การเติบโตขึ้นของเทคโนโลยีและสื่อต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทยและทั่วโลก Soft Power มักกลายเป็นหัวข้อสนทนาที่รัฐบาลไทยอยากจะผลักดันให้ความเป็นไทยได้รับความนิยมอยู่ในกระแสโลก ทว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

Soft Power มักถูกอ้างอิงจากความสำเร็จอันสูงลิบของเกาหลีใต้ ที่ส่งอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น K-POP ภาพยนตร์ และอื่นๆ จากการสนับสนุนของภาครัฐและลงทุนกับอุตสาหกรรมบันเทิงให้ติดลมบนในตลาดโลก ย้อนกลับมาในประเทศไทย วัฒนธรรมกินได้ นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มักเป็นคำพูดเก๋ๆ ที่เอาไว้ขายความคิดในที่สาธารณะ ต่อเมื่อสอบทานถึงการลงลึกในรายละเอียดของความคิดกลับพร่าเลือน ยิ่งสอบถามถึงวิธีการปฏิบัติยิ่งมืดมน 

ในเวที TOTY Music Award 2021 ซึ่งผลักดันวงการ T-POP ทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อัตตา (AUTTA) ขึ้นกล่าวบนเวทีหลังรับรางวัล Best Records of The Year อย่างเผ็ดร้อนว่า “คุณลองคิดดูว่า พวกเราทำกันเองแม่งยังได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเกิดว่ารัฐสนับสนุน เราจะไปได้ขนาดไหนวะ”

ถ้อยคำบนเวทีนั้น กำลังบอกเราว่า T-POP กับการสนับสนุน Soft Power ในพุทธศักราชปัจจุบันอาจเติบโตอย่างคู่ขนาน ปัญหาเพียงเล็กน้อยก็คือว่า ฝั่งหนึ่งตะเกียกตะกายด้วยตนเอง ส่วนอีกฟากคือการละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจ

ไม่เพียงแต่ศิลปินบนเวที T-POP ที่ยืนบ่นก่นด่า ศิลปินไทบ้านอย่างหมอลำ ก็ได้แต่สงสัยว่ารัฐจะหนุนเสริมหรือประคับประคองคนในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับท้องถิ่นอย่างไร หรือเม็ดเงินกว่า 6,000 ล้านบาทที่หมุนเศรษฐกิจทุกฤดูกาลของหมอลำ ไม่มีกำลังพอที่จะส่งเสียงให้รัฐบาลให้ความสนใจ และในกระแสการเลือกตั้งที่กำลังเข้าสู่หมุดหมายสำคัญ “หมอลำ” อยู่ตรงไหนในนโยบายพรรคการเมือง และ Soft Power ในระดับ Local อยู่แห่งใดในสายตาของรัฐบาลข้างหน้า ก่อนมองถึงวันพรุ่งนี้ เราขอเริ่มต้นด้วยวันวานสักเล็กน้อย

พ.ศ. 2563 วิกฤตการณ์โควิด หายนะชีวิตคนทำงานบันเทิง

ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด อาชีพสตรีมมิ่งและแพล็ตฟอร์มออนไลน์เกิดขึ้นและเติบโตบนโลกโซเชียลอย่างมหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจด้านความบันเทิง เช่น NetFlix หรือ OnlyFans ขณะที่ “อุตสาหกรรมหมอลำ” กลับมืดมนและหาทางออกไม่เจอ ไร้วี่แววหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ด้วยสถานภาพของหมอลำยังไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจ จึงมีเพียงการเยียวยาที่มาจากลมปากรัฐ และความหวังที่จะกลับมาทำการแสดงตามวิถีตน ในขณะที่วงหมอลำกำลังจะเลือนหายไป

ยมนิล นามวงษา หรือ บอสโจ หัวหน้าวงหมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง
ภาพจากเฟซบุ๊ก: สาวน้อยเพชรบ้านแพง แฟนเพจ

