ความบกพร่องของการทำหน้าที่สื่อมวลชนในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เป็นแรงผลักดันให้เกิดทีวีเสรีในปี 2538 สถานีโทรทัศน์ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมอย่างสูงลิบ กับบทบาทการรายงานข่าวที่เกาะติดทุกเหตุการณ์ โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของคนข่าวจากค่ายนี้

กว่าทศวรรษของ ITV วันดีคืนร้ายสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็ถูกแขวนไว้บนเส้นด้ายด้วยปัจจัยทางการเมือง กระทั่ง 7 มีนาคม 2550 วันสุดท้ายของนกเสรีก็มาถึง

ITV ยุติการออกอากาศมากว่า 16 ปี ทว่าสถานีโทรทัศน์ช่องนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจาก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องไปยัง กกต.ให้สอบการถือหุ้นของหัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ในฐานะผู้จัดการมรดก ว่ามีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ 

ในทางหนึ่ง ปรากฎการณ์นี้ปลุกชีพขององค์กรอย่าง ITV ขึ้นมาอีกครั้ง ในฐานะพื้นที่แห่งความทรงจำ ผ่านการแชร์ภาพถ่ายและประสบการณ์ผ่านตัวอักษรของนักสื่อสารมวลชนชั้นครูหลายท่าน เมื่อครั้ง ITV ยังโลดแล่นอยู่ในกระแสทีวีระดับตำนาน ก่อนจะปิดตัวไป ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 

การกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในโลกออนไลน์จากประเด็นปมหุ้นสื่อที่ถูกสลักไว้แล้วในความทรงจำ มีนัยสำคัญอย่างไร และบทบาทของ ITV ในขณะนั้นถูกมองอย่างไรในสายตาของสังคม ชวนอ่านเรื่องราวในอดีตผ่านความทรงจำของ “มนตรี อุดมพงษ์” หนึ่งในนักข่าวมือฉมังที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสนามข่าวจนถึงวันสุดท้ายก่อนการอัสดงของทีวีเสรี 

เล่าความเป็นมาของ คุณมนตรี อุดมพงษ์ กว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ITV ว่า เป็นมาอย่างไร 

ผมเป็นคนขอนแก่น บ้านอยู่อำเภอเมือง ระหว่างที่เรียน อยู่ขอนแก่นก็จริง แต่ว่าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถ้าเชื่อมโยงกับความเป็น ITV ก็รู้จักสถานีโทรทัศน์ ITV จากข่าว ซึ่งในช่วงดังกล่าวนั้น ด้วยความที่เรียนด้านเอกภาษาไทย แต่สนใจด้านการสื่อสารและติดตามสถานการณ์ทางสังคม

ตอนนั้นมีการชุมนุมนของกลุ่มสมัชชาคนจนอันเกิดจากความเดือดร้อนของคนที่อยู่ในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเฉพาะกรณีเขื่อนปากมูล คือเล่าย้อนกลับไปหน่อย การรวมตัวกันของพี่น้องชาวอุบลฯ ที่ต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ภายหลังมันนำมาซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มสมัชชาคนจน พอมาเป็นสมัชชาคนจนมันก็มีหลายปัจจัยที่เป็นความเดือดร้อนให้เกิดการเคลื่อนไหวกับรัฐบาล ซึ่งผมสนใจข่าวเรื่องนี้ก็จะติดตามผ่านสถานีโทรทัศน์ ITV  

ขณะเดียวกันประเด็นทางการเมืองขณะนั้น มีพรรคการเมืองอยู่พรรคหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล กอปรกับมีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มสมัชชาคนจน เนื่องจากว่าประเด็นข่าวที่คนสนใจมากที่สุด คือ การใช้สุนัขควบคุมฝูงชน กัดผู้ชุมนุม เขาเรียกว่าปล่อยหมากัดม็อบ ซึ่งปล่อยไม่ปล่อยก็กลับไปสืบย้อนหลังได้ว่าเกิดจากอะไร แต่อันนั้นเป็นประเด็น ไม่ได้พาดพิงในความเป็นนักการเมือง แต่ว่ามันคือข่าวการเมืองที่ทำให้ผมในฐานะคนต่างจังหวัดให้ความสนใจ แล้วก็ติดตามข่าวนั้นเรื่อยไป และมาติดตามข่าวอย่างจริงจังก็ตอนเริ่มเรียนปี 1 ปี 2 เพราะรู้สึกว่า สนใจทางด้านนี้ แล้วก็เริ่มติดตามข่าว รู้จักผู้ประกาศข่าวหลายคนจากหน้าจอโทรทัศน์ในลักษณะการนำเสนอข่าวของ ITV 

ผมไม่คิดไม่ฝันว่าอยู่ที่มหาสารคามแล้วผมจะได้มาทำข่าวที่นั่นไหม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราใฝ่ฝันมาก ใฝ่ฝันอยากจะทำข่าว และมีบุคคลที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์แล้วเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้กับว่า เออ ผมอยากทำข่าวแบบนี้ แต่แน่นอนสำหรับคนต่างจังหวัด หมายถึงว่าตัวผมเอง เป็นคนต่างจังหวัด ผมไม่มีโอกาส มันห่างไกลจากกรุงเทพฯ แล้วยิ่งคนอยู่ต่างจังหวัดมักจะมีความรู้สึกเอาเองนะว่า ผมแม่งเป็นเด็กบ้านนอกเว้ย โอกาสที่จะไปอยู่อย่างเขา คงยาก 

ตอนนั้นรู้จักคุณภัทราพร สังข์พวงทอง ซึ่งเป็นนักข่าว ITV  มันมีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือชีวิตของคุณภัทราพรว่า เขาก็ไม่ได้จบสื่อสารมวลชน แต่จบเอกภาษาไทย 

ผมอ่านแล้วทำให้เหมือนคนอยู่ในกรงขังแล้วถูกปล่อยออกจากความกลัว อ้าว มันไม่ต้องจบนิเทศมันก็เป็นนักข่าวได้นี่หว่า แล้วที่สำคัญเป็นคนที่จบเอกภาษาไทย ขออนุญาตหยาบคาย “แม่งจบเอกไทยเหมือนกูเลย แสดงว่ากูต้องไปได้สิวะ” 

ขั้นต่อมาคือ แล้วเราจะก้าวไปสู่เส้นทางสื่อสารมวลชนได้อย่างไร ตอนนี้กรงขังของความกลัวกรงแรกที่มันหายไปและมันจุดประกายเรา หลังจากนั้นก็มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเอาหนังสือมาให้อ่านชื่อ ‘กว่าจะเป็นนักข่าวมืออาชีพ’ เป็นหนังสือรวบรวมรายชื่อและชีวประวัติของนักข่าวหลายคน หนึ่งในนั้นก็มีคุณภัทราพร สังข์พวงทอง มีคุณจิรายุ ห่วงทรัพย์ คุณสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ หลายๆ คน ซึ่งมีบทบาทในอาชีพนั้น ผมก็อ่าน แล้วในระหว่างนั้นไปเจออีกเล่มหนึ่ง ชื่อคนบ้าข่าว ของคุณสุทธิชัย หยุ่น โอ้โห คราวนี้เป็นเหมือนคัมภีร์ชีวิตเลย อ่านแล้วอ่านอีก แล้วก็เอาหนังสือเล่มนี้พกติดตัว ยุคนี้ก็อวดด้วยอะไรไม่รู้ล่ะ แต่ว่าในยุคนั้นยุคหนึ่งเขาอวดด้วยหนังสือว่าคุณอ่านอะไร

