แม้จะผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มากว่า 9 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ “สุทิน คลังแสง” และครอบครัว ถูกกระทำจากการตรวจค้นบ้านราวกับ “ผู้ร้าย” ยังอยู่ในความทรงจำของเขา

The Isaan Record ชวนย้อนเวลาเพื่อกลับไปซึมซับความเจ็บปวดในวันนั้น วันที่ประชาชนสูญเสียอำนาจให้กับกลุ่มทหาร ผู้ยึดอำนาจทำให้ทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมือง รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเชิญไปปรับทัศนคติและกักตัวในค่ายทหาร นักการเมืองอีสานอย่าง สุทิน คลังแสง ก็เป็นหนึ่งในนั้น รวมถึงวิเคราะห์ปรากฎการณ์หลังเลือกตั้ง นอกจากความตื่นตัวทางการเมืองของคนอีสาน และประชาชนทั้งชาติแล้ว ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ขวากหนามและกลเกมจะเป็นเป็นเช่นไร 

นี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เป็น 9 ปี หลังรัฐประหาร 8 วันหลังเลือกตั้งใหญ่ และอยู่ในห้วงเวลาก่อนการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน

ย้อนกลับไปวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตอนนั้นคุณอยู่ที่ไหน 

ผมอยู่ที่มหาสารคาม ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง คือเป็น ส.ส. มาถึงปี 2551 ศาลยุบพรรคพลังประชาชน ผมเป็นกรรมการบริหารพรรคจึงถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็มาเคลื่อนไหวนอกสภา ตอนนั้นเป็นช่วงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้น โดยการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสุกงอม ผมเป็นแกนนำเสื้อแดง ก็สู้กับแกนนำฝ่าย กปปส.

ตอนนั้นคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พาพวกเคลื่อนไหวเขย่าประเทศ ถึงขั้นสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยึดอำนาจ 

ตอนนั้นเข้าใจว่า มีการวางแผนกันมาเป็นขั้นเป็นตอนมีสัญญาณบอกมาตลอด ฝ่าย กปปส. ชงทำให้สถานการณ์ป่วนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่เขาเรียกว่า ไม่มีอำนาจ  failed state หรือรัฐล้มเหลว ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยึดอำนาจ 

ช่วงนั้นคุณสุทินถูกปรับทัศนคติไหม และเวลาที่เห็นเพื่อนนักการเมืองถูกปรับทัศนคติ จับเข้าค่ายทหารรู้สึกอย่างไร 

ผมโดนหนัก วันนั้นคาดการณ์ถูกต้องว่าน่าจะมีการยึดอำนาจ ผมอยู่บ้านที่มหาสารคาม เดาได้เลยว่า ยึดอำนาจปั๊บจะต้องมีกองกำลังเข้าจู่โจม ผมจึงรีบออกจากบ้านด้วยการพรางตัวในรถที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นรถผู้แทนฯ เป็นรถโกโรโกโสคันหนึ่ง  พอออกมาก็สวนทางกับรถทหารพอดี ทหารก็ค้นบ้านจนเละไม่มีชิ้นดี

ช่วงนั้นผมก็หลบหนีอยู่ 1-2 วัน คสช. ก็ประกาศให้เข้ารายงานตัว ผมก็มารายงานตัวที่กองทัพบก กทม. ตอนเย็นเขาก็ส่งไปขัง ไปกักตัวอยู่ที่ค่ายทหาร จ.ราชบุรี อยู่ที่นั่น 3 คืน ก็เจอนักการเมืองหลายคน คือ เขาแยกขังคนละค่ายๆ ก็เจอคุณสนธิ ลิ้มทองกุล สมศักดิ์ เทพสุทิน แทนคุณ จิตต์อิสระ เขาก็จับขึ้นรถ ขังเดี่ยว ย้ายเดี่ยว มีกองกำลังควบคุม อาวุธครบมือ ไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับภายนอก 

