ยามบ่ายแก่ๆ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2564 ผู้เขียนเดินเรื่อยไปตามท้องถนนที่มีหมอกสลัวปกคลุมในเมืองซาปา เมืองทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามที่แวดล้อมไปด้วยทิวทัศน์งดงามของหุบเขาและเต็มไปด้วยผู้คนที่เปี่ยมชีวิตชีวา

ซาปาเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังที่เต็มไปด้วยหลากหลายสิ่งให้สัมผัสและเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นท้องทุ่งนาขั้นบันไดตระการตา ยอดเขาฟานซีปังตระหง่านรอการเดินขึ้นพิชิต (เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอินโดจีน) ไปจนถึงชนเผ่าผู้เป็นมิตร ทั้งชาวม้งและเมี่ยน รวมถึงชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะที่ผู้เขียนเดินทอดน่องไปตามถนนของเมืองซาปา ผ่านกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่เดินขวักไขว่เต็มพื้นที่ ผู้เขียนสังเกตเห็นร้านกาแฟต่างๆ ร้านอาหารหน้าตาหรูหรา ตลาดพื้นเมือง โบสถ์เก่าๆ และสินค้าหัตถกรรมจากฝีมือชาวบ้านละลานตาวางขายอยู่ตามสองฟากฝั่งของถนน

ทันใดนั้นผู้เขียนก็เดินมาถึงตลาดกลางแจ้งแห่งหนึ่ง ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า มีสินค้าอะไรขายที่นี่บ้าง 

ตลาดสดแห่งนี้มีผักและเนื้อหลากหลายชนิด ผู้เขียนตัดสินใจหยุดแวะเข้าไปสำรวจดู โดยเข้าใจไปว่า มันก็คงเป็นแค่ตลาดธรรมดาๆ อีกแห่งหนึ่ง แต่เพียงไม่นานผู้เขียนก็ได้รู้ว่า ตัวเองคิดผิดไปอย่างถนัด

ผู้เขียนต้องตกใจกับกลิ่นเหม็นสาบของเนื้อสัตว์ที่เพิ่งถูกแล่สดๆ ที่เตะจมูกเข้าอย่างจังเป็นอย่างแรก ขณะที่เดินไปตามแผงร้านต่างๆ ผู้เขียนเห็นพ่อค้าแม่ค้าวางขายของมากมายตั้งแต่ผักโสภณ ข้าวโพดและฟักแม้วอยู่ฝั่งหนึ่ง ส่วนที่อีกฟากของตลาดนั้น เนื้อสัตว์หลากชนิดที่ถูกแล่ออกเป็นชิ้นๆ แล้วถูกวางเรียงรายอยู่บนแผงอย่างประณีต

เมื่อผู้เขียนเดินเข้าไปใกล้แผงขายเนื้อมากขึ้น กลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงทำให้แสบไปทั้งจมูก จนต้องฝืนพยายามที่จะไม่นิ่วหน้า

ขณะที่ผู้เขียนหันหลังกลับและกวาดตามองไปทั่วตลาดเพื่อหาทางออก ในทันในนั้นเอง สายตาของผู้เขียนก็ไปหยุดลงที่แผงขายเนื้อแผงหนึ่ง จากนั้นจึงหรี่ตาเพื่อเพ่งมองเนื้อที่วางอยู่บนแผงให้ชัดขึ้น และเห็นสิ่งที่กำลังนึกหวั่นใจอยู่อย่างเต็มตา

หัวกะโหลกของสุนัขตัวหนึ่ง หนังไหม้เกรียมเป็นตอตะโก แยกเขี้ยวยิงฟันมาทางผู้เขียนอย่างน่าขนพองสยองเกล้า ผู้เขียนรู้สึกราวกับว่าโดนเบ้าตาที่กลวงโบ๋ของมันจ้องลึกเข้าไปจนถึงจิตวิญญาณ