หนังสือ คนบ้าข่าว โดย สุทธิชัย หยุ่น ภาพจาก มุมหนังสือ

ผมอยากจะเป็นนักข่าว จนกระทั่งตัดสินใจว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน ผมเลือกมาฝึกสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 อยากไปฝึกกรุงเทพฯ อยากไปฝึกหลายที่ แต่ว่าแน่นอนคอนเน็กชั่นผมไม่ถึงหรอก ผมเป็นเด็กบ้านนอก ไม่รู้จักใครเลยในเมืองกรุง เราก็ไปฝึกช่อง 11 ที่ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร ณ ขณะนั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ที่นั่นก็เป็นที่ๆ เปิดวิสัยทัศน์ เปิดโลกการทำงาน เขาเรียกอะไร เปิดกรงความกลัวแห่งที่ 2 ว่า เออ ผมทำได้ 

ด้วยความที่อยากจะเป็นมันทำให้เรามีความรู้ เรียนไม่เก่งนะครับ เรียนก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะโดดเด่นมาก แต่ก็ไม่ขี้เหร่ เพราะว่ามันเป็นวิชาที่เราชอบ มันทำให้วิชาไหนที่เราชอบเราก็ไปได้ดี ชนิดที่ว่าอาจารย์บางท่านบอกว่า โอเค ความรู้เกินข้อสอบ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะผม เพราะฉะนั้นใครที่ชอบด้านไหนเขาก็จะถนัดในด้านนั้น 

ผมจะเป็นคนที่อ่านหนังสือมติชนสุดสัปดาห์และเนชั่นสุดสัปดาห์เสมอในยุคนั้นเล่มละ 25 บาท เขาจะวางแผงทุกวันศุกร์เมื่อก่อน เมื่อถึงวันศุกร์ผมก็จะเจียดเงินที่ได้จาก กยศ. ไปซื้อรวมแล้ว 50 บาท เพราะเล่มละ 25 บาท ผมซื้อ 2 เล่ม มันทำให้ความรู้เรื่องข่าวที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันของผมพอจะมีบ้าง ซึ่งมันมากกว่าในตำรา ไม่ได้บอกว่าดีกว่ากัน แต่มันเป็นอีกโลกหนึ่ง เพราะฉะนั้นข้อสอบอะไรที่ออกเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันทางด้านข่าว ผมมักจะไม่ค่อยพลาด ไม่ตก พูดง่ายๆ จนกระทั่งว่าเมื่อมาฝึกงานช่อง 11 ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือตอนนั้น มันทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือว่าเมื่อฝึกงานจบ พี่ๆ ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ITV  ศูนย์ขอนแก่น ชื่อคุณสมชัย ศรีสุนาครัว ขณะนั้นเป็นหัวหน้าศูนย์ ก็เลยชักชวนว่า เฮ้ย ไอ้หนุ่ม จบแล้วเนี่ยจะไปทำงานไหน ผมก็บอกว่าก็มีพี่บางคนชวนไปอยู่ไทยรัฐ ศูนย์ข่าวภูมิภาค ที่ขอนแก่น คือเป็นสตริงเกอร์นั่นแหละ แต่ว่าพี่ที่ ITV ที่ขอนแก่นก็บอกว่า “เฮ้ย มึงไปอยู่กับกู ฝึกงานเดือนมิถุนายน จบ กันยายน แล้ว 1 ตุลาคม ก็ทำงานต่อเลย” จบปุ๊บก็ทำงานเลย แต่เป็นสตริงเกอร์อยู่ขอนแก่นก็ไปทำข่าววันแรกคือ 1 ตุลาคม ไปศูนย์ ITV ขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ตั้งไทยพีบีเอสในปัจจุบัน 

กระทั่งสถานีโทรทัศน์ ITV ที่ส่วนกลางมีการปรับเปลี่ยน แล้วเขาต้องการหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปประจำการโต๊ะข่าวภูมิภาค เขาก็มองหาคนว่านักข่าวคนไหนที่จะมาอยู่ประจำการ ปรากฏว่ากองบรรณาธิการ ก็เลือกว่าเอาคนภายใน เขาก็ประสานงานมาที่ศูนย์อีสาน กลายเป็นว่าเขาติดต่อมาที่ผมก็เลยถูกชักชวนให้เข้ามา คราวนี้ถ้าเราเข้ามาที่กรุงเทพฯ เราจะเป็นพนักงานประจำ ไม่ต้องเป็นพนักงานรายปี เราก็มีความรู้สึกว่า เออ ไปก็ได้ว่ะ แต่เอาเข้าจริงเราไม่ได้อยากไป คือ อุดมคติของชีวิตคือไม่อยากจากภูมิลำเนา เพราะอยากอยู่บ้าน อยู่กับแม่ ดูแลแม่ในความคิดของเรา แต่เราก็รู้แล้วล่ะว่า ถ้าไม่มีเงินจะเลี้ยงได้จะเลี้ยงได้ยังไงวะ มันก็ต้องหาเงินอยู่ดี เลยตัดสินใจว่าเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 อยู่โต๊ะข่าวภูมิภาค เริ่มเป็นปฐมบท แล้วก็มาเริ่มลุยจริงๆ จังๆ นับจากหลังปีใหม่ 2547 เลย คือ เหตุการณ์ปล้นปืนที่นราธิวาสแล้วหลังจากนั้นก็ประจำการที่ภาคใต้ต่อเนื่องหลายปี อันนั้นเป็นที่มาที่ไปที่พอจะบอกได้คร่าวๆ 

เริ่มต้นใหม่ในฐานะพนักงานประจำจากขอนแก่นมาอยู่ที่กรุงเทพฯ บทบาทใน ITV  ทำหน้าที่อะไร และชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

กองบรรณาธิการมีหลายแผนก หลายโต๊ะข่าว ผมประจำการอยู่โต๊ะภูมิภาค ก็ทำหน้าที่ในการรับข่าวจากภูมิภาคจากทั่วประเทศ เดิมเราอยู่ขอนแก่นเราก็จะประจำการดูแลประเด็นข่าวกับพี่ๆ นักข่าวประจำศูนย์อีสานทุกจังหวัด 19 จังหวัดในอีสานจะส่งข่าวมาให้เรา แล้วขณะนั้นเป็น 19 นะ ยังไม่ได้แยกบึงกาฬออกมาเป็นจังหวัด เพราะฉะนั้นอยู่ขอนแก่นผมก็จะรับหน้าที่ประสานงาน ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสารภาพข่าวจากสตริงเกอร์ในอีสาน

พอมาอยู่ กทม. มาอยู่ส่วนกลางกลายเป็นว่า ผมต้องประสานงานกับทุกจังหวัดทั่วประเทศ เหมือนกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในโต๊ะเดียวกัน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมก็คือว่า คอยประสานงาน เรื่องข่าว รับข่าว เขียนข่าว ติดตามภาพ แล้วก็เอาข่าวเหล่านั้นมาเขียนเป็นบท ให้เป็นสไตล์ ITV  ตามที่ครูใน ITV ได้อบรมสอนเรา 