ยมนิล นามวงษา หรือ บอสโจ หัวหน้าวงหมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง กล่าวถึงวิถีหมอลำว่า เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเพณีงานบุญของชาวอีสาน เช่น งานกฐิน งานบุญผะเหวด (บุญมหาชาติ) ของแต่ละอำเภอหรือจังหวัด เมื่อเจ้าภาพจ้างงานและทำสัญญาตกลงกับคณะหมอลำ หมอลำก็จะเดินทางไปทำการแสดงตามงานจ้างนั้น ดังนั้นหมอลำจึงคุ้นชินกับการเดินทางข้ามจังหวัด หรือแม้แต่ข้ามภาค แต่เมื่อมีโรคระบาดทำให้ภาพเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง และหนทางต่อมาพวกเขาต้องดิ้นรนในสถานการณ์ที่ีคับขัน เพื่อให้อีกหลายร้อยชีวิตยังคงพอลืมตาอ้าปากได้

“ช่วงโควิด เป็นช่วงที่โหดร้ายที่สุดของคำว่า วงการหมอลำ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่วงการหมอลำที่ได้รับผลกระทบ ทุกอาชีพได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ในกรณีของหมอลำเราก็จะหนักหน่อย เพราะเราต้องออกทำการแสดงเพื่อให้ได้ค่าจ้างมาเลี้ยงวง”

เนียง เฮียงหล้า แม่ค้าส้มตำสัญจร ขณะขายส้มตำให้แก่ลูกค้าในงานเทศกาลบุญผะเหวด
(บุญเทศมหาชาติ) อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภาพ: ภายุศักดิ์ ยังจรูญ

ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของธุรกิจนี้จะพบเจอปัญหา เนียง เฮียงหล้า แม่ค้ารถพ่วงส้มตำผู้ติดตามหมอลำทั่วจังหวัดขอนแก่นมากว่า 20 ปี ฐานลูกค้าเธอคือแดนเซอร์ของวงต่างๆ แม้ก่อนโควิดเธอจะใช้รถยนต์และขายอาหารอย่างอื่น อย่าง ก๋วยเตี๋ยวและลูกชิ้นปิ้ง แต่เมื่อวิกฤตการณ์โควิดมาเยือน เธอจำเป็นต้องปรับตัวและสู้ด้วยการถอย

“ตอนนั้นแม่เปิดร้าน เปิดมา 7 ปี มีรายได้เดือนละ 7,000 บาท พอมาเจอโควิดแม่สู้ไม่ไหวเลย ต้องยุบร้าน ปกติแม่มีร้านด้วย แต่พอโควิดมาก็ต้องยุบ ไปต่อไม่ไหว”

โซเชียลมีเดีย หนทางการเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง

แม้สถานการณ์จะบีบคั้นให้ผู้คนต้องยอมแพ้ต่อโชคชะตาที่มากับโรคระบาด หมอลำ หนึ่งในสื่อบันเทิงที่เป็นดีเอ็นเอชาวอีสานมานาน ยังคงดิ้นรนปรับตัวเพื่อให้ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานมีชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤติ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมอลำจะต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง แม้ความท้าทายครั้งนี้จะมาพร้อมกับกระแสความนิยมในโซเชียลก็ตาม 

“พอเราไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ เราเลยต้องทำการแสดงอยู่แค่ในอาณาจักรหมอลำของเรา โดยการแสดงและชมผ่านออนไลน์ คือช่องทางไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก”

บอสโจ นึกย้อนให้เห็นสถานการณ์การปรับตัวครั้งใหญ่ของคณะหมอลำตนเอง ที่ต้องเปิดทำการแสดงภายในพื้นที่บ้านพัก และเก็บค่าเข้ารับชมผ่าน “กลุ่มปิด” หรือกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการแสดงหมอลำผ่าน Facebook Live เพื่อให้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปก่อน  ในขณะที่หมอลำรอคอยมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้ฤดูกาลแสดงหมอลำกลับมาอีกครั้ง