พูดง่ายๆ ว่า ขาดอิสรภาพอย่างสิ้นเชิง อยู่ในสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัว ผมมีความรู้สึกว่า ผมจะถูกจับไปฆ่า วันนั้นนึกถึงเหตุการณ์ 4 รัฐมนตรีอีสานในอดีต เตียง ศิริขันธ์ จำลอง ดาวเรือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกฆ่า ผมคิดว่า ผมจะถูกฆ่าแบบนั้น เขาพาผมออกจากค่ายราชบุรี ปรากฏว่าพาตะลอนๆ ไปทั้งวัน สุดท้ายเอาไปขังไว้ที่ค่ายร้อยเอ็ดอีก 4 วัน รวมเป็น 7 วัน 

ก่อนจะออกจากการกักกันก็มีทนายจากกองทัพภาคที่ 2 มาสอบสวน เรียกว่า ปรับทัศนคติแล้วส่งกลับบ้าน หลังจากนั้นก็มีทหารมาสอดแนม ถูกสะกดรอย ผมออกไปทำกิจกรรมที่ไหนต้องถูกทหารติดตาม ในขณะเดียวกันก็มีการเรียกมาปรับทัศนคติมารายงานตัวอยู่ตลอดเวลา กระทั่งประกาศเลือกตั้งปี 2561-2562 จึงเลิกติดตาม

ครอบครัวอยู่ด้วยความหวาดระแวงไหม ลูกๆ กลัวว่าพ่อจะหายไปไหม 

ก็กลัวเหมือนกัน ยอมรับว่า ครอบครัวขวัญผวา แต่ก็พออยู่ได้ เพราะเช็คดูแล้วว่า แกนนำหลายคนก็โดน แต่จิตใจเข้มแข็ง ผมบอกกับครอบครัว ลูก และภรรยาไว้ตลอดว่า มันมีโอกาสเกิดขึ้น เป็นการสูญเสียอิสรภาพพอสมควร เราจะทำมาหากินเหมือนอยู่ในภาวะปกติไม่ได้ เพราะมีทหารไปนั่งเฝ้าที่บ้าน 

ผมมีวงดนตรี ผมก็ชอบเล่นดนตรีไปเรื่อย คือ มีรำวงย้อนยุค ผมมีคณะของผมก็ทำมาช่วงหลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ชาวบ้านก็มักจ้างดนตรีไปเล่น ผมไปเล่นดนตรีที่ไหนก็ตาม คณะรำวงนั้นทหารจะไปนั่งเฝ้า ตั้งแต่เริ่มเล่นจนเลิกตลอดทั้งงาน และผมมีคิวรับงานที่ไหนก็ตามผมต้องส่งคิวให้กับกองทัพ เขาต้องตามประกบตลอดเวลา เกือบกระดิกตัวไม่ได้ พูดง่ายๆ อยู่ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงตลอด แต่ครอบครัวก็เข็มแข็งและอยู่ได้

ภาพโดย ประชาไท

ช่วง 9 ปี หลังการยึดอำนาจ คนอีสานหรือรวมทั้งประเทศไทยสูญเสียอะไรไปบ้าง 

ผมคิดว่าสิ่งที่สูญเสียอันดับแรก สูญเสียความเป็นประชาธิปไตย สูญเสียสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลพอสมควร เพราะคำว่าประชาธิปไตยที่มันหายไป มันทดแทนด้วยอำนาจเผด็จการ อำนาจของการบริหารที่ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 44 คิดจะจับใครคิดจะสั่งยกเลิกใคร ออกคำสั่งอะไรก็ได้ อันนี้ไปส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพระดับปัจเจก ระดับบุคคลอย่างมาก แล้วก็ส่งผลภาพรวมทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะคนอีสานกระทบหนักที่สุด 

คนอีสานเดิมเป็นคนที่เป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำ เป็นคนที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมหลายด้านมานมนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ เรื่องสาธารณสุข การศึกษา ความยุติธรรม คุณภาพชิวิต มันด้อยกว่าคนภาคอื่น เมื่อมันด้อยอย่างนี้แล้ว สิ่งที่คนอีสานอยากได้ที่สุด คือ อยากได้ประชาธิปไตย ถ้าได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็เป็นยารากเดียวที่จะทำให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม ได้มาซึ่งโอกาส ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ

เมื่อไม่ได้ประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่แล้วก็ยิ่งเหลื่อมล้ำทับซ้อนลงไปอีก หนักไปกว่าเดิมอีก ผมอยากให้ลองเชื่อมโยงกันให้ติดว่าความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความขาดแคลนของคนอีสานกับประชาธิปไตย คือเรื่องเดียวกัน เพราะความไม่เป็นประชาธิปไตย คนอีสานจึงถูกเอาเปรียบ เมื่อแสวงหาประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักลงไปอีก 

