23 มิถุนายน 2566 เวลา 17.30 น. ขบวน “Pride Parade & Catwalk” ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 เริ่มต้นขบวนที่ลาดจอดรถข้างอาหารพลศึกษามายังศาลาพระราชทานปริญญาบัตรเดิม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีนักศึกษาจากคณะต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมไปถึงบุคลากรอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเข้าร่วม กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความหลากหลายและสิทธิกฎหมายในการสมรสของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ กล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมในฐานะประชาชนที่ต้องการทำความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการทลายกำแพงภายในใจของตนเอง
“บรรยากาศสนุกสนานดีครับ เราเห็นถึงการเปิดพื้นที่ในการแสดงออก ความเข้าใจในทางหลักการเข้าใจง่ายว่าทุกเพศเท่าเทียมกัน แต่ก็จะมีอีกกำแพงหนึ่ง แต่เป็นความเข้าใจทางความรู้สึก แม้แต่ตัวเราเองจะเข้าใจในทางหลักการ เรายอมรับ เรายึดถือ แต่ในความรู้สึกของเราก็เป็นอีกแบบ ดังนั้น เราก็มาตรงนี้เพื่อทลายกำแพงตัวเองเหมือนกัน
“พูดกันตามตรง ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องความหลากหลายมากเท่าไหร่ แต่ก็พยายามเข้าใจและศึกษา และผมเชื่อว่าคนในประเทศนี้อยู่ในจุดที่พยามยามเหมือนผม”
พิมพ์ลภัส สีดาห้าว นักศึกษาชั้นปีที่ปี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตนเพิ่งเคยมาร่วมงานครั้งแรก รู้สึกตื่นตาตื่นใจ และชอบที่มีการแต่งตัวสวยงาม ยิ่งทำให้รู้สึกดีขึ้นไปอีก
“งานไพร์ดในกรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าคนมีชื่อเสียง ที่นี่อาจไม่มีคนมีชื่อเสียงมากนัก อาจไม่ถูกพูดถึงเท่าที่กรุงเทพฯ แต่รู้สึกได้ว่ามีความหลากหลายเหมือนกัน รู้สึกประทับใจทุกช่วงในขบวน เพราะการได้เห็นคนแต่งตัวมันเชียร์อัพให้เรามีส่วนร่วม ซึ่งในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง เราไม่กล้าแต่งตัวแรง แต่พอมาเจอผู้คนในขบวนที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ ก็อยากแต่งตัวแบบเขาบ้าง เธอเริ่ดได้ เราก็เริ่ดได้”
ปทิตตา บุดดี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มาร่วมงาน ตนเห็นด้วยกับความหลากหลายทางเพศเลยตัดสินใจมาร่วมงาน จริงๆ คาดหวังมาดูหมอลำศิลปินภูไทโดยเฉพาะ ที่จะมาในช่วงท้ายๆ ของงาน และกล่าวด้วยว่า ตนเป็นผู้หญิงที่ไม่กล้าแสดงออกแต่พอเห็น คนในขบวนแสดงความสามารถก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น