ปี 2566 ท่ามกลางการพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่หนี้คนไทยยังคงพุ่งสูง หนี้สินครัวเรือนของครัวเรือนอีสานมีมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งหมดในประเทศ
คำกล่าวข้างต้นเป็นเพียงยอดของจอมปลวกเท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 -2566 อัตราการก่อหนี้ของชาวอีสานเพิ่มมากถึงร้อยละ 50 จากอัตราปกติ ทำให้ลูกหนี้บางรายแม้อายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังใช้หนี้ได้ไม่หมด ซึ่งยิ่งสร้างความเสี่ยงในการส่งต่อวงจรหนี้ไปยังลูกหลานรุ่นต่อไปโดยเฉพาะชาวอีสานที่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร เนื่องจากวิกฤติภัยแล้งกำลังโจมตีทั้งภูมิภาคไปอย่างต่ำอีกสองปี หรืออาจนานกว่านั้น
ขณะเดียวกัน ภาคการเกษตรที่ต้องลงทุนมากแต่ความเสี่ยงสูงก็ทำให้หลายคนต้องจำใจเป็นลูกหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แต่ตอนนี้ ธกส. ก็มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายความเปราะบางจนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ถึง 300,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่กลายเป็นหนี้เสีย (Non-performing Loan: NPL) ถึง 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เก่า 5,000 ล้านบาท และหนี้ใหม่อีก 5,000 ล้านบาท รวมแล้วทำให้เดือนมีนาคม 2566 มีปริมาณหนี้เสียมากถึงร้อยละ 7.68 จากจำนวนหนี้ ธกส. ทั้งหมด
หนี้เพิ่มรายได้ลด เกษตรกรอีสานเจ็บหนักสุด
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นร้อยละ 33 ตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 19.1 และ เพื่อการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 18.2 จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไตรมาสนี้
ในสถานการณ์ที่หนี้ครัวเรือนกำลังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น วันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ) จัดงานสัมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน’ ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคกำลังย่ำแย่ลงกว่าที่เคย โดยเฉพาะอัตราหนี้สินที่เริ่มขยายวงกว้างและหนักหนาครอบคลุมไปทั่วภูมิภาค
“สัดส่วนของการก่อหนี้ครัวเรือนในภาคอีสานโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ”
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวไว้ในงานสัมนาวิชาการข้างต้น ซึ่งข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า ตั้งแต่ปี 2560-2566 อัตราการก่อหนี้ของชาวอีสานเพิ่มมากถึงร้อยละ 50 จากอัตราปกติ จนทำให้ภาคอีสานมีอัตราหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในประเทศเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ
ปัญหาหนี้นี้หนักขนาดที่ทำให้ผู้มีอายุ 70 ปีหลายรายไม่สามารถปิดหนี้ทั้งหมดได้ เกิดเป็นสภาพลูกหนี้วัยชราที่ใช้หนี้จนเสียชีวิตก็อาจจะใช้ไม่หมด โดยร้อยละ 30 ของประชากรอีสานยังอยู่ในวงจรของหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีดอกเบี้ยที่สูง
สิ่งที่ยากที่สุดในการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ ผลประมาณการเศรษฐกิจของภูมิภาคอีสานจะหดตัวถึงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวในทุกสาขายกเว้นในธุรกิจก่อสร้าง ในขณะที่ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย คือ ขยายตัวเพียง 0.4 ถึง 1.4 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตในระดับประเทศเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญมาจากการที่ภาคการเกษตรซึ่งเป็นธุรกิจที่ภูมิภาคอีสานพึ่งพามากถึง 1 ใน 3 ประสบภาวะภัยแล้งรุนแรง
ดังนั้น ในปี 2566 – 2567 จะมีครัวเรือนชาวอีสานที่อยู่ในภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่จะมีรายได้สุทธิ (หักค่าใช้จ่าย) ที่สูงขึ้นในปี 2567 ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของจำนวนครัวเรือนทั้งภูมิภาคอีสาน ซึ่งยิ่งเน้นย้ำความสำคัญของปัญหาหนี้ของภูมิภาค
