กระแสความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ได้ก่อกำเนิดลัทธิใหม่ขึ้นในสังคม เติบโตและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างวงกว้าง ผสานรวมเป็นหนึ่งกับศาสนาสำคัญอย่างพุทธศาสนาของสังคมไทย ตลอดจนสังคมเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตขึ้นของลัทธิดังกล่าวจะเป็นของลัทธิอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (Cult of Wealth) ลัทธิที่สร้างปรากฏการณ์อย่างน่าสนใจกับสังคมที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อของพุทธศาสนา ประเทศที่เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนโดยส่วนใหญ่ และยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสดาคือการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
สิ่งที่สวนทางกันคือการเกิดขึ้นของความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเคียงคู่ไปพร้อมกับพุทธศาสนา ดังจะเห็นจากในยุคหนึ่งที่กระแสการบูชาองค์จตุคามรามเทพตื่นตัวขึ้น เป็นปรากฏการณ์ของสังคมที่ส่งผลกระทบถึงภาคเศรษฐกิจของประเทศ หรือการลงหมึกอาคมบนเรือนร่างในลักษณะของยันต์ห้าแถวที่แหกขนบแห่งเพศ ผู้หญิงหันมาสักยันต์อาคมเหมือนผู้ชาย กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในต่างประเทศ จนทำให้ดาราฮอลลีวูดหลายคนสนใจการลงอาคมบนเรือนร่างด้วยปลายเข็มที่จุ่มคาถาเวทมนต์ และเดินทางข้ามทวีปมายังประเทศพหุศาสนาแห่งนี้
เทวาลัยพระพิฆเนศที่บริเวณสี่แยกห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ภาพ: วิกิพีเดีย
กระทั่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ กระแสการบูชาเทพฮินดูในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครที่ทำให้ผู้คนทั่วสารทิศต่างแห่แหนเข้ามากราบไหว้บูชาโดยไม่เกี่ยงเรื่องระยะทาง อย่างไรก็ตามในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่นอกเมืองก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลใจใช้ชาวกรุง ออกเดินทางข้ามภูมิภาคไปกราบไว้สักการะเช่นกัน อย่างรูปปั้นไอ้ไข่ใน จ.นครศรีธรรมราช ป่าคำชะโนดใน จ.อุดรธานี พญาเต่างอย ใน จ.สกลนคร เหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และกลายเป็นลัทธิบูชาความมั่งคั่งของผู้คนในสังคม
พิธีบวงสรวงใหญ่ครูกายแก้วบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ภาพ: Twitter: คุณอ้อ
ล่าสุด การปรากฏขึ้นของ ครูกายแก้ว ที่กำลังเป็นที่นิยมกราบไหว้สักการะของผู้คนในลัทธิบูชาความมั่งคั่ง #ครูกายแก้ว ได้ปรากฏขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม สะท้อนถึงความสนใจของเหล่าศิษย์ที่ไม่ต่างกับการปรากฏขึ้นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ก่อนหน้า และยังสะท้อนถึงความสนใจของบุคคลนอกลัทธิที่กำลังตั้งคำถามถึงความประหลาดของสิ่งนี้
ด้วยรูปลักษณะภายนอกและประวัติความเป็นมาอันซับซ้อนของประติมากรรมชายชราร่างดำทึบ เล็บยาว ตาแดง มีปีกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางกรุง ทำให้ผู้คนในสังคมกายภาพและสังคมออนไลน์ต่างสงสัยไปพร้อมกัน ว่าแท้จริงแล้ว “ครูกายแก้ว” เป็นเทพเทวดา ผีห่าซาตาน หรือพระเจ้าผู้กลับมายุติความเลวร้ายของโลกกันแน่
ครูกายแก้วเป็นใคร
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าครูกายแก้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่าเคารพนับถือ หรือเป็นเพียงเดรัจฉานตามความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ในทางพุทธศาสนา (ด้วยรูปลักษณะภายนอกที่น่ากลัว) ที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งสถาปนาขึ้นและสอดแทรกเรื่องราวเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพศรัทธา แต่ก็มีผู้คนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามถึงที่มาของสิ่งนี้