สถานการณ์ของคนอีสาน 9 ปีที่ผ่านมา ผมถือว่า เสื่อมทรุดลงมากพอสมควร ปัญหาที่เราคิดว่า จะแก้ได้ หลายเรื่องควรจะแก้ได้ใน 9 ปี แต่ว่าแก้ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยไม่มี เช่นเดียวกับในกรณีของคนทั้งประเทศเมื่อไม่มีประชาธิปไตย อำนาจอยู่ในมือของคนที่มีกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ พวกนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ ทำการเมืองแบบประชาชนทุกคนไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร ความเหลื่อมล้ำระดับประเทศมันก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน 

ดังนั้นจึงเป็นมรดกก้อนใหญ่ที่ 9 ปีของรัฐประหารสร้างไว้ และความเหลื่อมล้ำพวกนี้มันลงไปถึงโครงสร้าง ก่อนช่วง 9 ปีคิดว่า มีโอกาสจะแก้ได้ ผมมองเห็นว่า คนอีสานมีโอกาสหลุดพ้น แก้ได้ คนไทยหลายส่วน คนด้อยโอกาสทั้งหลาย มีโอกาสหลุดพ้น แต่พอเป็นช่วง 9 ปีที่ผ่านมาเขาเรียกว่าตอกตะปูปิดฝาโลง แก้ยาก อันนี้คือความสูญเสียใหญ่ 

พูดถึงเรื่อง 4 รัฐมนตรี มองว่าการต่อสู้ของตัวเอง รวมถึง ส.ส. อีสานในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา สามารถเทียบชั้นกับ 4 รัฐมนตรีในอดีตได้หรือไม่ 

ก็ต้องยอมรับว่า 4 อดีตรัฐมนตรีของอีสานที่เคยต่อสู้มา เป็นความยิ่งใหญ่จริงๆ คนรุ่นหลังอาจจะมีบริบทที่ไม่สามารถสร้างวีรบุรุษได้ขนาดนั้น แต่เชื่อว่า ส.ส.อีสานหลายคนทำงานการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผมว่าสร้างพลัง สร้างผลกระทบให้กับระบบของประเทศ โดยกับฝ่ายเผด็จการได้มากพอสมควร 

ในมุมหนึ่งผมถือว่า การต่อสู้ของมวลชนคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรืออะไรก็ตามมันมีรากเหง้ารากคิดหรือมีอิทธิพลของ 4 รัฐมนตรีเป็นไอดอล มาขับเคลื่อนกันอย่างมาก 4 ปีที่ผ่านมา ส.ส. มีความโดดเด่นในการต่อสู้ในสภา โดยบทบาทโดดเด่นส่วนใหญ่เป็น ส.ส.อีสาน ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก มีเยอะ เกิดนักการเมืองเก่งๆ ขึ้นมาเยอะ

ถ้าให้คะแนน ส.ส.อีสานกับ ส.ส.ภาคอื่นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้คะแนนเท่าไหร่ 

ผมไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะ ผมคิดว่า ส.ส.อีสานโดนเด่นมากกว่า ผมให้ 6 –  7 ถ้า 100 ก็เอาไป 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เป็นภาคอื่นๆ ผมวิเคราะห์แบบนั้น 

ผลการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่คนอีสานออกมาแสดงพลังอย่างมากมายสะท้อนอะไร

การเลือกตั้งครั้งนี้คนอีสานออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ผมสังเกตว่ามีความตื่นตัวมาก อีกส่วนหนึ่งคือ ผมเห็นคนใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักรจำนวนมากกว่าทุกครั้ง แสดงว่ามันเป็นความตื่นตัวระดับพิเศษ และยิ่งมาดูผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลเก่าแพ้ยับเยิน รัฐบาลประยุทธ์ พรรคคุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ไม่ได้ที่นั่งในอีสานเลย คุณประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ได้เล็กน้อย พรรคภูมิใจไทยอาจจะใช้เทคนิคพิเศษ พอได้เข้ามา แต่รวมกันแล้วถือว่าฝ่ายรัฐบาลเก่าแพ้ยับเยิน จนวันนี้คิดจะตั้งรัฐบาลก็คิดไม่ได้ แต่ชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายค้านเก่า เพื่อไทยบวกก้าวไกลท่วมท้น

แสดงถึงว่า คนอีสานและคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคะแนนอีสานเขาอยากเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลเก่า ไม่เอาแล้ว ต้องเอารัฐบาลใหม่ อันนี้เป็นเรื่องแรก 

ผมสังเกตว่า การซื้อเสียงในหลายพื้นที่ไม่ได้ผล ครั้งนี้ซื้อกันหนักนะครับ พรรคบางพรรคจ่ายต่อหัวแพง  แต่ก่อนเลือกผู้แทนผมว่าหัวละ 100 หัวละ 200 จ่ายเงินกัน ถือว่าสูงแล้ว ครั้งนี้ยืนพื้นเลยหัวละ 500 หัวละ 1,000 ก็มี แล้วก็แจกซ้ำอีกหลายรอบ ในหลายพื้นที่ แต่ว่าผมประเมินแล้วได้ผลไม่มาก ถ้าเป็นภาษาเลือกตั้งเขาเรียกว่า ยิงไม่เข้า หมายความว่าชาวบ้านเอาเงิน แต่ไม่เลือก 

พรรคบางพรรค ยกตัวอย่าง พรรคก้าวไกล ซึ่งยืนประกาศความเป็นประชาธิปไตยชัดเจน เคียงคู่กับพรรคเพื่อไทย บางจังหวัดเขาแทบจะไม่เคยเห็นหน้าผู้สมัคร ไม่รู้จักเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่มีการซื้อเสียง พรรคเพื่อไทยก็ไม่ซื้อก็ยังได้รับชัยชนะเข้ามาจำนวนมาก 

ผมก็มองว่า คนอีสานกำลังบอกว่า เผด็จการ 9 ปีนั้นล้มเหลว ชาวบ้านไม่โอเค คุณอ้างว่า เบ็ดเสร็จสมบูรณ์จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ แต่ชาวบ้านไม่รับๆ เลยเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายต่อต้านอำนาจเผด็จการก็แสดงว่าชาวบ้านไม่เอาแล้วพวกเผด็จการ ไม่เอาแล้ว ผลการเลือกตั้งไม่ว่าคุณจะซื้อเท่าไหร่ก็ตาม คุณจะจ่ายเท่าไรก็ตาม ฉันก็ไม่เอาคุณ 

ถือว่า ชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตยโดยที่เงินซื้อไม่ได้แล้วหรือเปล่า  

อันนี้ชัดเจน อธิบายได้ผมว่าชาวบ้านรู้ว่าประชาธิปไตยมันกินได้แล้ว ประชาธิปไตยสมมติทำให้มันเป็นผลสมบูรณ์ มันมีผลต่อชีวิตปากท้อง เพราะฉะนั้นชาวบ้านเรียนรู้จากรัฐบาลประชาธิปไตยในสมัยก่อนเพื่อเป็นรัฐบาลชีวิตดีขึ้น แล้วก็มาเรียนรู้จากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารว่า 8-9 ปีของคุณชาวบ้านชีวิตต่างกัน นั่นก็หมายความว่าถ้าเลือกรัฐบาลถูก เลือกนักการเมืองที่มาจากแนวคิดแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการผลออกมามันแตกต่างกัน ก็เป็นการเรียนรู้ประชาธิปไตยแบบ learning by doing คือเรียนรู้จากการกระทำ จากชีวิตจริง ผมเลยคิดว่าชาวบ้านดูออกแล้ว รู้แล้ว ผลเลยออกมาแบบนี้ 

มองปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยกำลังฟอร์มทีมรัฐบาล แล้วอำนาจเก่าเขากำลังจะสูญเสียอำนาจ เขาจะช่วงชิงอำนาจกลับมาหรือไม่ 

อำนาจเก่ามีอยู่ 2-3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มอำนาจเก่าอยู่ในสภา ก็คือ ส.ส. พรรคที่มาจากการยึดอำนาจ พวกที่เป็นรัฐบาลเดิม คือ อำนาจเก่า อีกกลุ่มก็คือ ส.ว. ต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจเก่า เป็นอำนาจ 2 ขา 3 ขาของเขา เกื้อกูล อุ้มชู แล้วก็เป็นกลไกสืบทอดมาด้วยกัน ส่วนอำนาจเก่าอีกกลุ่มก็คืออำนาจที่แฝงอยู่กับระบบราชการ เป็น 3 กลุ่ม 

การเลือกตั้งที่ผ่านมา 3 กลุ่มนี้เสียอำนาจ คือ แพ้ชัดเจน คุณไม่สามารถที่จะเป็นรัฐบาลได้แล้ว ส่วน ส.ว. ถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจอย่างชัดเจน ณ วันนี้ ทุกคนบอกว่ามติออกมาแบบนี้ ส.ว. ต้องทำตามมติของประชาชนเท่านั้น สังคมกำลังบีบให้อำนาจเก่าต้องจำนนกับอำนาจใหม่ ส่วนอำนาจเก่าที่แฝงอยู่กับระบบราชการก็เข้าใจว่า เขาก็กำลังซุ่มหาวิธีที่จะเอาคืน อำนาจใหญ่ที่สุด คือ กองทัพนั่นเอง 

ถามว่าเขาจะเอาคืนวิธีใด ผมคิดว่ามันมีวิธีที่เขาคิดอยู่ก็คือ 2-3 วิธี หนึ่งก็คือช่วงชิงตั้งรัฐบาล สิ่งที่เราพูดถึงก็คือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ตอนนี้เขาอาจจะดูอยู่ว่า ฝ่ายประชาธิปไตยชนะมาแล้วจะตั้งได้หรือไม่ คุณตั้งลองดู ให้โอกาสตั้ง ถ้าตั้งไม่ได้ ดูเหมือนจะตั้งไม่ได้แล้ว ถึงเวลาหนึ่งแล้วเขาอาจจะชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเขามี ส.ว. ยกมือให้ นี่คือรูปแบบหนึ่ง หมายความว่าแพ้เลือกตั้งก็ตาม แต่ผมจะตั้งรัฐบาลเพราะผมมี ส.ว. อยู่ เราเรียกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย หลายคนก็ระแวง แล้วก็มีหลายคนในซีกรัฐบาล ซีกเผด็จการเก่า พยายามโยนหินถามทาง พูดถึงว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เกิดได้

อีกรูปแบบต่อมา ผมว่าเป็นรูปแบบยึดอำนาจ ถ้าพูดตอนนี้หลายคนอาจจะมองว่าเป็นไปได้ยาก เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหมดทางไปจริงๆ ผมคิดว่า ถ้าเขาได้รัฐบาลมาจากหัวก้าวหน้า จากประชาธิปไตยจ๋า เหมือนอย่างที่พูดอยู่ทุกวันนี้ ผมก็คิดอยู่นะว่า พวกอำนาจเก่าจะยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่พูดถึงกันอยู่ นโยบายแบบจี๊ดๆ ผมว่าดีไม่ดีพวกนี้ถือโอกาสยึดอำนาจ ได้นายกฯ พิธา ได้รัฐบาลพิธา พรรคก้าวไกลก็ไปดำเนินนโยบายตามที่คุณกำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ อาจจะเป็นความชอบธรรมที่เขาปลุกระดมประชาชนที่เห็นด้วยกับเขายึดอำนาจ 

วิธีต่อมาเนียนกว่านั้นคือ เขาสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อหักดิบกับอำนาจสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. อาจจะเป็นกลไก เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงอำนาจของฝ่ายเก่า เช่น บอกว่าต้องตัดสิทธิ์คุณพิธา ต้องยุบพรรค ต้องโน่นนี่นั่น สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปได้ทั้งนั้น คือ การช่วงชิงอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งคือใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญชี้ขาดตัดสิน ให้ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งชนะ อำนาจประชาชน แต่ต้องมาสะดุดข้อกฎหมาย

ที่น่าจับตาก็คืออำนาจเก่าจะหมดสมบูรณ์ คือ 1 ปีต่อจากนี้ ส.ว. จะหมดอำนาจในการเลือกนายกฯ ถ้าคุณประยุทธ์ ได้เป็น ช่วงชิงเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย 2 ปีคุณก็หมด ผมยังคิดว่า การชิงอำนาจคืนของอำนาจเก่า ต้องจับตาภายใน 1-2 เดือนนี้

เรื่องยึดอำนาจ มีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์

ผมเคยคิดว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นไปไม่ได้ เคยเถียงกับคนอื่นว่า มันเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2549 ตอนนั้นรัฐธรรมนูญเข้มแข็งนะ รัฐธรรมนูญประชาชนนะ รัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนั้นประชาชนเขียนนะ ไม่คิดว่า จะมีใครฉีก  รัฐบาลตอนนั้นก็เข้มแข็ง รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 เข้มแข็ง แถมอำนาจประชาชนที่เกาะเกี่ยวกับรัฐบาลก็เข้มแข็ง ผมว่าทำไม่ได้ แต่เขาก็ยึดอำนาจได้ ปี 2557 อีกครั้งหนึ่งผมก็คิดว่ามันหมดแล้ว ก็ยึดได้ ครั้งนี้ถ้าพูดแล้วก็จะคิดว่า ผมล้าสมัยคือเชย แต่ว่าผมไม่ตัดทิ้งประเด็นนี้ เป็นไปได้เหมือนเดิม 

ภาพโดย ประชาไท

มีหลายคนพูดกันว่า ถ้าพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้พรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นแกนนำแทน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

มันก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยจะคุยกันว่า ถ้ามันถึงจุดหนึ่งแล้วยังตั้งไม่ได้ ทำอย่างไรมันก็ไปไม่ได้แล้ว ถ้าทุกคนเห็นว่า ถึงจุดนั้นแล้ว ผมว่าถึงวันนั้นต้องมาคุยกันในฝ่ายประชาธิปไตยว่า จะยอมจำนนโดยเรายอมเป็นฝ่ายค้าน แล้วให้ซีกโน้นตั้งรัฐบาลไหม ถ้าเราไม่เอาแบบนั้น เราก็มาคุยกันว่าหรือว่า เราต้องสานฝันประชาชนให้มันสำเร็จ

หมายความว่า ประชาชนอยากเปลี่ยนรัฐบาล เขาก็ให้คะแนนมาแบบนี้ เราจะยอมแพ้ง่ายๆ หรือยอมยกให้ทางโน้นง่ายๆ หรือ ถ้าไม่ยกให้ง่ายๆ เราจะต้องทำอย่างไรต่อ ในเมื่อก้าวไกลตั้งไม่ได้แล้ว มันก็มีสูตรอีกสูตรเดียวคือ ในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันสลับหน้าชน ให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย ถ้าเราตกลงกันว่า อ้าว ไม่ยอมง่ายๆ สานฝันประชาชนให้สำเร็จ เขาเอาคะแนนให้เราแล้ว เราไม่ถอย เอาไงล่ะ ก็เมื่อเบอร์ 1 ไม่ไหว เอาเบอร์ 2 สู้ไหม ถึงวันนั้นผมคิดว่า อยู่ที่ฝ่ายประชาธิปไตยคุยกัน คงไม่ใช่การตัดสินใจของตัวเองคนเดียว ต้องคุยกับเพื่อนฝูง

มีการหารือกันเรื่องนี้พรรคบ้างหรือไม่ 

ไม่ได้มีการคุย เพราะว่าทุกคนก็คิดว่า มันเป็นมารยาททางการเมือง ตอนนี้ควรจะทำอะไร ทำอย่างไร คือ เราต้องเคารพอำนาจประชาชน เพราะประชาชนให้พรรคก้าวไกลมากกว่าก็ต้องให้ก้าวไกลทำไปถึงที่สุด แต่ว่าในใจของทุกคนอาจจะคิดหาทางออกเป็นส่วนตัวไว้หรือไม่ ก็ไม่รู้ด้วย แต่ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพื่อไทยไม่คุย กับพรรคร่วมก็ยังไม่ได้คุย เพราะเวลาที่เหลือผมว่าก้าวไกลยังเดินไปได้ 

ถ้าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้จริง งานแรกที่อยากจะทำในสภาคืออะไร

อยากทำทุกเรื่อง แต่ต้องเรียงลำดับความสำคัญว่า อันไหนมาก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องปากท้องนั่นล่ะ มันต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ ผมจึงคิดว่าเรื่องที่ต้องทำ ไม่ถือว่าต้องทำก่อนหรือหลัง แต่ต้องทำควบคู่กันไปเลย คือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มันเป็นประชาธิปไตยต้องทำควบคู่กันกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ผมว่าทำ 2 เรื่องควบคู่กันไป ไม่ถือว่าทำอันไหนก่อนทำอันไหนหลัง

หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องแรกๆ อาจจะเป็นเรื่องปิดสวิตซ์ ส.ว. มันจะเกิดเป็นตัวกระตุ้นทางการเมือง อาจเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาลอีกหรือไม่ 

ผมว่ามันก็คิดหรือมองได้ว่าจะเป็นระเบิดเวลา แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการในการแก้ ผมว่า ถ้าแก้โดยให้ประชาชนมาเขียนจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และหลายฝ่ายก็ไปเสนอความคิดเห็น เสนอความต้องการผ่าน ส.ส.ร. ผมว่าแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส.ว. เองเขาก็คงจะคิดแล้วว่า ถึงไม่ได้แก้อำนาจคุณก็เหลืออีกแค่ 1 ปี คุณจะมาดิ้นรนอะไรกันมากมาย ผมว่าไม่น่าวิตกเท่าไร เพราะว่าเลือกตั้งครั้งนี้ก็ได้เห็นอำนาจประชาชน เห็นการตื่นตัวของประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากแล้ว 

การที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ทวีตว่าอยากกลับบ้าน เรื่องนี้จะเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งหรือไม่ 

ไม่เป็นหรอกครับ ถ้าสมมติว่า เขาไม่มาใช้กลไกของรัฐบาลในการกลับมา ซึ่งเขาก็บอกแบบนั้นอยู่แล้ว เขาจะกลับมาจะไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล เข้าใจว่า ก็จะมาตามกระบวนการยุติธรรม ใครจะไปอ้างเหตุนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความปั่นป่วนหรือไปลดเครดิตรัฐบาลหรือจะไปโยนความผิดให้รัฐบาล ผมว่าไม่น่าจะทำได้ เขายอมมาติดคุก ถ้าเขายอมมาติดคุกจะไปเอาอะไรอีกก็ถือว่า มาตามครรลองหรือกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไม่ได้ไปเอาเขามาติดคุกหรือเขามาติดคุกแล้วรัฐบาลไม่สามารถจะไปทำให้เขาลดโทษให้น้อยลงได้ ศาลว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น 

ตอนนี้ ส.ว. เริ่มเปลี่ยนความคิด มีบางคนเริ่มเปลี่ยนมาสนับสนุนว่าจะโหวตให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล อยากส่งข้อความอะไรถึง ส.ว. ที่เขากำลังลังเลอยู่

ก็ต้องขอชื่นชมปรบมือให้กับ ส.ว. ที่ตัดสินใจว่าจะต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนที่ชนะเลือกตั้ง อันนี้ถือว่าท่านเดินทางถูก ก็ขอให้ ส.ว. ที่ยังไม่ตัดสินใจคิดว่าการที่จะสวนทางประชาชน มันไม่เกิดประโยชน์ มันทำให้บ้านเมืองไม่สงบสักที ซ้ำร้ายมันก็จะมีปัญหาอีกถ้าตัดสินใจรับมติของมหาชนก็ยกมือให้กับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ส่วนเขาจะทำดีหรือไม่ดี เราก็มีระบบที่จะตรวจสอบถอดถอนได้ ไม่ใช่ว่าให้เป็นแล้วเขาจะเป็นเลยก็ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองดู เรียนรู้ไปด้วยกัน  ถ้าทำไม่ได้ ล้มเหลว หรือทำในสิ่งที่ไม่ใช่ และเป็นสิ่งที่เรากังวล ผมเชื่อว่าสังคมไทยหรือพี่น้องประชาชนก็ไม่ยอมเช่นกัน อย่าไปวิตกเกินเหตุ ก็คิดว่าจะมีท่าน ส.ว. อีกไม่น้อย ที่เขาจะคิดมาในทิศทางนี้ ต้องขอขอบคุณล่วงหน้า

image_pdfimage_print