เขาก็จะสอนเราว่า ITV เขียนข่าวแบบนี้ๆ เขาเรียกว่า Style-book ซึ่งแต่ละสถานี จะมี Style-book ของตัวเอง นี่คือส่วนงานที่เราทำ ประเด็นที่สองส่วนงานที่เราทำคือ เราก็จะออกไปทำข่าวเอง ทีนี้ ในทางของโต๊ะข่าวภูมิภาค เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของโต๊ะภูมิภาค แต่ผมเริ่มจริงๆ จังๆ หลังจากไปประจำการก็คือว่าเมื่อเข้ากรุงเทพฯ ปลายปี 2546 ปี 2547 ก็ถูกส่งลงไปภาคใต้พร้อมๆ กับพี่ๆ ซึ่งตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ แล้ว ก็ไปเห็นการปล้นปืนที่ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แล้วก็อยู่ที่นั่นยาว เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของผมก็จะเป็นแบบนี้คือทำงานอยู่กับกองบรรณาธิการที่เป็นภูมิภาค แต่ถามว่าทำอะไรก็คือมีทั้งเขียนข่าว ตรวจสอบแก้ไขข่าว ติดตามข่าว และลงพื้นที่ทำข่าวเอง ในฐานะภูมิภาคเราเลยมีคอนเน็กชั่น ซึ่งเป็นคอนเน็กชั่นตามระบบก็คือผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดนั้น โดยมีพี่ๆ กลุ่มนี้เป็นแหล่งข้อมูลแรก 

ถ้าวันหนึ่งเราอยากจะลงไปทำข่าวนั้นเองเพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ อยากจะขยายความอยากจะทำสกู๊ปเราก็ประสานงานกับพี่ประจำจังหวัดนั้นๆ เราจะไปทำเอง มีข้อมูลอะไรบ้างที่จะสนับสนุนกัน ซึ่งมันทำงานสนุกมาก เพราะฉะนั้นงานที่ผมทำมันเลยใกล้ชิดกับนักข่าวในต่างจังหวัดอย่างมาก เพราะว่ามันเป็นสายตรงด้วย แล้วก็ไปพบปะกับเครือข่ายผู้คนสังคม ในภูมิภาคในท้องถิ่นนั้นๆ ตามปัญหามากขึ้น เช่น พอเป็นปัญหาเขื่อนปากมูล เราก็จะไปเจอ บรรดาแกนนำทั้งหลายทั้งปวง หรือไปเจอปัญหาทางภาคใต้ ตอนนั้นหลักๆ ก็จะเป็นประมาณนี้ หมายถึงว่าปัญหาสังคมที่มีในขณะนั้น ห้วงที่ผมอยู่ก็คือห้วงเรื่องความไม่สงบในภาคใต้ อันนี้คือประเด็นว่าเราทำงานรูปแบบไหน กับใคร อย่างไรบ้าง

หลังจากผ่านการร่วมงานกับ ITV มาสักพัก อยากทราบว่างานที่อยู่ในความทรงจำมีเรื่องไหนบ้าง  ทำไมงานเหล่านั้นจึงอยู่ในความทรงจำ 

ผมเรียกว่าจำได้ไม่ลืม และเชื่อว่าคนที่รู้จักผมก็อาจจะรู้จักจากเหตุการณ์เหล่านั้น ก็คือเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ มันเกิดขึ้นนานแล้ว ยุคสมัยไหนก็เกิด เรียกว่าหลายรัฐบาล ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยพูดง่ายๆ แต่มันจะหนักขึ้นแรงขึ้นเบาขึ้นแค่ไหนขึ้นอยู่ตามยุคสมัย แต่ว่าผมเรียนรู้ทำข่าวเติบโตมากับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้นเหตุการณ์พวกนี้มันอยู่ในความทรงจำของผม จะดีจะร้าย มันอยู่ในความทรงจำ 

เหตุการณ์การปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งจริงๆ มันก็มีหลายร้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น มีคนเสียชีวิตไป 108 คน ในวันที่ 28 เมษายน 2547 แต่เนื่องจากว่าเราเป็นทีมข่าวทีมเดียวที่อยู่ในพื้นที่ปัตตานี และเป็นทีมข่าวทีมเดียวที่มีรถดาวเทียมจอดอยู่ที่นั่น มันจึงสามารถรายงานสดสถานการณ์ที่นั่นได้ และมันเป็นครั้งแรกในแง่พัฒนาการ เราไม่มีเวลาอ่านข่าวแล้วเขียนสคริปต์ เพราะข้อมูลมันหลั่งไหลเข้ามาทุกนาที เรื่องของจำนวนคนเป็น จำนวนคนตาย สถานที่ที่มีการปะทะ สถานการณ์คลี่คลายแค่ไหน ไม่มีสคริปต์ เนื่องจากว่าข่าวสถานีโทรทัศน์ ITV  มันเป็นสถานีข่าว ไม่เหมือนข่าวหลายๆ ช่องในตอนนี้ที่จะต้องมีพีเรียดข่าว คือจบข่าวเที่ยงก็จบ หลังจากนั้นก็เป็นละคร จบข่าวเย็นก็จบหลังจากนั้นก็เป็นละคร แต่ ITV ทุกครั้งที่มีข่าวด่วนเขาจะแทรกเข้าข่าวด่วนทันที แล้วก็อยู่กับมันตลอดไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

เหตุการณ์ที่สองที่ทำให้เราอยู่ในความทรงจำ มันก็คือความชุลมุนที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ของประเทศ ก็คือเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งก็เกิดปลายปี 2547 เหมือนกัน ตอนนั้นผมยังคงทำข่าวสึนามิอยู่ที่ปัตตานี เพราะว่าเราปักหลักอยู่ที่นั่นเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบ 

แต่หลังจากนั้นนั้นเราก็เดินทางมาทำข่าวสึนามิที่ภูเก็ต มันอยู่ในความทรงจำเพราะมันเป็นเหตุการณ์ท่ามกลางความไม่รู้ สึนามิคืออะไรยังไม่รู้เลย สถานการณ์เป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย ฝั่งอันดามันก็ไปไม่กี่ครั้งก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นความคล่องตัวไม่มี แต่ว่ามันเริ่มมีประสบการณ์ในการที่จะรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติแล้วถ้าเกิดเหตุแบบนี้เราจะปักหลักอย่างไร เราจะตั้งกองบัญชาการข่าวเราอย่างไร เราจะวางคนวางทีมของเราไว้อย่างไรเพื่อไม่ให้ตกข่าว มันเลยกลายเป็นเรื่องของความผูกพันกับทีมงานทั้งหมด ที่สำคัญคือไม่มีชนชั้นในการทำข่าว หมายความว่าผมเป็นเด็กแต่ผมเป็นหัวหน้าทีมผมสามารถบริหารจัดการโดยการประสานมอบหมายให้พี่ๆ ผู้ใหญ่ ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายได้

ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้อิดออดว่า “เฮ้ย ไอ้นี่แม่งเด็ก เกิดขึ้นมาใหม่ มาสั่งกูได้ยังไงวะ” โดยเฉพาะเราต้องยอมรับว่าช่างภาพคือรุ่นครูทั้งนั้นเลย แต่ต้องมาทำงานตามคำสั่งของเรามันเป็นอะไรที่ในองค์กรอื่นๆ ในวิชาชีพอื่นๆ มันหายาก ที่รุ่นใหญ่จะมาฟังเด็ก มันเลยกลายเป็นความสนุก ผมเป็นเด็กแต่ผมก็ทำข่าวอยู่ภายใต้การโอบอุ้มของพี่ๆ ผู้ใหญ่ในทีมของ ITV  คนมีประสบการณ์มากกว่าอย่างเช่น ที่ภูเก็ต ผมไม่เคยไปเลย ผมไม่เคยรู้ ผมจะสั่งงานทีมอย่างไร ผมจะฝากประเด็นให้ทีมอย่างไร ผู้ใหญ่เขาจะบอกเอง เออ เอ็งต้องทำอย่างนี้นะ เพราะตรงนี้บ้านพี่อยู่ตรงนี้ ญาติพี่อยู่ตรงนี้ ปีที่แล้วพี่มาทำเรื่องนี้ ตรงนี้พี่รู้หมด โอเค งั้นตรงนี้ผมฝากพี่ครับ เรื่องนี้ต้องขอความช่วยเหลือพี่แล้วล่ะ มอบความรับผิดชอบนี้ให้พี่นะ ตรงนี้ผมไม่เคยไป ผมจะรับผิดชอบตรงนี้ เราบริหารงานกันแบบนี้ มันจึงทำให้มันเป็นเรื่องที่มันอยู่ในความทรงจำของเรา

คิดว่า ITV ให้อะไรแก่สังคม และทำไมขณะนั้น ITV จึงถูกกล่าวถึงในวงกว้าง บทบาทสำคัญของ ITV ขณะนั้นคืออะไร

ผมว่ามันเป็นเรื่องของการเป็นปากเป็นเสียง สิ่งนี้เป็นนัยสำคัญของสังคมในยุคนั้น การเป็นปากเป็นเสียง การเป็นสื่อสะท้อนความเดือดร้อนของปัญหาที่อยู่กับประชาชนคนที่ได้รับความทุกข์ยาก และปัญหาหลายอย่างที่มันถูกซ่อนเร้น หรือปัญหาที่มันถูกเชื่อตามประเพณีวัฒนธรรม มีบางคนบางฝ่ายตั้งคำถามในเชิงวิทยาศาสตร์ ผมยกตัวอย่าง มันอาจไม่ใช่เรื่องที่ทุกๆ คนจะยอมรับมากนัก แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่คนอีกฝั่งหนึ่งชื่นชอบ เช่น การตีแผ่หรือเปิดเผยข้อสังเกตเรื่องบั้งไฟพญานาค ตกลงมันเกิดขึ้นจากใครกันแน่ แน่นอนบางส่วนเชื่อว่าเกิดจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมันจะหมักหมมสะสมมาจนกระทั่งถึงวันออกพรรษาของแต่ละปี บางคนก็บอกว่านี่คือปรากฏการณ์ที่พญานาคทำบุญ จุดเทียน จุดพลุ เพื่อถวายบูชาพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษา ในขณะที่กลุ่มคนที่ไปทำประเด็นดังกล่าวเชื่อว่ามันเกิดจากการยิงปืนของมนุษย์และเพื่อสร้างกระแส ซึ่งการยิงปืนไม่ใช่เพื่อสร้างกระแส แต่การยิงปืนก็เพื่อเป็นหนึ่งในการเฉลิมฉลองวันออกพรรษา แต่คนในฝั่งหนึ่งมองว่ามันเหมือนบั้งไฟ ก็คิดเป็นอย่างนั้นไป  ITV ก็ไปหาคำตอบพวกนี้มา 

ผมไม่ได้บอกว่าบทสรุปที่สุดเรื่องนี้มันจะจบลงอย่างไร แต่ผมกำลังจะบอกว่ามันได้รับความสนใจเพราะ ITV ได้ให้ช่องทางของคนที่มีความเห็นที่แตกต่างออกไปได้สะท้อนความเห็นนี้ออกมา อันนี้เรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สองบรรดาความทุกข์ความยากหรือความลำบาก สิ่งที่มันถูกปกปิดอยู่ หรือไม่กล้าจะเปิดเผย มันจะถูกเปิดเผยผ่าน ITV  

นี่คือบทบาทหนึ่งต่อสังคม ถ้าเป็นในเชิงทฤษฎีของนิเทศศาสตร์มันก็เป็นหลักของการสะท้อนบทบาททางสังคม อย่างเช่น เราเจอปัญหาการทุจริต เราเจอปัญหาการลักลอบเก็บเงินของส่วยรถบรรทุกในยุคหนึ่ง  ITV ก็ลงทุนตั้งกล้องติดตามเป็นเวลานานเพื่อให้เห็นว่ามันมีการรับจ่ายส่วยกันจริง เรื่องพวกนี้มันเป็นสิ่งที่พูดกันในแวดวงสังคม แต่มันไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนและไม่มีใครกล้าคิด แม้ว่าตอนหลัง การออกอากาศพวกนี้ไป มันจะถูกตระหนักว่าเอาเข้าจริงมันคือปัญหาปลายแถว ทุกครั้งที่ทำเรื่องพวกนี้ไปมันมีแต่นายดาบนายสิบเท่านั้นแหล่ะที่เดือดร้อน คนที่เป็นผู้สั่งการไม่เคยได้ถูกสาวถึง  ITV ก็จะตระหนักถึงปัญหามากขึ้น โอเคล่ะ งั้นแสดงว่าเรื่องพวกนี้ควรจะทำอย่างไรต่อ ควรที่จะไปแก้ที่โครงสร้างมากกว่าจะมาจับที่ปลายเหตุ หรือปลายเหตุทำได้แต่ต้องสาวไปถึงต้นทาง อันนี้ทำให้สิ่งที่มันเป็นปรากฏการณ์ 

รวมถึงความเดือดร้อนในหลายๆเรื่อง ขณะนั้นเทคโนโลยีหรือเครื่องมือทางสังคมมันไม่พร้อมเหมือนสมาร์ทโฟนในทุกวันนี้ หลายทีมหลายแผนกจึงมีความทรงจำที่ต่างกัน อย่างเช่น รายการร่วมมือร่วมใจ เขาก็จะมีความทรงจำที่ดีมากกับการออกไปดูความเดือดร้อนของสังคมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยหนาว ความเดือดร้อนเรื่องโรงเรียนที่ขาดแคลน แล้วรายการร่วมมือร่วมใจเขาก็ไปประสานจนสามารถช่วยเหลือได้ ซึ่งเป็นนัยยะของคำว่าร่วมมือร่วมใจ สื่อให้เห็นว่า ITV อยู่ร่วมกับสังคม เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ซึ่งมันก็เป็นโมเดลที่แต่ละรายการแต่ละสถานีก็ทำอยู่ทุกวันนี้คือไม่ได้ยืนอยู่บนหลักของการเป็นสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่ยืนอยู่บนหลักว่าเป็นสื่อมวลชนที่อยู่กับสังคมด้วย คือเมื่อถึงน้ำท่วมก็เอาของไปแจกด้วย เอาตามจริงทฤษฎีนี้มันไม่ได้มีในหลักการของความเป็นสื่อมวลชนในประเทศไหนด้วยซ้ำ เพราะว่าเมื่อมันเกิดภัยพิบัติหน้าที่เราคือสื่อให้เห็นว่ามีความเดือดร้อน  เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานั้นๆ จะไปแก้ไข แต่ในบทบาทในไทยกลายเป็นว่าเราเองก็เข้าไปแก้ไขด้วยเหมือนกัน เพราะเราถือว่าเป็นเราเป็นกลไกหนึ่งของสังคม โดยที่ไม่ได้อาศัยบทบาทเดียวในการให้หน่วยงานรัฐไปแก้ไข อันนี้คือสิ่งที่ผมเชื่อว่าสังคมจดจำสิ่งนี้ 

อยากให้เล่าย้อนไปถึงวันที่ต้องร่ำลาวันทำงานวันสุดท้ายว่า กำลังทำอะไรอยู่ ณ ตอนนั้น เพราะนักข่าวหลายคนถูกสั่งให้กลับไปที่สถานีทั้งๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในสนามข่าว

หลังจากถูกสั่งจอดำแล้วก็มีรายละเอียดเยอะมาก ผมขอไม่พูดถึง เพราะว่า มันสามารถสืบค้นได้ทั้งในระบบว่า มันมีข้อฟ้องร้องทั้งกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งเป็นข้อพิพาทเชิงธุรกิจว่า มันมีการโฆษณาเกินเวลาหรือเปล่า การต่อสู้พวกนี้ มันมีคำตอบที่ละเอียดมากกว่าสัดส่วนของผม เพราะฉะนั้นผมจะละไว้ เพราะน่าจะหาข้อเท็จจริงได้ง่ายกว่า แต่ว่าในวันนั้นอยู่ที่ไหนกัน มันก็กำลังทำงานอยู่ต่างจังหวัด เฉพาะผมคนเดียวนั้นผมรายงานสดอยู่ที่นครราชสีมา 

ในวันที่สถานีมีคำสั่งให้จอดำ (ยุติการออกอากาศ) ผมอยู่ที่โคราชพร้อมกับทีมถ่ายทอดสด กำลังไปทำข่าวเรื่องเตรียมการเลือกตั้ง แล้วก็มีทีมถ่ายทอดสดอยู่ด้วย รู้เอาอีตอน 2-3 ทุ่ม ผมมารายงานสดอยู่โคราช เขาบอกว่าเดี๋ยวรายงานสดแล้วคืนนี้จะเป็นคืนสุดท้าย หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปจะมีการจอดับ พี่ต๊ะ นารากร ติยายน จะเป็นคนอ่านในวันนั้น พอเรารู้ดังนั้นทีมก็ตกใจ ก็รายงานข่าวเสร็จขอเช็กเอาท์โรงแรม เก็บข้าวของ พร้อมทั้งรถดาวเทียมทั้งหมด มุ่งเข้าออฟฟิศ 

พอมาถึงออฟฟิศมัน คือ ความเงียบสงบ ความหมายของเรา คือมันไม่ใช่ว่าชัตดาวน์แบบไม่รู้มาก่อนล่วงหน้านะ อย่าลืมว่ามันมีข้อพิพาทกันมาต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ที่พยายามจะเข้ามาจัดการปัญหานี้กับ ITV  เพราะฉะนั้นมันมีเค้าลางอยู่แล้วว่ามันมีข้อพิพาทแบบนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สั่งเปรี้ยงเลย มันไม่ใช่แบบนั้น มันมีเค้าลางมาอยู่แล้วว่า มันมีปัญหากับการพิพาทเรื่องภาครัฐ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นภาพคนมาประท้วงอยู่หน้าตึกเรา หมายถึงชาวบ้านนะ ที่ใส่เสื้อเซฟ ITV  ปกป้อง ITV  รักษา ITV  ภาพพวกนั้นมันมีอยู่ แต่รัฐก็ยื้อไป โอเค ยังไม่ให้จอดำหรอก ยังไม่ปิด ยังไม่ให้ตกงาน ก็ให้ทำงานไป เพราะฉะนั้นทุกคนไปทำงานก็จะทำงานบนอารมณ์นี้เหมือนกันว่าอารมณ์หวาดหวั่น พอถึงวันนั้นมันจึง อ้าว แสดงว่าไม่เป็นผลเว้ย ไอ้ที่สู้ๆ กันมา ถึงที่สุดเขาก็มีคำสั่งให้เรายุติการออกอากาศ เอาเข้าจริง พี่จอย จตุรงค์ สุขละเอียด ก็ไปฟ้องศาลปกครองเหมือนกันว่าในฐานะผู้บริโภคได้รับผลกระทบนะต่อคำสั่งนี้ 

ทุกคนโศกเศร้าเสียใจ ไม่ใช่ภาวะว่าตกงานในขณะนั้น แต่เราไม่อยากจากที่นี่ไป มันอารมณ์ประมาณนั้น ตอนนี้มันคงป่วยการที่จะไปเล่าถึงบรรยากาศแบบนั้น เพราะว่ามันผ่านมาแล้ว จนขณะนี้ทุกคนมันก็ผ่านมาด้วยดีแล้ว แต่ผมเล่าด้วย คือความตึงเครียด มันเป็นความตึงเครียด แต่เมื่อมันผ่านมาได้มันคือความประทับใจ  อันนี้เราไม่ได้เล่าเพื่อไปย้อนว่า “แม่งโคตรเศร้าโคตรโศกเลย” ไม่ใช่แล้ว อารมณ์เราไม่ได้โหยหาแล้วในตอนนี้ เราเพียงแต่บอกว่า ณ เวลานั้น เราพูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องมีใครขอให้กรมการจัดหางานหางานให้เลย บอกตรงๆ เพราะทุกคนมีโพสิชัน มีตำแหน่ง มีงาน สะท้อนให้เห็นถึงทั้งศักยภาพ และสปิริต ขององค์กรที่มันช่วยกันได้ แต่ทุกคนโศกเศร้าเสียใจเพราะ แหม มันไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย อะไรประมาณนี้ครับ 

หลังร่ำลาจาก ITV  เริ่มต้นชีวิตในสำนักข่าวใหม่เป็นอย่างไรบ้าง ก่อนจะมาเป็น มนตรี อุดมพงษ์ ข่าว 3 มิติ ในวันนี้

มันก็มีเหมือนมีดาบอยู่ในมือ ในที่นี้หมายถึงมีความรู้อยู่ในตัวแล้ว แต่ละคน ก็แยกย้ายกันไป ผมก็ได้รับการชักชวนจากพี่ๆ หลายคน ซึ่งทุกคนก็มีมิตรไมตรี ชวนไปอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่ ณ ขณะนั้น ก็มากับทีมที่เป็นบรรณาธิการเก่าที่อยู่โต๊ะข่าวภูมิภาคของผม หัวหน้างานโดยตรงในขณะนั้น สำหรับผมเองผมมาอยู่ที่รายการประเด็นเด็ดเจ็ดสี มาอยู่ที่บริษัทมีเดียออฟมีเดีย ซึ่งมีบริษัทย่อยชื่อมีเดีย สตูดิโอ แรกๆ ทำรายการชื่อเจาะเกาะติด ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกของบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ แล้วผมก็มาทำรายการประเด็นเด็ดเจ็ดสี แต่ว่ามันก็สลับสับเปลี่ยนหากันอยู่ในแต่ละที่แต่ละงานในช่วงนี้ จากที่เป็นคน ITV ด้วยกัน

กระทั่ง ผ่านไป 2 ปี ผมได้รับการชักชวนมาที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพื่อมาทำรายการข่าว 3 มิติ ซึ่งก็เป็นทีมเดิมที่เคยทำฮอตนิวส์ อยู่ที่ ITV  เพราะฉะนั้น ITV ก็จะเป็นรายการที่เราทำงานด้วยความสนุกมาก ผมไม่ใช่ทีมฮอตนิวส์โดยตรงตอนที่อยู่ ITV  แต่ว่าผมมีส่วนสนับสนุนข้อมูลและรายงานสดให้จากการที่ผมอยู่โต๊ะภูมิภาค โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางภาคใต้ ผมต้องรายงานข่าวเข้ารายการฮอตนิวส์อยู่เสมอก็ทำให้คุ้นเคยกับคุณกิตติ สิงหาปัด เอาเข้าจริงต่อให้เป็นคนอีสานด้วยกัน คนขอนแก่นด้วยกัน ตอนอยู่ ITV แทบจะคุยกันน้อยมาก เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราไม่กล้าเดินใกล้รัศมีเขาเลย เราเป็นเด็กบ้านนอก เขาเดินมา เราเดินหลบๆ แม้แต่คนบ้านเดียวกัน แต่คุณกิตติไม่รู้จักผม เขามารู้จักผมผ่านหน้าจอ 

คน ITV จะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด จะรู้จักกันก็ผ่านหน้าจอ ไม่มีใครมาสนใจว่าความเป็นคอนเน็กชั่นนั่นนี่ มันแทบจะมีน้อย ทุกคนมารู้จักกันผ่านหน้าจอ คือคุณต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านหน้าจอ ซึ่งมันจะทั้งตื่นเต้นและกดดันมาก เมื่อคุณต้องยืนรายงานสดแล้วคนแม่งทั้งสถานีต้องมายืนดูเราบนหน้าจอตัวเดียว แล้วพร้อมจะสับเรา ถ้าผิดพลาดนั่นโน่นนี่ เขาจะยำเราเละเลย เพื่อที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนา 

เพราะฉะนั้นการได้ออกอากาศผ่านหน้าจอ ITV  มันโคตรตื่นเต้น แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นเขาก็ไม่ได้ปล่อยให้เราไปตายเอาดาบหน้า เขาก็จะฝึกเรา สอนเรา แต่แน่นอน นักมวย พอบางทีมันขึ้นเวทีจริงมันก็ตื่นเต้น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เหมือนกันพี่กิตติก็จะรู้จากงานผ่านหน้าจอ ผ่านการทำงาน ตอนหลังเขาถึงมาชวนให้มาอยู่ด้วยที่รายการข่าว 3 มิติ ก็จวบจนถึงปัจจุบัน นี่คือชีวิตที่เกิดขึ้น 

จากนักศึกษาหนุ่มผู้อยากเป็นนักข่าว จนเป็นนักข่าวมืออาชีพในวันนี้ เห็นพัฒนาการของเสรีภาพสื่อในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

มองว่า พัฒนาการมันก็ดีขึ้นมาก มันดีขึ้นแน่นอน จากการที่มีการแข่งขันกันหลากหลาย ในแง่ของเสรีมันก็มี เพราะว่าการแข่งขันหลากหลายมันเป็นตัวแปรและเป็นปัจจัยให้แต่ละคนต้องคิดหาประเด็นในแง่ของการนำเสนอ แต่เสรีที่ว่ามันมาพร้อมกันกับปัญหาทางธุรกิจในขณะนี้ด้วย 

เกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล และการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยีหรือที่เราเห็นเป็นสมาร์ทโฟนในทุกวันนี้ที่ใครๆ ก็สามารถทำข่าวได้ เสรีตัวนี้มันได้ถูกใช้ไปเพื่อการข่าวที่เป็นข่าว ผมอาจจะมองว่ามันไม่ได้ตอบสนองสังคมมากนัก แต่ผมไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นไม่ได้อยากทำ แต่คำว่าธุรกิจมันเป็นตัวบีบบังคับให้เขาต้องเลือกใช้เสรีของตัวเอง ไปเพื่อหาประเด็นข่าวที่มันไม่ใช่คุณค่าข่าวตามหลักนิเทศศาสตร์ แต่มันตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ 

อันนี้ถามว่าแล้วเราให้คำนิยาม คุณค่าข่าวอย่างไรล่ะ ผมก็บอกว่าคุณค่าข่าว ถ้าเอาตัวบุคคลมันวัดกันไม่ได้หรอก เพราะว่ารสนิยมของคนมันต่างกัน สมมติว่าผมมองว่าข่าวเรื่องเพศเป็นข่าวสำคัญ มันก็เป็นรสนิยมของผม หรือผมมองว่าข่าวเรื่องความขัดแย้งมันมีความสำคัญ มันก็เป็นรสนิยมของผม แต่ว่ามันมีเกณฑ์ชี้วัดอยู่คือคุณค่าข่าวตามหลักนิเทศศาสตร์มันมีเหตุและผลของมันอยู่ว่า คุณค่าข่าวตามหลักนิเทศศาสตร์ มันจะถูกโยงไปด้วยทฤษฎีทั้งหลายทั้งปวงของความเป็นนักข่าว เช่น ทฤษฎีกระสุนปืน ทฤษฎี Propaganda หรือทฤษฎีของการเป็นหมาเฝ้าบ้าน หรือการเป็น Gatekeeper 

เนื่องจากว่าเราเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เขาเรียกว่าเป็นวิชาชีพที่ถูกคาดหวังว่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมบนพื้นฐานที่ตัวเองต้องทำธุรกิจด้วย คือมันจะซับซ้อนข้อนี้ มันไม่เหมือนคนค้าขายทั่วไป ค้าขายมันก็เพื่อให้ได้กำไรกลับมา แน่นอนการค้าขายก็มีจรรยาบรรณของมันเรื่องคุณภาพ เรื่องความซื่อสัตย์ ถ้าคุณตอบโจทย์พวกนี้ได้ปุ๊บ กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ถือเป็นผู้ชนะ ยิ่งคุณทำกำไรต่อชิ้นมากขึ้นเท่าไรนั่นคือความสำเร็จของคุณ 

แต่ว่าสำหรับอาชีพข่าวมันไม่ใช่ มันเลยถูกตั้งกรอบว่า วันดีคืนดีเขาก็มาตั้งคำถามว่าไม่มีจรรยาบรรณเลยนักข่าว ทำไมไม่ทำข่าวแบบนี้ คำถามคือ มันไม่ตอบโจทย์มันไม่มีกระแสเข้า มันก็ไม่เงินที่จะไปเติมน้ำมัน แล้วทำอย่างไรล่ะ ข่าวคุณภาพดีมาก แต่ไม่มีเงินเติมน้ำมันไปทำ แล้วมันจะได้ข่าวที่ดีไหม มันก็ไม่ได้เพราะว่ามันไม่มีคนมาสนับสนุน 

ข่าวกระแสดีมันไม่ได้วัดด้วยข่าวว่า คุณภาพดี เราจะสังเกตเห็นว่าข่าวดีๆ ข่าวที่ส่งเสริมอะไรต่อมิอะไร ปรากฏว่ากระแสมันต่ำ เมื่อกระแสต่ำ มันก็ไปต่อไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมจะต้องมองว่าสังคมจะสนับสนุนข่าวดีๆ นี้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมมองว่าเสรีมันมีขึ้นมากขึ้น แต่สิ่งที่มันมากำกับควบคุมเสรีที่มันไปไม่ถึงฝั่งฝันทั้งหมด มันคือปัจจัยทางธุรกิจด้วย นี่ยังไม่มองปัจจัยทางด้านการเมืองนะ ที่พยายามจะใช้ แต่ผมมองว่าปัจจัยทางการเมือง ตอนนี้มันน้อย เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันมีสื่อโซเชียลมาเป็นทางเลือกให้เขาไปเล่นมากขึ้น แต่โอเค โซเชียลก็เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนอยู่แล้ว 

สื่อกระแสหลักก็กระโดดไปใช้สื่อโซเชียล เหมือนกันวันดีคืนดีอาจจะเห็นคน ITV เยอะแยะมากมายที่ไปอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นเจ้าของสำนักข่าวออนไลน์เยอะแยะ เพราะฉะนั้นแสดงว่ามันไม่เกี่ยวกับความเป็นสถานี แต่มันเกี่ยวกับความเป็นวิชาชีพว่าคุณอยู่ในองค์กรไหน ถ้ามันมีเสรีคุณยังจะทำสไตล์นั้นอยู่แบบนั้นอยู่ อันนี้คือปรากฏการณ์ที่เห็น

ถัดมาจากเรื่องของ ITV  ตอนนี้มองว่า สื่อมวลชนกับประชาธิปไตย เกี่ยวข้องกันอย่างไร

โดยหลักมันก็ต้องบอกว่า แต่ไหนแต่ไร ค่ายของสื่อมวลชน มันก็อยู่คู่กับการปกครองมาทุกยุคทุกสมัย คือ ถ้ามันเป็นระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ สื่อมวลชนก็มีนะ แต่ว่าทฤษฎีที่เขาใช้ในการทำงานของค่ายที่เขาปกครองด้วยคอมมิวนิสต์มันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น ใช้ทฤษฎีกระสุนปืนคือทฤษฎีที่โฆษณาชวนชื่อ แล้วต้องตรงเป้าหมาย แล้วก็ยิงบ่อยๆ หมายความว่าโฆษณาบ่อยๆ โฆษณาถี่ๆ ด้วย Propaganda ตัวอย่างคือ การหาเสียงในขณะนี้ซึ่งสามารถหาดูได้ว่าโฆษณาชิ้นไหนที่ปลุกปั่นสร้างความแตกแยก สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคม สร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม มันเป็นทฤษฎีเดียวกันกับที่ใช้ในค่ายการปกครองที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว 

ในขณะที่ในมุมมองของผม สื่ออีกด้านหนึ่งคือสื่อที่อยู่ในค่ายของประชาธิปไตย มันเป็นสื่อที่จะต้องสะท้อนให้เห็นความหลากหลาย เป็นปากเป็นเสียงหรือเป็นช่องทางให้คนได้พูด สิ่งนี้สำคัญเพราะว่าหัวใจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย คือการให้ประชาชนให้สังคมเป็นผู้เลือกเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกคนแบบใด ตัดสินใจเลือกคนแบบใด นโยบายแบบใด หรือมาตรการใดให้ดีที่สุด ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้คนต้องรู้ข้อมูล สื่อมวลชน คือคนทำหน้าที่ตรงนั้น เพราะเขาไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง ประเด็นคือว่าถ้าสื่อมวลชนในค่ายประชาธิปไตยไม่ได้ใช้หลักวิชาชีพของตัวเองมากพอ มันก็จะเอา Propaganda นี่ล่ะมาใส่สมองของคน เอาความหวาดกลัวเพื่อให้คนตัดสินใจด้วยวิธีการที่ผิด หรือด้วยทัศนคติที่ผิด เพราะฉะนั้นผมคิดว่าผมจึงมองว่าสื่อมวลชนกับประชาธิปไตย มันแยกกันไม่ขาด ความจริงต่อให้ไม่ใช่ประชาธิปไตยมันก็เกี่ยวข้องกัน แต่มันจะพากันไปอีกทางหนึ่งเลย 

ของเราเคยมียุคหนึ่งคือยุคที่เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย คือประชาชนไม่ต้องคิด ประชาชนเชื่อผู้นำอย่างเดียวก็พอ ผู้นำเขาคิดมาดีแล้ว ทุกวันนี้เรายังเห็นอยู่เลยการปราศรัยของนักการเมืองหลายท่าน ยังชอบติดนิสัย “เฮ้ย คุณต้องทำอย่างนี้นะ เข้าใจไหมๆ” มันทำให้มีความรู้สึกว่าเราโง่มากนักหรือเปล่า เราไม่เข้าใจอะไรหรือเปล่าวะอะไรอย่างนี้ คือมันเลยกลายเป็นว่าตัวสื่อจะต้องเป็นคนสะท้อน ส่วนจะสะท้อนออกไปแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหน ข้อหนึ่งอยู่ที่ประสิทธิภาพของสื่อด้วยว่าได้ทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองไหม 

เมื่อสื่อสะท้อนออกไปแล้ว ผลตอบรับมันออกมาอย่างไร เราทำอะไรไม่ได้ เพราะหน้าที่เราคือจุดแสงเทียน หลังจากนั้นจะมีปรากฏการณ์อย่างไรมันสุดแท้แต่เขา เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดเขาได้ แต่เราต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่าไฟที่เราจุดขึ้นมันตรงเป้าหมายไหม มันตรงวัตถุประสงค์ไหม เพราะฉะนั้นผมก็เทียบได้ว่าเราคงทำหน้าที่ในแง่ของสื่อในค่ายประชาธิปไตยด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เห็นความหลากหลาย อยู่ภายใต้ทฤษฎีของสื่อด้วย ถามว่าทำไมต้องอยู่ภายใต้ทฤษฎีของสื่อ ทำไมไม่เปิดเสรีไปเลยล่ะ คุณคิดอย่างไร คุณก็ว่าไปอย่างนั้น 

เคยเปรียบเทียบหลายครั้งว่ามันก็เหมือนกับที่เราไปหาหมอบางทีเราเจ็บปวดมาก เราบอกให้หมอทำอย่างไรก็ได้ให้หาย เช่น หมอครับผมไม่ไหวแล้ว ผมยังไงก็ได้ เชื่อผมเถอะ ผมเป็นคนเจ็บปวด หมอรักษาผมที แต่หมอที่ดีมีวิชาชีพจรรยาบรรณเขาจะบอกว่า แต่หมอเรียนมา หมอรู้ว่าถ้าทำแบบนี้ มันจะมีผลข้างเคียงตามมาแบบนี้ๆ หมอจะไม่รักษาคนไข้ตามใจของคนไข้ แต่หมอจะรักษาคนไข้ตามลักษณะของอาการ ผมคิดว่าสื่อก็เหมือนกัน มันไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจสังคมทุกเรื่อง

ช่วงนี้กระแสของ ITV กำลังกลับมาแล้ว ไม่ว่าจะมาแบบตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันทำให้สื่อมวลชนรุ่นใหม่ๆ หรืออาจรวมถึงคนข่าว ITV ได้กลับไปทบทวนความทรงจำอีกครั้ง ปรากฎการณ์นี้มันสะท้อนอะไรบ้าง

