เมื่อชุดนักเรียนกลายเป็นยูนิฟอร์มขายนมเปรี้ยว แหล่งรายได้บนความสงสาร
ถ้าเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแล้ว คุณจะซื้อไหม เพราะอะไร ตัวแทนจำหน่ายนมเปรี้ยวในภาคอีสานหลายจังหวัดจึงหัวใสให้เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว ใส่ชุดนักเรียนเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยความสงสารที่เห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนยอดขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ถ้าเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแล้ว คุณจะซื้อไหม เพราะอะไร
ตัวแทนจำหน่ายนมเปรี้ยวในภาคอีสานหลายจังหวัดจึงหัวใสให้เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว ใส่ชุดนักเรียนเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยความสงสารที่เห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนยอดขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
แดดร้อนเวลาเที่ยงวันกลางสี่แยกไฟแดงแห่งหนึ่งในภาคอีสาน รถนานาชนิดวิ่งผ่านสี่แยกอย่างรวดเร็ว กระทั่งรถเหล่านั้นเริ่มหยุด มนุษย์ผู้รอคอยไฟแดงก็เริ่มต้นแผงค้าอย่างมีชีวิตชีวิต
“สวัสดีครับ นมเปรี้ยวไหมครับ นมเปรี้ยว” ก้อง (นามสมมุติ) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี กล่าวด้วยเสียงใส พร้อมกับโน้มศรีษะลงในแบบที่แทบจะมุดลงดินเพื่อขายสินค้าในมือให้หมด
ก้องมีชีวิตอยู่กับถังน้ำแข็งสีน้ำเงินและกระเป๋าสีฟ้าคู่ใจ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีแผงลอยเคลื่อนที่เป็นของตัวเอง แต่ละวันเขาตั้งเป้าว่า จะต้องขายนมเปรี้ยวให้ได้ 39 ชุด
“วันนี้ตั้งใจจะขายของให้หมด แต่ตอนนี้ขายได้แค่ 4 ชุดเท่านั้น”เขากล่าวด้วยเสียงเศร้าสร้อย แต่ก็ฝืนยิ้มเพื่อสร้างกำลังใจให้ตัวเอง
แน่นอนเขามีเวลาขายสินค้าอีก 34 ชุด กระทั่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า อีกทั้งวันวัยเพียง 19 ปีก็ทำให้เขามีเวลาขายนมเปรี้ยวอีกนานเท่านาน
ทว่าก้องไม่ได้เป็นนักเรียนแล้ว แต่เขากลับถูกร้องจากหัวหน้างานขอให้ใส่ชุดนักเรียนเพื่อขายสินค้า โดยไม่ได้บอกเหตุผลที่แท้จริง

จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางขายนมเปรี้ยว
ก้องเริ่มเข้าสู่วงการขายนมเปรี้ยวจากคำชักชวนของรุ่นน้องเมื่อประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา เขาจึงเริ่มต้นด้วยการช่วยขาย ได้ค่าตอบแทนวันละ 50 บาท จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการแผงลอยเคลื่อนที่
“ผมหวังว่า จะสร้างรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว” เป็นเหตุผลที่ก้องเลือกเข้าสู่อาชีพนี้
“แต่ละวันผมจะมีรายได้ประมาณ 300-400 บาท วันไหนขายไม่ได้ ก็นั่งรอจนค่ำมืด จนกว่าจะขายได้หรือจนกว่าหัวหน้าทีมจะมาเก็บเงิน”ก้องเล่าประสบการณ์ของตัวเอง
อาชีพขายนมเปรี้ยวไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงนัก เพราะกว่าจะขายได้แต่ละถุง ต้องทนตากแดดตากฝนหลายชั่วโมง
เขาคิดว่า วันหนึ่งรายได้จากการขายนมเปรี้ยวจะทำให้เขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
ผมอยากเป็นครู แต่ไม่มีเงินเรียน