ผู้เขียนเบือนสายตาไปจดจ้องอยู่กับทางออกและเร่งฝีเท้าเดินกลับโรงแรมทันที

ตวงสิทธิ์ พงศ์พิท

อิทธิพลพุทธและขนบท้องถิ่นที่เปลี่ยนไป

“ตอนเด็กๆ ผมกินเนื้อหมาไม่ต่ำกว่าปีละห้าครั้ง” ตวงสิทธิ์ พงศ์พิท ชาวตำบลท่าแร่และแอดมินของเพจเฟซบุ๊กสกลนครซิตี้ เล่าให้ The Isaan Record ฟังระหว่างการสัมภาษณ์

“ตอนนี้หากินยากขึ้นแล้ว เพราะมีการรณรงค์และกฎหมายต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ เท่าที่ผมจำได้ เขาจะเอาเนื้อไปอบกับสมุนไพร เขาไม่เสิร์ฟกันเป็นมื้อหลักหรือจานหลัก จะกินกันแค่ช่วงหน้าหนาวหรือวันที่ฝนตกหนักๆ”

สำหรับประเทศไทย ภาคอีสาน และชาวสกลนครส่วนใหญ่แล้ว การกินเนื้อสุนัขถือเป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคม แต่สำหรับบางครอบครัวในตำบลท่าแร่ของจังหวัดสกลนคร เนื้อสุนัขยังคงถือเป็นอาหารรสเลิศ

แล้วสุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ หรือว่าเป็นอาหารจานโปรดกันแน่

ผศ.ดร. สถิตย์ ภาคมฤค อาจารย์ประจำสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า การกินเนื้อหมา หรือเนื้อสัตว์ใดๆ ก็ตาม ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชาวเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สมัยก่อน คนอีสานกินทุกอย่าง ไม่มีการแบ่งแยกว่าเนื้อสัตว์ประเภทไหนที่บ้านเขากินได้หรือไม่ได้”

เขากล่าวอีกว่า เมื่อค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนไป ธรรมเนียมการกินเนื้อสุนัขในสกลนครก็เกือบจะสูญหาย ไม่ว่าเนื้อสัตว์ที่ชาวบ้านเคยกินจะเป็นเนื้อสุนัข หมู วัว หรือไก่ เมื่อศาสนาพุทธเริ่มแผ่อิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนค่านิยมความเชื่อของตัวเองไป ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงวัฒนธรรมอาหารการกินด้วย

ผศ.ดร. สถิตย์ ภาคมฤค อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ดร.สถิตย์ กล่าวว่า ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ มีเนื้อสัตว์ 10 ประเภทที่เป็นเนื้อต้องห้ามในการบริโภค “เนื้อต้องห้ามประกอบไปด้วยเนื้อมนุษย์ สุนัข ช้าง ม้า เสือโคร่ง เสือดาว เสือเหลือง ราชสีห์ งู และหมี ความเชื่อพวกนี้เลยทำให้ชาวพุทธพาลไปรังเกียจการกินเนื้อหมา

นอกเหนือไปจากอิทธิพลของศาสนาพุทธแล้ว ปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลต่อการทำให้คนเลือกที่จะกินหรือไม่กินเนื้อสุนัข ดร.สถิตย์ กล่าวว่า ค่านิยมของสังคมได้เปลี่ยนไป แม้ชาวบ้านจะอยู่ห่างไกล แต่ชุมชนของพวกเขาก็ยังได้รับอิทธิพลจากตัวเมือง “เมื่อค่านิยมในเมืองเปลี่ยนไป ค่านิยมของชาวบ้านท้องถิ่นก็เปลี่ยนไปด้วย”

สัตว์ อย่าง สุนัข แมว กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงถูกทำให้เป็นเพื่อนแก้เหงาของมนุษย์ ดร.สถิตย์ กล่าวว่า พวกมันกลายเป็นสัตว์ในบ้าน เป็นสัตว์เลี้ยง และอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับเรามากเสียจนคนบางคนก็เรียกหมาที่เลี้ยงเป็นลูก แถมยังนอนด้วยกันด้วย

“คนสมัยนี้คิดแบบนี้กันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และทำให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย เกลียดและรังเกียจการกินเนื้อหมา และมองเห็นว่าในปัจจุบันเป็นเรื่องผิดบาป” ดร.สถิตย์ กล่าว 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในมุมมองของชาวบ้านเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัข สุนัขถูกเลื่อนลำดับชั้น แยกมันออกจากสัตว์อื่นๆ ที่เป็นเพียงแหล่งของเนื้อเพื่อการบริโภค หรืออย่างน้อยก็สำหรับบางคน

รากเหง้าเวียดนามในท่าแร่และธุรกิจค้าเนื้อสุนัข

คนสกลฯ หลายคน รวมถึงตวงสิทธิ์และ ดร.สถิตย์ เห็นตรงกันว่า การกินเนื้อสุนัขในตำบลท่าแร่ และพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดสกลนครเป็นขนบธรรมเนียมที่มีรากเหง้ามาจากประเทศเวียดนาม

ตวงสิทธิ์ กล่าวว่า ความเชื่อและวัฒนธรรมเรื่องการกินหมามีที่มาจากเวียดนาม คนเวียดนามที่อพยพมาอยู่ไทยก็นำวัฒนธรรมของตัวเองมาด้วย ในประเทศไทย ส่วนมากเขาเรียกกันว่า “หมาอบ” พวกหนุ่มๆ เขาจะกินแกล้มกับเหล้าแรงๆ ผู้หญิงน้อยคนนักที่จะกิน 

การกินเนื้อสุนัขมีความเชื่อมโยงกับธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวเวียดนาม ซึ่งเชื่อกันว่า สุนัขมีพลังศักดิ์สิทธิ์และการกินเนื้อสุนัข หรือบูชายัญสุนัข จะช่วยขจัดปัดเป่าโชคร้ายไปจากครอบครัว การกินเนื้อสุนัขยังเป็นธรรมเนียมตามโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ช่วงสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน นีร์ อาเวียลี นักวิชาการชาวอิสราเอล กล่าวว่า การกินเนื้อสุนัขยังเกี่ยวข้องกับความเป็นชายในสายตาชาวเวียดนามและมีรากเหง้ามาจากลัทธิขงจื๊ออีกด้วย

ตำบลท่าแร่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับเวียดนาม ชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพมายังตำบลท่าแร่ ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 1800 ระหว่างยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส

บ้านท่าแร่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยซาเวียร์ เกโก มิชชันนารีคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งมาตั้งรกรากที่บริเวณนี้หลังช่วยครอบครัวชาวไทยและเวียดนามอพยพข้ามมาจากทะเลสาบหนองหาน ในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐาน บริเวณนี้มีชาวคริสต์เวียดนามอาศัยอยู่สิบครัวเรือนและมีชาวอีสานนับสิบคน

มีชาวเวียดนามคาทอลิกจำนวนราว 10,000 คน ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าแร่เมื่อปี พ.ศ. 2427 ปัจจุบันท่าแร่เป็นชุมชนคาทอลิกที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีจากประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส และโบสถ์ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายเรือ เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางข้ามทะเลสาบหนองหานของซาเวียร์ เกโก

โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ตำบลท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

ทุกวันนี้ ยังมีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงรากของชุมชนชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดสกลนคร รวมถึงร้านอาหารที่เสิร์ฟกาแฟดริปแบบเวียดนามไปจนถึงปากหม้อญวณ สถาปัตยกรรมของอาคารเก่าแก่หลายแห่งในตัวเมืองก็เป็นแบบโคโลเนียลฝรั่งเศสในเวียดนามด้วยเช่นกัน

แม้แต่โฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีของเวียดนามเหนือ ก็เคยมาพำนักอยู่ที่บ้านท่าแร่ ณ อาคารที่เรียกกันว่า “ตึกหิน” โฮจิมินห์เคยเอ่ยปากขอให้นายหนู ศรีวรกุล เจ้าของตึก มาเป็นลูกบุญธรรมของตน ซึ่งนายหนูก็ตกปากรับคำ พวกเขาจึงอาศัยอยู่ด้วยกันที่ตึกหินนี้ชั่วระยะหนึ่ง

