กว่า 30 ปีที่แล้วที่ที่ดินโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน โดยรัฐได้ประกาศให้ที่ดินกว่า 2,500 ไร่เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านก็ยืนยันสิทธิของการอยู่มาก่อนทำให้เกิดแรงต่อต้านและกลายเป็นปมที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ แม้ตอนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่รู้ว่า ปัญหานี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2420 พื้นที่กว่า 2,500 ไร่ในตำบลสะอาดและตำบลลำน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ ผืนดินเหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวบ้านในอดีตประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก 

แต่เมื่อปี 2535 กรมที่ดินกลับประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จนนำมาสู่ข้อขัดแย้งที่ยาวมานานกว่า 30 ปี ซึ่งระเบียบ แข็งขัน ชาวบ้านโคกหินขาวรุ่นที่ 4 ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย 

“ผู้ตั้งหมู่บ้านโคกหินขาวคนแรก คือ พ่อสีทา กุดมะโฮม ถือว่า ครอบครองที่ดินมาแล้วกว่า 100 ปี มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 12 คน คนปัจจุบันเป็นคนที่ 13”ระเบียง กล่าวถึงการตั้งรกรากของบรรพบุรุษ

เธอเน้นย้ำว่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านกลุ่มแรกได้เข้ามาก่อนการมีอยู่ของเขตแดนหรือเอกสารที่รัฐกำหนดและที่ดินทำกินได้ถูกส่งต่อตามระบบเครือญาติหลายต่อหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน

“ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า การตั้งรกรากของชาวบ้านมีมาก่อนปี 2492 ซึ่งถือว่า เกิดก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินของรัฐด้วยซ้ำไป แต่ทำไมยังเกิดปัญหา”ชาวบ้านโคกหินขาวรุ่นที่ 4 กล่าว 

ขณะที่ อรัญญา นนสินชัย ชาวบ้านโคกหินขาวอีกคน กล่าวว่า ทางตะวันตกของหมู่บ้าน คือ เขื่อนอุบลรัตน์และเมื่อประมาณปี 2554 ก็มีโรงงานแป้งมันเข้ามา แต่ชาวบ้านไม่อยากได้ เพราะว่า โรงงานแป้งมันสร้างกลิ่นเหม็น จึงเกิดการต่อต้านขึ้น 

การต่อต้านของชาวบ้านทำให้การประกอบกิจการของโรงงานแป้งมันชะงักลง แต่ปัญหาในพื้นที่โคกหินขาวก็ยังไม่จบ

ข้อพิพาทที่ดินโคกหินขาว  

ปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2562 อรัญญาเล่าว่า ตอนนั้นได้รับหลักฐานจากนิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ให้ไปขอออกโฉนด โดยบอกว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ขอพิพาทโคกหินขาวที่รัฐบาลเคยประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณะจึงออกเอกสารสิทธิไม่ได้ แต่ข้าราชการบางคนกลับได้รับเอกสารสิทธิ 

“ถ้าเป็นพื้นที่พิพาทรัฐก็ควรลงมาดูหน่อยว่า มันเป็นข้อพิพาทแบบไหน พิพาทกับใคร ถ้าเป็นที่พิพาทจริง ทำไมคนที่เป็นข้าราชการถึงออกโฉนดได้ แต่ชาวบ้านธรรมดาจึงออกไม่ได้ เราก็ไปร้องเรียนกับกรมที่ดินจังหวัดขอนแก่น แต่ก็ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม”อรัญญา กล่าว

อรัญญา นนสินชัย ชาวบ้านโคกหินขาว อธิบายแปลงที่ดินของเธอที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ข้อพิพาทที่ยังไม่จบ 

การต่อสู้ของชาวบ้านโคกหินขาวเกิดขึ้นหลายช่วง จนถึงตอนนี้การต่อสู้ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนยังไม่ได้รับสิทธิการครอบครองที่ดินทำกิน 

มารุต พายอยู่วงษ์ สมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม นักกฎหมายที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านกล่าวถึงความเป็นมาหลังจากรวบรวมหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดินว่า ปัญหามีอยู่ว่า การจัดตั้งนิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2528 ถือว่า เป็นการจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้าน มีเอกสารหลักฐานของตนเอง คือ น.ค.3 ซึ่งจะได้กรรมสิทธิ์ในการถือครองเพื่อใช้ประโยชน์ หลังจากครอบครองแล้วอย่างน้อย 5 ปี จะมีสิทธิ์นำหลักฐานไปยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 หรือโฉนดที่ดินได้ หนังสือสิทธิ์ก็ตกทอดมาในรูปแบบมรดก 

“ส่วนใหญ่ชาวบ้านโคกหินขาวมีหนังสือสิทธิ์นี้อยู่ในครอบครอง และพยายามที่จะนำหนังสือไปพิสูจน์สิทธิ์เพื่อออกเป็นโฉนดที่ดิน แต่กระบวนการดำเนินการกลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด”เขาอธิบายถึงปัญหา 

