“มหานคร ดินแดนแห่งความฝัน เราอยู่ร่วมกัน ณ แห่งนี้ มหานครดินแดนแห่งสุขขี ชีวิตดีดีที่ลงตัว”
เพลงจากละครเวทีเรื่อง ‘โฮม The Musical’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวังและความฝันของคนทุกรุ่นว่า สถานที่ที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริงได้สำหรับพวกเขานั้นมีอยู่สถานที่เดียว คือกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2561 ละครเวทีเรื่อง ‘โฮม The Musical’ ผลงานลำดับที่ 4 จากกองละครม่านมอดินแดง กองละครเวที มหาวิทยาลัยขอนแก่น การสะท้อนเรื่องราวของหนุ่มสาวอีสานที่ต้องเดินทางไปหางานในกรุงเทพมหานคร เพราะความเจริญยังกระจุกตัวเพียงในเมืองหลวง รวมถึงความลำบาก ความสุข ความเศร้าที่เคล้าออกมาจากเสียงเพลงในละครเวที สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงถูกฉายผ่านการแสดง แต่เกิดขึ้นจริงภายนอกประตูโรงละครตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ภาพของหนุ่มสาวที่โลดแล่นหาโอกาสเข้ามาในเมืองกรุงยังคงถูกเล่นซ้ำจนชินตาThe Isaan Record ได้เริ่มบทสนทนากับ โรจน์ศักดิ์ นางาม หรือ โอแกน ข้าราชการครู โรงเรียนเบญจลักษณ์พิทยา อ.เบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างและผู้ประพันธ์บทละครเวที “ดอกหญ้ามหานคร” สู่ละคร “โฮม The Musical” ละครเวทีที่ฉายภาพวนเวียนของชีวิตหนุ่มสาวชาวอีสาน รวมถึงถอดรหัสความหมายของการนำละครเวทีที่ปิดฉากลงเมื่อปี พ.ศ. 2561 กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งในวันที่ 22-24 กันยายน 2566
โฮม The Musical ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน และคิดว่ามีละครเรื่องอื่นไหมที่สะท้อนให้เห็นภาพของคนอีสานที่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อดิ้นรนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
ภาพชีวิตของตัวเองเกี่ยวกับคำว่า “บ้าน” ซึ่งเป็นคำที่คนใช้เรียกสถานที่แห่งความรู้สึกสุขใจทุกครั้งหากอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ชีวิตมหาลัยกลับกลายเป็นสิ่งที่เรารู้สึกถึงคำว่าบ้านได้มากกว่าที่ที่โตมา จึงได้นำชีวิตของตัวเองมาร้อยเรียงใหม่ในรูปแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้
ผมเกิดมาในช่วงที่พ่อกับแม่ทำงานโรงงานอยู่ที่ภาคกลาง ผมเกิดวันแรงงานด้วยครับคือ 1 พฤษภาคม 2539 ในช่วงแรกเกิดคุณแม่พากลับมาให้คุณยายเป็นผู้เลี้ยงดูที่จังหวัดยโสธร เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เป็นโครงสร้างแบบโบราณ ใต้ถุนบ้านเป็นคอกวัวส่วนบ้านยกสูง ติดกับหนองน้ำใหญ่ของหมู่บ้าน ใกล้ๆ นั้นจะมีศาลารอรถที่ทางการสร้างไว้ติดถนนเส้นหลักของหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนลูกรัง นานทีจะมีรถยนต์วิ่งผ่านและก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก หากมีรถสักคันวิ่งผ่านมาเพราะคันนั้นอาจจะญาติของใครสักคนในหมู่บ้านที่เดินทางกลับมาจากการทำงาน
