กิจกรรม Kollage เทศกาลวัยรุ่นโคราช ตอน “เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน” ถือเป็นต้นแบบให้เกิดกิจกรรมศิลปะอีกมากมายในเมืองโคราช ซึ่งเกิดขึ้นจากคนหนุ่มสาวไม่กี่คนที่มีความฝันร่วมกันว่า พวกเขาอยากเห็นเมืองโคราชเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถฝันร่วมกันได้ ทั้งเรื่องศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือแม้กระทั่งการถกเถียงเรื่องการเมืองบนพื้นที่สาธารณะ
Kollage เทศกาลวัยรุ่นโคราช เมื่อคนรุ่นใหม่มีฝัน
“เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน ไม่ใช่เมืองที่ไม่มีตัวเลือก แต่คุณจะเลือกได้ต้องพ้นจากกับดักให้ได้ก่อน เพราะตอนนี้เหมือนเมืองกำลังปริ่มน้ำ คุณอาจจะไม่จม แต่ต้องตะเกียกตะกายว่ายอยู่ตลอด ไม่มีเวลาให้คิดเรื่องอื่นเลยนอกจากเอาชีวิตรอด”
เป็นข้อสังเกตของ สิรภพ พงษ์ทรัพธาดา หรือโอ๊ต ชาวจังหวัดนครราชสีมาวัย 24 ที่เฝ้าดูการเติบโตของเมืองมาตั้งแต่เด็กและพยายามคิดฝันให้เมืองโคราชที่เขาเห็น เป็นเมืองที่สร้างฝันให้กับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
โอ๊ตเป็นตัวตั้งตัวตีจัดงาน Kollage เทศกาลวัยรุ่นโคราช ตอน “เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 และเป็นต้นแบบให้เกิดเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่อีกหลายเวที
“ที่ผ่านมาโคราชเป็นเมืองที่ไม่เอื้อให้หลายสาขาอาชีพเติบโตได้ เช่น ศิลปะ การเต้น การแสดง ฯลฯ ถูกมองว่า เป็นอุตสาหกรรมรอง สุดท้ายคนรุ่นใหม่ต้องหอบเสื้อผ้าเข้ากรุงเทพฯ ไปตามหาความฝัน เหมือนในเพลงนักร้องบ้านนอกของพุ่มพวง ดวงจันทร์”เขากล่าวด้วยน้ำเสียงติดตลก แต่ผสมด้วยความขมขื่น
โอ๊ต เรียกตัวเองว่า นักประสานงานชุมชนเล่าสาเหตุที่จัดงานนี้ว่า เพราะโคราชเป็นเมืองที่ไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงออกเท่าใดนัก จึงตัดสินใจสร้างพื้นที่ขึ้นมาเองสำหรับให้ทดลองฝัน ภายใต้ชื่อเทศกาล Kollage เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ออกมาแสดงความสามารถอย่างไม่มีขีดจำกัด
“กลุ่มมีความหลากหลายมากและผสมผสานกันอย่างลงตัวได้อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งคอสเพลย์ ดนตรีโฟล์คซอง ภาพยนตร์ ศิลปะ นักจิตวิทยาวัยรุ่น เต้นบีบอย คัฟเวอร์แดนซ์ วงเสวนาวิชาการ และการเมือง ทำให้เห็นว่า พลังของคนรุ่นใหม่มีความสร้างสรรค์มาก”โอ๊ต วัย 24 กล่าวอย่างภูมิใจ
สริภพ พงษ์ทรัพย์ธาดา หรือ โอ๊ต ผู้จัดงาน Kollage เทศกาลวัยรุ่นโคราช ตอน “เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน”
แนวคิดสร้างฝันเพื่อคนรุ่นใหม่
สริภพ เล่าแนวคิดของการจัดงาน Kollage เทศกาลวัยรุ่นโคราชว่า เมื่อปี 2563 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคม แล้วเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาเยาวชนจึงเริ่มต้นอาสาเป็นผู้ประสานงานชุมชน โดยมีหน้าที่เชื่อมประสานผู้คนกับรัฐและหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่
แม้งานเทศกาล Kollage ตอน “เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน” ปีแรกจะจบลงไปแล้ว แต่จากเทศกาลในวันนั้น ได้ส่งต่อการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เมืองที่ทุกคนสามารถฝันได้