ก้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ครอบครัวมีรายได้แบบเดือนชนเดือนจึงไม่เหลือให้ลูกสานต่อความฝันที่อยากเรียนจบชั้นปริญญาตรี
“อยากเป็นครู อยากเป็นครูที่ดูแลเด็กได้ อยากมีเงินเดือนเป็นของตัวเองผมอยากเรียนคณะครุศาสตร์ อยากสอนเด็กๆ อยากให้เด็กๆ ได้มีที่เรียนที่ดี ได้เรียนหนังสือทุกคน” เขาเล่าถึงความฝันของตัวเอง
“ค่าเทอมมันแพงครับ 3-4 พัน บ้านผมไม่มีจ่าย” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย เสมือนว่า ยอมรับชะตากรรมตัวเอง
เส้นทางการศึกษาดูเหมือนจะห่างไกลจึงทำให้เขาทำได้เพียงแค่ใส่ชุดนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งที่เรียนจบแล้ว

ชุดนักเรียนกับความน่าสงสาร
แม้การแต่งชุดนักเรียนจะทำให้ผู้ขายสินค้าตามสี่แยกมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ทว่าก็ทำให้ผู้พบเห็นมีความเห็นที่แตกต่าง
“จริง ๆ แล้ว ชุดนักเรียนก็มีหน้ากากของมันนะ ถ้าเกิดว่ามาช่วยพ่อกับแม่ขาย ก็ควรจะใส่ชุดอยู่บ้านสิ เพราะคนที่เห็นว่าเด็กใส่ชุดนักเรียนมาขายของ เขาก็รู้สึกแย่นะ ไม่ได้รู้สึกดีไปด้วย” สุวัชระ สืบราษี หรือเฟิร์ส นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่พบเห็นเด็กขายนมเปรี้ยวอยู่เป็นประจำแสดงความคิดเห็นจากความรู้สึก
“มันควรจะมียูนิฟอร์มของมันนะ เพราะมาเล่นกับความสงสารของคน บางทีเขาก็ไม่ได้อยากซื้อ แต่จะซื้อเพราะความสงสาร” ศรีสุรัสวดี พิมสิม หรือ แจง เล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อการใส่ชุดนักเรียนในการขายของ
ขณะที่ ปุณณภพ เจริญพงศกร นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แสดงความเห็นว่า ไม่ควรมีแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการที่เด็กต้องมาเดินขายของ แปลว่ารัฐยังไม่สามารถควบคุมสวัสดิการให้ทั่วถึงทุกชีวิตในประเทศได้ ถ้าประเทศดีจริง เด็กคงไม่ต้องมาทำงาน หรือประกอบอาชีพตั้งแต่ตอนนี้ ควรจะเอาเวลาไปเรียนหนังสือ
เช่นเดียวกับ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ที่แสดงความเห็นว่า เด็กๆ ควรได้เติบโตและทำกิจกรรมที่เหมาะสม ไม่ควรต้องปากกัดตีนถีบ ถ้าถามว่า ต้องต่อสู้ชีวิตดีไหมก็ได้ระดับหนึ่ง
“แต่ถามว่า ผู้ใหญ่ไปไหนกันหมด ถ้าอยากให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตควรจะออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ควรให้เด็กมีค่าตอบแทบอย่างปลอดภัย แล้วทำทุกอย่างให้เป็นระบบ แต่การขายของตามสี่แยกมันไม่ใช่สิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ชีวิต แต่เป็นการปล่อยปละละเลยเสียมากกว่า ดังนั้นควรใส่ใจดูแลมากกว่านี้”
คำชี้แจงจากตัวแทนจำหน่าย
ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทนมเปรี้ยวแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กล่าวชี้แจงถึงข้อกำหนดในการรับตัวแทนจำหน่ายว่า ปกติจะรับทั้งตัวแทนขายประจำและตัวแทนแบบพาร์ทไทม์ โดยจะขายชุดละ 100 บาทและจะได้ค่าคอมมิชชั่นถุงละ 20 บาท เมื่อแจ้งที่อยู่เรียบร้อยแล้วจะมีตัวแทนแต่ละพื้นที่ติดต่อกลับไปอีกที
ทว่าตัวแทนจำหน่ายรายนี้ไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมจึงให้ตัวแทนจำหน่ายใส่ชุดนักเรียนในการขายสินค้า โดยเขาเลี่ยงในการตอบคำถามและตัดสายโทรศัพท์ทันที