“ยุคนี้เป็นยุคของโซเชียล แต่ก่อนเป็นยุคของแผ่นซีดี วิดีโอ คือเป็นหมอลำทางวิดีโอแล้วมาเป็นวีซีดี แล้วยุคทุกวันนี้เป็นยุคของโซเชียล ยูทูป ติ๊กตอก แฟนเพจ”

สาวน้อยเพชรบ้านแพง หมอลำคณะแรกที่เริ่มแสดงบนพื้นที่โซเชี่ยล กลายมาเป็นคณะหมอลำที่มีผู้ติดตามในยูทูปและเฟซบุ๊กมากกว่า 1 ล้านคน ด้วยความเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ไม่ได้อยู่หน้าเสื่ออีกต่อไป หมอลำวิถีใหม่กำลังทำการแสดงทั้งหน้าเวทีและหน้าจอของผู้คนทั่วโลก

บันทึกการแสดงสด คอนเสิร์ตสาวน้อยเพชรบ้านแพง ไลฟ์สตรีมผ่านกลุ่มปิดเฟซบุ๊ก ก่อนจะนำมาเผยแพร่ในภายหลัง ในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19

จากวิกฤติสู่โอกาส หมอลำไม่ได้สร้างรายได้แค่ในอุตสาหกรรมท้องถิ่นจากสายตาผู้ชมในท้องที่อีกต่อไป เพราะอาชีพใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมควบคู่วงการหมอลำคือ ทีมไลฟ์สตรีมมิ่ง 
ภัคธร มุขเชิด หนึ่งในทีมงานสตรีมมิ่งให้กับวงหมอลำ กลายมาเป็นส่วนสำคัญของแต่ละค่ำคืน ทีมงาน 5-6 คน กำลังจัดการตั้งค่ากล้องและเลนส์ขนาดใหญ่ อุปกรณ์และเทคนิคต่างๆ ถูกจัดตั้งในเวลาพลบค่ำเพื่อถ่ายทอดสดทั่วโลกในค่ำคืนนี้ ภัคธร เล่าว่า อาชีพนี้เกิดขึ้นในช่วงโควิดกำลังระบาด เพราะแต่ก่อนงานไลฟ์ตรีมมิ่งจะอยู่กับโชว์รูมหรืองานไลฟ์อื่นที่ไม่ใช่หมอลำ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ปิด หมอลำจึงมีกลุ่มปิด ที่เก็บค่าเข้าชมออนไลน์ ผ่านการสตรีมมิ่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นกับการแสดงออนไลน์ที่ผู้ชมยังคงติดตามและมอบมาลัยออนไลน์ให้แก่หมอลำอยู่เสมอ

“ในสมัยก่อนระบบโซเชียลยังคงไม่เข้าถึงง่ายเหมือนทุกวันนี้ แต่เมื่อทุกวันนี้มีโซเชียลเข้ามาหลากหลายรูปแบบ โซเชียลเลยกลายมาเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดให้ทุกคน ทั้งคนที่อยู่ต่างประเทศ หรือคนที่อยู่ห่างไกลจากเวที ได้รับชมหมอลำได้ง่ายขึ้น” 

ขณะที่รายได้ของยูทูปใน 1 ล้านยอดชม มีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 10,000 บาทหรือมากกว่า ประกอบกับรายได้สถานการณ์ปกติของหมอลำเป็นค่าว่าจ้าง หรือจำนวนผู้ชมต่อค่ำคืนที่หลั่งไหลมารับชมไม่ต่ำกว่าพันคน ในราคาบัตรเข้าชม 100-200 บาท ตลอดระยะเวลา 10 ชั่วโมงการแสดง หมอลำกลายมาเป็นธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ของภูมิภาคโดยปริยาย ไม่ใช่เพียงผู้ชมและนักแสดงหน้าเวที ยังคงมีเบื้องหลังอีกมากมาย อาทิ คอนวอย หรือผู้ประกอบสร้างเวทีขนาดมหึมา ช่างแต่งหน้า ผู้ออกแบบท่าเต้น ผู้ประพันธ์กลอนลำ ฝ่ายศิลป์ พ่อครัวแม่ครัว ช่างตัดเย็บ และพ่อค้าแม่ค้าที่ติดตามไป