นอกจากจัดกิจกรรมเทศกาล Kollage แล้ว โอ๊ตยังเป็นผู้ประสานงานเพื่อเชื่อมร้อยให้เกิดพื้นที่เพื่อคนรุ่นใหม่อย่างเทศกาลดนตรีที่มีชื่อว่า “โต ขึ้น เฟส” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโคราช
สริภพ กำลังพยายามสร้างชุมชนหรือคอมมูนิตี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วทุกคนมีอำนาจในตัวเอง ด้วยการสร้างโปรเจ็ก “สนามเด็กเริ่ม” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเยาวชนให้มาทำกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงการเดินสายประกวดดนตรีกว่า 10 โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ก่อนคัดเลือกให้เหลือเพียงไม่กี่วงเพื่อไปร่วมโชว์ในเฟสติวัลระดับประเทศ
กิจกรรม “โต ขึ้น เฟส” ภาพจาก Page:Facebook โตขึ้นเฟส
ความสำเร็จของงาน Kollage ไม่ได้มีโอ๊ตเพียงคนเดียวเท่านั้นที่คิด ฝัน และสร้าง เพื่อคนรุ่นใหม่ แต่ยังมี “อาทิตย์ จุฒาจินดาเขต” หรือ โจโจ้ เลขาธิการนายก อบต.ตำบลโคกสวาย จ.นครราชสีมา และสมาชิกกลุ่มโคราชการเต้น ร่วมมืออย่างแข็งขัน
“เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน จริงๆ แล้วมันไม่ได้เจาะจงที่เมืองใดเมืองหนึ่ง แต่หมายถึงทุกๆ เมืองทั่วประเทศ เพราะมันไม่สามารถสนับสนุนความฝันของทุกคนได้” เป็นคำรำพันของอาทิตย์
อาทิตย์บอกว่า เมื่อ10 ปีก่อน เขาและเพื่อนเคยร่วมกันทำโครงการเด็กสร้างเมือง ด้วยการจัดกิจกรรมให้คนมาแสดงออก หรือที่เรียกว่า “ปล่อยของ” อาทิ การเต้นบีบอย จัดกิจกรรมการแสดงออกอื่นๆ แต่ตอนนั้นคนยังไม่เข้าใจจึงมีคนมาร่วมงานน้อย
อาทิตย์ จุฒาจินดาเขต หรือ โจโจ้ เลขาธิการนายก อบต.ตำบลโคกสวาย จ.นครราชสีมา และสมาชิกกลุ่มโคราชการเต้น
“ตอนจัดงานได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ คนมาเข้าร่วมเยอะ เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เด็กๆ ที่มางานรู้สึกว่าพื้นที่มันปลอดภัย เขาเข้ามาแล้วเขารู้สึกภูมิใจ ได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่องานจบแล้วก็ถามมาตลอดว่า จะจัดอีกครั้งเมื่อไหร่” ถือเป็นเสียงสะท้อนที่โจโจ้อยากจะจัดกิจกรรมอีกครั้ง
Kollage จบ เกิดกิจกรรม “เศษคนพ่นไรม์”
แม้งาน Kollage จะจบลง แต่โจโจ้ยังจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้พื้นที่ด้านหน้าโรงแรมไทยอินเตอร์เป็นพื้นที่จัดงานศิลปะภายใต้ชื่อ “เศษคนพ่นไรม์” ที่มีพื้นที่ให้พ่นกระดานด้วยสีสเปรย์ กิจกรรมดนตรีผ่านการเต้นฮิปฮอพ การแข่งแรพสด เป็นต้น
เขาเล่าแนวคิดของการจัดงานว่า เริ่มจากข้อกล่าวหาหรือดราม่าว่า คนทำงานกราฟิตี้เป็นเศษคน การจัดงานจึงเป็นแบบปาร์ตี้ใต้ดิน ภายในงานก็มีคนนำกระดานขนาด 6×2 เมตร ทาสีดำแล้ววางให้คนเขียนหรือวาดสิ่งที่เขาต้องการ
“ผลตอบรับดีเกินคาด คนมาเข้าร่วมเยอะ เขานั่งมองกระดานและเห็นพัฒนาการของมัน มีทั้งงานอาร์ท เรื่องราวทางสังคมและการเมือง และสุดท้ายมันกลายเป็นอะไรที่สวยงามมากทำให้เห็นว่า คนทำงานศิลปะต้องไม่ใช่เศษคน”อาทิตย์ กล่าวด้วยความภูมิใจ
กิจกรรม “เศษคนพ่นไรม์” ภาพจากเพจ Facebook mama is calling
Fulid’s me ส่วนหนึ่งของเมืองสร้างฝัน
แนวคิดของการสร้างเมืองแห่งฝันกระจายไปทั่วโคราช กลุ่ม Korat Movement ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรในการจัดกิจกรรม Kollage ตอน “เมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน” ครั้งนี้ด้วย
