ภาพหมู่มวลรถโดยสารที่ขนาบขนานข้างฟุตพาทและเสาไฟฟ้า เด็กๆ จากโรงเรียนประถมและมัธยมสะพายกระเป๋าเป้ทยอยออกจากโรงเรียนขึ้นสะพานลอยที่เชื่อมมาหากันบนสองฝั่งถนน ต่างก็เริ่มซื้อของกินข้างโรงเรียน หลายๆ คนพร้อมก้าวขาขึ้นรถรับส่งที่มาจากหมู่บ้านตัวเอง ซึ่งจอดต่อเรียงกันไป มีทั้งแบบหกล้อและสี่ล้อ

จากโรงเรียนเมืองใหม่สุวรรณภูมิสู่โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เส้นทางของการเดินรถรับเด็กจากฝั่งโรงเรียนประถมตามด้วยรับเด็กจากโรงเรียนมัธยม เพื่อไปต่อโรงเรียนอื่นๆ และเดินทางกลับหมู่บ้านตัวเอง ในช่วงเวลาบ่าย 3 ของทุกวัน จากจำนวนผู้คนที่บางตา ใช้เวลาผ่านไปไม่ถึง 30 นาที รถที่สามารถบรรจุคนได้เพียง 20 คน ก็เพิ่มขึ้นไปจนถึง 30 คน โดยมีเพียงเชือกเส้นเดียวเท่านั้นที่กั้นระหว่างรถโดยสารกับพื้นถนน 

ภาพห้อยโหนบนรถสองแถวที่สามารถพบได้เป็นปกติในทุกๆเช้าก่อนเสียงออดเข้าแถวหน้าเสาธงจะดังขึ้น โดยระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรจาก ต.นาใหญ่เข้ามาในตัวเมือง ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ ล้อที่เริ่มหมุนตั้งแต่ 7 โมงเช้าและคำบอกเล่าของเหล่านักเรียน

“หนูตื่นตั้งแต่ตี 5 ทุกวัน เพราะต้องตื่นมาช่วยยายทำงานบ้าน ขึ้นรถมาเรียนก็ 7 โมงเช้า ถ้าวันไหนไม่ทันรถจริงๆ ก็จะให้ยายขับรถกระบะมาส่ง” บี (นามสมมุติ) หนึ่งในนักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนเมืองใหม่สุวรรณภูมิกล่าว 

“ขึ้นรถโดยสารลำบากไหม มีโรงเรียนใกล้บ้านหรือเปล่า?” เราถาม

บี ผู้ชื่นชอบในวิชาศิลปะและคณิตศาสตร์ตอบคำถามด้วยสีหน้าท่าทางที่จริงจังแม้เธอจะอายุเพียงแค่ 10 ขวบ

“ลำบากตรงคนเยอะแล้วไม่มีที่นั่ง ช่วงหน้าหนาวก็หนาวมาก ส่วนแถวบ้านมีโรงเรียนแต่ว่ามีคนแนะนำให้มาโรงเรียนนี้ โรงเรียนแถวบ้านมันก็ดีมันอยู่เพราะใกล้บ้าน แต่มีคนบอกว่าพื้นฐานการเรียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ค่ะ”

ค่าโดยสารขาไปและกลับของนักเรียนชาว ต.นาใหญ่ คือ 25 บาทต่อวัน เฉลี่ย 500-600 บาทต่อเดือน เสียงส่วนหนึ่งบอกว่าหากราคาน้ำมันสูงขึ้น คนขับรถจะขึ้นราคาเป็นบางครั้ง หากเปลี่ยนเป็นรถบัสติดแอร์แต่ต้องแลกกับค่าโดยสารที่แพงขึ้น ก็ไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจเท่าไหร่

จากเสียงสะท้อนของบี วัย 10 ขวบบนรถคันนี้ ที่นั่งถัดไปข้างกันคือ เปา อายุ 17 ปี นักเรียนจากโรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล เขาอาจเป็นภาพสะท้อนของบีที่ต้องจ่ายค่าโดยสารไปอีก 7 ปีข้างหน้า

“ผมคิดว่าค่าโดยสารไม่แพงเท่าไหร่”

เปา เล่าว่าตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่พ้นดิน ช่วงเวลาตี 3 ทุกๆ วันต้องดูแลไก่ แม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ไกลแต่รู้สึกสะดวกสบายที่ได้นั่งรถรับส่ง เขาไม่มีความคิดที่อยากเข้ามาอยู่ในเมือง แต่สำหรับการได้มาเรียนในโรงเรียนใหญ่ นั่งรถไปกลับคือทางเลือกที่น่าพึ่งพอใจสำหรับเขา 

