มอง อสม. ก่อนวันเลือกตั้ง มดงานหรือฐานเสียง คุณหมอหรือหัวคะแนนธรรมชาติ
“แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี” เป็นสโลแกนที่คุ้นหูและเป็นภาพที่คุ้นตา กลุ่มคนชุดเทาเดินตามตรอกตามบ้านต่างๆ ตรวจเช็คตั้งแต่ลูกน้ำยุงลายยันพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง คือบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูู่บ้าน หรือ อสม. ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนแบบปฐมภูมิ เฉลี่ย 1 คนต้องรับผิดชอบดูแลคนในชุมชน 30 คน เป็นเสมือนเครือข่ายที่เชื่อมต่อไปยังผู้คนในชุมชนกว่า 30 ล้านคน เกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งมี 52 ล้านคน ไม่แปลกที่หลายคนอาจจะมองว่า อสม. กว่าหนึ่งล้านคนถือเป็นฐานเสียงที่มีบทบาทและถูกมองเป็นกลไลทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่าน พวกเขาเป็นมดงานหน้าด่านสำคัญในการเข้าถึงผู้ป่วย ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง การแจกจ่ายอุปกรณ์ การรณรงค์การเข้ารับวัคซีน การเข้ารับยาแทน เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล
สถานการณ์โควิดผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เพิ่มงบค่าเสี่ยงภัยให้กับ อสม. เดือนละ 500 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564- มีนาคม 2565 ล่าสุด ครม. มีมติเห็นชอบใน พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 เพิ่มค่าป่วยการให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิม 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยจะเริ่มเดือนตุลาคม 2566 เพื่อสร้างความเข็มแข็งและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้ที่ดูแลสุขภาพคนไทย ซึ่งพรรคที่อยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันใช้ผลงานนี้ในหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทยหรือรวมไทยสร้างชาติ ว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะผลักดัน พ.ร.บ.นี้ให้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีนโยบายสนับสนุน อสม. อีกมากมาย ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคม ว่าการสร้างขวัญและกำลังให้ อสม.โดยภาษีประชาชนก่อนช่วงเลือกตั้ง มีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ อีกทั้งการที่ อสม. จะสามารถสร้างคะแนนนิยมจากคนกลุ่มนี้เพียงใด และความเป็นเครือข่ายผูกพันใกล้ชิดแบบท้องที่มีอิทธิพลในการชี้นำทิศทางทางการเมืองแค่ไหน
ปฐวี โชติอนันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า อสม.เป็นการทำหน้าที่เทียบเคียงคล้ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมยกตัวอย่างในช่วงของการเลือกตั้งก่อนปี 2540 ว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นเป้าหมายในการช่วงชิงที่นั่งของหลายพรรคการเมือง เพราะหากคนของพรรคไหนสามารถคุมกระทรวงมหาดไทยได้ จะสามารถคุมผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งและควบคุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนและทำหน้าที่ในการดูแลหมู่บ้านต่างๆได้

