ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพองร่วมกับนักวิชาการได้เข้าหารือกับเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเพื่อฟื้นฟูบึงโจดเน่าเสียและมีสารโลหะหนักปนเปื้อนที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีตัวแทนเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สวาท อุปฮาด เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ฯ กล่าวว่าถึงการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูที่เวลานานถึง 40 ปีว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่อาจเป็นปัญหาเชิงระบบหมายถึงการดำเนินโครงการที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่เข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

“อยากเห็นความโปร่งใสในการทำโครงการเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาว่า จะทำอย่างไร ใครเป็นคนมีส่วนได้เสีย คนพื้นที่มีส่วนร่วมหรือไม่ แต่ที่ผ่านมามันไม่มี เราในฐานะที่จะได้รับทั้งผลกระทบและการพัฒนาในอนาคตเราก็อยากมีส่วนนะครับ ถ้ากรณีที่มันดำเนินโครงการแล้วทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกันรับรองว่าปัญหาจะไม่เกิด” สวาท กล่าว

ขณะที่ เตือนใจ ดุลชบาจินดา นักวิชาการอิสระ กล่าวในที่ประชุม

สาเหตุที่มีสารโลหะหนักปนเปื้อนในแหล่งดินและแหล่งน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปล่อยน้ำจากการผลิตลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของธรรมชาติ

“โรงงานอุตสาหกรรมควรมีนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้อย่างตรงจุด

หน่วยงานที่เป็นแหล่งหลักของสารเคมี หรือ สารโลหะหนัก เราคิดว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลักที่มีสารโลหะหนักปนเปื้อนระดับสูง ถ้าอุตสาหกรรมอยู่มานานมากกว่า 40 ปี สารสะสมที่อยู่ในแหล่งน้ำที่ใช้ด้วยกันมันต้องมี มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาเงินภาษีราษฎรจากกรมชลประทานมาล้างทำความสะอาดสิ่งที่มันหมักหมม โดยที่อุตสาหกรรมหลักที่ใช้แหล่งน้ำนั้นไม่มามีส่วนรับผิดชอบบ้าง ในส่วนงบประมาณนี้”นักวิชาการอิสระ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.พรณรงค์ ชานุวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยในโครงการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศบึงโจด ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ธรรมชาติไม่สามารถบำบัดตัวเองเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งแตกต่างจากแหล่งน้ำทั่วไป พื้นที่รอบบึงโจดเกือบจะทั้งหมดไม่ควรทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ควรจะเป็นเกษตรที่ผสมผสานและมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้พื้นที่สามารถจัดการตัวเองได

ขณะที่ เชิดชัย ข้อยุ่น ปลัดเทศบาลกุดน้ำใส กล่าวถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียของโครงการขุดลอกบึงโจดว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายก มีการประกาศเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 รวมถึงประชาชนในพื้นที่

โดยมีมติ 6 ข้อ ดังนี้ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการขุดลอกบึงโจดโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด 2) ผู้ที่จะดำเนินการขุดลอกบึงโจดต้องดำเนินการภายใต้ความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสารปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดิน 3) ให้โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาหนองหวายและเทศบาลกุดน้ำใสเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามควบคุมคุณภาพน้ำ คุณภาพดิน 4) มีการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนและบุตรหลานในพื้นที่เข้าใจสามารถป้องกันตนเองจากสารพิษตกค้าง 5) ให้ตรวจสารพิษในสัตว์น้ำในบึงโจดเพื่อเฝ้าระวังต่อประชาชนผู้บริโภค และ 6) ให้ขุดลอกโดยป้องกันไม่ให้ตะกอนดินกระจายลงสู่ลำน้ำพองและไม่ให้นำดินออกจากพื้นที่

“กรมชลประทานได้จัดทำประชาพิจารณ์ไปหนึ่งครั้ง แต่เนื่องจากว่าตอนนั้นเราไม่ได้ทำตามระเบียบ กรมชลประทานก็เลยแจ้งว่าให้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายก โดยให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นจึงจะมีการจัดทำอีกครั้ง”

ทั้งนี้ไม่มีคำชี้แจงจากผู้แทนจากโรงงานอุตสาหกรรมถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด

image_pdfimage_print