ตึกหินที่บ้านท่าแร่
ป้ายและข้อความข้างๆ ตึกหิน อธิบายเรื่องราวแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ รวมถึงบุคคลสำคัญที่เคยเดินทางมาที่นี่

ที่บ้านท่าแร่ เนื้อสุนัขได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตามผู้อพยพชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น ท่าแร่ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการค้าเนื้อสุนัขในช่วงกลางพุทธทศวรรษที่ 2510 ถึงต้นพุทธทศวรรษ 2530 ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ดร.สถิตย์ กล่าวว่า การบริโภคเนื้อสุนัขเคยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย กระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจการค้าเนื้อสุนัขเริ่มเป็นกระแส โดยช่วงปี พ.ศ. 2515-2516 เรื่อยมาจนถึงปลายทศวรรษ 2520 ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในบ้านท่าแร่และสกลนครเป็นผู้ลงทุนในการค้าขาย หลังจากที่จำนวนสุนัขในพื้นที่เริ่มลดลง พวกเขาก็จะตระเวนไปทั่วอีสาน รวมถึงข้ามไปยังฝั่งลาวและเวียดนามด้วย

เขากล่าวอีกว่า ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 2510 ถึงต้นทศวรรษ 2530 “รถหมาแลกคุหรือรถหมาแลกถังน้ำ” กลายเป็นภาพที่ผู้คนทั่วทั้งภาคอีสานเห็นจนชินตา โดยคนจะแลกสุนัขของตัวเองกับถังน้ำ ส่วนมากพวกเขาจะแลกถังน้ำกับ “หมาไม่ดี” หรือสุนัขที่ชอบกัดคนหรือดุร้ายมาก

สุนัขเหล่านี้จะถูกนำไปที่บ้านท่าแร่และส่งต่อไปที่อื่น ตวงสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตำบลท่าแร่กลายเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งสำหรับการค้าสุนัขระหว่างประเทศ” สุนัขเหล่านี้ถูกขนส่งไปสถานที่ต่างๆ ทั้งภายในสกลนครและต่างประเทศ อย่าง ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ซึ่งการค้าเนื้อสุนัขระหว่างประเทศก็กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติที่สร้างเม็ดเงินได้หลายล้านบาท

ตวงสิทธิ์ กล่าวว่า การค้าเนื้อสุนัขข้ามชาติมีจุดเริ่มต้นจากการบริโภคเนื้อสุนัข ซึ่งแพร่หลายจนก่อให้เกิดธุรกิจ 

“หลายๆ คนเข้ามาทำตรงนี้เพราะมันได้เงินเยอะ”เขากล่าว และว่า “หลังจากนั้น ก็เกิดการรณรงค์เลิกกินเนื้อสุนัขขึ้นมาและคนที่ยังคงบริโภคสุนัขอยู่ก็เหลือเพียงไม่กี่หยิบมือเท่านั้น” 

เมื่อมีสุนัขหายไปเป็นจำนวนมาก และคนเริ่มรู้ว่า มีการค้าเนื้อสุนัข ทำให้คนไทยเริ่มโยงสกลนครเข้ากับการกินเนื้อสุนัข ชาวสกลนครจึงถูกคนทั่วทั้งประเทศตีตราและมองว่า เป็นคนบาปจากธุรกิจการค้าเนื้อสุนัขข้ามชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนไม่มากนักที่ยังคนกินเนื้อสุนัขอยู่

คนสกลนครยังกินเนื้อหมาอยู่หรือเปล่า

“ตอนนี้ส่วนใหญ่แทบไม่มีใครกินเนื้อสุนัขแล้ว” ดร.สถิตย์ กล่าวด้วยเสียงกลั้วหัวเราะและว่า “มันทั้งแพง ทั้งหายาก เนื้อหมาแพงกว่าเนื้อไก่ เนื้อหมูหรือเนื้อวัวอีก เขาจึงเรียกกันว่า เนื้อสวรรค์”

