1

ดีเบตพรรคการเมืองเรื่องสิทธิมนุยชน แก้มาตรา 112 ยี้ 250 ส.ว. ยกเลิก รธน. 60 ชู รธน.ประชาชน

เวทีดีเบตวาระสิทธิมนุษยชน ภาคอีสาน “ไทยสร้างไทย” และ “ก้าวไกล” เห็นด้วยเรื่องแก้มาตรา 112 ในสภา ทุกพรรคเห็นด้วยเรื่องกระจายอำนาจ ‘“ไทยภักดี” ยี้ 250 ส.ว. “สามัญชน” ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

28 เมษายน 2566 ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น แอมเนสตี้ประเทศไทย ร่วมกับ The Isaan record  The reporter กลุ่มทะลุ มข. กลุ่มก่อการสิทธิเด็ก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีดีเบต “เลือกตั้ง 66 วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมีตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ประกอบด้วย ปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย วีรนันท์ ฮวดศรี พรรคก้าวไกล โตบูรพา สิมมาทัน พรรคเสรีรวมไทย สุขสันต์ แสงศรี พรรคไทยภักดี และภรณ์ทิพย์ สยมชัย พรรคสามัญชน ร่วมในเวที

ปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย

ปริเยศ กล่าวในประเด็นการแก้กฎหมายที่ยังจำกัดหรือกดขี่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง รวมถึงการยกเลิกข้อกล่าวหากับผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสิทธิในการชุมนุมมีอย่างจำกัด สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือมีเยาวชนที่ต้องโดนจำกัดสิทธิทั้งที่ออกมาแสดงสิทธิตามกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งในช่วงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเกือบ 200 เหตุการณ์ และมีเยาวชนถูกจับกุมร่วม 300 คน ดังนั้น ในเรื่องสิทธิการชุมนุมพรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนว่าในทุกการชุมนุมจะต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยในระยะหลังเยาวชนมีแนวโน้มเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นถ้าหากไม่มีพื้นที่ในการให้เขาได้แสดงออกทางความคิดเห็นต่างๆ ในระยะยาวจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ทั้งนี้ในส่วนของมาตรา 112 หรือมาตราใดๆ ก็ตามที่เยาวชนหรือบุคคลต่างๆ ถูกใช้กฎหมายเหล่านี้ในทางการเมือง พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และกฎหมายมาตราเหล่านี้จะต้องถูกนำไปพูดคุยกันในสภา ขณะเดียวกันหากมีผู้ใดใช้มาตรานี้เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองหรือใช้ในการทำร้ายผู้อื่น เราเสนอให้ลงโทษด้วย ซึ่งเป็นจุดที่พรรคไทยสร้างไทยต่างจากพรรคอื่นแน่นอน ซึ่งการนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้ในทางการเมืองล้วนแต่เกิดผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นผลเสียต่อสถาบันของชาติหรือประชาชนเองก็ตาม

ปริเยศ ยังกล่าวถึงสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมถึงคนไร้บ้าน ว่า เรื่องของปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้มีแต่เพียงในพื้นที่เปราะบางเท่านั้น การลงพื้นที่ของผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทยหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเขตเมืองในต่างจังหวัดทุกพื้นที่มีปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด นำมาซึ่งปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุข สิทธิทางการด้านศึกษา หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า พรรคไทยสร้างไทยต้องการเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ คิดว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้น่าจะยังไม่เพียงพอ และต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับทางกระทรวงมหาดไทยด้วย ต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้โดดลงมาในการบริหารจัดการตรงนี้เท่าไร เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ หากไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาลต้องมีการบูรณาการร่วมกันในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ กระทรวงการพัฒนาสังคมเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณน้อยมาก ทั้งที่ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ แต่กระทรวงมหาดไทยมีงบประมาณเหลือเฟือที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