“ถ้าวันไหนคนเยอะมากๆ ผมก็ขึ้นไปนั่งบนหลังคาบ้างบางครั้ง” เปาเล่าพลางชี้นิ้วขึ้นไปบนหลังคารถ

นอกจากนี้นักเรียนบนรถยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพราะต้องตื่นเช้ามาก บางวันไม่ได้กินอาหารเช้า

ข้ามไปอีกฝั่งถนน แสงแดดกระทบหน้าฝั่งซ้าย จะเจอรถรับส่งที่จะมุ่งหน้าเพื่อไปยัง ‘บ้านเปลือย’ 18 กิโลเมตร จากการสอบถามค่าโดยสารคือ 30 บาทต่อวัน 

“ตื่นตั้งแต่ 6.30 น. ไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ที่นั่งรถโดยสาร แถวบ้านมีโรงเรียนแต่คิดว่าที่นี่การศึกษาน่าจะดีกว่า ถ้าตื่นสายก็มาเอง หรือไม่ก็ไม่มาเรียนเลย รู้สึกไม่อยากนั่งรถโดยสาร อยากให้พี่มาส่งทุกวัน”

“หนูกลับถึงบ้าน 5 โมงเย็นกลับไปรู้สึกเหนื่อยแล้ว เพราะต้องกลับไปช่วยยายทำงานบ้าน” โบกัส วัย 16 ปี อาศัยอยู่กับยาย เนื่องจากพ่อแม่ทำงานที่กรุงเทพฯ

หมิว นักเรียนชั้น ม.1 ก็เป็นหนึ่งในผู้โดยสารรถคันนี้ เธอตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า และสะท้อนว่าค่ารถโดยสารนั้นแพงสำหรับครอบครัวของเธอ 

“รู้สึกว่ารถเก่า อยากเปลี่ยนเป็นรถบัส รถคันนี้เบียดมาก บางคนต้องยืนต้องโหน บางครั้งมีคนต้องขึ้นหลังคา แต่คนขับรถไม่ได้ว่าอะไร แต่บางทีลุงก็ไล่ลงมา”

เมื่อถามว่า การเดินทางเกือบ 20 กิโลเมตรเพื่อมาเรียนที่นี่นับเป็นความคุ้มค่าหรือไม่หมิว ใช้เวลาคิดสักพักและตอบว่า “ไม่คุ้มค่ะ มันต้องตื่นเช้า ค่ารถแพงสำหรับหนู จริงๆ อยากเรียนแถวบ้านแต่คนในครอบครัวอยากให้มาเรียนที่นี่ อยากมีบ้านในเมืองนะ เวลามาซื้อของอะไรก็สะดวก” 

“แล้วอยากนั่งรถแบบไหน” เราถาม 

“อยากนั่งรถตู้หรือรถบัสเพราะนั่งแบบนี้มันเบียดกันมาก ช่วงโควิดก็ต้องใส่แมส” นอกจากนี้ คำบอกเล่าของหมิวยังมีเรื่องความปลอดภัยในการนั่งรถโดยสารเมื่อก่อนนั้นค่อนข้างอันตราย เพราะหากคนเยอะ ผู้คนต้องนั่งอย่างแออัด จึงมีคนต้องขึ้นไปนั่งบนหลังคา และบางทีมีสายไฟข้างถนนหล่นลงมา 

“แต่หลังๆ ไม่ค่อยมีแล้วค่ะ เพราะตำรวจห้าม” หมิว 

20 กิโลเมตรจาก ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ เลี้ยวเข้าปากทางตำบลทุ่งกุลา ไปยังหมู่บ้านหลายสิบกิโลฯ ได้ วนส่งนักเรียนจนครบทุกหมู่บ้าน

สัญญาณเมื่อรถเริ่มออกตัวคือเส้นผมของเด็กหญิงนั้นเริ่มปลิวไร้ทิศทางตามแรงลมที่พัด เบาะยาวสีน้ำเงินหรือสีแดงสองฝั่ง พวกเขานั่งหันหน้าเข้าหากัน พอรถเริ่มออกตัวก็ต่างก้มหน้ากดสมาร์ทโฟน 

บนรถโดยสารคันนั้น กับระยะทางกว่า 20 นาทีจากโรงเรียนถึงบ้าน เราถามพวกเขาว่าทำอะไรฆ่าเวลา

“เล่นมือถือ เฟซบุ๊ค นั่งคุยกันบ้าง ฟังเพลงของ The Toy” เสียงตะโกนแย่งตอบของเด็กๆ บนรถ

หมู่บ้านสังข์น้อย-หนองส้าว ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียนใหญ่ของอำเภอเป็นส่วนใหญ่

แพร อายุ 15  ให้สัมภาษณ์ว่า “หนูลงท้ายๆ หมู่บ้าน ตื่น 6 โมงครึ่ง มาถึงนี่ 8 โมงตรง ค่าโดยสารไม่แพง วันละ 20 บาท แถวบ้านมีโรงเรียนแต่มีถึงแค่ ม.3”

จากการสำรวจบริเวณทางเข้ามีป้ายไปโรงเรียนจานเตยวิทยาประชาสรรค์ ซึ่งเปิดสอนเพียงระดับอนุบาลถึงมัธยมต้นเท่านั้น หรือที่เรียกว่า โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ใน ต.ทุ่งกุลามีโรงเรียนทั้ง 4 โรงเรียน คือจากที่กล่าวข้างต้นรวมไปถึง โรงเรียนบ้านดอนแคน ที่เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา โรงเรียนบ้านโนนตาด เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาและโรงเรียนบ้านสาหร่าย เปิดสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มีเพียง ต.สระคู หัวโทน หินกอง ทุ่งหลวงและช้างเผือก

“สิ่งที่อยากเปลี่ยนคือ อยากเปลี่ยนคนขับรถค่ะ เขาชอบเร่งเวลาจะมีไฟแดงและเบรกแรง” แพรให้สัมภาษณ์พร้อมหลุดขำเล็กน้อย

“เด็กไทยจะได้นั่งรถดีๆ ไหม” เราตั้งคำถามนี้กับกรองแก้ว ศิรินคร หนึ่งในคณะกรรมการผู้จัดการบริษัทสุวรรณภูมิ-ร้อยเอ็ดเดินรถ จำกัด

“ตามกฎหมายถ้าอยากขอปรับเป็นรถแอร์หรือมินิบัสต้องไปขอเป็นเงื่อนไขใหม่ ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งจังหวัด ดีไซน์ของรถโดยสารปกติต้องเป็นเบาะเพียงสองแถวเท่านั้น ส่วนมากที่มีเบาะเสริมคือผิดกฎหมายทั้งหมด กรณีรถตู้ที่ถูกกฎหมายคือรถตู้ที่มีไฟสีส้มติดด้านบนเท่านั้น” 

ข้อมูลจากสำนักงานขนส่งอำเภอสุวรรณภูมิกล่าวถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นรถถูกกฎหมายโดยลงรายละเอียดว่าต้องมีรายการจดทะเบียนรถ รายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่โดยสาร เวลารับส่งที่ชัดเจน

“รถหกล้อ ต้องเป็นของโรงเรียนเท่านั้น จะเป็นรถส่วนบุคคลไม่ได้ รถประจำทางสี่ล้อหรือรถตู้ นำมาจดทะเบียนมีค่าธรรมเนียมเพียง 25 บาท”

โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาสให้ข้อมูลว่า โรงเรียนไม่มีรถรับส่งไปประจำหมู่บ้าน มีแค่ไว้รับส่งงานวิชาการหกล้อและรถบัสเท่านั้น 

จากการสำรวจบริเวณหน้าโรงเรียนจะเห็นรถสี่ล้อเป็นส่วนใหญ่ เป็นรถที่ภายใต้บริษัทต่างๆ บางคันขึ้นทะเบียนกับขนส่ง บางคันไม่ได้ขึ้นทะเบียน

“ส่วนมากรถที่ขับไปรับเด็กไปกลับโรงเรียนเป็นของคนในหมู่บ้าน หรือเป็นญาติกัน พอเริ่มมีเด็กในหมู่บ้านต้องเข้าเมือง ก็รวมเด็กชวนกันจ้างให้ไปส่ง ก็ใช้รถหกล้อมาทำ ส่วนมากก็ดูแลกันเองแบบนี้” บุญมี (สงวนนามสกุล) คนขับรถสองแถวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

แม้หลายๆ เสียงจะบอกว่าการนั่งรถรับส่งนั้นค่อนข้างสะดวกสบายไม่ลำบากมากนัก แต่การต้องนั่งเบียดเสียดและห้อยโหนไม่ใช่เรื่องชะตากรรมที่ต้องยอมรับ แต่เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า โรงเรียนในฝันนั้นทำไมต้องอยู่ไกลบ้าน และการใช้รถสาธารณะที่ดีจึงกลายเป็นเรื่องพิเศษสำหรับใครหลายๆ คน

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

image_pdfimage_print