เขากล่าวอีกว่า สมัยก่อน การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นเรื่องของการกินอยู่ในครัวเรือน และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางครัวเรือนก็กินบางครัวเรือนก็ไม่กิน ถือความนิยมของเขา

เช่นเดียวกับเสียงประกาศจากรถหมาแลกคุที่เคยเลาะเลี้ยวไปตามตรอกซอกซอยทั่วจังหวัดสกลนคร บางคนจะเห็นว่า สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง ในขณะที่บางคนก็เห็นพวกมันเป็นอาหาร

ปัจจุบันชาวสกลนครไม่มากที่ยังคงบริโภคเนื้อสุนัขอยู่ ทว่าประเพณีหรือความนิยมชมชอบในเนื้อสุนัขก็อาจจะยังคงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ไปตลอด

“ผมเดาว่าทั้งสกลนคร คงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ที่ยังกินหมาอยู่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากยอมรับก็ตาม” ตวงสิทธิ์ กล่าว

อีกครั้งที่เวียดนาม

จากเมืองซาปา ผู้เขียนเดินทางต่อไปยังจังหวัดหล่าวกาย และไปหยุดลงที่บั๊กห่า เมืองของชาวม้งอันโด่งดังจากทิวทัศน์หุบเขาที่สวยงามและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวย

ระหว่างที่อยู่ที่บั๊กห่า ผู้เขียนได้เดินทางไปหลายแห่ง รวมถึงพระราชวังฮวงอาเตือง แหล่งพำนักของตระกูลผู้ทรงอิทธิพลในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส แวดล้อมไปด้วยหุบเขาและภูมิประเทศงดงามราวภาพวาด

ภาพวิวทิวเขาสลับซับซ้อนใกล้กับเมืองบั๊กห่า
พระราชวังฮวงอาเตืองที่เมืองบั๊กห่า จังหวัดหล่าวกาย สถาปัตยกรรมของวังแห่งนี้เป็นแบบโคโลเนียลฝรั่งเศส คล้ายคลึงกับอาคารต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร

ขณะที่ผู้เขียนเดินลัดเลาะไปตามตลาดที่คึกคักของบั๊กห่าก็เตะตาที่เห็นสุนัขตัวหนึ่งที่ถูกเชือกแล้วมัดเอาไว้ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงเนื้อสุนัขที่ผู้เขียนเห็นในตลาดก่อนหน้าในเวียดนามอีกครั้ง ผู้เขียนนึกสงสัยว่า ชะตากรรมของเจ้าสุนัขที่น่าสงสารตัวนี้จะลงเอยอย่างไร 

ตลาดบั๊กห่าที่เมืองบั๊กห่า ประเทศเวียดนาม ในบางวันอาทิตย์จะมีคนนำสุนัขมาขายสำหรับเอาเนื้อไปรับประทาน

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ไปกินเฝอกับเพื่อน แล้วเหลือบไปเห็นป้ายร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีคำว่า “ถิด จ๋อ” แปลว่า “เนื้อหมา” เขียนเอาไว้ ร้านเล็กๆ แห่งนั้นมีชายราว 6 คนนั่งล้อมวงร่ำสุราแกล้มชิ้นเนื้อสัตว์สีเข้ม ผู้เขียนเอ่ยปากถามเพื่อนในร้านเฝอว่า “นั่นเนื้อหมาเหรอ” ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก จากนั้นใจของผู้เขียนก็หล่นวูบเมื่อเพื่อนตอบกลับมาว่า “ใช่”

ผู้เขียนรู้สึกปั่นป่วน ผะอืดผะอมมวนท้องไส้ ผู้เขียนกินเฝอชามนั้นไม่หมด

สุนัขจะเป็นเพื่อนที่ดีสุดของมนุษย์เสมอสำหรับบางคน แต่บางคนแล้ว มันก็เป็นอาหารจานโปรดอีกจานหนึ่งด้วย

หมายเหตุ: สารคดีชิ้นนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Man’s best friend or favorite meal? เผยแพร่เมื่อ 14 ธันวาคม 2565

image_pdfimage_print