กว่า 2 ปีที่ “แต้ม” ชาวบ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี จะต้องเดินทางกว่า 60 กิโลเมตร ไปขึ้นศาลในฐานะผู้ต้องหาในคดี 112 และไปรับยาในฐานะผู้ป่วยจิตเวชในเวลาเดียวกัน
ถือเป็น 2 ปีที่ทุกทรมานจากการติดตามตัวและการคุกคามครอบครัวสารพัด
การเผาป้ายรัชกาลที่ 10 ในช่วงที่ขาดยาจิตเวชทำให้เขามีความผิดโดยไม่รู้ตัว
โดยวันที่ 15 สิงหาคม 2566 นี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีนัดฟังคำพิพากษา ใน 2 คดี คือ ความผิดตามมาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358
ถือเป็นหนึ่งใน 269 คดีของผู้ต้องหาคดี 112 ที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน
จากข้อมูลของ ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน จำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ตั้งแต่ช่วง 24 พฤศจิกายน 2563 – 26 พฤษภาคม 2566 ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 250 คน ใน 269 คดี
เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าต้องบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หลังจากนั้นสถิติการใช้ข้อหา ฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ ก็เพิ่มเรื่อยๆ
คนเหล่านี้บางคนอาจเป็นเพื่อน เป็นลูก เป็นแม่หรือพ่อของใครสักคน ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดนดำเนินคดี โดนคุกคาม ไม่ได้รับความเป็นธรรมระหว่างดำเนินคดี ถูกล่าแม่มด
ปัญหาของมาตรา 112 ยังมีให้สังคมได้ถกเถียงมากมาย จนเป็นวาระที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องแสดงออกจุดยืนของพรรคตามเวทีดีเบตว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขในช่วงการหาเสียงช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา
แม้สถิติผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงตัวเลข แต่ก็เป็นจำนวนที่มีชีวิต จิตใจ เนื้อหนังและความฝัน
เรื่องราวของแต้ม
แต้ม วัย 33 ปี ที่ใช้ชีวิตกว่า 12 ปีกับ 15 ตัวยาจิตเวช ก็เป็นอีกคนที่ถูกถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564
แต้ม (สวมเสื้อเหลือง) เครดิตภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
แต้มเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้ใหญ่เมื่อวัย 14 ปีที่กรุงเทพฯ เขาเคยถูกแทงเพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาทช่วงวัยรุ่น ก่อนจะตัดสินใจด้วยความตั้งใจที่ว่า “ผมอยากได้ดี ผมอยากรับใช้ชาติ” จึงสมัครใจไปสมัครเป็นทหารเรือ ในปี 2554
ทหารเรือเป็นความฝันเริ่มต้นของแต้มและความฝันนั้นมันก็เปลี่ยนชีวิตแต้มไป
“โชคชะตามันเล่นตลกกับผม ผมคิดไม่ถึง เพราะว่าอีกเพียงเดือนเดียวผมก็จะเป็นอิสระแล้ว แต่ก็เกิดเหตุขึ้นก่อน”
หนึ่งเดือนก่อนที่เขาจะเลื่อนขั้นเป็นจ่าตรี มีคนเข้ามาทำร้ายหัวหน้าของเขาและเขาได้เอาศีรษะด้านซ้ายเข้าไปรับแท่นเหล็กเพื่อปกป้องหัวหน้า
แต้มเล่าว่า “เจ็บปางตาย” เลือดไหลจากปากและจมูก แล้วเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ สัตหีบอยู่ร่วม 2 เดือน ก่อนจะได้รับการวินิจฉัยว่า เลือดคั่งในสมองซีกซ้าย
“ถ้าผ่าตัดก็ 50:50 แต่มันจะกระทบเส้นประสาท อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ผมจึงตัดสินใจว่า ไม่ผ่าตัด”
ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมายชีวิต เขายอมรับว่า มันคือชะตากรรมและบาปกรรมที่ทำไว้ “ผมทำบุญมาแค่นี้” ก่อนจะฮึดสู้รักษาตัวเอง
สภาพจิตใจยังคงบอบช้ำ
“ผมนอนคิดทุกคืนว่า จะมีคนมาทำร้าย” เป็นสิ่งที่ทำให้แต้มต้องพึ่งยารักษาจิตใจกว่า 15 ชนิด แต้มอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจหางานทำ
วันเกิดเหตุเผาป้าย ร.10 เป็นช่วงเวลาที่แต้มไม่ได้รับยามากว่า 3-4 เดือน อาการทางจิตจึงกลับมา
ตอนนั้นเขาเห็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นภาพสีดำ มีตัวอักษรขึ้นมาว่า ให้ทำลายสิ่งที่กีดขวางตรงหน้าก็จินตนาการว่า อยู่ในโลกของวิดีโอเกมที่ต้องผ่านด่านไปให้ได้ จึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ไปทั้งหมด 3 แห่ง ก่อนจะตั้งสติได้และเข้ามอบตัว ในอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
“แต้มไม่กล้าอาจเอื้อมเลย ถ้าเห็นเป็นภาพในหลวง ท่านอยู่สูงไม่อาจเอื้อม แต่แต้มขาดยา มองขึ้นไปมันเป็นภาพดำๆ เขียนว่าทำลายสิ่งกีดขวางตรงหน้า”เขากล่าว
