สำหรับครัวเรือนเกษตรอีสานในชนบท นอกจากที่ดินทำกินที่สามารถทำนาได้ปีละครั้งที่ทำเงินได้เป็นก้อนแล้ว ทรัพย์สินที่พวกเขาพอจะมีเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นในปัจจุบันย่อมเป็นปศุสัตว์ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นไก่ ปลา และโดยเฉพาะวัว ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ได้ปุ๋ยคอกในการทำการเกษตร แต่สามารถที่จะนำไปขายและได้เงินก้อนใหญ่มาใช้เมื่อจำเป็น
ในอดีต ควายเป็นสัตว์ที่สำคัญในการเลี้ยงชีพของครัวเรือนเกษตร เมื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเกษตรเปลี่ยนไป ทำให้ควายเริ่มหายไปจากวิถีชีวิตชาวนา และวัวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะที่แหล่ง “เงินออมชั้นดี” ของครัวเรือนเกษตร การเลี้ยงวัวสามารถทำได้ในพื้นที่จำกัดไม่ต้องใช้พื้นที่มากเหมือนกับปลูกข้าว และในชนบทก็สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้
การมีที่ดินทำกินเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับครัวเรือนเกษตรกรในชนบทอีสานอย่างมาก แต่สำหรับครัวเรือนเกษตรที่ยากจนพวกเขามีที่ดินเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลย ที่ดินบริเวณบ้านเพียงน้อยนิดจึงเป็นพื้นที่ที่พวกเขาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ครัวเรือนเกษตรในอดีตพวกเขาไม่ได้มีเพียงการทำเกษตรแค่การทำนาเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังต้องพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่ที่หลากหลายในการดำรงชีพ การได้อยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ถือว่าเป็นโชคดี แต่หากอยู่ในที่ที่แร้นแค้นและกันดาร ก็อาจจะทำให้ต้องหาอยู่หากินตามมีตามเกิด
ในขณะที่พื้นที่ทำนาต่อจำนวนประชากรลดน้อยลง เนื่องจากการแบ่งมรดกตกทอดในครัวเรือนที่มีลูกหลานจำนวนมากในขณะที่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้แต่ละครัวเรือนต้องใช้พื้นที่ที่ตนมีอยู่ให้คุ้มค่า นอกจากนี้ การจัดระบบระเบียบของพื้นที่ด้วยระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นทางการ ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชนบทเปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทั้งจากกฎหมายรัฐ เช่น การหาของป่า และทั้งจากกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรด้วยกันเอง เช่น พื้นที่นาที่ไม่ นอกเหนือจากการทำนา การเลี้ยงสัตว์จึงเป็นทางรอดหนึ่งเพื่อให้พออยู่พอกินและเป็นการลดค่าใช้จ่าย เราจะพบว่าเกษตรกรหลายคนมีการขุดบ่อเลี้ยงปลา เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างในอดีต การเลี้ยงไก่เพื่อกินไข่และเนื้อ หากเหลือจำหน่าย ต่างเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาสามารถยังชีพได้ ทั้งนี้ การเลี้ยงวัวกลายเป็นแหล่งเงินออม ที่การเข้าถึงการฝากเงินในธนาคารของรัฐได้ยากเพราะอยู่ในที่ห่างไกลและมีความยุ่งยาก ครัวเรือนเกษตรกรยากจนหลายครัวเรือนชี้ว่า หากพวกเขาจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ พวกเขาก็จะตัดสินใจขายวัวที่ตนเลี้ยงมา
