแล องค์กร สถาบัน ทรัพยากรและสวัสดิการในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
แน่นอนว่ามันมีหลายๆ เรื่องที่รัฐส่วนกลางกำหนดได้ แต่อีกหลายๆ เรื่องท้องถิ่นก็รู้และกำหนดได้ดีกว่ารัฐส่วนกลาง ฉะนั้น การกระจายอำนาจแบบที่เสนอมาจะสามารถตอบสนองความเฉพาะที่มีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกคนในสังคมได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และผู้คนดำรงอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพ
กล่าวโดยสรุปแล้ว เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ เรื่องที่เราต้องเน้นมากเป็นพิเศษอันดับแรกคือ “อำนาจ” ในแง่ที่การกระจายอำนาจต้องเป็น “การคืนอำนาจให้กับประชาชน” เท่านั้น และการจะคืนอำนาจได้อย่างแท้จริงต้องเป็นการกระจายการถือครองทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตแบบใหม่ จากแต่เดิมที่รัฐและทุนผูกขาดและรวมศูนย์ไปไว้ที่ตนเองตามอุดมการณ์ของเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม ก็ต้องกระจายให้เป็นของ “ส่วนรวม” ซึ่งหากเราสามารถกระจายอำนาจเช่นที่กล่าวมาได้ นอกจากมันจะส่งผลให้คนทุกคนมีอำนาจได้อย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นการทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว มันยังเป็นการบ่อนเซาะ ท้าทาย ก่อกวน ต่อต้าน “ระบบทุนนิยม” ซึ่งเป็นต้นตอหรือใจกลางของปัญหาและวิกฤตการณ์ร้ายแรงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษปัจจุบันนี้อีกด้วย ดังชื่อบทความชิ้นหนึ่งของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่ว่า “การสร้างสรรค์ท้องถิ่นและประชาธิปไตยเพื่อคัดง้างกับระบบทุนนิยม”
เชิงอรรถ
[1] กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม, “คนรุ่นใหม่ ถกสร้างอำนาจให้ ปชช. ในยุคเผด็จการ ชูธง แก้รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ-เลิกภูมิภาค-ลต.ผู้ว่าฯ,” ประชาไท, 13 มีนาคม 2563, https://prachatai.com/journal/2020/03/86773 (สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2566).
[2] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, “จังหวัดจัดการตนเอง: แนวคิด พัฒนาการ และปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา,” ใน อำนาจ: การคงอยู่ สั่นคลอน และประกอบสร้าง, ธวัชชัย ป้องศรี และ ญัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ (บรรณาธิการ), (มหาสารคาม: วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม, 2563), 61-112.
[3] เอซิโอ มานซินี่, การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน, อนุสรณ์ ติปยานนท์ (ผู้แปล), (นนทบุรี: อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล, 2562), 212.
[4] เรื่องเดียวกัน, 207.
[5] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, “การสร้างสรรท้องถิ่นและประชาธิปไตยเพื่อคัดง้างกับระบบทุนนิยม,” ใน 125 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2565 เล่ม 5, ธเนศวร์ เจริญเมือง (บรรณาธิการ), (เชียงใหม่: ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่: แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน, 2565), 161.
[6] เรื่องเดียวกัน, 149.
[7] เรื่องเดียวกัน, 165-167.
[8] เรื่องเดียวกัน, 167.