แม้ว่าคดีของแต้มตอนแรกจะมีเพียงข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ แต่ภายหลังอัยการยื่นฟ้องมาตรา 112 เพิ่มเติม โดยระบุว่า เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
กว่า 2 ปีแล้วที่ “แต้ม” ต้องเดินทางไป-กลับเพื่อขึ้นศาล กว่า 60 กิโลเมตรจากบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล ไปรายงานตัวในเมือง จ.อุบลราชธานี ทนายให้เหตุผลว่า เขาเป็นผู้ป่วยจิตเวชและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาเป็นนายประกัน เสนอยื่นประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท
แม่ของแต้มเล่าว่า ก็มีทนายช่วยค่ารถบ้าง ยืมพี่ยืมน้องเหมารถไปบ้าง เสียเวลาทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
“เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจในการไปแต่ละครั้ง แต้มต้องกินยาทีละ 6-7 เม็ด บางทีต้องฉีดด้วย ถ้าช่วงไหนที่เขานัดตรงกับวันศาลนัดกับหมอ ก็ต้องแวะไปรับยาก่อน”
หลังจากโดนคดี แม่แต้มเล่าถึงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ว่า ช่วงที่มีเสด็จ ตำรวจจะมากำชับว่า ห้ามออกจากบ้าน บางทีตำรวจก็มาถ่ายรูปกับแม่บ้าง กับพ่อบ้าง บอกให้แต้มอยู่ในพื้นที่
คดีนี้ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ในข้อหาตามมาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358
ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”
ส่วนอีกหนึ่งคดี คือ ฟลุค กิตติพล กราฟิกฟรีแลนซ์ วัย 20 ปี เขาจบ ปวช. จากวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุบลราชธานี เขาอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ เพราะดูแลยายที่พิการ ไม่สามารถพูดได้และมือผิดรูป แม้บางครั้งมีน้ามาคอยช่วยดูแล แต่เขาก็ต้องทำงานพาร์ทไทม์ช่วยเหลือครอบครัวด้วย
ฟลุค ก็เหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป แม้เขาจะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าปกติ แต่เขามีฝันที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งแต้มโลกใบนี้ด้วยการทำงานศิลปะ สนใจด้านกราฟิก ภาพยนตร์ ดนตรี งานประดิษฐ์ แต่เขามองไม่เห็นอนาคตนั้นในประเทศนี้
“การที่จะทำงานศิลปะในประเทศนี้ได้ ต้องมีต้นทุนสูง แต่ค่าแรงค่อนข้างต่ำ” ฟลุค กล่าว
ช่วงม็อบวิ่งไล่ลุง ได้จุดประกายให้ฟลุคเริ่มหันมาสนใจการเมืองและเรื่องรัฐสวัสดิการ ฟลุคเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมยายที่พิการถึงได้สวัสดิการค่อนข้างน้อย ทำไมต้องแบ่งเงินเก็บส่วนตัวมาดูแลยาย และย้อนกลับมานึกได้ว่า ช่วงรัฐประหาร ครอบครัวได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยตรงจากเคอร์ฟิวทำให้ร้านขายลูกชิ้นกลางคืนของแม่ไม่ราบรื่น
19 กันยายน 2563 ณ สนามหลวง คือ จุดเริ่มต้นการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของเขา และตามด้วยการเข้าร่วมกับคณะอุบลปลดแอกและในเดือนสิงหาคม ปี 2564 ท่ามกลางผู้คนของกิจกรรมคาร์ม็อบ ฟลุคไม่ได้ปราศรัย ไม่ได้เอ่ยเสียง เขาเพียงชูกระดาษใส่กรอบข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” แล้วมีคนถ่ายรูปและถูกแชร์ต่อไปบนโซเชียล ผ่านไปเกือบ 2 ปีตำรวจก็มาปรากฏตัวถึงที่บ้านในเดือนมีนาคม ปี 2565
“เป็นช่วงที่ตกงานอยู่พอดี ช่วงนั้นกำลังไปหางานทำ ตำรวจ 2-3 คนมายื่นหมายที่บ้าน”
เมื่อชีวิตเสียโอกาส เพราะ 112
“ผมไม่ได้คิดว่า ชีวิตผมจะมีโอกาสขนาดนั้น”
เป็นคำตอบของเขาหลังจากถูกถามว่า คดีนี้ทำให้เขาเสียโอกาสอะไรไปบ้าง
ฟลุคเรียนจบ ปวช.ช่วงโควิดพอดี จากนั้นจึงเริ่มรับงาน เป็นพนักงานร้านหมูกระทะ พนักงานโรงแรม พนักงานส่งของ แต่สุดท้ายก็ว่างงานยาว เพราะถูกเลิกจ้างไป 2 ปีในช่วงโควิด
“ผมอยากเห็นภาพประเทศไทยที่งานศิลปะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น อยากให้ผู้มีอำนาจจริงใจกับประชาชน เราควรพูดเรื่องมาตรา 112 ได้เป็นปกติ ผมไม่กังวลว่าตัวผมเป็นยังไง เป็นห่วงยายมากกว่า ส่วนพี่สาวการเงินก็ไม่มั่นคง อยากเห็นประเทศมีสวัสดิการที่ดีขึ้น”
“ผมคิดว่า ภาพที่ชูนั้นมันบรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว”ฟลุค กล่าวด้วยเสียงอันหนักแน่น
ฟลุค กิตติพล ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
พินิจ ทองคำ หรือ จอร์จ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เขต 3 จังหวัดลำปาง เป็นอีกคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