หนี้ ธ.ก.ส. คือบ่วงสำคัญ แต่การพักหนี้ก็ไม่ใช่คำตอบ
จากการคาดการณ์ของ ธปท.สภอ ระบุว่า วิกฤติภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตในภาคการเกษตรสำคัญของภาคอีสานอย่าง ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบโดยตรงตลอดปี 2566 – 2567 จนทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรกรที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 58 จากจำนวนครัวเรือนอีสานทั้งหมดมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะจังหวัดในภูมิภาคอีสานตอนล่าง เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี
กล่าวได้ว่า การถดถอยของเศรษฐกิจอีสานในทุกด้านยกเว้นด้านการก่อสร้าง จะยิ่งบีบให้ประชากรส่วนมากซึ่งอยู่ในภาคการเกษตรต้องใช้ชีวิตที่ลำบากมากขึ้น เนื่องจากภาคการเกษตรต้องใช้เงินลงทุนที่สูงในขณะที่มีความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมที่มาก ขณะที่เขตเมืองกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดย ธปท.สภอ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมค้นพบว่า ภูมิภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของเขตก่อสร้างบริเวณเมือง โดยเฉพาะเมืองรอง เยอะที่สุดจากทุกภูมิภาคค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตจึงมีแนวโน้มจะสูงขึ้น ความยากจนจะบีบให้เกษตรกรต้องละทิ้งอาชีพเพื่อไปทำอาชีพอื่นในเขตเมืองที่กำลังมาถึง หรือต้องหันไปพึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร หรือ ธกส. ในการเยียวยาจากพิษเศรษฐกิจและธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธกส. โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า ธกส. ให้เงินสินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับถึง 1.58 แสนล้านบาท ซึ่งฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธกส. ระบุว่า ปัจจุบันนี้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายความเปราะบางจนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ถึง 300,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่กลายเป็นหนี้เสีย ถึง 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เก่า 5,000 ล้านบาท และหนี้ใหม่อีก 5,000 ล้านบาท รวมแล้วทำให้เดือนมีนาคม 2566 มีปริมาณหนี้เสียมากถึงร้อยละ 7.68 จากจำนวนหนี้ ธกส. ทั้งหมด
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. ระบุไว้ในปี 2565 ว่า เกษตรกรร้อยละ 90 จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดมีหนี้สินและมักจะมีหนี้หลายก้อน โดยเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดคือ ธกส. ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกนโยบายพักชำระหนี้เป็นจำนวนมาก แต่กลับมีเกษตรกรกว่าร้อยละ 92.2 ที่เคยเข้าร่วมโครงการเหล่านั้นแล้ว กลับยิ่งมีหนี้และเกิดหนี้เสียมากขึ้น
สิ่งที่ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเกิดหนี้เสียมากขึ้นนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI สรุปว่า เป็นเพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถก่อหนี้ใหม่ได้อยู่จึงทำให้ปัญหาหนี้เรื้อรังไม่จบสิ้น
เท่ากับว่า เกษตรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภาคอีสาน รวมทั้งยังเป็นภาคธุรกิจที่ภูมิภาคนี้พึ่งพาเป็นกำลังสำคัญ กำลังเป็นหนี้ ธกส. จำนวนมหาศาลที่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายระยะยาวในการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน และทำให้ปริมาณหนี้เสียของภูมิภาคมีโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามทิศทางรายได้ที่ลดลงของประชาชนทั้งอีสานตอนบนและตอนล่างไปจนถึงปี 2567
หนี้ภาคการเกษตรนี้ยังไม่รวมหนี้จากแหล่งอื่นๆ เช่น ภาคการศึกษา ค่ายานพาหนะ หรือหนี้นอกระบบอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่อีสานกลายเป็นดินแดนหนี้ที่ความหวังยังไม่โงขึ้นจากขอบฟ้า
เมื่อสิทธิ์จะลืมตาอ้าปากยังไม่ง่าย ปัญหาหนี้เรื้อรังยังไร้บทสรุป
ตามข้างต้นคงกล่าวได้ว่า ไม่มีความหวังมากนักสำหรับชาวอีสานในปีนี้จนถึงปีหน้า ต่อให้สภาพเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ ทยอยขยายตัวผิดไปจากการคาดการณ์ของ ธปท. ก็ยังไม่สามารถแตะหรือเหนือกว่าอัตราการพัฒนาของทั้งประเทศได้ง่ายนัก และหากรัฐบาลใหม่ไม่เร่งเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่มากไปกว่านโยบายพักหนี้หรือเยียวยาทั่วไป ปัญหานี้จะยิ่งส่งผลในระยะยาวกว่าที่หลายคนคิด
การมีหนี้เรื้อรังจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนต่ำลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ชูว่าจะเร่งแก้ไข ขณะเดียวกันก็จะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจในการลดคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรลงเพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไขยากขึ้นไปยังธุรกิจภาคอื่นๆ ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดรวมทั้งยังอันตรายที่สุด คือ หนี้ภาคเกษตรกรรมจำนวนมากเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยลูกหนี้ ธกส. จำนวนมากถึง 1.4 ล้านราย มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ควรเกษียณอย่างมั่นคง และควรนำเงินไปทุ่มเทกับการดูแลสุขภาพหรือการลงทุนเพื่อให้มีชีวิตบั้นปลายอย่างสะดวกและมีศักดิ์ศรี ซึ่งในจำนวนนี้กลับมีลูกหนี้ถึง 1.7 แสนรายเป็นผู้มีหนี้เสีย ซึ่งยิ่งมีแนวโน้มจะทำให้ลูกหลานรุ่นต่อไปต้องแบกรับภาระหนี้ จนอาจกระทบต่อการเติบโต การศึกษา หรือการงานไปอีกหนึ่งชั่วคน
ปัญหาหนี้ในภูมิภาคอีสานเป็นจุดที่ปัญหาหนักหน่วงที่สุดในประเทศ จึงทำให้อนาคตของเด็กและปัจจุบันของคนชราในภูมิภาคนี้มองไม่เห็นสิ่งอื่นใดนอกจากความลำบาก แตกต่างจากภูมิภาคอื่นในประเทศ
ทั้งหมดนี้คงทำให้เห็นแล้วว่า ปัญหาหนี้ที่สูงและกระทบต่อหลายปริมณฑลของชีวิตกำลังจะส่งผลให้พี่น้องชาวอีสาน “ไม่มีสิทธิ์” ในการเลือกที่จะเกิด แก่ เจ็บ หรือตาย ด้วยตนเองได้เลย แต่ต้องถูกจองจำไว้ด้วยโซ่ตรวนของหนี้จากบรรพบุรุษ และต้องใช้ชีวิตไปข้างหน้าอย่างไม่รู้ว่าเสียงความทุข์ยากนี้จะดังพอให้ศูนย์กลางอำนาจของประเทศนี้ได้ยินเมื่อใด
ที่มา:
- ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน. 2566. งานสัมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ธนาคารแห่งประเทศไทย. จาก https://www.bot.or.th
- ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน. 2566. สัมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย. จาก https://www.bot.or.th
- ห่วงคนอีสานหนี้สูงและเรื้อรัง อายุ 70 ยังปิดหนี้ไม่ได้ติดกับดักไม่รู้จบ. 2566. ไทยรัฐมันนี. จาก https://www.thairath.co.th
- ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. จาก https://www.nesdc.go.th
- รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566. 2566. สำนักงานตรวจการเงินแผ่นดิน. จาก https://www.baac.or.th
- ธ.ก.ส. เร่งช่วยลูกหนี้เปราะบาง 3 แสนล้าน ปักธงสิ้นปี ลดเป้าหนี้เสีย 5%. 2566. โพสต์ทูเดย์. จาก https://www.posttoday.com
- วิกฤตหนัก! เกษตรกรไทย 90% มีหนี้ – ธ.ก.ส. เจ้าหนี้แหล่งใหญ่สุด. 2565. ข่าว 8. จาก https://www.thaich8.com
- โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และ ชญานี ชวะโนทย์. 2565. กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการก่อหนี้ และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย. จาก https://www.pier.or.th
- เดชรัต สุขกำเนิด. 2565. นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร. Think Forward Center. จาก https://think.moveforwardparty.org