ท่ามกลางกระแสข่าวการสิ้นสุดเบี้ยยังชีพคนชราแบบถ้วนหน้า งานศึกษาจำนวนมากกลับพบว่าประเทศไทยไม่มีความพร้อมสำหรับการรับมือวิกฤติความยากจนของผู้สูงวัยในภูมิภาค

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ในปี 2565 สภาพสังคมสูงอายุก็พัฒนาเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยสมบูรณ์’ (Completely Aged Society) ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 12.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในอีก 15 ปีข้างหน้าประเทศไทยก็จะเข้าสู่สภาวะ ‘สังคมสูงวัยสุดยอด’ (Super Aged Society) ซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปี สูงถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก “การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ค้นพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศมักอยู่ในพื้นที่ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 22.5 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดขนาดใหญ่อย่าง ขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งขาติ https://tinyurl.com/bdd34f3c

ยิ่งประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย (SES) ตั้งแต่ปี 2535 – 2562 (ในปีที่มีข้อมูลด้านรายได้) ซึ่งระบุว่า ผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้น้อยร้อยละ 20 ล่างสุดของจำนวนประชากรในสังคมไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 จากจำนวนทั้งหมด ก็ยิ่งชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของสังคมสูงวัยในระดับภูมิภาค และการ “หลงส้น” ของรัฐไทยขั้นวิกฤติที่เลือกทิ้งหลักสวัสดิการถ้วนหน้าแม้เห็นเค้าลางของหายนะ

ขนาดของปัญหาที่ขยายตัว โฉมหน้าความชราไทยไม่ใช่แค่จินตนาการ

งานวิจัยของ SES เมื่อปี 2562 ระบุสถิติที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ชั้นรายได้ของประชากรไทยถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม คือ 1) กลุ่มรายได้น้อยสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในเศรษฐกิจฐานราก 2) กลุ่มรายได้ต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ 3) กลุ่มรายได้ปานกลาง 40 เปอร์เซ็นต์ 4) กลุ่มรายได้สูง 9 เปอร์เซ็นต์ และ 5) กลุ่มรายได้สูงสุด 1 เปอร์เซ็นต์

จากช่วงระยะเวลา 27 ปี พบว่าจำนวนผู้สูงอายุในทุกช่วงรายได้เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย 50 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มากกว่าประชากรกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ มีสัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40

งานศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า ประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ มีสัดส่วนอยู่ในภาคการเกษตรถึงร้อยละ 70 

ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมา คือ การมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุในหลายครัวเรือนต้องพึ่งพาประชากรวัยทำงานมากกว่าเดิม ซึ่งรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ได้แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2564 ค่า “อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ” ทะยานจากร้อยละ 10.7 สู่ร้อยละ 30.5 ภายใน 27 ปี

หรือตีความอย่างง่ายว่า ในปี 2537 ประชากรวัยแรงงาน 100 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ประมาณ 11 คน แต่ในปี 2564 ต้องรับภาระเลี้ยงดูถึง 31 คน

การที่คนวันทำงานต้องเพิ่มกำลังสำหรับการเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้นนี้ ทำให้ในปี 2564 ผู้สูงอายุมีรายได้หลักอันดับสองมาจากการเลี้ยงดูของบุตร คิดเป็นร้อยละ 32.2 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่อันดับหนึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการทำงาน คิดเป็นร้อยละ 32.4 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ซี่งภาครัฐก็ได้พยายามช่วยแบ่งเบาภาระดังกล่าวในรูปแบบของเบี้ยยังชีพต่างๆ ซึ่งกลายเป็นรายได้หลักอันดับสามของผู้สูงอายุในประเทศไทย คิดเป็นถึงร้อยละ 19.2 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด

การที่ภาครัฐไทยกำลังจะตัดสินใจให้ความ “ถ้วนหน้า” ของเบี้ยยังชีพนี้หายไป จึงส่งผลกระทบที่อาจเปลี่ยนแปลงสมการข้างต้นอย่างมหาศาล

ความยากจนในอีสาน และปัญหาที่ควรมองผ่านเลนส์ของช่วงวัย

สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2564 ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30.9 ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นภูมิภาคที่ผู้สูงอายุจำนวนมากประสบความยากจนทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจบริการเช่นเดียวกัน

ปัญหาสำคัญ คือ ความยากจนในภูมิภาคนี้เป็นความยากจนที่กระโดดข้าม “วัย” กล่าวคือ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ความยากจนจะถูกส่งมอบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในแง่ของการปิดกั้นโอกาส และในแง่ของการทำให้วัยทำงานในภูมิภาคต้องทุ่มกำลังและทรัพยากรสำหรับการเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในส่วนของดัชนีอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุข้างต้น 

ซึ่งปัญหา “คนจนข้ามรุ่น” นี้ก็รุนแรงมากถึงขนาดถูกบรรจุเอาไว้เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของ “โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย

รายงาน Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค ครั้งที่ 4/2566 หัวข้อ “แรงงานอีสานคืนถิ่น กลับไปพื้นที่เศรษฐกิจเดิมมากน้อยแค่ไหน” ของสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แต่เดิมภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือพึ่งพาการเกษตรกรรมที่มีความไม่แน่นอน แรงงานในภูมิภาคจึงอพยพออกไปมากถึงสามล้านคน ซึ่งคิดเป็นการไปทำงานในภาคกลางมากถึง 2.7 ล้านคน โดยมีการกลับไปเป็นแรงงานในภูมิภาคหลังพ้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพียงสี่แสนคนเท่านั้น

การที่แรงงานจำนวนมากของภูมิภาคยังคงทำงานอยู่นอกภูมิภาค ขณะที่ผู้สูงวัยในภูมิภาคยังต้องรอเม็ดเงินที่ครอบครัวจากภูมิภาคอื่นส่งมาให้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่พร้อมรับมือกับการเพิ่มจำนวนของผู้สูงวัย โดยเฉพาะเมื่อความเหลื่อมล้ำสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ เพราะสังคมไม่มีสวัสดิการคอยรองรับคนชราที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

ถ้วนหน้าแต่ก็ไม่ถ้วนจริง มาตรการเลียแผลแต่ไม่ใช่ผ่าตัด

งานศึกษา ‘โครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า “ที่สำคัญพบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ไม่สามารถเข้าถึงบางความช่วยเหลือได้ เช่น กรณีเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย”

ที่มา: TDRI https://tinyurl.com/4nh33j74

ปัญหาเหล่านี้กำลังชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางในด้านความมั่นคงแล้ว ยังมีความเบาหวิวในด้านการได้รับความเหลียวแลจากภาครัฐอีกด้วย ขณะเดียวกันนโยบายที่มีลักษณะเหมือนจะ ‘ถ้วนหน้า’ อย่างระบบประกันสังคม มีเม็ดเงินมหาศาลและมีกองทุนแยกสำหรับการชราภาพ อาจจะไม่ได้เป็นพระเอกในการรับมือวิกฤติสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบที่คิด เมื่อผู้สูงอายุนอกเขตเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะคว้าเงินสมทบเหล่านี้ไม่ถึงเท่าผู้สูงวัยในเมือง

ในทุกๆ สิ้นเดือน เงินเดือนของพนักงานบริษัทเอกชนจะถูกหักร้อยละ 5 และหักจากนายจ้างอีกร้อยละ 5 ก่อนจะสมทบด้วยเงินจากภาครัฐอีกร้อยละ 2.75 จากเงินเดือนทั้งหมด เพื่อนำเข้ามาสมทบในกองทันประกันสังคม ซึ่งจะถูกแบ่งนำมาใช้ให้แก่ผู้ประกันตน 3 ก้อน คือ 1) กรณีเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต คลอดบุตร 2) กรณีว่างงาน และ 3) กรณีสงเคราะห์บุตร หรือชราภาพ 

สำนักข่าว TODAY รายงานว่า จากปี 2534 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 กองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมแล้วทั้งสิ้น 1,357,119 ล้านบาท และหากนับผลกำไรจากการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุน กองทุนนี้จะมีเงินมากถึง 2,032,841 ล้านบาท

กองทุนประกันสังคมเพื่อความชราภาพ มีความครอบคลุมสถานประกอบการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ไม่รวมลูกจ้างประจำของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ต้องมีเพดานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และจะได้รับผลประโยชน์ต่อเมื่อเกษียณอายุตอนอายุ 55 ปี โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้สูงอายุจะได้บำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยคิดเป็นร้อยละ 15 จากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย บวกอีกร้อยละ 1 ในทุก 12 เดือนที่จ่ายสมทบเกิน 180 เดือน

ขณะเดียวกัน หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสบทบไม่เกิน 180 เดือน จะได้สิทธิประโยชน์เป็นการจ่ายครั้งเดียวในลักษณะของบำเหน็จชราภาพ ตามอัตราการจ่ายคืนเฉพาะเงินสมทบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถิติแรงงานรายเดือน เดือนกุมภาพันธ์ ของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแรงงาน กองเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าในจำนวนผู้สูงอายุ 13.14 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ยังทำงานมากถึง 4.74 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบถึง 4.1 ล้านคน ขณะที่มีผู้สูงอายุเป็นแรงงานในระบบเพียง 6.5 แสนคนเท่านั้น

จากสถิติดังกล่าว พบอีกว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างมีมากถึง 3 ล้านคน ประกอบธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างถึง 9.4 แสนคน ขณะที่เป็นลูกจ้างเอกชนอยู่เพียง 6.1 แสนคนเท่านั้น

การสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2560 พบว่า มีผู้สูงอายุหลังเกษียณเพียงร้อยละ 6 ที่มีรายได้จากบำเหน็จ/บำนาญ และเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินออม ในขณะที่มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ได้รับเบี้ยยังชีพจากทางราชการ 

ตัวเลขเหล่านี้กำลังฟ้องสังคมว่า กองทุนประกันสังคมจำนวนเกือบ 2 ล้านล้านบาท อาจจะไม่ได้ตกไปถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศ เนื่องจากไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะทำงานในบริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบที่กองทุนนี้เอื้อมไปไม่ถึง

สังคมสูงอายุสมบูรณ์ไทยต้องมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

ดังนั้น ทางออกสำหรับการเยียวยาและช่วยเหลือผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศ จึงควรหันกลับไปหาความ “ถ้วนหน้า” ที่ต้องยืนยันหลักการว่า กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ จะต้องได้รับสวัสดิการยังชีพพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีทุกคน เนื่องจากหากไม่ทำเช่นนี้จะทำให้ช่องว่างของระบบกลไกการเยียวยาก็อาจจะทำให้เม็ดเงินของภาครัฐไม่ตกไปถึงมือผู้ที่ควรจะได้รับอย่างยุติธรรม ดังที่เกิดขึ้นกับการจัดการกองทุนประกันสังคมเพื่อความชราภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีจำนวนที่มากพอในแต่ละเดือนสำหรับการดำรงชีวิตให้เกินเส้นความยากจน

อย่างไรก็ตาม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เคยคงอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือนก่อนถูกยกเลิกไปนั้น ก็ยังห่างไกลกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดย ดวงมณี เลาวกุล และ ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ในโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” ว่า ระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน

ความโชคร้ายอย่างจงใจของประเทศไทยต่อหน้าปากเหวของหายนะด้านความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นทันทีที่รัฐแก้ไขระเบียบใหม่ของเบี้ยยังชีพคนชราแบบถ้วนหน้า ซึ่ง ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ส่งผลให้ผู้สูงอายุกว่าหกล้านคนถูกตัดออกจากการรับสิทธิ์ทันทีเพียงเพราะมีบ้าน มีรถ มีที่ดิน หรือมีลูกหลาน และเพิ่มโอกาสที่จะส่งประชาชนจำนวนมากกลับสู่วังวนความยากจนอีกครั้ง

หากรัฐไทยสามารถตัดเบี้ยยังชีพคนชรานี้ได้สำเร็จ ในอนาคตจะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าสวัสดิการชนิดอื่นจะไม่ถูกปรับลด และจะไม่มีอะไรรองรับการเกิดขึ้นของสังคมสูงวัยสมบูรณ์ที่เราไม่สามารถหนีพ้น ซึ่งคงจะเหลือไว้เพียงสภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ท่ามกลางสวัสดิการที่ทุกคนต้องจ่ายแต่ต้องพบความยากง่ายในการได้รับไม่เท่ากัน

อ้างอิง:

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, จาก https://tinyurl.com/bdd34f3c
  • ชญานี ชวะโนทย์. 2565. สำรวจสภาพความเหลื่อมล้ำไทย: ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากร. จาก https://tinyurl.com/yzwnnn5d
  • กองทุนประกันสังคมเพื่อความชราภาพ. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง. จาก https://tinyurl.com/2v34muuy
  • ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแรงงาน. 2566. สถิติแรงงานรานเดือน เดือนกุมภาพันธ์ 2566. กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน. จาก https://tinyurl.com/mwvf7bvt
  • สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ และ อุษณีย์ ศรีจันทร์. 2565. แรงงานนอกระบบ สวัสดิการยามชราและการออม. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. จาก https://tinyurl.com/3shhbc38  
  • สมชัย จิตสุชน และ ยศ วัชระคุปต์. 2563. ผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุ. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. จาก https://tinyurl.com/4nh33j74
  • Theepakorn Jithikulchai. 2566. เอกสารนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ”. จาก https://tinyurl.com/2srj6nvx
image_pdfimage_print