สำหรับแม่ไว (นามสมมติ) อายุ 62 ปี ชาวอำนาจเจริญ บ้านที่อยู่ในปัจจุบันเป็นที่ดินมรดกตกทอดจากพ่อแม่ ซึ่งแม่ไวซึ่งเป็นลูกสาวหล่า (ลูกคนสุดท้อง) มักจะได้รับเป็นมรดกตามวัฒนธรรมของชาวอีสาน ที่ดินราว 30 ตารางวาข้างบ้าน เป็นที่ที่แม่ไวใช้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่บ้าน วัวซึ่งเลี้ยงให้กับพี่สาวรวมกับวัวของตนเอง 2 ตัว รวมถึงมีสวนขนาดย่อมที่ปลูกพืชผักที่จำเป็นต่อการทำอาหารและเลี้ยงปลาดุกบ่อเล็กๆ ไว้ด้วย
แม่ไวเล่าว่า “วัว” เป็นสมบัติที่เป็นเงินออมที่ช่วยให้แม่ไวสามารถมีเงินก้อนในยามที่ต้องการใช้เงิน เพราะไม่มีเงินเก็บในธนาคารและไม่ต้องการกู้หนี้ยืมสิน ทุกครั้งที่แม่ไวต้องการใช้เงินจำนวนมาก วัวที่มีนั้นได้มาจากแม่ยกให้ 1 ตัวเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนวัวออกลูกให้ซึ่งก็จะอยู่ในช่วง 2 ปี ออกลูก 1 ครั้ง และนอกจากนี้แม่ไวเลี้ยงวัวของพี่สาว จึงได้วัวจากพี่สาวมาอีก 1 ตัว ดังนั้นแม่ไวจะมีวัวที่เป็นของตนเองอยู่ 7 ตัว และได้รับจากพี่สาว 1 ตัว (ปัจจุบันเหลือ 2 ตัว) แม่ไวจะขายวัวทีละตัวสองตัว
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลูกชายอยากเรียนต่อ ปวส. ทั้งที่ไม่ได้เรียน ม.ปลาย แต่ก็ไม่รู้ไปเรียนต่อ กศน.ตอนไหน เพราะไม่เห็นไปเรียนสักที เปรยว่าอยากไปเรียน แม่ก็บอกว่าอย่าเรียนเลยเพราะแม่ไม่มีเงิน (อีกทั้งมีประสบการณ์ว่าเมื่อครั้งที่ลูกชายเข้า ม.4 ไปเรียนได้เพียงเทอมเดียวก็ออกจากโรงเรียน จึงคิดว่าลูกไม่น่าจะเรียนรอด) ปรากฏว่าลูกขังตัวอยู่แต่ในห้อง 2-3 วัน แม่ก็ตกใจเป็นห่วง ถ้าเขาฆ่าตัวตายตนเองจะทำอย่างไร ตอนนั้นต้องใช้เงินค่าเทอมถึง 8,000 บาท จึงจำใจขายวัวให้ลูกไปเรียนหนังสือ ครั้งนั้นขายวัวออกไป 2 ตัว ได้เงินมา 40,000 บาท เงินที่ได้เอามาใช้เป็นค่าเทอมและส่งลูกเรียนทั้งหมด แต่เขาก็ตั้งใจเรียนเป็นคนละคนเลย จนเรียนจบ”
ปัจจุบันลูกชายก็ได้ไปทำงานในโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ “วัว” จึงเป็นเงินออมก้อนโตที่สำคัญสำหรับแม่ไวในวันที่ลำบาก และเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญมาตลอดช่วงเวลาการใช้ชีวิตในหมู่บ้านหลังแต่งงานและได้หย่าร้างกับสามีและต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังโดยมีพี่สาวซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงกันคอยให้การช่วยเหลือดูแล