ที่จริงมันแยกกัน ที่กลุ่มคน ITV ที่ออกมาพูดถึงอีกครั้งนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีที่คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นให้สอบคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ การที่คุณพิธาถือหุ้น ITV แล้วมีผลอย่างไรหรือไม่ต่อคุณสมบัติทางการเป็นผู้สมัคร ส.ส. หรือเป็นแคนดิเดตฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกมาแสดงความเห็น แต่เราเรียกว่า รียูเนี่ยน หรือการระลึกถึง ITV ของคน ITV  

การออกมาแสดงตัวของคน ITV ไม่ได้บอกว่า ยืนอยู่ฝั่งคุณพิธาหรือยืนอยู่ฝั่งคุณเรืองไกร เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรก็แค่ไปตรวจสอบว่า ถือหุ้นแล้วเป็นอย่างไร สภาพองค์กรเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่ามันจุดต่อมความผูกพันที่มีต่อ ITV ที่อยู่ในใจของคนให้คิดถึง คือ คนภายนอกอาจจะไม่รู้ แต่คน ITV รู้เสมอว่าทุกครั้ง ทุกปี เราจะมีการจัดงานคืนสู่เหย้ากันเสมอ แล้วเป็นการคืนสู่เหย้าที่มากันทุกสายทุกฝ่าย เปิดกว้างสำหรับคนที่แม้ไม่ใช่คน ITV ก็ติดสอยห้อยตามมาดูได้ นักข่าวใหม่ น้องใหม่ ๆ อยากมาร่วมงาน ITV  เพราะอยากมาเห็นคุณกิตติ อยากเจอคุณปวีณมัย บ่ายคล้อย คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง อยากมาเจอใครต่อใครที่อยู่ในรุ่นของ ITV ก็มาได้ เป็นการรียูเนียนที่พวกเราช่วยกันเอง

โอเค ปีนี้เราจะจัดงานตรงนี้นะ ออกเงินกันคนละเท่านี้ 200-300 แรกๆ เรามีเงินครับ คือเงินจากไหน เงินจากที่เราทำข่าวแล้วเอาไปประกวด คือสถานีโทรทัศน์ประกวดข่าว สืบสวน สอบสวน ประกวดข่าวทุกเวทีที่มีการประกวดเราก็จะได้เงินก้อนมา แล้วสิ่งที่เราภูมิใจของเราคือว่าเมื่อเราได้รางวัลมาเราเก็บความภาคภูมิใจไว้ในใจ เงินรางวัลที่เราได้มาเราเอาเข้ากองกลางของสถานี เงินรางวัลเป็นแสนสองแสนสามแสนต่อรางวัล เราเก็บไว้ แล้วกลายเป็นว่าเงินก้อนนั้นเอามาใช้ในยามลำบาก แล้วไม่มีใครอิดออดทักท้วงเลยนะครับ ทุกคนก็เอาเงินนั้นมาใช้ในการพบพบปะพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นคน ITV เขาจะเจอกันเสมอ 

พอความผูกพันมันมีอยู่แล้วมันถูกจุดประกายขึ้นมาด้วยการทักท้วงด้วยประเด็นทางการเมืองในขณะนี้ มีพี่คนหนึ่งผมจำชื่อไม่ได้แล้ว เขาพูดว่าแปลกนะ  ITV เราถูกปิดไปเพราะการเมือง อันนี้ อาจจะเป็นปมในใจนะครับ มันจบไม่สวย ไม่มีใครปฏิเสธทีวีสาธารณะในประเทศที่ควรจะเกิดขึ้น ทุกคนตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าในขณะที่ทีดีอาร์ไออยากจะให้เกิดทีวีสาธารณะในขณะนั้น มีคนบางกลุ่มตั้งคำถามว่าแล้วทำไมไม่ไปแปรสภาพเอ็นบีทีช่อง 11 ขณะนั้นให้เป็นทีวีสาธารณะไปเลยล่ะ ช่องนี้ก็เป็นทีวีเสรีไป ก็คือเป็นทีวีเอกชนแล้วก็เพื่อการพาณิชย์ไปแข่งขันตามหลักไปเลย ก็มีคนตั้งคำถามอย่างนั้น เอาล่ะมันเป็นแค่คำถามในเมื่อมันจบไปแล้ว แต่มันจบลงด้วยปัจจัยทางการเมืองครับ มันไม่ได้จบสวย มันเลยเป็นปมอยู่ในใจ 

เมื่อมันถูกหยิบยกขึ้นมา เรื่องนี้มันถูกยกขึ้นมาด้วยนักการเมือง หรือด้วยประเด็นขัดแย้งทางการเมืองอีก มันเลยกลายเป็นสิ่งที่ฉุกในใจ คนก็เลยพูดกันว่า มีบางคนพูดว่าการเมืองปิดเรา แต่การเมืองก็ทำให้เรากลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ตอนปิดเราก็เพราะปัจจัยทางการเมือง คราวนี้เราก็เขาเรียกคึกคักขึ้นมา ไม่ใช่ลุกฮือนะ เพราะมันไม่ใช่ไปต่อรองต่อกรกับใคร มันคึกคักขึ้นมาก็ด้วยการถูกพูดถึงเพราะเหตุผลทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มันเลยกลายเป็นอะไรที่มันคึกคักขึ้นมา ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไรมาก ไม่ได้มีเรื่องโต้แย้งขัดแย้งอะไรกับคุณเรืองไกรหรือคุณพิธา เพียงแต่ทุกคนก็ขุดเอาภาพเก่าๆ ที่ตัวเองเคยมี และความผูกพันที่มันเคยมีต่อการทำงานขึ้นมา 

นี่คือสิ่งที่ผมเห็นปรากฏการณ์ว่าเมื่อมันถูกพูดถึง มันก็เลยกลายเป็นว่าให้เรากลับมาหวนระลึกนึกถึง แต่ถามว่าเวลานี้จะมีใครอยากจะกลับไปทำ ITV เหมือนเดิมอีกไหม ด้วยวัย ด้วยสถานะ ด้วยอะไรต่อมิอะไรในขณะนี้ บางคนเลือกที่จะบอกว่า เออ มันอยู่ในความทรงจำน่ะดีแล้ว แต่ถ้าไปใหม่ก็คงจะมี แบรนด์มันดี อันนี้พูดในเชิงชั้นเชิงธุรกิจว่า แบรนด์มันดีนะ ถ้าเกิดจะมีใครสักคนหนึ่งมาปลุกมันขึ้นมาฟื้นใหม่ด้วยการทำธุรกิจออนไลน์โดยใช้แบรนด์ ITV  ก็อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องของผู้ครอบครองอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ว่าที่มันเกิดปรากฏการณ์อยู่ในขณะนี้มันเป็นปรากฏการณ์ที่คน ITV พร้อมจะรื้อฟื้นความทรงจำขึ้นมาได้ทุกเมื่อ บางทีก็ปีใหม่ บางทีก็ใครสักคนหนึ่งเป็นอะไรขึ้นมา มีเหตุให้ระลึกนึกถึงมันก็จะเชื่อมโยงหากัน ผมคิดว่ามันเกิดจากความผูกพันกันโดยเหนียวแน่นมากกว่า

image_pdfimage_print