จอร์จไม่ได้บอกเรื่องนี้กับครอบครัวที่สงขลา เพราะเป็นห่วงความรู้สึก แต่วันที่จอร์จเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองลำปาง สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว ทำให้ครอบครัวรับรู้ว่า เขาถูกดำเนินคดีทางการเมือง
“ครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการที่เราเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่เราเคลื่อนไหวมาตลอด เราเป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นอยู่ เราอยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีกว่านี้” จอร์จ กล่าว
พินิจ ทองคำ หรือจอร์จ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ขณะกำลังปราศรัยบนรถเครื่องเสียง เครดิตภาพ พินิจ ทองคำ
เขาโดนดำเนินคดีมาตรา 112 พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน จากการแขวนป้าย
“งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน Covid 19”
“เรายืนยันว่า ข้อความดังกล่าว คือ ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ไม่ได้มีความคิดที่จะดูหมิ่นสถาบันฯ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.และรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณ ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน”
จอร์จบอกว่า เมื่อเขาถูกดำเนินคดีกำลังใจจากกลุ่มเพื่อนก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาสู้ต่อ เพราะหลังจากเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกันไปสมัครงานก็ถูกบริษัทปฏิเสธการรับเข้าทำงานจากประวัติคดีอาญา แต่สิ่งที่น่ายินดีจากนั้นไม่นาน แม่ของเขาก็เริ่มเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นผู้สนับสนุนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจอร์จและเพื่อนๆ ด้วย
เมื่อชีวิตของเราไม่เหมือนเดิม
จอร์จเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองลำปาง โดยกองบังคับการตำรวจภูธร จ.ลำปาง ตั้งคณะทำงานสอบสวนชุดพิเศษในการทำคดีนี้ ซึ่งเขารู้สึกแปลกใจเมื่อตำรวจมาขอเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มของเพื่อนๆ ไปด้วย แต่เพื่อนๆ ไม่ให้ความร่วมมือหลังจากปรึกษากับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว
“การใช้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” จอร์จบอก หลังจากถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
เขาเล่าว่ามีการติดตามทั้งทางโทรศัพท์ การมาหาถึงที่พักอาศัย ติดตามผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์หรือมาเฝ้าในช่วงที่มีบุคคลสำคัญมาพื้นที่ภาคเหนือ
ก่อนหน้านี้จอร์จต้องการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ทางสำนักงานตรวคนเข้าเมือง หรือ ตม. แจ้งว่าไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ต้องให้ผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการรับรอง
“ช่วงที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ตม.มีเอกสารรายชื่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกจับตามอง มีชื่อเราปรากฎอยู่ รวมทั้งเอกสารที่มีการขออนุมัติติดตามจากกองทัพบก มีรายชื่อเราอยู่ในการติดตามของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีเพียงแค่ 3 รายชื่อในภาคเหนือเท่านั้น” จอร์จ เล่า
ฝันอยากจะเป็นผู้แทนของผู้คน
นอกจากชื่อเล่น “จอร์จ” ที่พี่ชายตั้งให้ตามประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้วการได้เป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนก็เป็นความฝันที่เขาเคยรับปากไว้กับแม่ก่อนที่จะเสียชีวิตก่อนเลือกตั้งปี 2566 เพียง 1 เดือน
“เราชื่นชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวมันทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันในเรื่องการเมือง นโยบายของรัฐบาล ความเดือดร้อนของประชาชน สภาพปัญหาของพื้นที่ เราซึมซับและไม่เคยทิ้งความฝันนี้เลยตั้งแต่เยาว์วัย”
“ช่วงที่มาเรียนที่ลำปางมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับประชาชนแทบทุกวัน ยิ่งทำให้ความฝันของเราชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เราต้องเป็นผู้แทนราษฎรให้ได้ เราจึงพยายามฝึกฝน หาวิชาความรู้ เพิ่มเติมประสบการณ์ ค้นหาสิ่งใหม่ ผจญภัยรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เรายังคงฝึกฝนตัวเองเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดและควรค่าแก่โอกาสที่ประชาชนจะมอบอำนาจให้เรา”จอร์จ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
อ้างอิง