“เมื่อก่อนผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันจะมีเสน่ห์ พูดอะไรคนส่วนใหญ่จะฟัง หรือบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี สามาถชี้นำการเลือกตั้งได้ พอปี พ.ศ. 2540 มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญขึ้นมา ต้องการให้การเมืองที่โปร่งใสมากขึ้น ต้องการหาองค์กรอิสระ เลยจัดตั้ง กกต. ขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน
“ในชนบทถ้า อสม. ลงไปหมู่บ้านไหน แม้คุณไม่ได้เป็นหมอ แต่คุณลงไปตรวจคนเฒ่าคนแก่ คุณทำงานให้สาธารณสุข เขาเรียกคุณว่าหมอหมด ความเป็นหมอในสังคมชนบทจะได้รับการนับหน้าถือตาในระดับหนึ่ง เพราะมีความรู้เรื่องสุขภาพ เวลาพูดอะไรจะมีทิศทางที่หน้าเชื่อถือมากขึ้น” ปฐวี โชติอนันต์ กล่าว
ถ้าชอบใจก็ไปต่อ ซื้อใจหรือซื้อเสียง
ปฐวี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการเพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีให้ อสม. หากเป็นคนในครอบครัว จ่ายเพียง 50% ของค่ารักษาพยาบาล คล้ายเป็นกึ่งข้าราชการ
“คำถามคือการดูแลและมีสวัสดิการให้มากขึ้น อสม. ล้านกว่าคนจะไม่ชอบรัฐมนตรีที่ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เหรอ เพราะมันคือผลประโยชน์โดยตรงของพวกเขา”
การพรรคการเมืองมีอำนาจดูแลกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นการได้เปรียบ ในเรื่องของการกุมฐานคะแนนเสียง อสม. หรือไม่ ปฐวีมองว่าอาจมีผลเพียงคนกลุ่มหนึ่ง หากสังเกต จะพบว่าผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยหลายคนทำหน้าที่ อสม. ด้วย
“ผมพึ่งไปคุยมาหลายคนในแต่ละพื้นที่เขาไปเป็น อสม. การจะเกาะพื้นที่ได้ คุณต้องหาเสียงจากเครือข่ายที่พรรคคุณมีก่อน คือต้องเป็นสมาชิกของเขา ทำงานร่วมกับเขา ทำงานลักษณะท้องที่ ดูแลประชาชนให้กับเขา ดังนั้นกลไกนี้จะทำให้ผู้สมัครในพรรคนี้ได้เปรียบยิ่งขึ้น
“อสม.ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ใช้ความผูกพันทำสิ่งต่างๆ การเลือกตั้งไม่ได้เพึ่งเกิด 180 วันที่ กกต. ประกาศกฎหมาย หรือ 45 วันก่อนที่ประกาศเลือกตั้ง คือไม่ได้เกิดมาในพื้นที่เปล่าๆ แต่เกิดมาจากการทำงานมาก่อนหน้านั้นแล้วจากการทำงานเครือข่ายของมัน ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบที่ได้ครองกระทรวงนี้” ปฐวี โชติอนันต์ กล่าว
สร้างฐานเสียงแล้วเปลี่ยนเป็นคะแนน
“เท่าที่ผมคุยมาผู้สมัครของภูมิใจไทยโดนโจมตีมากเรื่องนโยบายยาเสพติด สิ่งเขาทำ คือเน้นในการพัฒนาท้องถิ่นในลักษณะเครือข่ายที่ลงไปในกลุ่ม อสม. แต่เขาก็บอกกับประชาชนว่าไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคก็ได้ ให้เลือกที่ตัวบุคคล ใช้ความสัมพันธ์ตรงนี้ที่เขาใช้มากกว่าสองปี ที่ดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อเทคะแนนเสียงให้เขา
“ผมมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ ถ้ารัฐบาลดูแล อสม.ดี เขาก็อาจจะเปลี่ยนมาชอบคุณได้ อสม. บางคนบอกว่าเขาอาจไม่ได้เลือกพรรคภูมิใจไทยแต่อาจจะเลือกคนที่มาจากภูมิใจไทยเพราะมีความผูกพัน เคยทำงานด้วยกันมาในระดับเขต ระดับพื้นที่มานาน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยอาจะได้เปรียบเรื่องปากท้องและความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ หากคนชอบก็อาจจะเลือก” ปฐวี โชติอนันต์ กล่าว
สุวิมล อรุณมาตย์ หัวหน้าอาสาสาธารณสุขชุมชนศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของเงิน 600 บาทเป็น 1,000 บาทในช่วงแรก ภาระงานก็เพิ่มขึ้นด้วย
“ถามว่าคุ้มไหมก็ไม่คุ้ม เพราะช่วงนี้งานเยอะมาก เดินทางไปหลายๆ ที่บ่อยมาก 1,000 บาท ก็ได้แค่ค่าน้ำมันรถกับค่าอาหารกลางวัน เงินเพิ่มขึ้นงานก็เพิ่มขึ้นด้วย”

สมถวิล พิมพิทักษ์ อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชนมิตรภาพกล่าวว่างาน อสม. คืองานจิตอาสา ไมได้คาดหวังจากจำนวนเงิน หากต้องรอใช้เงินจากการทำหน้าที่นี้คงไม่พอใช้
“เงินที่ได้มันน้อยกว่างานที่ทำ ไม่พอใช้ การที่ต้องดูแลผู้ป่วย บางครั้งเราต้องใช้เงินตัวเอง ซื้อผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยติดเตียงบ้าง หรือออกค่ารถให้คนป่วยจะไปโรงพยาบาลก็ต้องใช้เงินตัวเอง”

กาญจนา สมบูรณ์ หนึ่งในอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำชุมชนศรีจันทร์ กล่าวว่า หน้าที่ อสม. คือรณรงค์ให้แต่ละบ้านออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ชี้นำว่าควรเลือกใคร เพียงแต่บอกว่าบัตรมีสองใบแล้วให้เขาตัดสินใจเลือกเอง ทุกคนต้องไปใช้สิทธิและกำชับว่าอย่าทำบัตรเสีย
อ้างอิง