การติดต่อสื่อสารก็ยังลำบากครับ เทคโนโลยีการสื่อสารยุคนั้นจะมีเพียงแค่บ้านผู้ใหญ่บ้านหลังเดียวที่มีโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เสาหลักของครอบครัวผู้ไปทำงานในเมืองกรุงเทพฯ โทรมา แม่ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศผ่านเสียงตามสายให้ครอบครัวนั้นมารอที่บ้านผู้ใหญ่บ้านเพื่ออีกประมาณ 10 นาทีจะมีการติดต่อมาอีกครั้ง คนในหมู่บ้านช่วงนั้นเท่าที่พอจำความได้มีแค่เด็กๆ กับคนรุ่นตายายเลยครับ คนหนุ่มสาวนั้นล้วนไปทำงานต่างที่กันซะหมด
ภาพ Poster โฮม The Musical 2023 ที่มา: ม่านมอดินแดง
เจ๊ตุ๊ก หนึ่งในตัวละครหญิงข้ามเพศ หรือเรียกอย่างเล่นๆ กันตอนที่ประพันธ์ว่า กะเทย ในเรื่อง โฮม The Musical คือตัวผมเองที่เลือกอยู่ในที่ที่สามารถเป็นตัวเองได้นั่นก็คือในสังคมมหาลัยฯ หลายครั้งหากมีโอกาสกลับไปยังบ้านเกิดต้องพยายามเป็นตัวเองอีกคนที่ครอบครัวยอมรับนั่นคือการเป็นลูกชายคนโตของบ้าน เหตุผลหลักนี้เองที่ทำให้คำว่าบ้านนั้นเริ่มห่างจากบ้านที่ที่โตมา
ตัวละคร “ดาว” นางเอกของเรื่องในละครเวทีอีกตัวละครหนึ่ง ถูกสร้างจากน้องชายร่วมสายเลือดของผมเอง ผมเลี้ยงน้องมาตั้งแต่เกิดเพราะครอบครัวเป็นข้าราชการส่วนมากจะไม่มีเวลาว่างสักเท่าไหร่ ส่วนมากจะมอบหน้าที่ให้ผมได้ดูแลน้อง ซึ่งเราเกิดห่างกันถึง 11 ปี เมื่อก่อนผมกับน้องรักกันเป็นอย่างดีไม่เคยทะเลาะกัน แต่ผมเลือกที่จะห่างตัวเองออกมาในวันที่น้องชายได้โตพอจะรับรู้ได้ว่า เราไม่ใช่พี่ “ชาย” จึงทำให้ความสนิทนั้นลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ทุกครั้งที่เจอหน้ากันมันก็เป็นความรู้ที่อัดอัดเพราะกลัวว่าเขาจะรับตัวตนของเราไม่ได้
บัวเรียน ตัวละครที่แทนความเป็นแม่ ยาย ย่า ของหลายๆ คน ผมเอาชื่อคุณยายของผมเองครับ ที่ท่านรักและเคยสั่งไว้ว่าให้หลานที่ชื่อ “โอแกน” เท่านั้น ที่จะเป็นคนเลี้ยงในบั้นปลายชีวิตของ ใช่ครับผมคือหลานรัก หลานคนแรกของยายรวมถึงเป็นที่รักของผู้อาวุโสในบ้าน แต่ในละครได้ปรับเรื่องราวของคุณทวดมาใส่ในตัวละครนี้แทน เท้าความไปยังสงกรานต์ปีหนึ่ง ผมจำ พ.ศ. ได้ไม่แม่นนัก เป็นปีที่ผมกลับยโสธรแต่เลือกจะเก็บตัวอยู่แค่ในห้อง ไม่ได้ออกไปรดน้ำดำหัวคนในบ้าน เพราะคิดว่ายังไงก็ทำปีหน้าก็มีเทศกาลสงกรานต์อีก แต่นั่นก็ผิดไปจากที่คิดเพราะปีถัดมาผมได้รดน้ำคุณทวดผู้ล่วงลับในที่เก็บกระดูกในวัดแทน มันจึงฝังอยู่ในใจว่าถ้าหากยังตั้งกำแพงเรื่องเพศไว้กับครอบครัวแบบนี้อาจจะทำให้เราหมดโอกาสในการแสดงความรักในใจที่ซ่อนไว้หลังกำแพงไป
การกลับมาของโฮม The Musical ในปีนี้ จะมีความเข้มข้นต่างจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วยังไง
