คุณเคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมบริการรถสาธารณะจึงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองหลวงและปริมณฑลเท่านั้น มีข้อมูลว่า ปี 2564 เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางภายในเมือง/ในเขตเทศบาลทั่วประเทศมีเพียง 458 เส้นทางเท่านั้น แต่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีของ ขสมก.ถึง 397 เส้นทาง นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศนี้และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต่างจังหวัดแทบจะไม่มีรถสาธารณะใช้จนต้องรอนานเป็นชั่วโมงและจ่ายค่าเดินทางแพงพอๆ กับคนในเมือง 

รถโดยสารหกล้อจอดเทียบทางเท้าใน อ.สร้างคอม เพื่อรอผู้โดยสารตั้งแต่เวลา 14.20 น. และรถคันนี้จะล้อหมุนที่เวลา 15.10 น. เพื่อเดินทางไปยังตัวเมืองอุดรฯ เป็นเวลากว่า 50 นาทีที่ผู้โดยสารต้องรอ 

รถโดยสารหกล้อเส้นทางจาก อ.โพนพิสัย – อ.สร้างคอม – อ.เพ็ญ – อ.เมืองอุดรธานี ระยะทางรวมทั้งหมด 68 กิโลเมตร การเดินทางหลักๆ จากอำเภอเพ็ญ เข้ามาในตัวเมืองอุดรฯ มีระยะทาง 43 กิโลเมตร รวมทั้งขาไปและขากลับมีระยะทางทั้งหมด 86 กิโลเมตร แต่กลับใช้เวลาทั้งวันในการเดินทาง 

คำถามจากเสียงของผู้โดยสาร

จินตนา ศรีหาสงศ์ วัย 44 ปี เล่าประสบการณ์การใช้รถสาธารณะเพื่อไปทำธุระในเมือง แต่ต้องอุทิศเวลา 1 วันให้กับการเดินทาง

“บางมื้อถ่าโดนจนต้องเมือเฮือนไปซื่อๆ เพราะถ่าไปกะไปบ่ทันธุระ กะบ่เข้าใจว่าคือมาให้ถ่าโดนแท้” คำบอกเล่าและเป็นการตั้งคำถามของจินตนาขณะที่รอรถโดยสาร

“มีอยู่มื้อหนึ่งจะไปกรุงเทพฯ จะไปสถานีรถไฟในอุดร มื้อนั้นจะไปขึ้นรถไฟรอบ 1 ทุ่ม ออกจากบ้านตั้งแต่เที่ยง รอรถจนถึงบ่ายสอง รถก็ยังบ่มาเลยได้กลับบ้าน ได้ไปมื้อหลังแทน รู้สึกเสียเวลาหลาย”เธอบ่นอุบกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น 

ผู้โดยสารที่นั่งรอบนรถ

ค่าเดินทางสูงพอๆ กับในเมืองใหญ่

วันนี้จินตนาต้องไปทำธุระในอำเภอเมือง นอกจากจะใช้เวลานานแล้วยังเสียค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยในการเดินทาง 

“มื้อนี้เสียค่ารถเข้าเมืองไปเที่ยวละ 40 บาท ไป-กลับ 80 บาท ค่ารถสองแถวในเมืองอีก 15 บาท แค่ค่ารถกะจ่ายไป 95 บาทแล้ว นี่ยังบ่รวมค่าเหมาสามล้ออีก 40 บาท เพราะกลัวกลับมาไม่ทันรถขากลับอ.เพ็ญ รวมค่ารถวันนี้จริงๆ กะ 135 บาท” จินตนาไล่เลียงค่าใช้จ่ายในการเดินทางของวันนี้ด้วยท่าทีที่เหนื่อยล้า

คำตอบจากเสียงของผู้ประกอบการ 

เสียงจากผู้โดยสารเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและพนักงานขับรถต่างรับรู้มานาน แต่ไม่มีหนทางแก้ไข โดย ดาวประพันธ์ ทิงเพ็ญ วัย 50 ปี ที่ขับรถโดยสารมาเป็นกว่า 20 ปี บอกว่า ขณะนี้รถโดยสารสายนี้เหลือเพียง 4 คัน ทั้งที่เมื่อก่อนรถที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารมีจำนวนมาก แต่เศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เจ้าของรถขาดทุน 

“เมื่อก่อนนี้มี 15-16 คัน ออกทุกๆ 30 นาที รอไม่เกิน 45 นาทีต่อคัน พอขาดทุน ทุกคนก็พากันเลิกทำ ขายรถกันหมด ตอนนี้จึงเหลือแค่นี้” เป็นคำอธิบายจากพนักงานขับรถถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรอนาน

“เวลาขาดทุนก็พวกผมขาดทุน ผมเป็นลูกน้องของบริษัทอีกที มันเป็นเส้นทางสัมปทาน เป็นรถร่วมเอกชนที่ต้องเสียค่าคิว รอบละ 50 บาท ไปกลับก็ 100 บาท  วิ่งวันละ 2 รอบ ก็ 200 บาท บางทีไม่ไหวจริงๆ ก็ขอต่อเหลือ 180 บาท มันลำบาก เพราะสมัยนี้คนมีรถส่วนตัวกันเยอะ เพราะมันเร็วกว่า ดีกว่าเขาจะมานั่งรอ รถรับส่งนักเรียนก็เยอะ ไม่ค่อยมีนักเรียนมานั่งแล้ว”ดาวประพันธ์ แสดงความคิดเห็น

ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว

เขาเล่าอีกว่า ค่าโดยสารที่เก็บจากผู้โดยสารนั้น ไม่สามารถเก็บตามที่การขนส่งทางบกของจังหวัดกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ เนื่องจากขนส่งฯ กำหนดให้เก็บ 2 กิโลเมตรต่อ 1 บาท แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเก็บค่าโดยสารกิโลเมตรละ 1 บาท มิฉะนั้นผู้ประกอบการอาจอยู่ไม่ได้

“ถ้าผมเก็บตามขนส่ง คือ หยุดทำไปนานแล้ว ปกติต้องเก็บ 30 บาท แต่ต้องขึ้นค่าโดยสารเป็น 50 บาท ไม่งั้นก็อยู่ไม่ไหว แล้วแต่ใครจะฟ้อง ถ้าฟ้องแล้วถูกจับ ผมก็จะไม่ทำต่อ” ดาวประพันธ์เล่าด้วยความเหนื่อยหน่าย 

สำหรับรถโดยสารหมวด 4 คือ เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางที่มีจุดต้นปลายทางอยู่ระหว่างอำเภอกับอำเภอภายในจังหวัดเดียวกัน อัตราค่าโดยสารขึ้นต่ำ 10 บาท และค่าโดยสารเดิมกิโลเมตรละ ตามสภาพถนนลาดยาง-คอนกรีต ถนนลูกรังมีความลาดชัน และถนนชั่วคราว ให้ขึ้นราคากิโลเมตรละ 25 สตางค์ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามที่สำนักงานขนส่ง จ.อุดรธานี เสนอและให้มีผล 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา 

ฉลวย แก้วนาเมือง อายุ 56 ปี ขับรถโดยสารเส้นทาง อ.สร้างคอม – อ.เมือง จ.อุดรธานี

ค่าน้ำมันแพง ค่าแรงแทบไม่มี 

อีกหนึ่งคำตอบมาจากคนขับรถโดยสารวัย 56 ปี ฉลวย แก้วนาเมือง ที่บอกว่า การขับรถโดยสารทำให้บางวันต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน โดยมีค่าใช้เป็นค่าน้ำมันวันละ 1,400 บาท เมื่อเก็บค่าโดยสารมาแล้วก็เพียงพอแต่ค่าน้ำมัน 

“บางวันค่าแรงก็ไม่ได้ ค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องก็ไม่มี ค่าคิวรถก็ต้องให้บริษัทเดือนละ 5,500 บาท ผมก็ไม่ไหว มีหลายครั้งที่คิดว่าจะเลิกทำอาชีพนี้เหมือนกัน” เขาบ่นอุบกับภาวะขาดทุนที่ต้องเผชิญ 

จากจำนวนรอบรถที่ไม่พอต่อความต้องการของผู้โดยสาร เนื่องจากการลดลงของผู้ประกอบขนส่งสาธารณะในต่างอำเภอ ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำไปแล้วไม่คุ้มทุนและไม่สามารถมีค่าแรงเพียงพอต่อการใช้ชีวิต การมีอยู่ของขนส่งสาธารณะในต่างอำเภอยังมีความจำเป็นต่อประชาชนที่ต้องการใช้บริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางอยู่เสมอ 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Think.MoveForward ระบุว่า เมื่อปี 2564 เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางภายในเมือง/ในเขตเทศบาลทั่วประเทศมีเพียง 458 เส้นทางเท่านั้น ในขณะที่รถในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของ ขสมก. มีจำนวน 397 เส้นทาง 

นอกจากนี้มีรายงานประจำปีของ ขสมก.เมื่อปี 2563 จะเห็นว่า เส้นทางเดินรถในต่างจังหวัดมีมากกว่าในกรุงเทพฯ ในปริมาณเล็กน้อยเพียงเท่านั้น ซึ่งมองลึกลงไปในเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางของต่างจังหวัดนั้นก็เป็นแค่เส้นทางโดยภายในเมืองและเขตเทศบาลเพียงเท่านั้น แล้วเสียงประชาชนที่อยู่ต่างอำเภอที่ต้องการขนส่งสาธารณะนั้นอยู่ตรงไหน 

วิชาโหนศาสตร์ เมื่อโรงเรียนในฝันนั้นไกลบ้าน

รถโดยสารสาธารณะอันแสนห่วย ทิ้งคนต่างจังหวัดไว้ทั้งข้างหลัง และระหว่างทาง

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

image_pdfimage_print