แดดของบ่ายวันเลือกตั้งครั้งสำคัญกลับมาร้อนอบอ้าวอีกครั้งหลังฝนหยุด ท่ามกลางผู้คนที่เข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่อาคารพลศึกษาที่ 1 สนามกีฬากลาง จ.ขอนแก่น วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแห่งความหวังที่เปลี่ยนแปลงประเทศของใครหลายๆ คน

ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนหาบเร่แผงลอยที่หาเช้ากินค่ำ ขอแค่ได้พร่ำพรรณนากับตัวเองว่า ให้ขายได้เพื่อให้อยู่รอดในแต่ละวัน The Isaan Record ลองถามไถ่ว่า พวกเขาเหล่านั้นได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งกันไปแล้วหรือยัง

ลอตเตอรี่จะชี้ชะตาหรือปลายปากกาจะกำหนดอนาคต

คุยกับ ต้อม ไม่ทราบนามสกุล นั่งเฝ้าแผงรางวัลที่ 12 ล้าน ประหนึ่งปูทางเลือกให้คนที่อยากมีความหวัง เพราะเลือกตั้ง 4 ปีมีครั้ง แต่รางวัลใหญ่ลุ้นมีทุกเดือน เดือนละ 2 งวด

พื้นเพต้อมเป็นคนมุกดาหาร ลมจากริมฝั่งโขงหอบเขามาไกล เพื่อเข้ามาเรียน กศน. ที่ขอนแก่น แต่ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของครอบครัวทำให้เขาหยุดเรียนตั้งแต่ ม.3 แล้วออกมาช่วยแม่ขายลอตเตอรี่ เขาไม่ทราบว่าสามารถเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ ทำให้เขาเสียสิทธิไป แต่หวังอยากจะเห็นประเทศเจริญขึ้น 

“ผมไม่ได้เลือกครับ ไม่มีเงินค่ารถกลับบ้าน” ต้อม กล่าว

ต้อม คนขายลอตเตอรี่ วัย 37 ปี

ตรงข้าม จะเจอผู้บรรเทาปัญหาปากท้องของคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งหน่วยนี้ ด้วยกลิ่นหอมหวนชวนหลั่งน้ำย่อย

แดงต้อย สุทธิประภา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวป๊อกๆ ชาวพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เขาเป็นที่น่าจับตามองของคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่นี่ เพราะเป็นเวลาเที่ยงๆ พอดี และเรียกความสนใจได้จากเสียงเคาะไม้เรียกลูกค้า “ป๊อกๆ”

แดงต้อยเริ่มต้นชีวิตเป็นพ่อค้ามาตั้งแต่ราคาถ้วยละ 15 บาท จนตอนนี้ขายถ้วยละ 40 บาท แม้เขาจะเชื่อว่า การเลือกตั้งจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ แต่เขาไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะความจำเป็น และเลือกล่วงตั้งล่วงหน้านอกเขตไม่ทัน แต่เขาก็เชื่อว่า ทุกเวลามีค่าสำหรับการเลี้ยงปากท้องของเขา

“ถ้าไปเลือกตั้งก็คงดีขึ้นอยู่ แต่มันจำเป็น เรามาหากินดีกว่า กว่าเขาจะลงตัวได้ เราก็ตายพอดี”เขา กล่าว

แดงต้อย สุทธิประภา 49 ปี ขายก๋วยเตี๋ยวมาได้ 20 ปีแล้ว เริ่มขายที่กทม. ปัจจุบันได้ปักหลักทำอาชีพนี้
ที่ขอนแก่น

คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่

น้อย อ่อนสา ชาวร้อยเอ็ด อ.โพนทอง ขายผลไม้รถเข็นตะโกนให้ช่วยให้ข้อมูลว่า แดงต้อย มีรายได้วันละ 1,000- 2,000 บาทเท่านั้น เขามาจากร้อยเอ็ดเหมือนกัน ออกมาเพื่อหาอยู่หากิน เพื่อปากเพื่อท้อง ปอก เฉาะผลไม้ ไม่เป็นสองรองใครมากว่า 20 ปี และได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ 