ไม่เพียงแค่วัวเท่านั้น ปัจจุบัน แม่ไวยังมีไก่ทั้งไก่เนื้อพันธุ์พื้นบ้านและไก่ไข่ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้มีรายได้เสริม ได้รับไก่ จำนวน 30 ตัวพร้อมทั้งหัวอาการไก่ 3 กระสอบ และยังมีพันธุ์ปลาดุก จำนวน 2 ถุง (ราว ๆ300 ตัว) และบ่อปลา (บ่อปูน 2 บ่อ) พร้อมหัวอาหารปลา 1 กระสอบ ที่ได้รับจากโครงการพัฒนาที่ทำให้มีรายได้หมุนเวียน และกลายเป็นความภูมิใจของแม่ไว ที่ทำให้แม่ได้มีของฝากของต้อนลูกชายคนเดียวเมื่อกลับมาเยี่ยมแม่ที่บ้าน จากที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ
แม่ไวเล่าให้ฟังอย่างน่าทึ่งว่า ตนสามารถอยู่ได้หากมีเงิน 1,000 บาทต่อเดือน เพราะชีวิตของตนเองนั้นไม่ได้ใช้จ่ายมากนัก ไม่ต้องเดินทางไปไหน เพราะข้าวก็ไปกินกับพี่สาวที่พึ่งพาอาศัยกันตลอด ไฟฟ้าก็ไม่ได้จ่าย จ่ายแค่ค่าน้ำประปา เดือนละ 100 แบบเหมาจ่าย และตนเองไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะไม่รู้จะจ่ายอะไร ชีวิตประจำวันก็คือเลี้ยงวัวและไปนา และหาของตามท้องไร่ท้องนากินบ้างบางครั้งบางคราว ซึ่งก็ทำให้ตนเองอยู่ได้โดยไม่ได้อดมื้อกินมื้อ ความหวังของตนเองคือลูกชายสามารถพึ่งตนเองได้ตนเองก็ไม่ห่วงแล้วและไม่ต้องการให้ลูกกลับมาอยู่บ้านเพราะไม่มีอาชีพรองรับ เงินออมไม่มีส่วนใหญ่เป็นเงินเก็บจากที่ตนเองขายไข่ ขายปลา
หากอ่านอย่างผิวเผินจะเห็นความโรแมนติกตามแบบที่กรุงวาดฝันไว้ให้คนจนที่ต้องพอเพียงและมีความมั่นคงทางอาหารด้วยเกษตรครัวเรือนขนาดย่อมที่ทำให้แม่ไวอยู่ได้และพออยู่พอกิน ซึ่งสิ่งที่แม่ไวเล่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน แต่ทว่าการที่เป็นครัวเรือนยากจนและการเผชิญกับโรคร้ายทำให้แม่ไวไม่สามารถคิดฝันไปมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ แม่ไวไม่กล้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจในหมู่บ้านหรือกองทุนออม เพราะกลัวชาวบ้านจะต่อว่า แม่ไวไม่ต้องการซื้อตู้เย็นทดแทนตู้เก่าที่พังไป เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแช่ของอะไรเพราะกินอยู่พี่สาวอยู่แล้วและตนเองก็ไม่ชอบกินน้ำเย็น โดยมีคำพูดคำหนึ่งที่แม่ไวเปรยขึ้นว่า “ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนซื้อ”
ส่วนครอบครัวของแม่มาลีและพ่อคำดี (นามสมมติ) ซึ่งมีที่ดินเพียง 2 ไร่ ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นยาย นั้น นอกจากการทำนาแล้ว แม่มาลีใช้พื้นที่นาเลี้ยงวัวและไก่ รวมทั้งเป็นที่เก็บถ่านที่เผาไว้ขาย แม่มาลีเล่าว่า “ชีวิตนี้สู้มาด้วยกำปั้น ใช้แรงหากินทั้งนั้น” โดยการทำนาในอดีตไม่ได้มีผลผลิตทำให้ร่ำรวยนัก หลังจากแต่งงาน แม่มาลีและสามีก็หาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพเผาถ่านขายเป็นหลัก โดยใช้ไม้เศษที่หักแล้วจากบนเขา หรือมีคนที่บริจาคให้ พ่อคำดีเล่าว่าการเผาถ่านขายทำไม่ได้ง่ายๆ เนื่องจากกฎหมายของรัฐที่ควบคุมการหาของป่า แม้แต่เศษฟืนก็เอาออกมาไม่ได้ หากตนเองนำกระสอบถ่านมาตั้งวางขายก็จะถูกภาครัฐเล่นงานเอาได้ เมื่อสอบถามถึงการทำอาชีพอื่นๆ แม่มาลีหวังว่าตนเองจะมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในหน้าแล้ง ซึ่งอาจจะได้ปลูกผักเสริม โดยอยากได้โซล่าเซลล์เหมือนกับเพื่อนบ้าน แต่ราคารวมกับการขุดเจาะบาดาลสูงมากทำให้ตนเองต้องคิดหนักหากต้องลงทุน

แม้ว่าครอบครัวของแม่มาลีจะได้รับข่าวสารจากภาครัฐอยู่เป็นประจำเนื่องจากสามีเป็น อสม.ในหมู่บ้าน โดยเป็นคนหนึ่งที่เคยได้โอกาสในการรับวัวมาเลี้ยงจากโครงการธนาคารวัวในหมู่บ้านแต่ทว่าในครั้งนั้นแม่มาลีกลับตัดสินใจไม่รับ และเลือกรับเงินเพื่อลงทุนอย่างอื่นที่สำคัญกว่าแทน เมื่อแม่มาลีเป็นสมาชิกครัวเรือนเกษตรก็ตัดสินใจกู้ยืมเงินจาก ธกส. มาลงทุนซื้อวัวเมื่อปีที่แล้วเพราะเห็นว่าวัวมีราคาสูง แต่การลงทุนซื้อวัวของแม่มาลี กลับไม่เป็นดั่งใจฝันที่จะได้ขายวัวได้ราคาดีก็ไม่ได้เป็นดังฝัน หากขายก็ขาดทุน “หลุบ” ตามภาษาอีสาน จึงต้องเลี้ยงไปก่อน และได้แต่หวังว่าราคามันจะดีขึ้น ไก่ไข่ที่รับมาจากโครงการพัฒนาก็ต้องกินหัวอาหาร ซึ่งทำให้แม่มาลีต้องขายถ่านมาซื้อข้าวให้ไก่กินจำนวนหนึ่ง ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะคุ้มค่านัก “อยากจะลดค่าใช้จ่ายอาหารไก่ แต่ก็ไม่มีพวกเศษผักให้มันกินมากนัก” ในขณะที่แม่มาลีก็เห็นว่าก็ยังต้องเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ต่อเพื่อรอเวลา โดยเฉพาะวัวเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อย่างไรก็ดี แม่มาลีไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัวไว้กับปศุสัตว์ ซึ่งหากวัวเหล่านี้เกิดโรคอาจจะไม่ได้ค่าชดเชย ซึ่งแม่มาลีเห็นว่าบ้านของตนเองอยู่ไกลจากอำเภอและเดินทางลำบาก


ครอบครัวแม่มาลีต้องเลี้ยงหลานถึง 5 คน ในบางครั้งแม่มาลีไม่มีเงินให้หลานไปโรงเรียน หลานก็ไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะอายเพื่อนที่ไม่มีเงินซื้อขนม แม่มาลีบอกว่าต้องมีเงินให้หลานคนละ 20 บาท แม่มาลีบอกว่า ตนเองต้องมีเงินสดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 400 บาท จึงจะอยู่รอด โดยตนเองจะไม่พยายามหยิบยืมหรือเป็นหนี้ แต่ใช้การขายถ่านเพื่อให้ได้เงินเป็นหลัก ซึ่งการใช้เงินในจำนวนดังกล่าวแทบจะเป็นไปได้ยากมากในสังคมปัจจุบัน แต่ด้วยการที่ต้องเลี้ยงหลานจำนวนมาก ประกอบกับลูกที่ออกเรือนไปก็ไม่ค่อยได้ส่งเงินกลับบ้าน “ลำพังเขาก็เอาตัวไม่รอด” ครอบครัวจึงต้องกระเบียดกระเสียนและอดออมหาอยู่หากิน
ในขณะที่พื้นที่รอบข้างต่างเป็นคนที่ลืมตาอ้าปากได้แล้วและได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านการเกษตรไปหมดแล้ว แม่มาลีจึงไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกับคนอื่นได้ จำต้องมีการออกแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน เช่น การให้เช่าซื้อโซล่าเซลล์ในราคาต่ำเพื่อให้เขาได้พัฒนาที่ดินให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงนโยบายที่ต้องให้มีการออกแบบการช่วยเหลือรายครัวเรือนอย่างเหมาะสม
