“ผมอยากเอาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้านครับ” เป็นความฝันของเด็กชายวัย 11 ปี นักมวยเด็กแห่งค่ายมวยค่ายหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ที่ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวและหารายได้เข้าบ้าน 

เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อให้วันหนึ่งเขาได้เป็นนักมวยอาชีพ แม้จะเจ็บตัวและรายได้จากการแข่งขันอาจจะน้อยนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้

“กำปั้น” แสงตะเกียงของบ้าน

ภาพของเด็กชายวัย 11 ปี ในกางเกงมวยขาสั้น กำลังเตะเป้าและกระสอบกับพี่ๆ วัยไม่ต่างกันที่ค่ายมวยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น เป็นภาพที่คุ้นตาของคนที่พบเห็น เพราะเด็กชายคนนี้มาซ้อมมวยอยู่เป็นประจำ รวมถึงไปขึ้นสังเวียนชกมาแล้วหลายครั้ง 

ชีวิตของน้องกำปั้น (นามสมมุติ) ไม่เหมือนเด็กทั่วไป ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันใช้ชีวิตตามวัย เรียนหนังสือ และเที่ยวเล่นตามประสา แต่เขาต้องกลายมาเป็นคนที่หารายได้เข้าบ้านเพื่อเลี้ยงดูแม่และน้าอีก 2 คนที่ไม่มีงานทำ

ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้กำปั้นตัดสินใจเข้ามาฝึกต่อยมวย

“ตอนแรกผมเตะบอลอยู่กับเพื่อนครับ แล้วก็เห็นรุ่นพี่คนหนึ่งมาซ้อมมวย ผมเลยขอให้พี่เขาขอซ้อมให้ผม”

โรงเรียนและค่ายมวยมีรั้วติดกัน จึงทำให้กำปั้นเห็นอนาคตตัวเองมากขึ้น เขามาฝึกซ้อมทุกวัน อย่างอดทน เพื่อพิสูจน์ให้ครูฝึกเห็นความตั้งใจของเด็กน้อยคนนี้

“มวยไทยทำให้รู้จักความอดทนแล้วก็ได้เงิน ผมอยากต่อยมวยหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้านครับ”

กำปั้น (นามสมมติ) นักมวยเด็กวัย 11 ปี ไหว้ครูก่อนชก

ค่ายมวยเบิกทางชีวิต “กำปั้น”

บ้านของกำปั้นถูกตัดไฟ เพราะไม่มีเงินจ่าย ทำให้คนในบ้านต้องจุดตะเกียงหรือจุดเทียนเพื่ออยู่อาศัย แม้จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่พวกเขาไม่สามารถใช้ได้

เราถามเขาถึงพ่อ กำปั้นเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ต่อเมื่อถามถึงแม่ เขาบอกกับเราว่า “แม่ไม่สบายและไม่อยากคุยกับใคร”

แม้ที่บ้านจะไม่มีแสงไฟ ทว่าชีวิตของเด็กชายยังดำเนินต่อ โดยมีบทบาทเป็นดั่งตะเกียงที่ส่องแสงสว่างให้ครอบครัว

ค่ายมวยสร้างฝัน

“ที่ตรงนี้เป็นที่สาธารณะของชุมชน เป็นที่ร้าง แล้วชาวบ้านก็เห็นว่าผมเป็นนักมวยเก่าเลยสนับสนุนให้เปิดเป็นค่ายมวย อีกอย่างลูกชายผมก็ชอบมวยด้วย เลยกลายเป็นค่ายมวยในปัจจุบัน” คำบอกเล่าจาก ครูมวยวัย 39 ปี ที่มาฝึกสอนมวยให้เด็กๆ ในชุมชม

ครูมวยบอกอีกว่า พอเปิดค่ายมวยชาวบ้านก็สนับสนุนเป็นจำนวนมาก บางคนให้กระสอบ นวม บางคนก็มาทำกับข้าวเลี้ยงเด็กๆ เพราะเขาเห็นว่า มีเด็กสนใจเข้าฝึกซ้อมไม่ต่ำกว่า 10 คน

“ผมชกมวยมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก่อนจะหยุดชกตอนอายุ 25 ปี ผมใช้วิธีการสอนเหมือนที่ตัวเองเคยฝึกให้เด็กๆ ด้วยการให้วิ่งรอบสนาม 30 รอบหลังเลิกเรียน จากนั้นก็เตะกระสอบทราย เตะเป้า จากนั้นก็เรียนเทคนิคมวย เสร็จแล้วก็กินข้าวเย็นร่วมกันก่อนกลับบ้าน รวมๆ แล้วก็ 3-4 ชั่วโมง ต้องบอกว่า ผมทำคนเดียวไม่ได้ครับก็มีคนช่วยคนสนับสนุนเยอะ”

ครอบครัวยากจนต้องดั้นด้นหาเงิน

จากการรวมน้ำใจของผู้สนับสนุนหลายคนทำให้เกิดค่ายมวย เป็นสถานที่ดูแลเด็กๆ ให้ได้ออกกำลังกายและมีวิชามวยไว้ป้องกันตัว ซึ่งเด็กบางคนมาเรียนเพราะสนใจในศิลปะแม่ไม้มวยไทย แต่เด็กบางคนมาเรียนเพราะชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก

“เด็กที่ทางบ้านมีปัญหาเราก็ช่วยดูแล อย่างกำปั้น บ้านเขายากจนสักหน่อย เราก็ช่วยหาอาหาร เลี้ยงดู ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วย เพราะเด็กแต่ละคนพื้นฐานครอบครัวแตกต่างกัน แต่เขาเก่ง เป็นคนมีฝีมือในด้านนี้ ถ้าเขาฝึกซ้อมดีๆ สามารถพัฒนาเป็นนักมวยอาชีพและสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้เลย” 

ครูมวยเล่าในฐานะผู้ฝึกซ้อมและคนดูแลใกล้ชิด นอกจากพาเด็กๆ ลงนวมซ้อม เขายังทำหน้าที่หาสังเวียนให้แข่งขัน โดยตระเวนแข่งทั่วภาคอีสานและบางครั้งก็ไปแข่งในสนามเมืองกรุงฯ

“การจะส่งเด็กขึ้นชก ต้องดูความพร้อมของเด็ก ทั้งในแง่ของฝีมือและความพร้อมของร่างกาย หากเด็กคนไหนที่น้ำหนักตัวยังไม่ถึงหรือฝีมือยังไม่ถึงก็จะไม่ให้ไป”

นอกจากนี้ครูมวยยังเล่าอีกว่า การจะขึ้นชกแต่ละครั้งต้องถามความสมัครใจของนักมวยด้วยว่าอยากจะชกไหม เพราะบางคนต้องการเพียงฝึกซ้อมให้ได้วิชาป้องกันตัว แต่ไม่ได้ต้องการขึ้นชกแข่งขันกับใคร

“การชกแต่ละครั้งที่ก็จะมีคนสนับสนุนค่าตัวเด็กครั้งละ 300 บ้าง 500 บ้าง พอกลับมาค่ายก็มีผู้ใหญ่ยื่นให้บ้างครั้งละ 100 – 200 บาทก็มี เป็นค่าขนม ให้เด็กเอาไปจุนเจือทางบ้าน”

เมื่อมวยเด็กฝันถึงมวยอาชีพ

ด้วยชีวิตรายล้อมไปด้วยอิทธิพลของนักมวย ทั้งสถานที่ฝึกซ้อมอยู่ติดกับโรงเรียน ความชอบในกีฬาเป็นทุนเดิมประกอบกับต้องหารายได้ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กำปั้นหันมาสวมนวมขึ้นชกอย่างง่ายดาย 

“พี่เขาตั้งใจซ้อมมากครับ” เสียงของอ๊อฟ (นามสมมุติ) เพื่อนร่วมค่ายวัย 10 ขวบของกำปั้นพูดถึงเพื่อนรุ่นพี่

อ๊อฟเป็นนักมวยที่มาฝึกมวยไล่เลี่ยกับกำปั้น ทั้งคู่เรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่นด้วยกัน แม้จะอยู่คนละชั้นปีและแทบไม่ได้เจอกันที่โรงเรียน แต่เมื่อกระดิ่งบอกเวลาเลิกเรียนดังขึ้น ทั้งคู่ก็ได้เจอกันที่ค่ายมวยเกือบทุกวัน

“ตอนอยู่ในค่ายพี่เขาร่าเริง ตั้งใจซ้อมมากครับ เคยไปต่อยมวยชนะที่งานวัดด้วย” 

ในสายตาของอ๊อฟ กำปั้นเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการซ้อม เขาเห็นกำปั้นวิ่งรอบสนาม เตะกระสอบทราย เตะเป้า กระทั่งขึ้นชกและชนะที่งานวัดแห่งหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นที่มากล้นจนคนใกล้ตัวอย่างเขาสัมผัสได้ อ๊อฟจึงให้กำลังใจรุ่นพี่ของตัวเองให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา

“ผมอยากให้พี่กำปั้นเป็นแชมป์ครับ”

เสียงจากคุณครูถึงนักมวยน้อย

ในสายตาครู เด็กชายชอบการอยู่ค่ายมวยมากกว่าอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมของโรงเรียน 

ครูพล (นามสมมุติ) ครูประจำชั้นกล่าวถึงสิ่งที่พบว่า กำปั้นเป็นเด็กที่ชอบเล่นกีฬา ทั้งเตะบอล กระโดดเชือก จนสามารถชนะการแข่งขันกระโดดเชือกที่กรมอนามัยจัด

ครั้งนั้นครูพลช่วยฝึกซ้อม พร้อมกับอัดคลิปวีดีโอส่งเข้าแข่งขันและผลออกมาว่า กำปั้นได้อันดับที่ 3 ของประเทศ ส่วนผลการเรียนนั้นเขาเรียนอยู่ในระดับปานกลาง และมีบางครั้งขาดเรียนจนครูอดห่วงไม่ได้

“กำปั้นเป็นเด็กมีพลังในการทำกิจกรรม แต่ขาดเรียนบ่อย บางครั้งหายไป 2-3 วันต่อสัปดาห์ เมื่อไปเยี่ยมบ้านก็เห็นสภาพความเป็นอยู่ โดยบ้านของเขาเป็นปูนชั้นเดียว มีสมาชิกรวม 4 คน ตอนนี้น้ากับแม่ที่เป็นคนหาเงินเข้าบ้านก็พักงานอยู่ แล้วทราบมาว่าที่บ้านขัดสนเรื่องเงิน”

ส่วนอีกเหตุผลที่ครูได้รับรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการซ้อมมวยดึกจนตื่นมาเรียนไม่ไหว คือ ชุดนักเรียนแห้งไม่ทันสำหรับเช้าของการไปโรงเรียน แต่ปัญหานี้ก็คลี่คลายลงบ้าง เมื่อมีคนบริจาคชุดนักเรียนมาให้ เพื่อที่เขาจะได้ผลัดซักผลัดใส่ไปโรงเรียนในทุกเช้า 

ครูประจำชั้นทราบว่า กำปั้นชื่นชอบการต่อยมวยและต้องการเอาจริงเอาจังเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไป แต่ในฐานะที่เป็นครูก็อยากเตือนว่า อย่าทิ้งการเรียน 

“ผมเห็นใจเขาและได้แนะนำเขาว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็อย่าทิ้งการเรียน ผมบอกเสมอว่า เรื่องเรียนให้มาอันดับหนึ่ง เรื่องกีฬาให้เป็นอันดับสอง ตอนเวลาที่ต้องเรียนก็เรียนให้เต็มที่ ส่วนหลังเลิกเรียนก็เป็นเวลาของเขาที่จะทำในสิ่งที่ชอบ 

“ตอนนี้ยังต้องพัฒนาตนเองอีกมากกว่าจะได้เป็นนักมวยมืออาชีพ แต่สิ่งที่เขาทำกำลังหล่อหลอมให้กำปั้นเป็นนักสู้มืออาชีพไปแล้ว”

กำลังใจจากแม่ก่อนขึ้นชก “สู้ๆ นะลูก”

การฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้ฝีมือเชิงมวยของกำปั้นพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด กระทั่งครูมวยคัดเลือกให้เขาได้ขึ้นเวทีอีกครั้ง

ณ ลานออกกำลังกายชุมชนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถือเป็นสังเวียนของกำปั้น 

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกของการแข่งขัน แต่เขาก็ตื่นเต้นไปกับความสว่างของแสงสปอตไลท์ วงปี่พาทย์กำลังเตรียมตัวกันอยู่ฝั่งขวาของขอบสังเวียน ชาวบ้านทยอยเดินทางกันมาจับจองพื้นที่ข้างสังเวียนเพื่อรอชมการชกของเหล่านักมวยตัวน้อยกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

“ถ้าเป็นเวทีใหญ่ก็กลัวอยู่ครับ แต่เวทีนี้ก็ไม่ใหญ่มาก ก่อนมาแม่ก็ให้กำลังใจว่า สู้ๆ” กำปั้นบอกกับเราก่อนการชกจะเริ่มขึ้น ซึ่งเขาถูกวางให้เป็นมวยคู่ที่ 5 ของค่ำคืน

เวลาประมาณ 4 ทุ่ม กำปั้นอยู่ในมุมแดง แน่นอน คู่ต่อสู้ของเขาในวัยและร่างกายใกล้เคียงกันอยู่ในมุมน้ำเงิน ครูมวยถอดมงคล ร่ายมนต์คาถาตามตำรามวย เสียงปี่พาทย์เร่งเร้า เขาก้าวออกจากมุมสู่ใจกลางสังเวียน กรรมการแจ้งกติกา สับมือให้สัญญาณชก ชีวิตของเด็กทั้งคู่ในฐานะนักสู้ก็เริ่มขึ้น

หมัด เท้า เข่า ศอก ผลัดออกอาวุธ ความเจ็บปวดถูกแลกเปลี่ยนจากน้ำเงินสู่แดง และจากแดงสู่น้ำเงิน จังหวะปะทะแต่ละครั้งนำมาซึ่งเสียงเชียร์ข้างเวที มันขึ้นลงและคมชัดเท่ากับความเจนจัดของฝีมือมวย

หมัดแล้วหมัดเล่า จากยกแรกถึงยกที่ห้า หลังเสียงระฆังลั่นสัญญาณสุดท้าย ฝ่ายที่ถูกชูมือไม่ใช่เขา ในวงล้อมของผู้พ่ายแพ้ เราเห็นน้ำตาจากเขาเป็นครั้งแรก

มวยเด็กจากมุมของกฎหมาย

ลงจากสังเวียน กางข้อกฎหมาย ชีวิตของนักมวยเด็กวัย 11 ปี อย่างกำปั้นเกี่ยวพันกับหลายมาตรา

มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ระบุว่า การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นสําคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 

การกระทําใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็กหรือไม่ ให้พิจารณาตามแนวทางที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 23 ใน พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันระบุอีกว่า ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไมต่ํากว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กําหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

มาตรา 26 ยังระบุข้อห้ามไว้อีกว่าไม่ให้กระทำการดังต่อไปนี้ (1) ห้ามกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจเด็ก (6) ใช้ จ้างหรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ (7) บังคับขู่เข็ญใช้ชักจูงให้เด็กเล่นกีฬาหรือกระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ความคุ้มครองเด็กตั้งแต่อายุ 18 ปี ลงมา หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับ 

แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเท่านั้นที่เข้ามาข้องแวะ วิภารัตน์ นิยมไทย นิติกร สำนักกฎหมาย เผยแพร่แง่มุมต่อเรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์วุฒิสภา ว่าด้วยพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 มาตรา 29 ระบุว่า ด้วยนักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และการจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นนักมวยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้วสามารถทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการเข้าแข่งขันกีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม 

อย่างไรก็ดี แม้ว่านักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะยังไม่อาจจดทะเบียนเป็นนักมวยได้ แต่นักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถเข้าแข่งขันกีามวยได้ ตามมาตรา 26 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้จัดการแข่งขันกีฬามวยจะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์อนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬามวย ในกรณีนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะกระทำได้เฉพาะมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในขณะที่เข้าแข่งขัน

อนึ่ง คำว่า “อุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัย” ในที่นี้ กฎหมายมิได้กำหนดนิยามเอาไว้ แต่ตามเจตนารมย์ของกฎหมายย่อมหมายถึงเครื่องมือที่มีไว้ใช้เพื่อต้านทานหรือคุ้มครองนักมวยที่เข้าแข่ขันให้พ้นจากอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเครื่องป้องกันศรีษะ (Headguard) และนวมก็ถือเป็นอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยตามความหมายดังกล่าว

วันนั้นขณะอยู่ข้างเวที เราพบว่ากำปั้นวัย 11 ปี ไม่มี Headguard เป็นเครื่องป้องกัน ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น พฤศจิกายน 2561 เพชรมงคล ป.พีณภัทร หรือ น้องเล็ก นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตจากการชกมวยคาสังเวียน เรื่องนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงมากมายทางกฎหมาย สิทธิเด็ก ปากท้อง และกีฬามวย ในฐานะกีฬาประจำชาติอันน่าภาคภูมิ จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไร

อ้างอิง

image_pdfimage_print