อีสานไพรด์ ถอดปัญหาอคติทางเพศเพิ่มความเข้าใจกันและกัน
23 มิถุนายน 2566 – ขอนแก่น ศูนย์เพศสภาวะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) จัดหัวข้อเสวนา “Gender Next Journey” เวทีแลกเปลี่ยนประเด็นความหลากหลายทางเพศจากคนรุ่นใหม่ ณ ห้อง HUSO Learning center อาคาร HS.03 คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในช่วงแรกของการเสวนา เป็นการให้ความเห็นกับอคติทางสังคมที่มีต่อเพศหลากหลาย จิระภัทร ศรีทะวงษ์ ตัวแทนจากสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปัจจุบันสภานักศึกษาได้ผลักดันระเบียบของชุดนักศึกษาให้แต่งกายตามเพศสภาพได้แล้ว เพราะฉะนั้นในรั้วมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างมีอิสระ แต่สิ่งที่เราอยากผลักดันให้ไปถึงคือการแต่งกายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปัจจุบันบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อเข้าพิธีฯ เพราะพ่วงด้วยเงื่อนไขที่ต้องมีใบรับรองเพศสภาพ นี่คือสิ่งที่จะต้องผลักดัน”
ภูษนิศา สระพูลทรัพย์ ตัวแทนจากโคราช movement กล่าวว่า “เราคิดว่าการสร้างอคติทางเพศและแนวคิดของการคิดว่าคนไม่เท่ากัน คิดว่าสื่อมีอิทธิพลโดยตรง เช่น บทเรียน ละคร หรือการสร้างความเข้าใจว่ากลุ่มคนที่มีเพศหลากหลายนั้นเป็นตัวตลก หรือเป็นเพศในอีกโลกหนึ่งที่ไม่ควรทำความเข้าใจ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใครเป็นคนคิดริเริ่มเรื่องพวกนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ ในช่วงหลังๆ Pride month มันเป็นที่พูดถึงในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจเอกชน เราคิดว่าเขามีส่วนช่วยในการผลักดันสิทธิความหลากหลายทางเพศในเชิงนโยบายได้จริงๆ ไม่อยากให้เป็นการนำเอา Pride month มาเป็นแค่ Rainbow Washing (กลยุทธ์ทางการตลาดที่นำเอาสีรุ้งในความหลากหลายมาใช้ในการโฆษณา)”
ทั้งนี้ กิจกรรมเวทีเสวนา Gender Next Journey เป็นส่วนหนึ่งของงานอีสานไพรด์ในวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและนักศึกษาที่เข้ามารับฟังข้อมูลเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความเข้าใจ ในเวลา 16.00 น. ของวันนี้ ยังมีกิจกรรม “ไพรด์พาเรด” ในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อรณรงค์สิทธิทางกฎหมายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