ผศ.ดร. ศิวาพร ฟองทอง ผู้วิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจและสังคมของคนอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร. ศิวาพร ฟองทอง ผู้วิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจและสังคมของคนอีสาน Morlum (Northeastern – style singers) and socio-economic of Esan people โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล่าถึงสถานการณ์ของหมอลำที่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของยุคสมัยตลอดเวลาว่า 

“ความน่าสนใจของคณะหมอลำคือ ขณะที่หลายอาชีพหายไปกับโควิด หมอลำมีการแตกตัวและตั้งคณะใหม่กว่า 4 คณะ นอกจากหมอลำจะยังอยู่แล้วยังมีการปรับตัวในการนำเสนอ เช่น หนุ่มโจ (ผู้จัดการหมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง) ก็มีตัวตนในโลกออนไลน์ ทำให้มีรายได้จากช่องยูทูปของเขาเอง และผลักดันให้คนในวงมีช่องทางออนไลน์เป็นของตนเอง ถ้าเราลองมองดู นี่เหมือนการสร้างฐานแฟนคลับ และติดตาม เปิดตัวตนบนโลกออนไลน์ ก่อนจะแยกไปตั้งวงเองแล้วมีแฟนคลับตามไป ซึ่งคล้ายกับวงเกาหลี”

อุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เมื่อปี พ.ศ. 2565 หลากหลายธุรกิจได้ปิดตัวลง ทว่าหมอลำได้กลับมาโลดแล่นในเส้นทางบันเทิงอีกครั้ง บรรยากาศของค่ำคืนที่ผู้คนหลั่งไหลจากแทบทุกสารทิศ แสง สี เสียง ถูกจัดตั้งเมื่อยามบ่ายแก่ แดนเซอร์หลายสิบชีวิตใต้เวทีกำลังขะมักเขม้นแต่งเติมสีหน้าดังเช่นนักแสดงเกือบร้อยชีวิต ผู้คนจับจองพื้นที่เพื่อให้ได้มุมมองที่ดีที่สุดตั้งแต่บ่ายคล้อย และผู้ชมกำลังทยอยซื้อบัตรเข้างานจากหน้ารั้วสังกะสีกั้น

นิตยา เสนานิคม แม่ค้าข้าวโพดปิ้งบอกว่า แม้เธอจะอายุมากจนไม่สามารถอยู่ขายข้าวโพดและมันปิ้งจนถึงเช้าที่หมอลำแสดงเสร็จสิ้น แต่ด้วยใจรักและโอกาสในการค้าขาย ค่ำคืนนี้เธอจะอยู่ถึงเวลาตี 3 ซึ่งของที่เตรียมมาคงจวนจะหมดแล้ว เธอเตรียมข้าวโพดมา 150 ฝัก จากปกติขายได้ 50-100 ฝักต่อวัน ซึ่งรายได้เธอเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวหากเทียบกับที่ขายอยู่ริมทาง เธอเล่าด้วยสีหน้าอมยิ้มว่า ถ้าหมอลำมาแสดงใกล้ๆ หรือไม่ไกลมากเกินเธอก็จะไป ส่วนหนึ่งเพราะชื่นชอบ อีกเหตุผลคือโอกาสในการค้าขายที่เพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับ เนียง เธอหัวเราะร่วนเมื่อพูดถึงครั้งที่เธอเอารถพ่วงส้มตำตามค้าขายไปกับเวทีหมอลำ 

“บางทีตั้งใจจะไปคืนเดียว แต่ไหลไปกับหมอลำเลยก็มีนะ อย่างเช่นไปบ้านเกิ้ง แล้วไปถึงอำเภอชนบทก็มี เสื้อผ้าก็ไปซื้อใส่ด้านหน้าเอา (หัวเราะ) เพราะมันเจองานใหญ่ไง พอเจองานใหญ่ก็ไหลไปตามสถานการณ์ เสื้อผ้าค่อยไปซื้อข้างหน้าเอาใหม่ แม่เป็นบ่อย ก็คนมันชื่นชอบอาชีพนี้ (หัวเราะ)”

ผศ.ดร. ศิวาพร กล่าวถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หมอลำเป็นตัวกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในวงหมอลำและผู้ชมหมอลำว่าสร้างมูลค่ามากเพียงใดในระบบเศรษฐกิจ

“มูลค่าทางเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่การเดินทาง ค่าที่พักและอาหารระหว่างการเดินทาง ซึ่งผู้ชมคิดเป็นร้อยละ 15 ที่มาชมหมอลำในระยะทางไกลว่า 100 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับแบบนั่งเครื่องบินหรือขับรถมา ยังไม่รวมค่าเริ่มต้นการดูหมอลำตลอดคืน เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถั่วต้ม มะม่วง เสื่อ (ผ้าปู) ซึ่งถ้ามองเข้าไปที่การผลิตแอลกอฮอล์ หากเรามีการซื้อเยอะแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มองย้อนไปที่อุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์ เขาก็จะมีการจ้างงานขึ้นมา การจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้น เขาเรียกว่า Multiplier effect (ผลคูณทวีต่อระบบเศรษฐกิจ) ถ้าพูดถึงตัวยอดเงิน มูลค่าในช่วงก่อนโควิด เขาสามารถร่วมกันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เฉพาะการจ้างงานในภาคอีสาน มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท สถานการณ์ปกติ หมอลำมีมูลค่ารายรับประมาณ 700 ล้านบาท ต่อวงต่อฤดูกาลแสดง”

แผนภาพ Value Chain ในอุตสาหกรรมหมอลำ แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศเศรษฐกิจในการทำการแสดงต่อครั้งของวงหมอลำ ที่มา: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2564

เช่นเดียวกันกับ ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน เล่าว่า 

“เวลาหมอลำไปแสดงที่ไหน มันมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือ Multiplier Effect เป็นจำนวนมาก กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต่างๆ ที่อยู่ในตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี ชุดการแสดง การออกแบบการแสดง ไฟ แสง สี เสียง สังกะสีล้อม แม้กระทั่งถั่วลิสง มะม่วง หรือเสื่อที่ไปขายอยู่ในงานที่มีหมอลำ ลูกชิ้น หรือ อาหารที่ไปขายอยู่หน้าเวทีหมอลำ เป็นเศรษฐกิจทั้งหมด ไปแสดงที่หมู่บ้านไหน จะมีคาราวานตามไป ส่วนหนึ่งก็อยู่ในพื้นที่นั้น โอ้โห ถ้าไปติดตามจริงๆ  มันจะเป็นอะไรที่เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้ดีมากๆ แล้วทำให้คนมีงานทำ หลายคนเป็นนักสร้างสรรค์ ที่ไม่จำเป็นต้องไปทำงานกรุงเทพฯ แล้ว บางวงรับสมัครแอดมิน เงินเดือนประมาณ 2 หมื่นบาท มาทำหน้าที่ในการโพสต์ ในการออกแบบโปสเตอร์ สังเกตไหมหมอลำทุกวันนี้จะไปแสดงจังหวัดไหน วันรุ่งขึ้นจะแสดงจังหวัดนี้ เขาจะเริ่มโพสต์แล้ว ถ้าไปแสดงแถวบุรีรัมย์ ก็จะมีประสาทหินพนมรุ้ง ถ้าไปแสดงแถวอุดรฯ ก็จะมีทะเลบัวแดง ถ้าไปแสดงตรงไหนก็จะโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวนั้นไปด้วย”

