สุรินทร์ – เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เทศบาลเมืองสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) พรรคก้าวไกลจังหวัดสุรินทร์ และพรรคสามัญชนจังหวัดสุรินทร์ จัดงานซะเร็นไพรด์ (Surin Pride) พื้นที่แห่งความภูมิใจของชาวสุรินทร์ผู้เชื่อในความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ นับเป็นปีที่ 2 ที่ชุมชน LGBTQ+ สุรินทร์ร่วมกันสร้างวันแห่งความภาคภูมิใจ 

เบญจมินทร์ ปันสน ประธานผู้จัดงาน Surin Pride ให้เหตุผลว่า การจัดงานในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากต้องการส่งท้ายเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ในสังคมถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทุกคนยังสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวในสุรินทร์อีกด้วย สิ่งที่เราต้องการอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การผลักดันและสนับสนุนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ได้แก่

1. กฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมายจากคำนามระบุเพศ เช่น ชาย หญิง สามี ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้น สมรสกันได้และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้น คู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ

2.กฎหมาย พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ คือ การปรับโครงสร้างรัฐให้รับรองทุกสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนง โดยไม่ต้องผ่านการรับรองทางการแพทย์ คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ รวมถึงสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้าตามให้ตรงกับเพศสภาพ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น นาม) สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล)

3. พ.ร.บ.ค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการฉบับใหม่ เพื่อควบคุมการค้าประเวณี ให้ผู้ให้บริการทางเพศได้รับการคุ้มครองการทำงาน และมีอำนาจต่อรองกับเจ้าของสถานบริการ

“โลกนี้มิได้มีเพียงแค่ระบบ 2 เพศ อย่างที่ถูกยัดเยียดให้เข้าใจ เพศวิถีอื่น ๆ LGBTQ+ เป็นเพศ มีเป็นปกติแต่ไม่เคยได้รับความชอบธรรมจากกฎหมาย การแก้ไขในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายไม่ควรใช้เหตุเเห่งความแตกต่างหลากหลายนี้ในกฎหมาย เช่นนั้น มาตรา 1448 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ การร่วมผลักดันของพวกเราจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” คณาสิต พ่วงอำไพ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และอัสรี อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ หญิงมุสลิมข้ามเพศกล่าวในกิจกรรม Free Speech “คนเท่ากันเพศเท่าเทียม”

นอกจากนี้ตลอดทั้งงานยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศรวมถึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เช่น การแสดง Cover dance กิจกรรมเดินแบบ รวมถึงกิจกรรมรำลึกถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในอดีตที่เคยบาดเจ็บ ถูกประณามอย่างรุนแรง และถูกขับไล่ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก เป็นกิจกรรมที่ประชาชนทุกคนภายในงานร่วมจุดเทียนรำลึกถึงผู้ที่เสียสละเพื่อความรัก และรำลึกถึงผู้กล้าที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นสังคมที่ดีกว่าเดิม

image_pdfimage_print