ชนชั้นบนแผ่นฟิล์ม งานสร้างสรรค์ที่บั่นทอนชีวิตคนทำหนัง

16 ชั่วโมงต่อวัน คือความปกติที่ไม่ปกติอันน่ากระอักกระอ่วน ที่ ‘อ๊อด-บัณฑิต ทองดี’ และ ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ผู้มีประสบการณ์มากมายในวงการหนังออกมาเล่าให้ฟัง ว่าคนเบื้องหลังต้องใช้เวลาแทบทั้งวันเพื่อสร้างสรรค์ศิลปะบนแผ่นฟิล์ม และนั่นนำมาสู่ความตื่นตัวที่จะหยิบเอาเรื่องหลังม่านมาพูดจากันในที่สาธารณะเสียที

กระแสของบทสนทนา ไม่ได้อยู่แค่การทำงานหนักล่วงเลยเวลาที่ควรจะเป็นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องค่าแรง ค่าล่วงเวลา สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม กระทั่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในกองถ่าย ที่ผู้ได้รับสวัสดิการมากน้อยขึ้นอยู่กับวรรณะในกระบวนการผลิต หากเป็นตัวละครหลักก็ได้จะรับการดูแลเป็นพิเศษ หากเป็นเพียงตัวประกอบ การปฏิบัติก็จะลดลำดับต่ำเตี้ยตามลงมา

และเมื่อประเด็นถูกจุดก็นำมาสู่การพูดคุยกับคนที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ ที่แม้นไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นเบอร์ใหญ่ของวงการ แต่เราพบว่าเสียงเหล่านี้นี่เองที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงอีกชุดที่คนตัวเล็กๆ พบเจอขณะที่อุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน

ศศิธร มาพบสุข วัย 27 ปี  เล่าว่า จากการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมบันเทิง สิ่งที่พบว่าเป็นปัญหาคือการถูกเลือกปฏิบัติและสวัสดิการที่ไม่เท่ากัน

“เราเคยเป็นทั้งนักแสดงหลัก และนักแสดง extra ในเรื่องระบบการจัดการบริหารเวลาภายในกอง นักแสดงหลักมีคิวในการถ่ายทำค่อนข้างชัดเจน มีลำดับขั้นตอน แต่พอตอนเป็น extra เหมือนเราต้องรอ standby อยู่ตลอด แต่เป็นการรอที่เลื่อนลอย  เวลาการทำงานไม่ชัดเจน การดูแลนักแสดงหลักและ extra ก็ต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด

“อีกประสบการณ์คือตอนที่เราเป็น agency ในกองถ่าย เรารู้สึกได้ว่าการบริหารจัดการสวัสดิการในกองมันแบ่งแยกชนชั้นจนเราเองรู้สึกแย่ อาหารที่ได้รับในตอนที่เป็น agency กับนักแสดง extra ต่างกันมาก พอเรามาเป็น agency เขาดูแลดีมากจนเกินไป อาหารที่ได้กินเป็นเซ็ทอาหารชุดใหญ่ เราทำงานกันสองคน แต่ถูกจัดอาหารให้กินกันได้ 6 คน  ในมุมมองของเรารู้สึกว่าเกินไปมาก เรามองว่าเราทำงานตามเงินเดือนเรากินข้าวกล่องเหมือนกับทุกคนได้ ทำไมไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนคนทำงาน แต่ปฏิบัติกับเราเหมือนกับว่าเราเป็นพระเจ้า และแปลกใจมากว่าทำไมระบบการเลือกปฏิบัติแบบนี้ถึงถูกมองว่าปกติ”

ณัฐนันท์ เทียมเมฆ นักวิจัยอิสระ และสมาชิกสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ อย่างเรื่องการทำงานเกินเวลา จนส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน การถูกเลือกปฏิบัติจากการจัดสรรสวัสดิการภายในกอง และปัญหาอีกหลายอย่างที่ตามมา เหล่านี้ล้วนไม่ใช่ปัญหาจากจุดเล็กๆ ที่สามารถแก้ไขได้ง่าย เพราะว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้คือมุมมองของคนในระบบที่ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมด้านการทำงานในฐานะมนุษย์เท่ากัน ซึ่งถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ผ่านวัฒนธรรมของคนในอุตสาหกรรมบันเทิงมาเป็นระยะเวลานาน

ขอบคุณภาพประกอบจาก stupid Production 

“เพราะสังคมไทยยังคงมีความเข้มข้นทางลำดับชั้นสูง มันเลยถูกสะท้อนผ่านความคิดมุมมองการทำงานและการปฏิบัติตัวกับคนในกอง เช่นเรื่องของการบริหารจัดสรรสวัสดิการภายในกองที่แบ่งแยกชนชั้นกันอย่างชัดเจน นักแสดง extra ดื่มได้เพียงน้ำเปล่า เวลาการทำงานของทีมเบื้องหลังถูกอัดจนส่งผลกระทบต่อปัญหาทางด้านสุขภาพสะท้อนการบริหารเวลาที่ไม่มีคุณภาพไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของแรงงานเท่าที่ควร การจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการภายในกองที่มีการให้อภิสิทธิ์กับคนทำงานบางกลุ่มมากเกินไปจนเบียดเบียนคนทำงานอีกกลุ่ม และปัญหาเหล่านี้กำลังถูกมองข้าม”

ณัฐนันท์ กล่าวอีกว่า การที่แรงงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์รวมถึงแรงงานนอกระบบในไทยถูกผลักออกไปเป็นกลุ่มชายขอบที่ต้องประสบกับปัญหาความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ มีช่องโหว่หลายจุดที่แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากการว่าจ้างที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ไม่มีองค์กรจะมาเรียกร้องสิทธิให้กับพวกเขาเหล่านั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องผลักดันสหภาพแรงงานของแรงงานนอกระบบให้ได้

นอกจากประเด็นเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ปรีชา สาคร อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิชาการภาพยนตร์ ตั้งคำถามถึงบทบาทรัฐ ที่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในกระบวนการจากแผ่นฟิล์มสู่จอเงิน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึั้น 

“ถ้าหากถามว่า วงการภาพยนตร์ไทยสามารถเรียกตัวเองว่า เป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ไหม ต้องมองย้อนกลับไปถามคำถามที่ว่า คนทำหนังทุกๆ ตำแหน่งในกอง ได้รับเงินเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไหม เพราะจะเป็นอุตสาหกรรมได้ต้องเป็นอาชีพที่มีรายได้มากพอเลี้ยงตนได้ ไม่ใช่ต้องวิ่งหาทุน แต่เราต้องมีงานตลอด ไม่ขาด ซึ่งตอนนี้คนในกองถ่ายส่วนใหญ่ยังคือฟรีแลนซ์อยู่ เพราะรับงานเป็นจ็อบๆ ไป หากเมื่อไหร่ที่หนังเลี้ยงคนสร้างหนังให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ต้องมานั่งกังวลกับปากท้อง เมื่อนั้นจะเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์

“ประเทศที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่ผลิตสื่อได้ในเอเชียมีประเทศเกาหลีใต้ เพราะประเทศของเขามีองค์กรที่เลี้ยงคนในประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนจับมือกันให้ความสำคัญทั้งในแง่ของการพัฒนาเนื้อหาและคุณภาพชีวิตของแรงงาน”