นายก อบต.เกษตรวิสัย สั่งปลด 2 รองนายกฯ และเลขานายกฯ โดยไม่แจ้งความผิด หลังกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเกษตรวิสัยลุกฮือปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ตำบลเกษตรวิสัยทันที

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 นายพลกฤต อินทร์โท่โล่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย ได้ออกคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย ที่ 222/2566 เรื่อง ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยพ้นจากตำแหน่ง คำสั่งที่ 223/2566 เรื่อง ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยพ้นจากตำแหน่ง และคำสั่งที่ 224/2566 เรื่อง ให้เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยพ้นจากตำแหน่ง ส่งผลให้นายอิสระ ศรีวงษ์ รองนายกองค์การบริหารตำบลเกษตรวิสัย คนที่ 1 นายบุญเพ็ง ชมภู รองนายกองค์การบริหารตำบลเกษตรวิสัย คนที่ 2 และนายเขียน ชนะดี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 64/1(2) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) หลังจากชาวบ้านเกษตรวิสัยลุกฮือคัดค้านโครงการกำจัดขยะมูลฝอยผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย ที่หอประชุมโรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ ต.เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

นายอิสระ ศรีวงษ์ รองนายกองค์การบริหารตำบลเกษตรวิสัย อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยที่ทำงาน อบต.เกษตรวิสัย มากว่า 20 ปี ก่อนมารับหน้าที่ รองนายก อบต. ตั้งข้อสังเกตว่าการออกคำสั่งปลดตนเองในครั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุจากที่ตนเอง รวมทั้งรองนายกและเลขานายกไม่เห็นด้วยกับการผลักดันโรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้นจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะใกล้ชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะ กระทั่งทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังควาคิดเห็นในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่หอประชุมโรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ โดยในวันดังกล่าวมีการประชุมสภาตำบลเกษตรวิสัยด้วยเช่นกัน ซึ่งปรากฏว่าในวันนั้น ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ตำบลเกษตรวิสัยกว่า 1,000 คน ได้เดินทางมาคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและได้ขอให้สภา อบต.เกษตรวิสัย มีมติยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งตนได้ทราบในภายหลังว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยได้มีคำสั่งปลดตนเองและพวกทันทีเช่นกัน โดยไม่ได้แจ้งฐานความผิด ซึ่งตนเองไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ และไม่ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กระทั่งไม่เคยมีการเรียกสอบสวนหรือตั้งกรรมการตรวจสอบมาก่อน นายอิสระจึงเห็นว่าการออกคำสั่งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยากขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

บุญเพ็ง ชมภู (ซ้ายสุด) อิสระ ศรีวงษ์ (กลาง) และ เขียน ชนะดี (ขวาสุด)

ด้านนาย นายบุญเพ็ง ชมภู รองนายกองค์การบริหารตำบลเกษตรวิสัย คนที่ 2 อดีตกำนันตำบลเกษตรวิสัย ได้แสดงถึงความกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ตำบลเกษตรวิสัย ในฐานะรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัยจึงพยายามสอบถามข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้คนในชุมชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งนายบุญเพ็งยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพื่อรักษาประโยชน์ให้กับชุมชน พร้อมกับได้นำหนังสือบัญชีลงเวลาการปฏิบัติงานคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารองนายกฯ และเลขานายกฯ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น นายบุญเพ็งจึงเห็นว่าคำสั่งปลดฝ่ายบริหาร 3 ตำแหน่งของนายก อบต.เกษตรวิสัย เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม

ส่วนนายเขียน ชนะดี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกษตรวิสัย ได้กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบว่าตนเองและรองนายกฯ ทั้งสองท่านถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ชาวบ้านเกษตรวิสัยลุกฮือขึ้นมาคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะ และขอให้ นายก อบต.เกษตรวิสัย ยกเลิกโครงการดังกล่าวเพราะชาวบ้านไม่ต้องการนั้น คาดว่าคำสั่งปลดตนเองนั้น น่าจะเกิดจากที่ตนเองไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ และนำข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะไปให้ชาวบ้าน อีกทั้งวันที่ชาวบ้านออกมาแสดงตัวคัดค้านโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนตนเองได้ออกมารับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ทั้งในฐานะคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ทำงานรับใช้ประชาชน 

นายเขียน ชนะดี ชี้แจงอีกว่า นายก อบต.เกษตรวิสัย ได้เริ่มศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในเดือนสิงหาคม 2565 ในฐานะเลขานายกฯ จึงพยายามศึกษาข้อมูลผลกระทบจากโครการโรงไฟฟ้าขยะทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งก็พบว่าหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะใกล้ชุมชน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทั้งน้ำเสีย ของเสียจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าขยะ อีกทั้งกังวลว่าการนำขยะปริมาณมากเข้ามาป้อนโรงงานไฟฟ้าจะทำให้เกษตรวิสัยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะ ซึ่งคนเกษตรวิสัยไม่ต้องการ จึงนำข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะไปสื่อสารกับคนในชุมชน โดยหวังว่าชาวบ้านจะมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจเพราะกลุ่มที่มาให้ข้อมูลเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะให้ข้อมูลด้านที่เป็นผลดีเท่านั้น ผลเสียไม่ได้บอกชาวบ้าน จึงเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชน แต่นายก อบต.เกษตรวิสัย กลับมีคำสั่งปลดตนเอง แม้จะต้องถูกปลดจากตำแหน่ง แต่นายเขียนยืนยันว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้ให้ข้อมูลพี่น้องชาวบ้าน เพื่อร่วมปกป้องชุมชนากการคุกคามของโรงไฟฟ้าขยะ

ป้ายต่อต้านโรงไฟ้าขยะที่พบระหว่างทาง

ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน ได้แจ้งสิทธิต่อนักปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการอันใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 วรรคสอง ระบุ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ซึ่งนักปกป้องสิทธิทั้ง 3 คน ในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบการแสดงความเนต่อโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนย่อมเป็นสิทธิที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น การให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรม ส่วนกรณีที่ทั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง หากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิที่ลุกมาปกป้องชุมชนก็สามารถส่งเรืองร้อเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน

image_pdfimage_print