โครงการธนาคารวัวที่เกิดขึ้นในหลายหมู่บ้าน ต่างเป็นโครงการที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรยากจน อย่างไรก็ดี ครัวเรือนเกษตรในปัจจุบัน มักจะได้รับคำปรามาสว่าจะเลี้ยงวัวไม่รอด และอาจจะต้องนำไปขายกินก่อน หรือเสี่ยงเผชิญกับโรคอย่างลัมปีสกิน
อย่างไรก็ดีในกรณีของแม่พัฒน์ (นามสมมติ) อายุ 60 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในการเลี้ยงวัว เพราะเป็นโครงการของทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นบ้านที่มีจำนวนครัวเรือนหลายหลังคาเรือน แม่พัฒน์จึงยังไม่มีโอกาสได้เลี้ยงวัว แม่พัฒน์เล่าว่า กว่าวัวตัวหนึ่งจะออกลูกออกมาใช้เวลาปีกว่า และหากลูกออกมาเป็นวัวตัวผู้ก็จะต้องขายออกไป ดังนั้น โอกาสที่จะได้วัวตัวเมียมาเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจึงน้อย และต้องหมุนเวียนไปแต่ละหลังคาเรือน แค่ 60 หลังในหมู่บ้านก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 60 ปี ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการเลี้ยงวัวจะทำได้อย่างต่อเนื่อง มันก็มีข้อจำกัดอยู่ หนำซ้ำในบางหมู่บ้านโครงการก็ล่ม โชคดีที่ในหมู่บ้านของตนเองยังคงมีอยู่ ถ้าตนเองได้วัวมาก็จะให้ลูกสาวที่ออกเรือนไปอยู่นาเลี้ยง
เสียงสะท้อนจากครัวเรือนเกษตรทั้งสามครัวเรือนทำให้เห็นว่า พวกเขาต่างก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน แต่ทว่าก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป พวกเขามีความจนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และไม่สามารถก้าวพ้นข้อจำกัดเหล่านี้ การจะหลุดพ้นจากครัวเรือนเกษตรยากจนจำต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพวิธีคิด และการแนะนำอย่างต่อเนื่อง พวกเขาบางคนยังคิดไม่ถึงว่าจำเป็นต้องลงทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“เลี้ยงวัวนี่ดีกว่าเลี้ยงอย่างอื่น” ครัวเรือนเกษตรหลายครัวเรือนชี้ว่าสำหรับพวกเขาที่มีที่นาน้อยนิด วัวเป็นความหวังในการสร้างรายได้รายปีให้กับพวกเขา เป็นสมบัติในที่ทางที่จำกัด เลี้ยงง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องคอยหาซื้ออาหารมาเลี้ยง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่กล้าลงทุนเป็นหนี้เพราะกังวลว่าจะได้ลูกวัวตัวผู้และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในขณะที่งบประมาณภาครัฐในการลงทุนซื้อวัวให้กับเกษตรกรยากจนก็ทำได้ยากเพราะต้องใช้งบประมาณสูง เป็นที่สังเกตว่าข้อจำกัดเหล่านี้ อาจจะทำให้ภาครัฐที่ทำโครงการที่คล้ายคลึงกันละเลยครัวเรือนยากจน และให้วัวกับครัวเรือนที่มีศักยภาพสูงเพื่อเด็ดยอดความสำเร็จแทน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยเรื่อง ‘ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง’ โครงการย่อย “เกษตรกร” ในฐานะเทคนิควาทกรรมความจนในนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐ กรณีศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)