ใจความสำคัญยังคงเหมือนเดิมครับ แต่การทำละครเมื่อ 4 – 5 ปีก่อนนั้นยังไม่สามารถสื่อความรู้สึกของตัวบทออกมาเท่าที่ควรด้วยข้อจำกัดหรือปัจจัยหลายอย่าง การกลับมาของโฮมในครั้งนี้ผู้ชมที่เคยดูเวอร์ชั่นต้นฉบับมาแล้วจะไม่ได้รู้สึกเหมือนกลับมาดูซ้ำ แต่หากได้ดูละครเรื่องใหม่ที่มีใจความสำคัญคล้ายเดิมเพิ่มการตีความบางอย่างนั้นได้ปรับไปตามบริบทสังคม องค์ประกอบอื่นหรือเทคนิคที่ใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวนี้บนเวทีจะยิ่งใหญ่และประณีตมากขึ้นทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ มีการเพิ่มและลดตัวละครจากเดิมและที่สำคัญจะได้ฟังบทเพลงอันแสนไพเราะมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
คิดเห็นยังไงที่ละครที่ตัวเองเขียน ยังคงสะท้อนภาพหนุ่มสาวจากอีสานที่เข้าไปขายแรงงานในเมืองใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ขอใช้คำว่าประหลาดใจ เพราะเรื่องราวที่นำมาเขียนนั้นเป็นเรื่องราวที่พอจำความได้ตั้งแต่ในช่วงปี 2540 มาผสมผสานกับชีวิตตัวเองในปัจจุบัน แต่ตัวละครที่สร้างขึ้นมานั้นยังไปตรงกับชีวิตของใครหลายคนในปี 2566 ซึ่งมันสื่อให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีนี้ กรุงเทพมหานครยังคงเป็นศูนย์กลางความเจริญอยู่ และความเจริญยังไม่ถูกแผ่ออกมาได้อย่างทั่วถึง จึงเกิดคำถามที่ว่า “ความฝันของฉันจะเป็นจริงไม่ได้ในพื้นที่บ้านเกิดเลยหรือ” ผมเป็นคนที่ชอบทำละครเวทีมากครับแต่ก็ไม่สามารถไปสร้างหรือจัดแสดงได้ในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิดอย่างยโสธร หรือละครเวทีฟอร์มยักษ์คนที่ยโสธรอย่างผมก็ไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสเลย
พื้นที่ละครเวทีในอีสาน มีความสำคัญมากน้อยขนาดไหน ถ้าอีสานจะกลายเป็นเมืองแห่งละครเวที เหมือน Broadway
ผมว่าค่อนข้างช้าแต่ยังไม่สายเกินไปครับ คำว่าละครเวทีมันเกิดขึ้นนานมาก แต่หากถามว่าจะหาชมละครเวทีได้ที่ไหนในอีสานคงตอบได้ยากมากเลยครับ แม้แต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างมาปีนี้เป็นปีที่ 60 พึ่งมีหลักสูตรที่สอนการแสดงด้านละครเวทียังไม่นานเลยครับ นั่นสื่อให้เห็นว่าพื้นที่อีสานนั้นถือกำเนิดละครเวทีได้ช้ามาก แต่ความตั้งใจที่แน่วแน่ของผมคือการทำให้ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ผู้ชมสามารถได้รับประสบการณ์ความบันเทิงในรูปแบบละครเวทีได้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางที่จะให้ผู้มีความสามารถในอีสานได้แสดงฝีมือ แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ แต่มันเป็นก้าวที่เข้าใกล้เส้นชัยขึ้นแน่นอน
และจะมีสักกี่ครั้งที่สื่อใหญ่ได้หยิบเรื่องราวของอีสานไปสร้างเป็นหนักฟอร์มยักษ์และเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หรือตำนานของอีสานบ้าง หากแต่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังตลก หรือตัวละครตลกในหนังอื่น ๆ ซะเป็นส่วนมาก จึงอาจทำให้ภาพลักษณ์ของคนอีสานนั้นกลายเป็นภาพจำของความเฮฮาให้กับทุกคนไปเสียแล้ว