ภาพโปสเตอร์ โปรโมตผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ คณะหมอลำระเบียบวาทะศิลป์
ที่เผยแพร่ก่อนวันทำการแสดงโดยอ้างอิงจากสถานที่ท่องเที่ยว และเอกลักษณ์ของจังหวัดที่ทำการแสดง 
ที่มา: ระเบียบวาทะศิลป์ แฟนเพจ

 พ.ศ. 2566 ช่วงเวลาแห่งความหวัง เมื่อวันเลือกตั้งใกล้มาถึง

“ที่ผ่านมาเราเอาตัวรอดด้วยตัวของเรามากกว่า ถามว่ารัฐบาลช่วยไหม อะไรยังไง พูดตรงๆ ตั้งแต่โควิดมาก็เหมือนแค่ประชุมให้มันผ่านไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม มีแต่นามธรรมที่บอกว่าจะช่วยเหลือก็ไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากมายเลย” 

บอสโจ กล่าวถึงครั้งที่วงสาวน้อยเพชรบ้านแพงต้องเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่ผู้คนต่างฟันฝ่า ความหวังของผู้จัดการวงหมอลำอยากจะเห็นคนในวงได้มีความเป็นอยู่ที่ดีเล่าถึงความหวังที่รัฐไม่เคยหยิบยื่นมือให้ 

“อยากได้รัฐบาลที่มาดูแลศิลปิน ดูแลวัฒนธรรม ถ้าเพิ่มเติมยากอีกหน่อยก็คงเป็นสวัสดิการ ทำความเป็นอยู่ต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม หรืออาจเป็นรูปแบบการช่วยเหลือผ่านการจ้างงานของรัฐ เช่น โปรโมตประเทศ งานของทางกระทรวงวัฒนธรรม อาจจะจ้างหมอลำไหม ซึ่งไม่จำเป็นวงสาวน้อยเพชรบ้านแพงก็ได้ คือช่วยเหลือผ่านการจ้างงานแสดง หรือป้อนงานให้คณะหมอลำต่างๆ เช่น เดือนนี้มีงานของรัฐ 5 วัน ก็สลับหมุนเวียนหมอลำคณะต่างๆ ซึ่งเป็นงานอะไรก็ได้ของรัฐ เช่น ชิม ช็อป ใช้ หรือ 1 ตำบล 1  ผลิตภัณฑ์ แบบนี้ ก็สามารถเอาหมอลำไปช่วยโปรโมต ก็จะเป็นการช่วยเหลือหมอลำไปในตัวด้วย”

แดนเซอร์วงหมอลำ สาวน้อยเพชรบ้านแพง ขณะแต่งตัวก่อนขึ้นทำการแสดงหน้าเวที
ภาพ: ภายุศักดิ์ ยังจรูญ

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายสรรค์สร้าง Soft Power ผ่านสื่อ หมอลำ ในฐานะศิลปะและวัฒนธรรมที่มีพลวัตตามยุคสมัย หล่อเลี้ยงผู้คนหลากหลายอาชีพ แต่ยังคงไร้การจัดการอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล

ผศ.ดร. ศิวาพร กล่าวถึงความพยายามที่จะขยายพื้นที่ของหมอลำจากลานกว้างสู่ห้องแอร์ว่า “ที่ผ่านมามีการรวมกลุ่มโดยวัฒนธรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ที่พยายามรวมการแสดงโดยการเข้าชมโครงการหมอลำและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ได้รับการเผยแพร่ที่ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษกฯ มข. ซึ่งผลตอบรับดี ทำให้หลายคนแปลกใจว่าเขาไม่คิดว่าจะดูหมอลำจนจบการแสดงก็ดูจนจบได้ แต่ตรงนั้นมันไม่ใช่บริบทหมอลำ 100% เพราะมันจัดอยู่ที่ห้องแอร์ แต่ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจเขาก็ให้ความสนใจมากขึ้น”

ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน

ขณะที่ ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายรัฐยังไม่สามารถส่งเสริมศักยภาพด้านธุรกิจของหมอลำ ด้วยทั้งตัวกฎหมายและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ เพราะหมอลำ ไม่ใช่องค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะนิติบุคคล

“ทีนี้เมื่อเรามาดูว่า เอ๊ะ มันจะมีใครสักคนหนึ่งไหมที่มองเห็นปัญหาตรงนี้ ซึ่งก็มีการเรียกร้องมาเป็นระยะๆ ว่าจะมีใครสักคนหนึ่งไหม ที่จะหยิบเอาประเด็นขององค์กรทางวัฒนธรรมลักษณะเช่นนี้ มาดีไซน์เพื่อให้กฎหมาย facilitate (เอื้ออำนวย) การทำงานของเขา เพราะอย่าลืมว่าเมื่อมา facilitate การทำงานของเขามันจะทำให้เขามีความรู้สึกมั่นคง มันจะกลายเป็นอาชีพ มันไม่ใช่ความผิวเผินแล้ว มันจะกลายเป็นอาชีพ มันจะถูกที่ถูกทาง แต่ ณ  ตอนนี้ดูเหมือนกับว่าตัวองค์กรหมอลำเองต้องไปปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ ที่เขาออกแบบไว้อีกแบบหนึ่ง มันก็เลยยังไม่ได้มาเจอกันสักที ซึ่งก็ยังไม่ได้เห็นพรรคการเมืองไหนมาหยิบยกประเด็นนี้ ในระยะเวลาที่ผ่านมา กระทั่งว่าหมอลำได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น จนฟีเวอร์ มีดารา หมอลำ ไปแสดงที่ไหนก็ได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ออนไลน์ ภาครัฐเองก็เริ่มที่จะให้ความสนใจ แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสนใจของภาครัฐที่อยู่ส่วนกลาง แต่จะเห็นเพียงภาครัฐที่อยู่ในระดับพื้นที่มากกว่า”

ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ฟังดูห่างจากความหวังของศิลปินในอุตสาหกรรมนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมอลำต้องเผชิญปัญหา แต่การเป็นศิลปินท้องถิ่นสู่มหาชน บนเส้นทางบันเทิงเชิงวัฒนธรรมนี้ หมอลำคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังคงเลี้ยงปากท้องประชาชนที่ทำมาหากินตลอด 8 เดือนในฤดูการแสดงของปี
“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลส่งเสริมหมอลำ เพราะถ้าหมอลำทำการแสดงทีมไลฟ์ก็จะได้มีงานไปด้วย” ภัคธร ทีมงานไลฟ์ตรีมมิ่งกล่าว

Soft Power ไทย ที่รัฐไทยไม่เหลียวแล

ความต้องการของรัฐสวนทางกับความเป็นไปของกระแสนิยม Soft Power ถูกนำมาหยิบยกเป็นประเด็นสนทนาไปจนถึงนโยบายของภาครัฐในหลายมิติของสังคม ขณะที่บทเพลง และเสียงร้องลำยังคงแผ่ขยายความบันเทิงในฐานะผู้ให้ความสุขกับสังคม

การเดินทางของหมอลำสะท้อนพลวัตในสังคมมาช้านาน เนิ่นนานเกินกว่ารัฐไทยจะเข้าใจและดำเนินการสร้าง Soft Power เสียด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องหมายการันตีการยอมรับในฐานะศาสตร์และศิลป์ในสายตาของรัฐไทย หมอลำจึงเป็นเพียงการแสดงพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยม

“มันควรจะมีกองทุนอะไรสักอย่าง ที่ทำให้เขาสามารถกู้เงินมา หรือเป็นแหล่งทุน ในการที่จะมาสร้างอาชีพ สร้างงานตรงนี้ได้ ดังนั้นตอนนี้หมอลำก็ยังพึ่งตัวเองนะครับ สังเกตไหมคณะที่อยู่รอดปลอดภัยมา ส่วนใหญ่ก็จะมีสายป่านที่ยาว คือมีเงินเก็บส่วนหนึ่ง มีทรัพย์สินที่เก็บไว้ สั่งสมมาตลอดระยะเวลาในการประกอบอาชีพของตัวเองส่วนหนึ่ง แล้วก็มาได้ในช่วงนี้แหล่ะ หลังโควิดที่มีช่องทางมากขึ้นเพิ่มขึ้น อะไรอย่างนี้ที่ทำให้เขามองเห็นช่องทางการหารายได้ แต่ ณ ปัจจุบันความยั่งยืนมันก็ยังๆ แขวนอยู่บนเส้นด้าย เขาไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร กระแสจะเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าหมอลำจะไปต่อได้”

หากพิจารณาวิธีการดำเนินนโยบายและสร้าง Soft Power รายชื่อผู้ดำเนินการต่างมาจากการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์ที่ไร้คนจากวงการหมอลำเข้าไปมีบทบาท แม้เราจะพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่านี่คือวัฒนธรรมไทยที่สนุก ตื่นตา เร้าใจ และเลี้ยงผู้คนได้ แต่การดูแลและความเข้าใจของรัฐกลับไม่เป็นตามความนิยม

“มันมีความท้าทายอยู่ว่าเราต้องเข้าใจคำว่าซอฟท์พาวเวอร์ หมอลำเอง หรือคนที่จะพัฒนาศิลปะทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ศิลปิน คือทุกองคาพยพของการแสดง ต้อง define (กำหนดความความหมาย) ของ Soft Power ดีๆ ก่อนว่าที่จริงแล้วคืออะไร อะไรคือเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่อยู่นอกสังคมหมอลำเขาซื้อ ซึ่งผมเชื่อว่าหมอลำมันไปได้ มันมีโอกาส เพราะอย่าลืมว่าหมอลำตอนนี้มันไม่ได้แสดงที่แถวบ้านเราอย่างเดียวแล้ว มีการนำไปโชว์ในต่างประเทศ แม้แต่ที่ญี่ปุ่นมีผับ ผับอีสานที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ มีการสะสมเทปและแผ่นเสียงเก่าๆ ของหมอลำอีสาน แล้วก็มีการเอาหมอลำอีสานไปแสดงเป็นประจำทุกปี คนไปดูหมอลำ 100% เป็นคนญี่ปุ่น  ไม่รู้เขาเข้าใจเนื้อหาที่ลำหรือเปล่า แต่เขาอินในจังหวะ เขาอินในถ้อยคำที่หมอลำๆ ออกมา คือมันเป็นภาษาศิลปะ อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถเรียกได้ว่าคือ Soft Power มันทำให้คนต่างวัฒนธรรมมาเชื่อมกัน”

ความเป็นไปได้ของ Soft Power ในตัวหมอลำ หลายครั้งที่รัฐไทยหรือคนไทยเองเปรียบเทียบอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกับประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะประเทศที่ประสบผลสำเร็จเรื่อง Soft Power “หมอลำ” ศาสตร์และศิลป์ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม ที่มีพลวัตตามยุคสมัยกว่าครึ่งสหัสวรรษยังคงยืนด้วยลำแข้งตนเอง พร้อมกระแสนิยมที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน 

ความท้าทายของการสร้าง Soft Power ไทยไม่ใช่เพียงการถอดรหัสความสำเร็จของเกาหลีใต้ ในพื้นที่ความต้องการของผู้ชมทั่วโลก อาจมีหมอลำที่ปลุกเร้าความม่วนในใจผู้ฟังได้ แต่กว่าที่ไทยจะไปถึงจุดนั้น เราจำเป็นต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า แรงผลักดันหรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้มีมากเพียงใด และที่สำคัญ รัฐไทยพร้อมส่งเสริมความเป็นไปได้นี้ในฐานะ Soft Power ของประเทศไทยหรือไม่ ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม ตั้งคำถามทิ้งท้าย

image_pdfimage_print