เขากล่าวต่อว่า ต่อมาปี 2535 กรมที่ดินต้องการประกาศให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม อีกทั้งเอกสารหลักฐานที่ทางกรมที่ดินนำมานั้น (แผนที่ทางภูมิศาสตร์) ไม่ตรงกับบริบทพื้นที่กายภาพจริง และไม่ตรงกับแผนที่ที่ชาวบ้านครอบครองอยู่ ซึ่งออกโดยนิคมสร้างตนเองอุบลรัตน์จึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น

“ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า แผนที่อาณาเขตของนิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ของชาวบ้านกับกรมที่ดินไม่ตรงกัน ก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาอะไร กระทั่งกรมที่ดินจะประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่มีแผนที่แนบท้ายประกาศ และไม่ตรงกับรูปแปลงในที่ดินจริง” นักกฎหมายจากสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าว 

จากข้อพิพาทสู่การแก้ไขปัญหา 

นักกฎหมายคนนี้ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2540 จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ รับรองเอกสารสิทธิ์ และมีคณะทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ อำเภอน้ำพอง เทศบาลตำบลลำน้ำพอง เทศบาลตำบลสะอาด และตัวแทนของชาวบ้าน เป็นกระบวนการขั้นต้นในการตรวจสอบว่า ประชาชนได้ใช้พื้นที่โคกหินขาวทำมาหากินตั้งแต่ในอดีตหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ของอำเภอน้ำพองไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ มีเพียงแต่เจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลลำน้ำพองและเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลสะอาดเข้ามาดำเนินการในเรื่องเอกสารและช่วยยืนยันการใช้พื้นที่ของชาวบ้าน

“ตามจริงในแบบฟอร์มเอกสารมีอำเภอเซ็น ผมคิดว่า กระบวนการพวกนี้ทางอำเภอน่าจะเป็นพยานรับรู้ในการตรวจเอกสาร ผมเข้าใจว่า เขาคงรอเซ็นอย่างเดียว คือ ให้ทางเทศบาลดำเนินการไปก่อนแล้วเสนออำเภอมันจะทำให้กระบวนการมันล่าช้า”มารุต กล่าว  

เขายังกล่าวถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาที่สำคัญ คือ หากชาวบ้านไม่ผลักดันเพื่อขอกรรมสิทธิ์ที่ดินของตน ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น อาจจะนำเรื่องเข้าสู่คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) หากเข้าช่องทางนี้มีโอกาสจะถูกตีความได้ว่า ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกที่รัฐ ชาวบ้านจึงทำหนังสือเสนอให้ตั้งคณะกรรมการจังหวัดแทน เพราะจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบพื้นที่และตรวจสอบเอกสารแผนที่ของกรมที่ดินด้วย

“ความที่เป็นชาวบ้านธรรมดาอาจจะไม่กล้าคุยกับรัฐ พอรวมกลุ่มกันจึงมีอำนาจต่อรอง สมมติว่า เรารวมกลุ่มกันไม่แข็งแรงพอ สุดท้ายแนวทางอาจจะเขวจนไม่สามารถยืนยันข้อเรียกร้องได้”มารุต กล่าวเสริมถึงการเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ทางด้าน ปุณยนุช เรืองเชิงชุม นักวิชาการที่ดิน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นให้ข้อมูลว่า ปัญหานี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้พิสูจน์สิทธิ์และทำสรุปรายงานเสนอคณะกรรมการ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นเป็นเพียงคณะกรรมการร่วม ไม่ใช่ผู้ดูแลพื้นที่ที่จะสามารถเข้าไปชี้ขาดตัดสินว่า ที่ดินเป็นของใคร

“เราเป็นคณะกรรมการร่วม ไม่ใช่ผู้ดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะที่จะไปบอกว่า ตรงนั้นเป็นหรือไม่เป็น ถ้าไม่เป็นเราก็พร้อมที่จะออกโฉนดตามหลักฐาน น.ค. 3 ให้ชาวบ้าน ถ้าเป็นผู้ดูแลก็จะดำเนินการตามกฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป” นักวิชาการที่ดิน กล่าว

เธอกล่าวอีกว่า หากกระบวนการพิสูจน์ขอกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านโคกหินขาวไม่บรรลุวัตถุประสงค์และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ก็มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินทำกินได้ แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ประโยชน์ให้กับท้องถิ่น

“เรามีนโยบายรองรับแก้ไขปัญหาในทางรัฐศาสตร์ ถ้าเกิดว่า มันเป็นที่สาธารณะแล้วออกเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ เราก็มีโครงการบริหารจัดการการใช้ประโยนช์ที่สาธารณะที่มีการบุกรุกตามนโยบาย คทช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าราษฎรเขาจะยอมรับไหม”ปุณยนุช กล่าวทิ้งท้าย  

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

image_pdfimage_print