หลังจากร่วมงาน Kollage ทางกลุ่มฯ ได้รับแรงบันดาลใจแล้วนำมาต่อยอดจัดกิจกรรม Fulid’s me นิทรรศการเมืองแห่งความหลากหลายของทุกคน ถือเป็นการแสดงศิลปะหลายแขนง ทั้งการภาพวาด ภาพถ่าย การแสดงดนตรี และ Social art ในรูปแบบต่างๆ
บรรยากาศ Fluid’s Me นิทรรศการในความหลากหลาย จัดโดยกลุ่ม Korat Movement
Korat เมืองของนักสร้างฝัน
ภูษนิสา สระพูนทรัพย์ หรือ เปเปอร์ เด็กหญิงวัย 16 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Korat Movement ผู้จัดนิทรรศการ Fluid’s Me เล่าว่า เกิด เติบโตและเรียนที่โคราช แต่คิดว่าโคราชเป็นจังหวัดไม่น่าอยู่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่สนใจศิลปะก็ต้องไปดูงานที่อื่น ถ้าอยากร่วมกิจกรรมทางการเมืองก็ไปร่วมที่จังหวัดอื่น
“โคราชมันขาดพื้นที่การเรียนรู้มีแต่คาเฟ่และห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต”เปเปอร์ เล่าประสบการณ์ส่วนตัว
เธอยังเล่าถึงการมีส่วนร่วมในงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมว่า ชอบเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะการได้รับรู้ข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ #6ตุลา #14ตุลา ทำให้ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม กระทั่งสนใจการเมืองอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2563
“หลังจากวันที่ไปรวมกลุ่มกับคนรุ่นใหม่จึงเป็นที่มาของการตั้งกลุ่มนักกิจกรรมในโคราช Korat Movement เพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจและทำให้คนโคราชสามารถจัดการตัวเองและเพื่อสร้างเมืองที่พวกเราต้องการ”ภูษนิสา กล่าว
เปเปอร์ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม Korat Movement และยังอยู่เบื้องหลังการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย ในงาน Fluid’s Me เธอยังเป็นคนจัดแสดงผลงานศิลปะของเธอด้วย
ภูษนิสา สระพูนทรัพย์ หรือ เปเปอร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Korat Movement ร์ แสดง Performance art ในงาน Car Mob Korat
บทสรุปของเมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน คือ อะไร และเมืองที่ทุกคนสามารถฝันได้ หรือเมืองในฝันหน้าตาเป็นแบบไหน อาจเป็นคำตอบที่เรายังต้องค้นหากันต่อไป แต่สำหรับทั้ง 3 คน พวกเขาเล่าภาพเมืองในฝันให้เราฟังว่า
“เมืองในฝันต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการเต็มที่ คุ้มกับงานที่ทำ เมืองที่ทุกคนช่วยกันแต่งเติมหน้าตาของมัน เมืองที่ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ แก้ปัญหาเองได้ด้วยการกระจายอำนาจ”โจโจ้ กล่าวด้วยความ
“เมืองที่ทุกคนฝันได้อาจจะไม่พอ คนต้องมีโอกาสจะทำให้ฝันเป็นจริงด้วย เมืองที่ทุกคนรู้สึกว่า การตัดสินใจและการใช้อำนาจร่วมกับรัฐเป็นเรื่องปกติ คนกับรัฐต้องเดินไปด้วยกัน”โอ๊ต กล่าว
“เราฝันเห็นเมืองที่ไร้พรมแดน ไร้การแบ่งแยก เมืองที่ทุกคนมีความเคารพกันและกัน เมืองที่ตอบสนองทุกความฝัน มีโอกาสให้สามารถทำได้ และโอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลายและเลือกที่จะอยู่กับมันได้” เปเปอร์ กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มกับความฝันที่จะกลายเป็นจริง
แล้วเมืองในฝันของคุณเป็นแบบไหน?
หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO