ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอีสานต้องเจอเหตุที่ผู้แทนที่ตนเทคะแนนให้จนชนะเลือกตั้งต้องพบกับความพ่ายแพ้มาหลายต่อหลายครั้ง พวกเขาเลือกพรรคที่ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544, 2548, 2549, 2550, 2554 และ 2557 แต่พวกเขากลับแพ้ให้การรัฐประหารถึงสองครั้ง จากคำตัดสินของศาล 2-3 ครั้ง และการเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2 ครั้ง ตัวเลือกที่ชาวอีสานลงคะแนนให้ (รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ทั้งประเทศ) กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ คือ ส.ว.แต่งตั้ง พรรคเพื่อไทยที่พวกเขาให้ความรักและสนับสนุนมาอย่างยาวนานจะรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้หรือไม่ หรือพรรคจะเลือกคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วสลายพรรคร่วมรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยแทน ยังมีทางเลือกอื่นอีกไหมให้พรรคเดิน?

โดย นักเขียนรับเชิญ

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทย ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และเปิดรับการเมืองรูปแบบใหม่ที่อาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง คนไทยจำนวนมากยังกล้าที่จะหวัง

แต่ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งกลับถูกกำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว จากเหล่า ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยกองทัพตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่เขียนขึ้นโดยรัฐบาลทหาร มีหน้าที่ในการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม เพื่อรับประกันการสืบทอดอำนาจของกองทัพ ซึ่งเป็นตัวแทนของมุมมองทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของเหล่าชนชั้นนำ

ชัยชนะของฝั่งประชาธิปไตย

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงหลายสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย นี่เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในฝั่งประชาธิปไตย คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงรวมกันถึง 49.94 เปอร์เซ็นต์สำหรับ ส.ส. เขต (เฉียด 50 เปอร์เซ็นต์ไปอย่างน่าสงสัย)

ผลลัพธ์นี้ต่ำกว่าคะแนนที่พรรคไทยรักไทย นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ได้รับจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2548ในขณะนั้น พรรคยังไม่ได้ประกาศตัวเป็นพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ส่วนคะแนนนี้ก็ยังได้มากกว่าคะแนนที่เพื่อไทยได้รับเมื่อปี 2554 เล็กน้อย หลังจากประกาศตัวเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว และมากกว่าคะแนนที่ก้าวไกลและเพื่อไทยได้รับรวมกันจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่เพียง 39 เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ การกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยแยกการลงคะแนนสำหรับ ส.ส.เขต และ ส.สซปาร์ตี้ลิสต์ออกจากกัน การลงคะแนนเลือก ส.ส.เขตอาจมีผลพวงมาจากการเมืองท้องถิ่นและความผูกพันในอดีตกับตัวนักการเมืองในท้องที่นั้นๆ แต่เมื่อมีโอกาสได้ลงคะแนนสำหรับพรรคการเมืองโดยเฉพาะ คะแนนถึง 2 ใน 3 ตกเป็นของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เมื่อรวมกับคะแนนที่พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยพรรคอื่นๆ ได้รับแล้วจะมีจำนวนมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เลือกให้ประเทศไทยมีอนาคตที่เป็นประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนกองทัพก็ถูกผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปฏิเสธโดยสิ้นเชิง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคผู้นำของรัฐบาลที่ผ่านมาได้รับคะแนนเสียงสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขตเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ และได้เพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์สำหรับปาร์ตี้ลิสต์ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากพรรคเดิมไปเข้าร่วมกับพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ตั้งขึ้นใหม่ในชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะมีทรัพยากรรัฐหนุนหลัง พรรคฝั่งทหารก็ได้รับคะแนนสำหรับ ส.ส.แบ่งเขตรวมกันไป 20 เปอร์เซ็นต์ และ 14 เปอร์เซ็นต์สำหรับปาร์ตี้ลิสต์

ชาวอีสานประสานเสียงเลือกประชาธิปไตย

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในภาคอีสานนั้นเทไปทางพรรคฝั่งประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด พรรคเพื่อไทยชนะคะแนน ส.ส.เขตไป 36.5 เปอร์เซ็นต์ พรรคก้าวไกลได้ไปราว 21 เปอร์เซ็นต์ และพรรคการเมืองต่างๆ ของฝั่งประชาธิปไตยได้เสียงของชาวอีสานไปประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งให้การสนับสนุนรัฐบาลและนิยมทหาร ได้รับคะแนนเป็นอันดับสองในภาคนี้

พรรคฝั่งประชาธิปไตยได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากชาวอีสานไปถึง 4 ใน 5 เสียง แสดงให้เห็นความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ โดยชนะไป 77 เปอร์เซ็นต์ที่โคราช 83 เปอร์เซ็นต์ที่มหาสารคาม 81 เปอร์เซ็นต์ที่สกลนคร 84 เปอร์เซ็นต์ที่บึงกาฬ 86 เปอร์เซ็นต์ที่อุดรธานีและหนองบัวลำภู

แม้แต่ในจังหวัดบุรีรีมย์ ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพ่ายให้กับพรรคภูมิใจไทยในเขตเลือกตั้งทั้ง 10 เขต โดยพรรคภูมิใจไทยกวาดคะแนนเขตไป 48 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ไป 23 เปอร์เซ็นต์ และพรรคก้าวไกล 22 เปอร์เซ็นต์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในบุรีรัมย์ส่วนมากกลับเลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยในการลงคะแนนให้ปาร์ตี้ลิสต์ โดยพรรคก้าวไกลได้ไป 34 เปอร์เซ็นต์และพรรคเพื่อไทย 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้ไป 20 เปอร์เซ็นต์

พรรคฝั่งประชาธิปไตยคว้าชัยอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายขอบของประเทศไทยอย่างภาคอีสานและภาคเหนือ แม้แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) พรรคก้าวไกลก็ได้รับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงเป็นอันดับสองในเกือบทุกเขต

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นฉันทามติที่หายากระหว่างกรุงเทพฯ และชายขอบที่ให้ชัยชนะแก่ฝั่งประชาธิปไตย ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป และพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ที่อาจสร้างหนทางใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงและชนบท

ประวัติศาสตร์แห่งการล้มลุกคลุกคลานในกระบวนการประชาธิปไตย ไม่เคยมีผลการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งไหนที่ชัดเจนและแจ่มแจ้งเท่ากับครั้งนี้ ไม่เคยมีพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่เคยทำคะแนนได้ดีเท่านี้ และไม่เคยมีครั้งไหนที่พรรคฝั่งเผด็จการต้องอับอายขายหน้ามากเท่าครั้งนี้มาก่อน

ความชอบธรรมจอมปลอม

ผลการเลือกตั้งปี 2566 ช่วยสร้างความถูกต้องที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับความหวังถึงสังคมประชาธิปไตยที่ได้รับการจุดประกายในสมัยนั้น รอยร้าวที่แยกทั้งสองออกห่างจากกันนั้นเกิดขึ้นจากความลังเลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แม้จะตาสว่างแล้ว ด้วยการมอบความชอบธรรมทางการเมืองให้กับการแทรกแซงสถาบันที่เลือกจะวางตัวต่อต้านประชาธิปไตยอย่างกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ เครื่องมือของการแทรกแซงนั้น คือ การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และ 2557

เหล่าชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ที่สูญเสียสามัญสำนึกไป แล้วกระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับ พวกเขาวางเดิมพันต่อต้านอนาคตของประเทศและลงขันให้กับสถาบันอย่างไร้ซึ่งจินตนาการ บรรดาชนชั้นนำที่เต็มไปด้วยอัตตาและความหลงตัวว่าสูงส่ง เข้าใจไปเองว่า การลงมือปราบปรามผู้เห็นต่างนั้นเป็นสัญญาณว่า ประชาชนยังนิยมชมชอบตนอยู่

ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่นั้นยังเป็นอ่างเก็บน้ำที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นและเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวที่สั่งสมมานานหลายปี รัฐบาลสุดท้ายที่พวกเขาเลือกตั้งมาพยายามจะเก็บกวาดความยุ่งเหยิงที่เกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และลงเอยด้วยการถูกรัฐประหารเสียเมื่อปี 2557 รัฐบาลชุดดังกล่าวหวังที่จะกำจัดองค์ประกอบแห่งเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นสารตั้งต้นและนำระบอบการปกครองของไทยกลับเข้าสู่ร่องรอยที่ร่างไว้โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 การรัฐประหารปี 2549 นั้นไร้ความชอบธรรม และรัฐประหารปี 2557 นั้นยิ่งไร้ความชอบธรรมหนักกว่าเดิม

บรรดาผู้นำที่มาจากกองทัพและสิ่งที่พวกเขาบังคับยัดเยียดมาให้สังคมไทยนั้นไม่เคยถูกมองว่า มีความชอบธรรม ผู้คนยังคงรอคอยอย่างเงียบๆ สำหรับโอกาสที่จะได้เดินเรื่องราวแห่งประชาธิปไตยต่อไปข้างหน้า 

กองทัพนั้นอยู่ในเรื่องเล่าเพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่าในฐานะตัวเอก และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ชมหลักของตนเองด้วย บรรดานายพลเป็นวีรบุรุษในเรื่องเล่าของตัวเอง และไม่เคยคิดฝันว่า การแสดงนั้นช่างดูไร้ราคาในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่

ความหลงผิดนี้คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลทหารตัดสินใจแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ที่นอกจากจะทำให้ผู้ลงคะแนนสามารถเลือกผู้แทนของเขตได้แล้ว ยังสามารถเลือกพรรคการเมือง รวมถึงบุคคลที่พรรคส่งลงท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย ส่งผลให้การเลือกตั้งนี้เปรียบเสมือนประชามติต่อรัฐบาลฝ่ายทหารและนายกรัฐมนตรีจากครั้งก่อน กองทัพน่าจะรู้ดีถึงผลโพลต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเชื่อว่าพวกเขาจะยังชนะ

สถานการณ์ที่ตามมา จึงบีบให้รัฐบาลทหารต้องเริ่มเล่นบทขี้แพ้ชวนตี

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปราศรัยก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เครดิตภาพ ประชาไท 

สูตรคำนวณของเผด็จการ

รัฐบาลทหารยังมีความมั่นใจเกินเหตุจากชัยชนะที่ได้รับในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ดูเผินๆ เหมือนว่าพรรคฝ่ายทหารไม่ได้ชนะที่นั่ง ส.ส. มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่หนึ่งเดือนผ่านไป สูตรการคำนวณคะแนนใหม่ก็ถูกคลอดออกมาและทำให้พรรคเล็กจำนวนหนึ่งได้ ส.ส.จากการปัดเศษ

รัฐบาลนั้นขวัญเสียที่พรรคหัวก้าวหน้าอย่างพรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนเสียงมากเกินคาดเสียจนหันไปพึ่งวิธีบ่อนทำลายที่ออกจะโจ่งแจ้ง คือ การกำจัดพรรคน้องใหม่ทิ้ง ภายในเวลาหกเดือนของการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยความช่วยเหลือจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยทหาร พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

แต่ปัญหานั้นกลับไม่จบลง การยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อให้เกิดการตั้งพรรคก้าวไกลเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์เดิม และภายในเวลาไม่กี่เดือน พรรคนี้ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ทางการเมืองให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น พรรคก้าวไกลสร้างฐานคะแนนเสียงกลุ่มใหม่ของตนเองขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก

ระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งปี 2566 รัฐบาลได้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในแบบที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเอง และหว่านเงินซื้อตัว ส.ส. แต่โชคร้ายสำหรับกองทัพ พวกเขาจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสที่ตนเองแพ้หลุดลุ่ยขึ้นมา พรรคก้าวไกลได้คะแนน ส.ส.แบ่งเขตไป 26 เปอร์เซ็นต์ พรรคเพื่อไทย 25 เปอร์เซ็นต์ และพรรคฝ่ายทหารสองพรรคได้รวมกันไป 21 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์นั้นยิ่งทิ้งห่าง โดยพรรคฝ่ายทหารได้ไปเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 38.5 เปอร์เซ็นต์และ 29.3 เปอร์เซ็นต์ของก้าวไกลและเพื่อไทยตามลำดับ

ในภาคอีสาน พรรคฝ่ายทหารทั้งสองได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมกันไปเพียง 6.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้รวมกันถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ห่างกันถึงเกือบ 12 เท่า

พึ่งพาเสียง ส.ว.แต่งตั้ง

ไม่มีทางใดเลยที่รัฐบาลทหารจะสามารถปั้นแต่งตัวเลขได้ในสถานการณ์ที่แพ้ห่างเช่นนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมาย และนั่นคือ เป้าประสงค์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเขียนขึ้นมาโดยมีเงื่อนไขให้

1) กองทัพเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

2) สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี 

3) วุฒิสภาและสมาชิกทั้ง 250 คนจะอยู่ในกำมือของกองทัพไปห้าปี นานพอที่จะมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งสองครั้งแรกเมื่อปี 2562 และ 2566

ด้วยวิธีการดังกล่าว แม้พรรคฝ่ายทหารจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง อย่างที่เห็นได้ชัดในปี 2566 พวกเขาก็ยังสามารถหันไปพึ่งวิธีของขี้แพ้ชวนตี และโกงซื่อๆ เพื่อให้ตนเองยังกุมอำนาจเอาไว้ได้

แต่กองทัพก็ควรที่จะดูทิศทางลมออก ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีโอกาสมากมายที่จะพิสูจน์ตัวเองตลอดห้าปีของการปกครองแบบเผด็จการและสี่ปีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างก้ำกึ่ง แต่พวกเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้จะมีอำนาจเต็มมือ พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารได้คะแนนเสียงลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ มีน้ำใจนักกีฬา และยอมมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะ

ฝั่งอนุรักษ์นิยมเริ่มต้นวิธีการด้วยการบ่อนทำลายความชอบธรรมของพรรคก้าวไกล ด้วยการกล่าวหาว่า พรรคนี้ไม่มีความจงรักภักดีและจะล้มล้างการปกครอง จากตรรกะที่ว่า การที่พรรคก้าวไกลต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีค่าเท่ากับว่าพรรคต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันสูงสุด ซึ่งหมายความว่าพรรคต้องการล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ

อีกวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล คือ การจัดการให้ศาลสามารถสั่งยุบพรรคได้ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายทางใดทางหนึ่ง

ระหว่างที่ดำเนินวิธีการเหล่านี้ ไพ่ตายของพวกเขาก็คือ อำนาจของตัวเลข แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง เหล่า ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งมาและไม่มีความโปร่งใสใดๆ มีคะแนนเสียงอยู่ในมือ 250 เสียง มีอีกเพียง 126 เสียงที่พวกเขาต้องการจากสภาผู้แทนราษฎร หรือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้แทนที่มาจากเสียงของประชาชน

พวกเขาสามารถรวมตัวเลขนั้นมาได้อย่างง่ายดายจากจำนวน ส.ส.ของพรรคฝั่งทหารและหนึ่งในสองพรรคใหญ่จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่พรรคร่วมเหล่านั้นเพิ่งจะถูกปฏิเสธจากผู้มีสิทธิ์เลือกจั้ง และมีจำนวน ส.ส.รวมกันเพียง 188 ที่นั่น น้อยเกินกว่าเสียงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียงที่จะทำให้รอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ผลพวงที่มีความเป็นไปได้ต่อจากนี้นั้นน่ารังเกียจเกินกว่าจะคาดคิด ขณะที่เหล่า ส.ว.ถูกวางตัวมาให้ไม่โอนเอนไปตามแรงกดดันจากมวลชน (หรือไม่มีความยึดโยงกัยประชาชน) และไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่รัฐบาลร่วมที่จะจัดตั้งขึ้นได้ หากไม่มีพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยในสมการ ทางเดียวที่จะเป็นไปได้ คือ หนึ่งในสองพรรคนี้ต้องเข้าร่วมกับพรรคอย่างน้อยสองพรรคที่เคยสนับสนุนรัฐบาลทหาร เพื่อให้ได้เสียง ส.ส. เกิน 251 เสียง

และเมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดว่า ส.ว. ทั้งชุดตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสกัดกั้นพรรคก้าวไกล จึงมีเพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมข้อตกลงที่น่าชิงชังนี้ได้

แม้พรรคเพื่อไทยอาจรักษาพรรคร่วมฝั่งประชาธิปไตยบางส่วนเอาไว้ และหลีกเลี่ยงการร่วมมือกับพรรคฝั่งทหารได้ รัฐบาลร่วมนี้ก็จะสูญเสียเกียรติของความเป็นประชาธิปไตยด้วยการต้องจับมือกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ดีการเป็นผู้นำของรัฐบาลร่วมที่มีพรรคทหารประกอบอยู่ด้วยนั้นคงเป็นที่น่าขัดเคืองใจมากกว่า

นั่นคงจะเป็นข้อพิสูจน์อันน่าเศร้าและขมขื่นของความบิดเบี้ยวทางการเมืองที่ ส.ว.เป็นผู้รังสรรค์ว่า พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง กลับลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด และฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือ การโดนผลักไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคทหารที่ตนเอาชนะมาได้อย่างท่วมท้น

ทางเลือกของพรรคเพื่อไทย 

จากนี้ พรรคเพื่อไทยจะต้องตัดสินใจว่า อยากให้ตนถูกจดจำอย่างไรในประวัติศาสตร์ พรรคมีอุดมการณ์แรงกล้าพอหรือไม่ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อยในระยะสั้นๆ แม้อาจจะต้องถูกทำลายในภายหลัง พรรคจะถูกชักจูงด้วยคำมั่นสัญญาต่างๆ (เช่น ทักษิณจะกลับไทยได้) และเลือกที่จะเล่นไปตามการชี้นำของกองทัพ หากเป็นเช่นนั้น การทรยศคำมั่นสัญญาว่า จะสู้เพื่อประชาธิปไตยจะทำให้พรรคถึงจุดจบหรือไม่ และรอยร้าวในพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตย คือ สิ่งที่เหล่าชนชั้นนำของกรุงเทพฯ คาดหวังจะให้เกิดขึ้นมาตลอดหรือไม่

คนไทยส่งเสียงดังฟังชัดพอแล้วเมื่อพวกเขาให้คะแนนเสียงพรรคฝั่งเสรีนิยมและหัวก้าวหน้าอย่างท่วมท้น เมื่อ ส.ว. มีบทบาทอำนาจในการกำหนดทิศทาง ความสำเร็จของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกลับมีส่วนนำพากลุ่มไปสู่ความล่มสลาย พรรคเหล่านี้ได้ ส.ส. มามากเสียจนอย่างน้อยต้องมีบางพรรคที่ได้ที่นั่งในรัฐบาลร่วม แต่บรรดา ส.ว.กลับกำลังทำทุกวิถีทางที่จะขัดขวางด้วยการไม่ยอมให้ก้าวไกลได้รับอำนาจ

นี่คือสงครามประสาท วุฒิสภาสามารถสกัดผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ให้เลือกแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองได้ พวกเขาโหวตปฏิเสธได้ แต่หากฝ่ายประชาธิปไตยจับมือกันแน่นก็ไม่มีทางที่จะมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้ 

ถึงเวลาแล้วที่ ส.ว. จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ด้วยการยอมให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง และประชาธิปไตย เป็นผู้กุมบังเหียนของประเทศนี้

image_pdfimage_print