ปริเยศ ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องการส่งเสริมสุราก้าวหน้าของประชาชน สิทธิในการประกอบการสิทธิในการผลิต ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มีคุณภาพและหาเงินได้เราต้องไม่ปิดกั้น นี่คือสิ่งที่ไทยสร้างไทยผลักดันเพื่อคนตัวเล็กมา และทำมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งพรรค สิ่งทั้งหมดเหล่านี้เราทำเรียบร้อยแล้ว ขอแค่ให้โอกาสไทยสร้างไทยเข้าไปอยู่ในสภาเพื่อผลักดันเพิ่มเติมในกรณีนี้ เรื่องนี้สำคัญมากเพราะเป็นการสร้างและระเบิดพลังให้กับท้องถิ่น รวมถึงบุคคลที่มีศักยภาพในการหาเงิน และในการประกอบอาชีพ นอกจากนั้นพรรคยังสนับสนุนในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย โดยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาว่าเราสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่

วีรนันท์ ฮวดศรี พรรคก้าวไกล

วีรนันท์ กล่าวว่า วันนี้พรรคก้าวไกลเรามีความห่วงใยในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นิสิต นักศึกษา หรือคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ส่วนคำถามว่ากฎหมายใดที่เป็นกฎหมายปิดกั้นหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก อันดับแรกก็คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ตนมีโอกาสเป็นทนายความในหลายคดี เรื่องนี้มีปัญหาทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและตัวบทกฎหมายเอง พรรคก้าวไกลเห็นว่ามาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษ 3-15 ปี เป็นอัตราโทษที่รุนแรงเกินไป เมื่อเทียบกับต่างประเทศหรือสากล อัตราโทษนี้เท่ากับการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้เปลี่ยนโทษในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์จาก โทษจำคุก 3-15 ปี เป็น 0-1 ปี และปรับไม่เกิน 3 แสนบาท ในส่วนพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โทษจำคุก 0-6 เดือน  และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  ส่วนในเรื่องการฟ้องร้อง ก็เห็นว่าควรปรับให้เป็นสำนักพระราชวัง หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากสำนักพระราชวัง เพื่อตัดปัญหาในเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือดำเนินการกับผู้เห็นต่าง รวมถึงการย้ายมาตรานี้ออกจากกฎหมายหมวดความมั่นคง ประเด็นต่อมาที่สำคัญพอๆ กับมาตรา 112 คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในเรื่องการยุยงปลุกปั่น  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การฟ้องปิดปาก  เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราชาวก้าวไกลมุ่งเน้นไปแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น

วีรนันท์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายที่เด่นที่สุดของพรรคก้าวไกลนั้น 3 เสาหลักของพรรคก้าวไกล คือ การเมืองดี ปากท้องดี ทุกคนมีอนาคต นอกจากความเด่นทางด้านนโยบายทางการเมืองของก้าวไกล การเอาทหารออกจากการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 100 วันแรก สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของก้าวไกลก็คือทำเรื่องปากท้องไปพร้อมกับการเมือง โดยเรามีนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้าที่ดูแลทุกคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สำหรับวัยทำงานเรามีค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ที่ทำได้ทันที พร้อมกับสูตรคำนวณว่าค่าแรงต้องเพิ่มทุกปี การรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงานได้ และสวัสดิการผู้สูงอายุ 3,000 บาท  เป็นต้น

วีรนันท์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจเป็นลำดับต้นๆ เพราะว่าการปลดล็อกการกระจายอำนาจคือกุญแจดอกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ศักยภาพของท้องถิ่นคือการปลดปล่อยและการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจของท้องที่ โดยพรรคก้าวไกลจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัด มีการจัดการงบประมาณกันเองภายในจังหวัด โดยส่วนกลางไม่ต้องยุ่งในเรื่องนี้

โตบูรพา สิมมาทัน พรรคเสรีรวมไทย (เสื้อสีขาว)

ด้านโตบูรพา กล่าวถึงการเพิ่มสัดส่วนสตรีและความหลากหลายทางเพศในการเมืองหรือฝ่ายบริหาร การยุติการใช้ความรุนแรง รวมถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ว่า ตนเป็นแมน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตนจะถูกเหยียดว่าเป็นกะเทยมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นคนที่ดูสุภาพ มีผิวขาว จึงถูกเหน็บแนมมาตลอดจนรำคาญ บางทีเราจึงต้องเปิดโลกกว้างว่าโลกใบนี้เป็นโลกของความหลากหลาย เราเองอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกใช้ชีวิตได้ ซึ่งในส่วน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็เห็นว่าไม่ได้เลวร้ายอะไร และเป็นสิทธิของเขา ส่วนในประเด็นเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พรรคเรามีเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเป็น 1 ใน 14 นโยบาย ที่จะนำไปดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป 

โตบูรพา กล่าวว่า ในเรื่องสิทธิของพนักงานบริการ หากเห็นตัวอย่างว่าในต่างประเทศ เช่น ยุโรป ทำแล้วได้ผล ก็เห็นว่าควรนำมาดำเนินการได้  ขณะที่การส่งเสริมสุราก้าวหน้าของประชาชน เห็นว่าใครใคร่ค้าๆ ใครใคร่ขายๆ อย่าให้ผูกขาดแต่กลุ่มนายทุน โรงงานหรือคนรวยๆ ในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นใครอยากทำก็ให้ทำไป โดยต้องทำให้มีคุณภาพ  ซึ่งเรามีโครงการกองทุนหมู่บ้าน และจะจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย  ทั้งนี้หากไม่มีการรัฐประหารสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ จะงอกงามขึ้น ถ้าเราหยุดเรื่องปฏิบัติได้ทุกอย่างจะดีขึ้น สำหรับนโยบายเด่นของพรรคเสรีรวมไทย คือการปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน  การปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งการปราบโกงปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้พรรคเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย

สุขสันต์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำว่า ในนามพรรคไทยภักดีสิ่งที่อยากบอกทุกคนคือก่อนที่เราจะกำหนดนโยบายของพรรคเรามีการวิเคราะห์  โครงสร้างของประเทศ เราต้องคำถามว่าจริงๆ แล้วประเทศเรามีปัญหาอะไร สิ่งที่เป็นคำตอบก็คือการต่อสู้กับทุนผูกขาดอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเรื่องค่าไฟที่ประชาชนกำลังมีปัญหาเดือดร้อนทั่วแผ่นดินในทุกวันนี้ ก็เป็นปัญหาจากทุนผูกขนาด ดังนั้นสิ่งที่เป็นนโยบายและเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยภักดีเสนอตั้งแต่วันเปิดพรรคก็คือเรื่องของการปราบโกง ถ้าไม่ปราบโกงมันทำอะไรยาก งบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านๆ ปี 2565 หายไป 3 แสนล้าน อย่างน้อย 10 % หายไปเพราะการโกงและการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าไม่แก้ปัญหาจากการโกงเราแก้ปัญหาเรื่องอื่นลำบาก ดังนั้นต้องสู้กับนายทุนก่อน จึงจะแก้ปัญหาของประชาชนได้  และรวมทั้งต้องมีการปฏิวัติพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

สุขสันต์ แสงศรี พรรคไทยภักดี

สุขสันต์ กล่าวอีกว่า ตนอยากพูดถึง 250 ส.ว. ต้องยืนยันว่าพรรคไทยภักดีไม่เห็นด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า ส.ว. เหล่านี้ได้ใช้อำนาจเพื่อตอบสนองกับผู้ที่แต่งตั้งมาไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แนวคิดของพรรคไทยภักดีในเรื่อง ส.ว. นั้นเราเคยมีปี 2540 ที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดก็ล้มเหลวเพราะสุดท้ายก็เป็นทาสที่ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง 100%  ส่วน ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดในปัจจุบันก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ไทยภักดีพยายามเสนอคือจะทำอย่างไรให้สัดส่วนของ ส.ว. บาลานซ์และมีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างลงตัว อาจจะมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาชีพต่างๆ ส่วนหนึ่งที่เขาเสนอชื่อมาแล้วประชาชนเลือก  อีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งต้องกำหนดไว้ว่าไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาแล้วอย่างน้อยกี่ปี เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง เพราะวุฒิสมาชิก ต้องมีวุฒิภาวะและเป็นเสาหลักให้กับบ้านเมือง และที่สำคัญต้องยึดโยงกับประชาชน

ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจ สุขสันต์ กล่าวว่า พรรคไทยภักดีสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าลักษณะของการกระจายอำนาจต้องไม่ใช่การแบ่งแยกอำนาจ ตนยกตัวอย่าง กทม. วันนี้ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจเรื่องเก็บขยะไปทิ้ง เวลาฝนตกก็แก้น้ำท่วม ไม่ได้มีอำนาจจริงจังมากเท่าไร แต่คน กทม. เขาก็มีความสุขที่ได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. เอง สำคัญที่สุดก็คือว่าเราควรจะได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนของเราเอง แต่ว่าลักษณะของอำนาจต้องเป็นการกระจายอำนาจ เพราะบางประเทศก็ไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราเป็นแผ่นดินใหญ่ บางประเทศเขาเป็นรัฐก่อนแล้วไปรวมเป็นแผ่นดินทีหลัง ดังนั้นลักษณะการกระจายอำนาจกับการแบ่งอำนาจบ้านเรากับที่อื่นอาจจะไม่เหมือนกันถ้ากระจายอำนาจสนับสนุนเต็มที่ อย่างไรก็ตามก่อนกระจายอำนาจต้องแก้ในเรื่องความทับซ้อนของโครงสร้างการใช้อำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นด้วย และต้องให้อำนาจกับท้องถิ่นให้มาก รวมทั้งท้องถิ่นต้องเขียนนโยบายด้วยตัวเอง เพราะรัฐสายตาสั้น ไม่มีทางที่จะมองเห็นอะไรได้ทั่วถึงเท่าชาวบ้าน ดังนั้นอำนาจต้องอยู่ที่เขา ทำนโยบายต้องอยู่ที่เขา เอาอำนาจเอาการมีส่วนร่วมไปให้ชาวบ้านเยอะๆ เป็นสิ่งที่ไทยภักดีเห็นด้วย

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย พรรคสามัญชน

ภรณ์ทิพย์ กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน คือเราจะต้องมีสิทธิในดิน น้ำ อากาศ น้ำสะอาด อากาศบริสุทธ์ ที่ดินที่ทำกิน การเมืองคือเรื่องปากท้องเราไม่สามารถแยกการเมืองออกจากเรื่องปากท้องเรื่องการดำเนินชีวิตของพวกเราได้ ตนร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการต่อสู้ในชุมชน ถูกดำเนินคดีทั้งจากนายทุนและรัฐ ถูกละเมิดสิทธิ์ทั้งที่นายทุนเข้ามาทำเหมืองในพื้นที่ ทั้งรัฐและนายทุนพยายามปิดปากชาวบ้าน  ดังนั้นพรรคสามัญชนจึงมีนโยบายทั้งเรื่องสิทธิในการชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้เราออกมาเรียกร้องเพื่อปากท้องของเราได้ รวมทั้งมีนโยบายเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องความหลากหลายทางเพศ

พรรคพยายามจัดสัดส่วนผู้สมัครให้มีเพศหญิงมากที่สุด ตลอดจนพยายามผลักดันสวัสดิการคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่ทำงานกลางคืน Sex workers หรือพนักงานบริการ โดยกำลังร่วมผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองคนกลุ่มนี้ด้วย  การผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย  การผลักดันกฎหมายในเรื่องการให้สัญชาติ รวมทั้งต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนเกิดขึ้นด้วย เราบอกเลยว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เราจะยกเลิก เราจะเขียนใหม่โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  ทั้งนี้เราเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศด้วย