ผู้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าครูกายแก้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเขมรโบราณ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของกลุ่มคนที่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เน้นประทานโชคลาภและการประกอบอาชีพในยามวิกาล เช่น กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพตามสถานบันเทิงในยามราตรี และผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งก็มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันว่า ครูกายแก้วนั้นเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของขอม เป็นผู้ที่มีความน่ากลัว โหดร้าย ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด
เฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อ Eager of Know แฟนเพจที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และคาถาอาคม มียอดผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งหมื่นคน ได้โพสต์อธิบายไขข้อสงสัยต่อความเป็นมาของครูกายแก้วได้อย่างน่าสนใจว่า
“ครูกายแก้ว ในนามของ “บรมครูผู้เรืองเวทย์” ผู้ประทานความร่ำรวย ความสำเร็จ และโชคลาภ เล่ากันว่า ครูกายแก้วเป็นฤาษีที่มีวิชาตบะแก่กล้าเมื่อพันปีก่อน มีวิชาอาคมเวทย์มนต์ที่เรืองเวทย์มาก บำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุอมตะ และกลายเป็นผู้ก่อตั้งสำนักกายแก้ว ซึ่งเป็นสำนักวิชาความรู้ และเวทมนตร์ชั้นสูง วันเวลาผ่านไปสังขารของท่านได้เสื่อมไปตามกาลเวลาเหมือนทุกคน แต่จิตวิญญาณที่แกร่งกล้านั้นไม่ได้สลายไปด้วย และยังมีผู้สืบต่อวิชาของท่านมาเรื่อยๆ
“ต่อมามีพระองค์หนึ่งเดินทางไปธุดงค์ปฏิบัติธรรมที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา ท่านได้เรียนวิชาอาคมของครูกายแก้วสืบมา เมื่อได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย พระองค์นั้นได้นำองค์จำลองของครูกายแก้วกลับมาด้วย โดยนำมาไว้ที่ จ.ลำปาง และเวลาต่อมาก็ได้มอบครูกายแก้วให้กับลูกศิษย์ที่ชื่อ ถวิล มิลินทจินดา เป็นผู้สืบต่อวิชา เขาเป็นนักดนตรีและเป็นครูดนตรีไทย ได้พบเจอกับพระธุดงค์ที่ลำปาง ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์สืบต่อวิชาครูกายแก้ว และได้รับรูปหล่อรอยองค์ครูกายแก้ว จากเดิมที่เป็นเพียงองค์เล็กๆ เป็นท่านั่งยองกอดเข่าและมือสองข้างจับเข่าเอาไว้ หลังจากนั้นถวิลได้มอบครูกายแก้วให้กับ สุชาติ รัตนสุข เป็นผู้สืบต่อวิชาและสร้างเทวรูปบูชาครูกายแก้วในประเทศไทย”
นี่เป็นเพียงเรื่องราวการเดินทางของครูกายแก้ว จากปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา มายังพื้นที่ จ.ลำปาง ประเทศไทย จนกลายเป็นที่ศรัทธาของผู้คนแผ่ขยายจนต้องสร้างรูปเคารพขนาดใหญ่ข้ึนมาเพื่อบูชา แต่ Eager of Know ยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า ความจริงแล้วครูกายแก้วไม่ได้เป็นฤาษีที่มีวิชาตบะแก่กล้าเมื่อพันปีก่อน มีวิชาอาคมเวทย์มนต์ที่เรืองเวทย์แต่อย่างใด แต่ความจริงของครูกายแก้วมีหลักฐานประจักษ์ชัดเจนบนจารึกที่สามารถอ้างอิงโดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และหักล้างความคิดเห็นที่ว่า ครูกายแก้วเป็นครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
“ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีแค่ครูที่ชื่อ “ศรี ชัยมังคลารถะเทวะ” หรือ “ศรี ชัยกีรติเทวะ” เท่านั้น โดยมีชื่อในหลักฐานจากจารึกของปราสาทตาพรหม ในเมืองพระนครธม และไม่มีครูที่ชื่อ “กายแก้ว” ปรากฏซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมากและไม่มีความเชื่อในไสยศาสตร์ พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปตามหัวเมืองจักรวรรดิขอมโบราณ ในจารึกระบุถึงพระพุทธรูปในเมืองที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดของไทย เช่น วัชรปุระ (เพชรบุรี) ชัยราชปุระ (ราชบุรี) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) อีกทั้งพระองค์ยังถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งให้เกิดความสำเร็จ หลักฐานเหล่านี้บ่งบอกว่าพระองค์มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นอกจากนั้นพระองค์ยังเป็นผู้สร้าง “ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “พระหมอ” หรือ “พระกริ่ง” ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่มีความเชื่อว่ามีพลังในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ประติมากรรมเสมือนจริงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภาพ: ห้องสมุดดิจิตอล ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
“จากประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ในจารึกราชครูของท่านมีเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ราชครูของกษัตริย์ทุกพระองค์ไม่ได้มีเพียงคนเดียว ครูกายแก้วอาจเป็นหนึ่งในราชครูเหล่านั้นที่มีแนวทางความเชื่อทางไสยศาสตร์ และเป็นผู้ฝึกตนที่คุณวิเศษสูง ด้วยความที่ศาสตร์แห่งไสยศาสตร์ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงไม่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ โดยปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู (พราหมณ์) จากภาพสลักหินพระพรหม พระศิวะ และ พระนารายณ์ เพียงเท่านั้น
“เรื่องนี้อาจเป็นเหตุที่ทำให้ครูกายแก้วเมื่อสิ้นกายเนื้อไปแล้ว ได้กำเนิดตามภพชาติใหม่เป็นพระพรหม ทำให้มีหน้าตาเหมือนอสูรตามที่คนไทยเข้าใจผิดกันมา แต่ที่แท้จริงครูกายแก้วคือ “รากษส” หรือ “พรหมรากษส” ซึ่งหมายถึงพราหมณ์ที่ประกอบกรรมชั่ว นำความรู้ไปใช้ในทางที่ไม่สมควร ไม่ยอมสอนวิชาให้กับศิษย์ที่คู่ควร หรือการละเมิดหน้าที่บางอย่างของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์ผู้นั้นต้องไปเกิดใหม่เป็น “พรหมรากษส”
“ซึ่งพรหมรากษส จะมีทั้งความเป็นพราหมณ์ และรากษสในตัว มีความรู้ขั้นสูงแบบพราหมณ์ ความรู้ในคัมภีร์พระเวท คัมภีร์ไสยเวท คัมภีร์อาถรรพ์เวท และคัมภีร์ปุราณะ แต่ยังคงมีโทสะ โมหะ ดุร้าย กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร ตามตำนานของชาวฮินดูเชื่อว่า พรหมรากษสเป็นรากษสที่มีพลังอำนาจมาก น้อยคนนักที่จะสามารถต่อสู้เอาชนะ หรือปลดปล่อยพวกเขาจากสภาวะของการเป็นพรหมรากษสได้”
“พรหมรากษส” ภาพ: ไกด์โอ พาเที่ยว
จากข้อมูลความเป็นมาของครูกายแก้ว ทั้งจากกลุ่มคนที่ศรัทธาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และข้อมูลของ Eager of Know ที่ชี้ให้เห็นถึงการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยและประวัติความเป็นมาที่มีหลักฐานจารึกทางประวัติศาสตร์ชัดเจน ประกอบกับจำนวนของผู้ศรัทธาที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน สิ่งนี้ได้นำไปสู่การเกิดข้อถกเถียงในวงวิชาการและผู้รู้ ที่ออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ขณะนี้
แง่มุมทางวิชาการต่อปรากฏการณ์ครูกายแก้ว
คนหนอคน สัปดน เหลือเกินนั่น ไหว้ซาตาน คิดว่าเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ ต่างลุ่มหลง ไม่ยั้งคิด บ้างหนอใจ บวงสรวงไหว้ ด้วยศรัทธา ที่งมงาย
วันเวลา ที่หมุนเวียน ใจคนเปลี่ยน มิตักเตือน ใจของตน ยับยั้งไว้ มิไตร่ตรอง สิ่งบูชา ที่กราบไหว้ คืออะไร ไม่ตระหนัก สักนิดเดียว
ครูกายแก้ว ท่านเป็นเทพ หรือซาตาน ในตำนาน ไม่มีบอก เป็นแบบไหน มีทั้งเขี้ยว มีทั้งปีก ไม่เข้าใจ คืออะไร เทพหรือมาร ช่วยขานที
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีมากมาย ไม่กราบไหว้ กลับงมง่าย ไหว้อะไร ก็ไม่รู้ พอเห็นแล้ว ทั้งสงสาร แลหดหู่ อยากจะรู้ เกิดอะไร กับใจคน
ไม่ต้องเพ่ง ดูยังไง ไม่ใช่เทพ ลองสังเกต ตั้งสติ อย่าสับสน สิ่งกราบไหว้ คืออะไร ถามใจตน ได้เป็นคน แต่ไหว้ผี ไม่ดีเลย
พระเสถียร สุธฺมโม
นี่เป็นคำความคิดเห็นของ พระเสถียร สุธฺมโม พระภิกษุจากวัดดสมนัส อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ระบุผ่านข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า เสถียร สุธฺมโม จุรัมย์ หากแปลความจากคำประพันธ์ข้างต้น สามารถแปลความได้ว่า วันเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลง การกราบไหว้ครูกายแก้วควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ด้วยรูปลักษณะภายนอกที่น่ากลัว เหตุใดจึงกล้ากราบไว้บูชากัน
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NationTV ถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ครูกายแก้ว โดยอธิบายว่า
“หากวิเคราะห์ถึงมุมมองของสังคมไทยที่มัก ข้ามข้อเท็จจริง เมื่อสิ่งนั้นถูกเรียกว่า ความเชื่อ นำไปสู่คำถามสำคัญว่าทำไมอยู่ๆ จึงเกิดปรากฏการณ์ในทำนองนี้ในช่วงเวลานี้ ถึงครูกายแก้วไม่ได้เป็นเทพ ไม่ใช่ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่ได้สลักสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถ้าอ้างอิงว่ามาจากภาพสลักที่นครวัด แท้จริงก็มีสถานะเป็นท้าวพาณอสูรเท่านั้นก็ตาม
“แต่สังคมไทยที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นเรื่องความเชื่อแล้วก็มักจะข้ามข้อเท็จจริงไป เพราะบางอย่างถ้าคลุมเครือจะช่วยให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเพราะมีความลึกลับที่ซ่อนอยู่ เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ คือปรากฏการณ์ จตุคามรามเทพ ปรากฏการณ์ความเชื่อพวกนี้มักเกิดในช่วงที่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ หรือในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่คนในสังคมรู้สึกขาดหลักประกันความมั่นคง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูกายแก้วจึงกลายเป็นกระแสในสังคมได้
“ก่อนหน้านี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนัก จากนักประวัติศาสตร์ ที่ออกมาอ้างอิงหลักฐานศิลาจารึก ที่ใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีแค่บุคคลที่ชื่อ “ศรี ชัยมังคลารถะเทวะ” และ “ศรี ชัยกีรติเทวะ” ปรากฎชื่อจารึกปราสาทตาพรหม ในเมืองพระนครธม และไม่เคยมีบุคคลที่ “กายแก้ว” และนอกจากนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังทรงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่มีหลักฐานระบุว่า ทรงมีความเชื่อในไสยศาสตร์ ที่มีครูเป็นบุคคลรูปร่างเป็นอมนุษย์ อย่างครูกายแก้ว แต่อย่างใด”
น่าสนใจที่คำอธิบายของพิพัฒน์ ได้อ้างถึงเหตุแห่งปัจจัยอันมีที่มาจากความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ จนทำให้ผู้คนในสังคมหันไปยอมรับนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ แม้จะมีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ แต่ผู้คนก็มองข้ามข้อเท็จจริงเมื่อสิ่งนั้นกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาในที่สุด
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาพ: theactive.net
ส่วน ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราจารย์พิเศษจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์ครูกายแก้ว ผ่านการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า
“ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ปรากฏข่าวเรื่อง ครูกายแก้ว ว่าเป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่าครูกายแก้วนี้เป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอนเล่าลือกันมาจากที่ไหน
“ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ผมยังนึกไม่ออกว่าการไปบูชารูปปั้นอย่างนี้จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ”
จากความเห็นของธงทอง ที่พูดถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ครูกายแก้วนั้น สะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาของปัจเจกบุคคล เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฏหมาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเคารพนับถือกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ตนปรารถนา และการเคารพศรัทธาต่อครูกายแก้วยังสามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับสูง สอดคล้องกับคำอธิบายของพิพัฒน์ ที่ว่า เหตุแห่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ อันมีผลมาจากความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
ธงทอง จันทรางศุ ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์
ด้าน เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า
“กรณี “ครูกายแก้ว” ที่มีการอ้างว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ว่า ที่แท้ กายแก้ว มาจาก การ์กอยส์ แปลกแต่จริงที่มีคนหลงเชื่องมงายได้เพียงนี้ โดยไม่ไปศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด จึงอาจกลายเป็นเหยื่อถูกล่อลวง มอมเมาเข้าสู่ความมีอคติต่อความเชื่อความดีในทางศาสนา
“กายแก้วอาจมีที่มาคือการ์กอยส์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งอมนุษย์ – มังกร ที่ปกปักษ์รักษาผู้คนตามความเชื่อของชาวยุโรป เป็นเครื่องประดับอาคารสถานต่างๆ บริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส แน่นอนว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชกัมพูชาในอดีต และย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยที่พยายามทำรูปลักษณ์ให้เป็นยักษามีปีก”
ความเห็นที่แตกต่างที่มีต่อครูกายแก้ว เทพมนตรีเชื่อว่า “กายแก้ว” มีที่มาจาก “การ์กอยส์” ซึ่งเป็นประติมากรรมที่มักปรากฏตามอาคารสถานหรือบริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำของชาวตะวันตกเพียงเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามคติความเชื้อที่มาจากกษัตริย์และเทพเจ้าจากดินแดนตะวันออก
เทพมนตรี ลิมปพยอม ภาพ: ไทยโพสต์
อธิบายปรากฏการณ์ผ่านทฤษฎีปรากฏการณ์นิยม
หลากหลายความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้ศรัทธาต่อครูกายแก้ว ถือเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนในสังคมมักจะมีที่พึ่งทางใจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกหรือระดับสังคม เมื่อเกิดความไม่สบายใจหรือต้องการที่พึ่งพาในสถานการณ์ที่ไม่เป็นปกติของสังคม ผู้คนต่างเข้าหาบางสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพศรัทธาอย่างต่อเนื่องโดยมองข้ามที่มาและข้อเท็จจริงของสิ่งนั้น
เช่นเดียวกับกรณีของ “ครูกายแก้ว” ไม่ว่าจะถูกอธิบายด้วยเหตุผลและหลักการใด คงไม่เป็นที่สำคัญต่อการตัดสินใจกราบไหว้ของเหล่าผู้ศรัทธาหรือผู้คนในลัทธิบูชาความมั่งคั่งดังที่กล่าวไปในตอนต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ที่ส่งผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น สามารถอธิบายให้เข้าใจผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า ทฤษฎีปรากฏการณ์นิยม
นักทฤษฎีชาวเยอรมันที่ชื่อ Alfred Schutz ได้อธิบายแนวคิดสำคัญของทฤษฎีปรากฏการณ์นิยมนี้ว่า เป็นทฤษฎีที่อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ ลักษณะสำคัญของมนุษย์ คือการเป็นนักสร้างสรรค์หรือเป็นผู้สร้าง เป็นผู้มีความคิดความอ่าน เป็นผู้กระทำการสร้างสรรค์งานต่างๆ ขึ้นมา และทฤษฎีปรากฎการณ์นิยมยังอธิบายธรรมชาติของสังคมว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างสังคมขึ้น โดยการที่มนุษย์มีการกระทำระหว่างกันในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในแง่หนึ่ง (ปรากฏการณ์นิยม) สังคมมนุษย์ก็คือกลุ่มสถาบันที่มนุษย์ที่มีการกระทำระหว่างกันให้ความหมายและสร้างสรรค์ขึ้น เช่นเดียวกับระบบความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคม ก็ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์เช่นกัน
การกระทำการทางความเชื่อยังคงสืบเนื่องเรื่อยมาผ่านยุคสมัยที่ผันผ่าน มนุษย์ยังคงสร้างสรรค์ระบบความเชื่อขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเลื่อนไหลกระจายตัวระหว่างสังคม เช่น เดิมที่สังคมไทยมีความเชื่อในศาสนาผี ที่เป็นรากความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคหนึ่งที่ศาสนาพุทธและพราหมณ์จากประเทศอินเดียขยายอิทธิพลมยังพื้นที่แห่งนี้ ทำให้ระบบความเชื่อทางศาสนาของผู้คนเปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงปรากฏการนับถือผีแบบระบบความเชื่อเดิมของผู้คนบางกลุ่ม
แต่ในปัจจุบันที่ พุทธ พราหมณ์ ผี ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในฐานะระบบความเชื่อทางศาสนาของสังคมยุคใหม่ ทั้งสามศาสนาถูกทำให้เกี่ยวเนื่องกันผ่านการกระทำของมนุษย์ ที่ถ้าทายต่อระบบความเชื่อที่มีเพียงหนึ่งแบบเดิม
รูปสักการะ “ครูกายแก้ว” ภาพ: มติชนออนไลน์
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อธิบายว่า นักคิดจากฝั่งตะวันตกอย่าง Max Weber นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจไว้ว่า “ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การขยายตัวของ สภาวะสมัยใหม่ Modernity และระบบทุนนิยมนำมาสู่การขยายตัวในการใช้เหตุใช้ผลของมนุษย์จนนำไปสู่ กระบวนการถอนความศักดิ์สิทธิ์ออกจากโลก The Disenchantment of The World คือการเบียดขับให้พฤติกรรมที่ไร้เหตุผล หลงอยู่กับความเชื่องมงายต่างๆ ให้หมดที่หมดทางในสังคม”
ซึ่งขัดต่อกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่ความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิบูชาความมั่งคั่ง เป็นผลมาจากการขยายตัวของโลกสมัยใหม่ภายใต้กำกับของสภาวะสมัยใหม่และทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้แค่ลบล้างถอดถอนความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิมไป แต่กลับสร้างความเชื่อความศักดิ์สิทธิแบบใหม่ไปพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ในโลกของทุนนิยม
อรรถสิทธิ์ยังอธิบายต่ออีกว่า การเติบโตของลัทธิดังกล่าว เริ่มจากการลดบทบาทในการควบคุมพุทธศาสนาของรัฐในช่วงทศววรษที่ 2520 อันเป็นผลจากชัยชนะของทางการในสงครามกลางเมืองกับ พคท. ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยุทธวิธีของการรวมศูนย์และผูกขาดความเป็นไทยทางวัฒนธรรมเหมือนในสมัยก่อนหน้า พร้อมๆ กับการส่งเสริมวัฒนธรรมชาวบ้าน ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่อยู่ภายใต้กำกับของวัฒนธรรมไทย ส่งผลให้ลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งงมงายเริ่มมีที่ทางในการนำเสนอตัวเองมากขึ้น
ทว่า ถ้าการลดบทบาทในการควบคุมศาสนาของรัฐคือจุดเริ่มต้นของลัทธิบูชาความมั่งคั่ง การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของวิถีชีวิตแบบทุนนิยมตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 ไล่ไปจนตลอดทศวรรษที่ 2530 ก็คือตัวแปรที่กระตุ้นให้ลัทธิบูชาความมั่งคั่งสามารถลงหลักปักฐานในกระแส วัฒนธรรมประชานิยม Pop Culture ของไทยอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับกระแสวัฒนธรรมความเชื่อศรัทธาที่มีเรื่อยมาไม่เพียงแต่ครูกายแก้วที่เป็นที่พูดถึง ณ ขณะนี้