“ผมก็แอบคิดอยู่นะว่า ทำไมต้องให้ผมใส่ชุดนักเรียน ทำไมไม่ให้ใส่ชุดอย่างอื่นน้อ” เขาเล่าในสิ่งที่ตัวเองคิด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก้องเล่าว่า เมื่อใดก็ตามที่ใส่ชุดนักเรียน เขาจะได้รับส่วนแบ่งถึงวันละ 600-700 บาททีเดียว
“บริษัทฯ กำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายที่อายุน้อยๆ ใส่ชุดนักเรียนมาขาย เพราะถ้าใส่ชุดพละหรือใส่ชุดอื่นๆ มา จะขายได้น้อยหรือขายไม่ได้เลย” ก้องเล่าจากสิ่งที่ได้ยินมา
ความเสี่ยงกับรายได้ที่ไม่มั่นคง
นอกจากแดดร้อนที่แผดเผาก้องแทบละลาย เขายังประสบพบเจอเรื่องราวมากมายบนท้องถนน ทั้งการแย่งชิงพื้นที่ค้ากับแผงลอยเคลื่อนที่เจ้าอื่นๆ
“ผมเคยโดนตำรวจไล่ด้วยนะ” เขาเล่า พร้อมทำหน้านิ่วขิ้วขมวด เพราะเขาเองไม่รู้ว่าทำผิดอะไร เพราะคนอื่นๆ ก็ยังคงใช้พื้นที่บนท้องถนนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนขายดอกไม้ พวงมาลัย หรือข้าวเกรียบ ฯลฯ แต่มีเพียงเขาที่ต้องเผชิญเหตุนี้
“อย่าไล่ผมเลย ให้เด็กน้อยได้กำไรบ้าง”เขาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากถูกตำรวจและเจ้าถิ่นคนอื่นๆ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่
แต่จากคำบอกเล่าของ สิบตำรวจตรี สิริวัฑฒ์ ไปดี สภ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ให้ข้อมูลไว้ว่า “ถือว่าผิดกฎหมายห้ามประกอบการค้าบนทางจราจร มาตรา20 ซึ่งผู้ซื้อจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท ส่วนผู้ขายปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยเขาห้ามขายบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะ”
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า ห้ามประกอบการค้าบนผิวการจราจร มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ. 2535 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท




เหนื่อย.. แต่ยินดีที่จะทำต่อ
“เหนื่อย บางทีก็ท้อ” ก้องเล่าด้วยเสียงอิดโรยในเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า เมื่อชีวิตไม่มีทางเลือกมากมายนัก เขาก็ยังก้าวขาเดินต่อก่อน
แม้หลายครั้งความเหนื่อยจะบอกให้เขาหยุดเดินแล้วนั่งพักเหนื่อย แต่ภาระที่ต้องดูแลครอบครัวที่เฝ้ารอความหวังจากเขาก็ทำให้เขาต้องฝืนยิ้ม
“สวัสดีครับ นมเปรี้ยวไหมครับ นมเปรี้ยว” พร้อมกับโค้งศีรษะให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ในบางวันโชคชะตาจะไม่เข้าข้างเขา เพราะขายสินค้าขายไม่หมดทั้งหมด 39 ชุดอย่างที่หวัง แต่ก็ดีที่มีรายได้อยู่บ้างอย่างน้อยก็ 300-400 บาท
“โอ๊ย เหนื่อย ขี้เกียจขายละ” เขาบ่นในเวลาที่เหนื่อยและท้อบางครั้ง แต่ในบางทีก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกเวลาที่ได้จับกระดาษสีเงิน สุดท้ายก้องก็ได้แต่ให้กำลังใจกับตัวเองในทุกวัน เพื่อให้มีแรงสู้ต่อในวันข้างหน้า หากวันไหนเหนื่อยและท้อไม่ไหวจริงๆ ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า
“กลับบ้านไปนอนพักผ่อน พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่”
หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO