หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ สิ่งที่หลายคนพูดถึงและตั้งตารอคอยคือ เรื่องของ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลักของพรรคเพื่อไทย จากการที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ประกาศผ่านสื่อมวลชนว่าจะเดินหน้านโยบายทันที หลังจากป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) มีเงื่อนไขให้คนไทยทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ในครั้งเดียวจำนวนเงิน 10,000 บาท ใช้จ่ายในระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ต้องลงทะเบียน ใช้เงินผ่านระบบที่ผูกกับบัตรประจำตัวประชาชน และใช้จ่ายกับร้านค่าในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ มีเพียงผู้ประกอบการร้านค้าที่สามารถขึ้นเงินได้ โดยใช้งบประมาณรวม 560,000 ล้านบาท จากภาษีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาษีจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และจากการจัดสรรงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ

“ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงนโยบายจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เงินหมื่นหนึ่ง จะเกิดการรวมเงินในครอบครัว เปลี่ยนจากการกระตุ้นเพียงการบริโภคเป็นการกระตุ้นการลงทุน ที่ต่อเนื่องและสร้างรายได้ เรื่องระบบไม่น่าห่วงเพราะมั่นใจว่าทำทัน” เผ่าภูมิกล่าว เนื่องจากการตั้งรัฐบาลงานมีผลเรื่องช่วงเวลาจึงทำให้เพื่อไทยมีกำหนดการว่าจะทำให้ได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า 

อีกทั้ง เผ่าภูมิเคยได้ให้สัมภาษณ์ในรายการของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จินดาว่า ดิจิทัล วอลเล็ต จะใช้ Programable money ซึ่งนำมาใช้ในเงื่อนไขการจำกัดระยะทาง แต่อาจจะขึ้นอยู่กับบางภูมิลำเนาที่มีระยะห่างเกินไปอาจขยายรัศมีกิโลเมตร

อีกทั้งเผ่าภูมิให้คำตอบเรื่องการนำเทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) มาใช้ร่วมด้วย เพราะสามารถกำหนดระยะทางและกำหนดระยะเวลาได้ 

“วัตถุประสงค์คือ เป็นเทคโนโลยีรองรับการชำระแบบรูปแบบใหม่ที่รองรับในอนาคต เหตุผลคือสามารถเขียนเงื่อนไขได้ สร้างมาตการการคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้จ่ายในเมืองรอง เราสามารถเขียนให้เป็นเงินหลักหนึ่ง แต่นำมาใช้ในเมืองหลักไม่ได้ ใช้ได้เพียงหลักหนึ่ง” เผ่าภูมิ โรจนสกุล

ล่าสุด จากกรณีที่ 9arm หรือ ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล ยูทูบเบอร์ด้านไอทีชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ส่วนตัวว่า “ผมจะหาแผนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของเพื่อไทยแบบละเอียดได้จากไหนบ้างครับ? พวกเทคนิคที่ใช้ หลักการ implement ทางเทคโนโลยี อันนี้สนใจจริงจัง” ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ณ ขณะนั้นเข้ามาตอบว่า จะให้ทีมงานพรรคเพื่อไทยติดต่อไป แต่จากสถานการณ์ช่วงจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย ทำให้ทางนายอาร์มยังไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเรื่องนี้ แต่อย่างที่ทราบกันว่า วานนี้มีการโปรดเกล้าฯ ให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว นโยบายที่ได้รับการจับตามองมาตลอดตั้งแต่การหาเสียง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

เพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้ เราคุยกับ โดม เจริญยศ ซีอีโอสายไอทีชาวขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง Tokenine ที่ให้บริการด้าน Tokenization และ Blockchain Solution และบริษัท โดมคลาวด์ จำกัด (DomeCloud) บริษัท Software House ที่ให้บริการด้าน IT Solutions ประธานกรรมการของ Thaichain มูลนิธิด้านบล็อกเชน  ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง The Isaan Record โดยให้ความคิดเห็นว่าบล็อกเชนอาจจะไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต

บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร

บล็อกเชน (Blockchain) เป็นกลไกฐานข้อมูลขั้นสูงที่มันออกแบบมาเพื่อความโปร่งใส โดยฐานข้อมูลบล็อกเชนจะจัดเก็บข้อมูลในบล็อกที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่

“แม้ว่าความโปร่งใสคืออาวุธหลัก แต่มันไม่ได้ปลอดภัย ไม่ได้มีการเข้ารหัส หลักการคือทำให้ฐานข้อมูลที่เขียนลงไปแก้ไขได้ยาก วิธีการง่ายๆ คือ มันออกแบบข้อมูลออกมาเป็นบล็อกๆ หมายถึงปกติเวลาเราทำธุรกรรม โอนเงินฝั่ง Server เขียนข้อมูลอะไรเข้าไประบบเดิมที่เคยทำ จะเขียนเป็นรายการ ขั้นๆ ไป แต่บล็อกเชนจะใช้เวลาเป็นตัวกำหนด (Block time) เช่น พอครบ 15 วินาที มันก็จะเขียน 1 บล็อก ถ้าเกิดไม่มีคนทำรายการใดๆ เลย มันก็จะเขียนบล็อกเปล่าๆ หนึ่งบล็อก ถ้ามีคนมาเขียนเยอะๆ มันก็จะตัดมาเป็นบล็อกๆ พอมันรู้ว่าบล็อกมีข้อมูลเท่าไหร่ มันจะคำนวณหาสิ่งที่เรียกว่า Hash (ค่าคงที่ของบล็อกนั้น) ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ 

“พอเขียน Hash ก็จะรู้ว่าบล็อกนี้ไม่มีใครเปลี่ยนได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ค่าคงที่มันจะเปลี่ยน แสดงว่ามีการแก้ไข พอมันออกแบบเป็นบล็อก ก็เอาบล็อกมาต่อกันเพื่อไม่ให้ใครสามารถแทรกข้อมูลได้ 

“ความเก่งอีกอย่างอยู่ตรงที่ว่ามันสร้างระบบที่คนทุกคนเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมา แล้วสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ที่เรียกว่า public blockchain เป็นข้อมูลที่ทุกคนซิงก์เหมือนกันทั้งโลก ข้อมูลก็ถูกเก็บรักษาไว้”

ข้อจำกัดของบล็อกเชน (Blockchain) 

แม้ว่าจุดเด่นของบล็อกเชนคือความโปร่งใส แต่โดมกล่าวว่า ข้อจำกัดของระบบนี้คือ ‘ความเร็ว’

“ระบบบล็อกเชน ด้วยทางทางแบบนั้นของมัน จะไม่เหมือนแอพฯ เป๋าตังที่โอนเงินแล้วถึงเลย เวลาเราพูดถึงความเร็วข้อมูลสูงๆ เราจะเรียกว่า Transaction per Second เช่น พร้อมเพย์ที่โอนทั้งประเทศ (ใช้ 5,000 per second) เราจะรู้ว่ามันรับได้มากหรือน้อย จากการที่ทุกคนทำธุรกรรมพร้อมกันได้กี่คนต่อวินาที ซึ่งบล็อกเชนมันต่ำมากจนกระทั่งไม่น่าจะรองรับโครงการแบบดิจิทัลวอลเล็ตได้ 

“ยกตัวอย่างเป๋าตัง เราเคยคุยกับทีมว่าต้องทำประมาณ 8,000 Transaction per Second ต่อวินาที ต้องทำได้ 8,000 ถึงจะสามารถรองรับธุรกรรมแบบที่เป๋าตังทำอยู่ได้ ในขณะที่ บล็อกเชยยังอยู่หลักร้อยอยู่เลย ไม่เกินพัน พอจะเอามาทำระบบดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะรองรับงานหนักขนาดนี้ ผมมีความกังวลและสงสัยว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ 

“บล็อกเชนมันยังไม่เร็วขนาดนั้น 3-4 ปีข้างหน้าอาจมีโปรแกรมใหม่  บล็อกเชนใหม่ขึ้นมาที่เร็วขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ ถ้าหากทำธุรกรรมพร้อมกันอาจจะช้า ซึ่งทางเพื่อไทยอาจจะมีวิธีบางอย่าง ซึ่งยังไม่ได้คุยกับเรา”

ทำไมต้องบล็อกเชน (Blockchain)

“ข้อดี คือ ระบบอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีตไม่ว่าจะเป็น Facebook หรืออะไรต่างๆ ที่มีฐานข้อมูลปกติ เราต้องสร้างยูสเซอร์ก่อน หมายความว่าเราต้องลงทะเบียน สร้างรหัสผ่าน แล้วก็ล็อคอินเข้าไปใช้งานเพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นใคร มีตัวตน แต่บล็อกเชน กำเนิดวันแรกขึ้นมาไม่สร้างระบบนี้เลย ผลักให้ยูเซอร์สร้าง Private key ขึ้นมาเอง แล้วทำธุรกรรมเอง ไม่ต้องบอกรหัสผ่านให้กับตรงกลาง เท่ากับว่า อย่างพวกบิตคอยน์ ไม่ต้องจับรหัสผ่านใครและไม่สามารถทำธุรกรรมแทนใครได้เลย แต่เวลาเจ้าของบัญชีทำธุรกรรม ระบบจะรู้ว่าถูกต้อง เรียกว่า PKI หรือ Public Private Key 

“มันทำให้เห็นว่าไม่มีใครสอมรอยเป็นเราได้ ถ้าคีย์เราไม่หลุดไปให้ใคร ส่วนกลางก็ไม่สามารถโอนของใครได้ ซึ่งต่างจากระบบธุรกรรมปกติ คือ ส่วนกลางสามารถทำแทนเราได้ โยกเงินเราได้ เพราะถือรหัสเรา ส่วนบล็อกเชนถ้าคีย์เราหายเงินก็หายไป

“ซึ่งในกรณีดิจิทัลวอลเล็ต ผมเดาว่าเขาคงให้ระบบถือไพรเวทคีย์อยู่ดี เขาคงไม่ให้ยูสเซอร์สร้างเองเก็บเอง อาจจะคล้ายแอพลิเคชั่นปกติ ซึ่งฟีเจอร์นี้อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์บนดิจิทัลวอลเล็ต”

โดม เจริญยศ ยังกล่าวเพิ่มว่า ในเทคนิคการทำแอพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับระบบการเงิน บล็อกเชนดีที่สุด เพราะไม่สามารถสวมรอยทำธุรกรรมได้ อีกทั้งไม่สามารถสร้างเสกเงินในระบบได้ 

“ผมว่าเพื่อไทยเขาอาจจะมองเรื่องนี้ ว่าบล็อกเชนสร้างเขียนโปรแกรมสร้างเงื่อนไขได้ เช่น สร้างเงื่อนไขกำหนดระยะทางในการใช้งาน มันก็ฟังดูดีนะ แต่อาจจะไม่ได้เหมาะกับบล็อกเชนเท่าไหร่ เพราะว่าบล็อกเชนเหมาะกับ เช่น เงื่อนไขพวกอัตราแลกเปลี่ยน สมมติ โอน 1 เหรียญได้ 10 เหรียญ แต่ว่าการเอาเงื่อนไขข้างนอกตัวเชน เช่น เรื่องระยะทาง 4 กิโลเมตร มันอาจจะไม่ได้เก่ง อาจจะช้าลงด้วยซ้ำ ว่าระยะนี้คือระยะ 4 กิโลเมตร จริงไหม ซึ่งเรื่องนี้อาจมีทางแก้ แต่คิดว่าอาจไม่ได้เหมาะกับบล็อกเชน”

บล็อกเชนกับนโยบายทางการเมือง

โดม เจริญยศ กล่าวว่า บล็อกเชนเกิดช่วงบิตคอยปี 2009 แต่การนำมาใช้ในสถานการณ์ทั่วไป ช่วงปี 2019 ในระบบไฟแนนซ์ มีความพยายามที่จะใช้ในด้านเกษตรกรรมและโลจิสติก แต่ยังไม่เหมาะเท่าไหร่จากการทำการทดลองกับสินค้าเกษตร แต่มาเติบโตช่วงปี 2019 ในด้านการเงิน และเคยมีความคิดจากพรรคก้าวไกล เรื่องการทำประชามติ ต่างจากการกรอกข้อมูลใน change.org ที่บล็อกเชนไม่สามารถสวมรอยกันได้ 

“ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่เหมาะกับการกำหนดเงื่อนไขในดิจิทัล วอลเล็ตเรื่องกำหนดระยะทาง ในความเป็นจริงมันเอามาทำเป็น Network Payments ของประเทศบางระบบได้ เพราะข้อดีที่โปร่งใสและตัวบล็อกเชนให้เราเข้าถึงได้ทั้งหมด แม้กระทั่งการทำ Food Delivery สามารถแบ่งเงินได้ทันที”

อยากฝากอะไรถึงทีมออกแบบดิจิทัล วอลเล็ต

“ผมอยากรู้ว่าเทคโนโลยีเรื่องนี้ทีมไหนทำ และเคยทำอะไรเกี่ยวกับบล็อกเชนมาก่อน ถึงอยากจะทำสิ่งนี้กับบล็อกเชน ผมลองดีไซน์ดูแล้วมันอาจจะทำได้ แต่ทำยาก มันอาจจะตลกมากกับจำนวนคน 70 ล้านคนที่จะใช้งานพร้อมกัน จากการสร้างเงื่อนไขตำแหน่งบ้าน จำนวนร้านค้า และข้อกำหนดปัญหาการโอนหากันไม่ได้ มันดูจะวุ่นวายมาก ในแง่ของการออกแบบจำนวน 20 กว่าบล็อกเชน คุณจะมาสร้างบล็อกเชน 20 ตัวเพื่อแก้ปัญหาเล็กน้อย มันไร้สาระมาก” 

image_pdfimage_print