“ขอดูสถานการณ์ไปก่อน เลือกมาตอนไหน ก็เหมือนเดิม” น้อย พูดปนเสียงหัวเราะร่วน

“แต่ผมเลือกคนรุ่นใหม่ พรรคก้าวไกลนะ ชอบเรื่องเศรษฐกิจและกระจายอำนาจ แต่ภรรยาผมเลือกเพื่อไทย ก็ชอบคนละแบบคนละความคิด แต่เลือกฝั่งประชาธิปไตยแน่นอน”

ก่อนจะปิดท้ายว่า อยากให้นักการเมืองช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทลายทุนผูกขาด

20 ปีของการจากบ้านเกิดมาหาเลี้ยงชีพของ น้อย อ่อนสา เท่ากับชีวิตของ ศุภกานต์ ปัทนา นักศึกษาจบใหม่ วัย 21 ปี ที่ต้องออกมาขายลูกชิ้นช่วยครอบครัว เธอบอกว่ารอจังหวะแดดร่มลมตกลูกค้าหมดแล้วจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “หวังอยากให้ประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่ดีและเศรษฐกิจดีขึ้น”

ศุภกานต์ อมยิ้มหลังกล่าวจบ ก่อนบอกว่านโยบายพรรคที่โดนใจคือพรรคที่ชูเรื่องรัฐสวัสดิการ

ความเป็นผู้หญิง ด้วยความหวัง ว่าจะไม่มีชีวิตด้วยความกลัวอีกต่อไป

ธนพร รบไพรี ครูสอนดนตรีเปียโนและกีตาร์ ผู้ใช้เสียงในการเลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต แต่วันนี้เธอพร้อมใช้ทั้งสิทธิและเสียงในการกำหนดอนาคตของตัวเอง เธอเลือกตั้งในเขตนี้และออกมาขายลอตเตอรี่เพื่อหารายได้เสริม เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักเรียนลดลง ธนพร คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้แทนหรือพรรคที่ได้ทำหน้าที่แทนประชาชนจะแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดได้ 

“ที่สนใจประเด็นยาเสพติด เพราะดูข่าวเยอะ ปัญหาอาชญากรรมเยอะ เราเป็นผู้หญิง อยู่กับหลาน ก็เลยกลัวมาก”เธอเล่า

พิณ หาญโก่ย แม่ค้าขายถั่วและมัน หนึ่งในลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวป๊อกๆ ให้สัมภาษณ์ขณะที่มือกำลังถือถ้วยก๋วยเตี๋ยว ว่ากินเสร็จแล้วจะไปใช้สิทธิในหน่วยนี้ 

โดยปกติ พิณขายของที่ตลาดสด วันนี้มาตั้งแผงที่นี่ ไม่ได้คาดหวังกับการเลือกตั้งเป็นพิเศษ แต่ตนมองว่าช่วงนี้มีพรรคการเมืองแข่งขันกันเยอะ ต้องไปดูอีกทีบนป้ายประกาศ

พิณ หาญโก่ย ขณะที่ขายถั่วและมันหน้าหน่วยเลือกตั้ง

“ไม่ค่อยมีเวลาฟังนโยบายพรรคไหน เพราะขายของอยู่” 

“ยายไม่ได้คาดหวังกับคนที่จะเลือก เพราะยายก็ต้องนั่งขายของยายเหมือนเดิม ใครจะเป็น ใครจะได้ ยายก็ขายของเหมือนเดิม หากินเหมือนเดิม ขอให้เศรษฐกิจมันดีขึ้นก็พอ มีเงินใช้ ถ้าไม่ดี ก็ต้องไปยืม เป็นหนี้เขา” พิณ กล่าว

image_pdfimage_print